วันนี้วันพระ วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐
เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก
“ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.
ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์
ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”
ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต
บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน
เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”
วิถีแห่งผู้นำ
: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
๗๐. แสงสุดท้าย
๗๑. เกียรติของหลวงพ่อ
: เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
สำหรับสองบทนี้ ผู้เขียนได้สรุปคุณธรรม ๓ ประการที่สำคัญที่หลวงพ่อสมเด็จปฏิบัติมาตลอดชีวิต ๔๕ พรรษาในร่มกาสาวพัสตร์จนลมหายใจสุดท้าย และฝากพินัยกรรมชีวิตไว้ให้พระเณรรุ่นหลังได้ศึกษาปฏิปทาของท่านในการปฏิบัติตนตามรอยธรรมแห่งองค์พระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๗๐.แสงสุดท้าย
บิดามารดา เปรียบดังผู้จุดแสงเทียนแห่งชีวิต อยู่ท่ามกลางลม ท่ามกลางสายฝน ก็กลัวว่าจะจุดไม่ติด ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ ห่วงหาอาทร
เมื่อเทียนเล่มนี้เติบใหญ่ ก็อยากจะให้มีไส้เทียน เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญาให้ตัวเองตามวิถีชาวโลกควรจะพึงมี จะพึงเป็น
แต่ด้วยคุณธรรมความดีที่สร้างไว้แต่ชาติก่อน ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า วาสนาบารมีนั้น เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ ทำให้เกิดแก่ตัวได้ วิธีสร้างวาสนาบารมีก็คือ ปฏิบัติตนให้มี
คุณธรรม ๓ ประการให้ครบถ้วน คือ ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้สร้างความดีไว้แต่ก่อน ปฏิรูปเทสวาสะ การได้อยู่ในถิ่นที่เหมาะ๑ อัตตสัมมาปณิธิ คือ การตั้งตัววางตนไว้ในทางที่ชอบ
คุณธรรม ๓ ประการนี้ จะหลอมตัวกันกลายเป็นวาสนาบารมีและทำให้ผู้นั้นกลายเป็นคนมีวาสนาบารมีที่สมบูรณ์พูนสุข และอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าผู้ด้อยวาสนาบารมีในทุก ๆ ด้าน
สามเณรน้อยรูปหนึ่ง เดินตามพระอาจารย์เข้าเมืองกรุงครั้งแรก เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่ออายุพระศาสนา แต่ต้องพบกับอุปสรรคในภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติ ณ เวลานั้นได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ต้องระหกระเหิน เพื่อหลบภัยสงคราม
แต่ด้วยปณิธานอันแน่วแน่นี้ จึงดำรงตนตามแบบวิถีแห่งผู้นำตามแนวมหาปณิธานของพระพุทธองค์ที่ได้ตรัสสอนไว้ มีวัตรปฏิบัติเป็นที่เลื่อมใส ศรัทธา มีความเสียสละ สามารถนำพาคนอื่นไปในทางที่ถูกต้อง ซึ่งผู้นำที่ดีจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เหมาะสม เป็นผู้ที่สามารถทำให้เป้าหมายหรืออุดมการณ์ต่าง ๆ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ ผู้ฟั่นเทียน ได้เห็นเทียนเล่มนี้ให้แสงสว่างแก่โลก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จนเป็นที่ยอมรับ นับถือ ศรัทธาเลื่อมใสจากทั้ง ๓ สถาบันหลักของชาติ
เทียนเล่มนี้ได้ส่องทางให้เห็นแสงสว่างทางปัญญาแก่พระหนุ่ม เณรน้อยในพระอารามจนถึงในอาณาจักรให้รู้จักหวงแหน และรักษาพระพุทธศาสนา ตลอดจนแนะแนวทางให้แก่คณะสงฆ์
ก่อนเปลวเทียนจะหลอมตัวเองในทุกขณะลมหายใจแล้วดับลง ก็ได้วางารากฐานผลงานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศไว้เป็นอนุสรณ์แก่โลก ให้เป็นที่ประจักษ์ นับได้ว่าความดีได้ถูกบันทึกและจารึกลงในหัวใจของผู้พบเห็น
แม้เทียนเล่มแรกจะดับ ขอให้มีการจุดเทียนเล่มที่สอง ที่สามผลัดกันส่องแสงในโลกกลมใบนี้ เล่มที่หมดไส้ ไฟมอด ก็ลาลับไป เล่มที่เพิ่งถูกจุดใหม่ก็ส่องแสงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีพระพุทธศาสนาบนโลก
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มรณภาพเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๐๘.๔๑ น. สิริรวมอายุ ๘๕ ปี ๖ เดือน ๒๙ วัน พรรษา ๖๕
๗๑. เกียรติของหลวงพ่อ
จีวรถือเป็นธงชัยพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องหมายของพระอริยเจ้า ตามที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า “ผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์… ผู้ใดคายกิเลสดุจน้ำฝาดออก แล้วตั้งมั่นอยู่ในศีลอย่างมั่นคง ผู้นั้นจึงสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะโดยแท้” ดังนั้นผ้าจีวรจึงเป็นเครื่องมือสำหรับผู้บำเพ็ญเพียรในการประกาศพรหมจรรย์นั้น คือ “การปฏิบัติศาสนกิจตามที่พระพุทธองค์ได้ปฏิบัติมาตลอด ๔๕ พรรษาที่ได้ทำประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา”
ช่วงเวลาเย็นของทุกวัน หลังจากว่างเว้นจากภารกิจ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็มานั่งที่หน้าห้องเป็นประจำ ท่านมักเล่าเรื่องในอดีตให้ฟัง เหมือนพระหลวงตาอยากเล่าความหลัง หนึ่งในนั้นคือ เรื่องโยมที่บ้าน (พ่อแม่) ถวายผ้าไตรตอนบวชพระ ท่านเล่าว่า
“ผ้าไตรบวช โยมที่บ้านของหลวงพ่อเป็นคนถวายผ้าไตรชุดนี้”
หลังจากที่ท่านบวชเป็นพระแล้ว ก็ใส่จีวรมาระยะหนึ่ง พอหมองแล้ว ท่านก็เก็บไว้ในตู้ข้างโต๊ะหมู่บูชาตั้งแต่วันนั้น ถึงวันนี้ จนนำมาสู่การเขียนไว้ในพินัยกรรมว่า “ถ้าท่านตายให้เอาผ้าที่โยมที่บ้านถวายมาห่มให้ท่าน ไม่ต้องมีเกียรติยศ ไม่ต้องมีอะไร เกียรติของหลวงพ่อ คือ ผ้าไตร ที่ท่านได้บวชเป็นพระนี่แหละ”