วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๘๑. กำเนิดพระธรรมทูตสายต่างประเทศ  ๘๒. ความสัมพันธ์กับวัดหนองป่าพง 

 เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

สำหรับสองบทนี้ ผู้เขียนเล่าถึงเหตุที่หลวงพ่อสมเด็จฯ มีปฏิปทาในการสร้างพระธรรมทูตสายต่างประเทศขึ้น เพราะมองการณ์ไกลไปถึงอนาคตข้างหน้า หากไม่มีพระพุทธศาสนาในต่างแดน ชาวโลกจะประสบทุกข์ทางใจแสนสาหัส และเล่าถึงที่มาของสายสัมพันธ์กับวัดหนองป่าพงกับวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างพระป่านานาชาติและมิตรภาพของพระสงฆ์ทั้งสองวัดในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

๘๑.กำเนิดพระธรรมทูตสายต่างประเทศ         

              พระพุทธศาสนาจะอยู่แค่ในประเทศไทยไม่ได้  ต้องเดินทางไปมากกว่านั้น อันเป็นเหตุให้เกิดวัดไทยในต่างประเทศ  ซึ่งหลวงพ่อท่านเป็นผู้นำในด้านการบุกเบิกการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ  ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ เกิดพระธรรมทูตสายต่างประเทศขึ้น  เป็นเหตุให้คณะสงฆ์คณะแรกเดินทางรอบโลก  ผลจากการเดินทางรอบโลกทำให้เกิดวัดไทยขึ้นในต่างประเทศมากมายในแต่ละประเทศ  หลังจากนั้นหลวงพ่อสมเด็จก็ได้แนะนำให้จัดตั้งเป็นสมาคม  และปัจจัยที่ได้รับจากการแสดงธรรมนั้นจัดตั้งเป็นกองทุนในแต่ละพื้นที่เดินทางไป  ดังคำกล่าวที่ว่า

              “อีก ๑๐ ปี หลวงพ่อก็อายุ ๘๘ ปี  ถ้าหลวงพ่ออยู่ไปอีก ๑๐ ปี  อาจจะไม่ได้นั่งอย่างนี้แล้ว  นี่เฉพาะความเปลี่ยนแปลงของสังขารร่างกายคนเรา  แต่ว่าสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราที่เปลี่ยนแปลงนั้น  มันต้องแรงกว่านี้  อย่างพระพุทธศาสนาในเมืองไทยอีก ๕๐ ปี  อาจจะไม่ใช่อย่างที่เราเห็นอยู่ในเวลานี้ก็ได้  ประเทศไทยตรงนี้อาจจะไม่ใช่ประเทศไทย  สำหรับพระพุทธศาสนาอีกต่อไปแล้ว”

              การบริหารการปกครองของหลวงพ่อนั้นจะมองไปข้างหน้าทุกๆ ๑๐ ปี  ถ้าเราเป็นนักบริหารจะต้องมองว่าในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  จะทำอย่างไร  แล้วมองทุกๆ ๑๐ ปี  ให้ครบ ๕๐ ปี  เท่ากับวิสัยทัศน์ในการทำงานของหลวงพ่อสมเด็จฯ จะต้องมองไปเท่ากับ ๕๐ ข้างหน้า  ในทุกๆ ปีก็ต้องมองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเพราะโลกหมุนเร็ว  ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็ว  ถ้าเราไม่มองไปข้างหน้าในฐานะผู้นำก็ไม่สามารถนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายได้

 “มองให้รู้ว่าเขาเปลี่ยนแปลงกันอย่างไร  เพราะการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งมีผลต่อพระพุทธศาสนา”

              สำหรับแนวคิดในการสร้างวัดไทยในต่างประเทศประเทศของหลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านว่า 

“ ใช้เงินฝรั่งสร้างวัดให้ฝรั่ง”

เมื่อพระสงฆ์ไปอยู่ต่างประเทศจะต้องใช้ความสามารถดึงคนไทย  ดึงฝรั่งมาช่วยสร้างวัด  ก่อให้เกิดรูปแบบแนวคิดที่จะสร้าง  เป็นการต่อเติม  กล่าวคือ  ชื้อห้องแถวตอนนี้  เมื่อผ่อนเสร็จก็ขาย  แล้วไปชื้อเป็นบ้านต่อ  ขั้นตอนต่อมาขายบ้านที่เป็นหลัง ไปชื้อบ้านที่มีพื้นที่  เพื่อความสะดวกต่อการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา  มีที่จัดทำกิจกรรม  มีที่จอดรถ  พอผ่อนตรงนี้เสร็จก็ไปชื้อบ้านที่ใหญ่ขึ้น  หรือชื้อพื้นที่กว้างขึ้น  จากนั้นก็เริ่มสร้างวัด  สร้างกุฏิ  สร้างพระอุโบสถ เป็นต้น  จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแนวคิดสร้างพระธรรมทูตสายต่างประเทศขึ้น  อบรมพระธรรมสายต่างประเทศ  เพื่อที่จะสร้างพระ  อย่างน้อยต้องมีความรู้เบื้องต้นในการที่จะไปอยู่ต่างประเทศ

๑. ต้องรู้เรื่องนวกรรม  เช่น  ช่างไฟ  ช่างประปา  ช่างไม้

๒. เรื่องของภาษา  ต้องรู้ภาษาเบื้องต้น  คือภาษาอังกฤษ  กฎหมายบ้านเมืองนั้นๆ

๓. เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่  การสื่อสาร  ถือว่าเป็นแนวทางการพัฒนาในส่วนของพระสงฆ์เพื่อเตรียมไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา  “แนวคิดทฤษฎีจองแหน”  เพื่อการขยายตัวในการสร้างวัดรองรับคนไทยในต่างแดน

๒.ความสัมพันธ์กับวัดหนองป่าพง  

              สมัยเมื่อพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)  หรือ หลวงพ่อชา ยังไม่ละสังขาร  ร่างกายท่านยังแข็งแรง  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์กับหลวงพ่อชาไปมาหาสู่กันเป็นประจำ  ความข้อนี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิด  แต่จะเพราะเหตุไรนั้นก็ไม่อาจจะทราบได้  แม้เจ้าประคุณสมเด็จฯ  เองก็ไม่เคยเล่าความเป็นมาให้ฟัง  ความผูกพันที่ท่านมีต่อกันเป็นความผูกพันที่บริสุทธิ์เกินที่จะอธิบายได้

              แม้หลวงพ่อชาละสังขารไปแล้ว  แต่สามสัมพันธ์ทางใจก็หาได้ขาดสิ้นตามสังขารแต่อย่างไรไม่ ยังคงสืบทอดต่อมาจนถึงรุ่นศิษย์  เมื่ออาจารย์ไปมาหาสู่กัน  ก็เป็นเหตุให้ลูกศิษย์สายหลวงพ่อชาไปมาหาสู่กับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตามไปด้วย  แล้วก็ปฏิบัติตามกันสืบมา

              ยุคเริ่มต้นนั้นวัดหนองป่าพง  ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี  ยังไม่เข้มแข็งมากมาย  ยังไม่มีสาขามากเหมือนเดี๋ยวนี้  หลวงพ่อชาก็ชอบมาที่กุฏิแล้วมาคุยกัน  หาทางที่จะให้วัดมีความมั่นคง  จนกระทั่งท่านเป็นพระราชาคณะ  เป็นพระอุปัชฌาย์  ตอนหลังก่อนที่ท่านจะอาพาธ  ท่านก็ได้ฝากถึงวัดหนองป่าพง  ให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ช่วยดูแลด้วย

              ความผูกพันที่ก่อตัวขึ้นจากวัยหนุ่มสู่วัยชรา  หาได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  แม้เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จ  จนเมื่อหลวงพ่อชาละสังขารไปแล้ว  แต่ความผูกพันก็หาได้ลดน้อยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  ลูกศิษย์ที่อยู่ในสาขาต่างๆ  หรือแม้แต่ในสาขาต่างประเทศ  หากผ่านมาก็มักจะแวะมากราบคารวะเจ้าประคุณสมเด็จฯ  เสมือนเมื่อครั้งหลวงพ่อชายังมีชีวิตอยู่  หากตรงกับวันอุโบสถก็จะร่วมสังฆกรรม  ฟังสวดพระปาฏิโมกข์ด้วย  แม้เจ้าประคุณสมเด็จฯ เองหากผ่านไปทางนั้นก็มักจะแวะไปที่วัดหนองป่าพงอยู่เสมอ

              ในบทนำกองบรรณาธิการ หนังสือ ธรรมะปรารภยามเช้า-ค่ำ โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)  เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า  วัดสระเกศฯ กับ วัดหนองป่าพง สายสัมพันธ์ทางใจไม่เคยเปลี่ยน

               “มีเรื่องเล่าที่เป็นความทรงจำในหมู่ลูกศิษย์หลวงพ่อชาว่า  สมัยเมื่อครั้งหลวงพ่อชายังไม่ละสังขาร  ร่างกายท่านยังแข็งแรง  “หลวงพ่อชา”  แห่งวัดหนองป่าพง กับ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศฯ  ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ

              ความข้อนี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ลูกศิษย์ลูกหา  แต่จะเพราะเหตุไรนั้น  ก็ไม่อาจจะทราบได้  “ความผูกพันที่ทั้งสองมีต่อกัน เป็นความผูกพันที่บริสุทธิ์เกินที่จะอธิบายได้”

              แม้หลวงพ่อชาจะละสังขารไปแล้ว แต่สายสัมพันธ์ทางใจ ก็หาได้ขาดสิ้นตามสังขารไม่ ยังคงสืบทอดต่อมาจนถึงรุ่นศิษย์  เมื่ออาจารย์ไปมาหาสู่กัน  ก็เป็นเหตุให้ลูกศิษย์สายหลวงพ่อชาไปมาหาสู่กับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตามไปด้วย แล้วก็ปฏิบัติตามกันสืบมาจนถึงปัจจุบัน

              จึงขอนำบทความ  “อาจาริยบูชาสองบูรพาจารย์ ชาตกาล  ๙๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ ๑๑ มกราคม ๒๔๗๑ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖) และ ชาตกาล ๑๐๐ ปี พระโพธิญาณเถร(ชา สุภัทโท ๑๗ มิถุนายน ๒๔๖๑ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๕ ) ซึ่งได้เขียนลงในคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๑ มาเผยแผ่อีกครั้ง ด้วยความกตัญญุตาบูรพาจารย์  จึงขอน้อมรำลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระเถระทั้งสองท่าน และคณะสงฆ์ทุกท่านผู้เป็นเนื้อนาบุญสืบเนื่องมาสจนถึงทุกวันนี้

              เมื่อก่อนวัดหนองป่าพงยังไม่มีสาขามาก  ในกรุงเทพฯ เองก็ยังไม่มีที่พักสำหรับลูกศิษย์สายหนองป่าพงอย่างทุกวันนี้  เวลาลูกศิษย์สายหนองป่าพงผ่านมาก็มักจะแวะมาพักที่วัดสระเกศฯ ในจำนวนนั้นมีพระอาจารย์สุเมโธ  (ปัจจุบัน พระพรหมวชิรญาณ (โรเบิร์ต สุเมโธ))  และอาจารย์จันทร์ที่มาพักประจำ

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘๑. กำเนิดพระธรรมทูตสายต่างประเทศ  ๘๒. ความสัมพันธ์กับวัดหนองป่าพง  เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here