น้อมเศียรเกล้าอภิวาทบูชา รำลึกมรณกาล ๙ ปีแห่งการจากไปเพียงสรีรสังขาร ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) พระเถระผู้เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตาและกล้าหาญทางธรรม “พระผู้นำพระพุทธศาสนาก้าวสู่โลกยุคใหม่ ”
“ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.
ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์
ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”
ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต
บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน
เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”
วิถีแห่งผู้นำ
: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
๖๐. ตั้งตัวดีแล้ว ก็เดินหน้ากันต่อไป
เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
๖๐. ตั้งตัวดีแล้ว ก็เดินหน้ากันต่อไป
พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๐๗ เป็นเวลาช่วงต่อที่สําคัญอีกครั้งหนึ่ง คือพระราชวิสุทธิเมธี (เกี่ยว อุปเสโณ) และพระกวีวรญาณ (จํานงค์ ชุตินฺธโร) ซึ่งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี (ฝ่ายธุรการและวิชาการตามลําดับ) ได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเป็นรองอธิการบดีทั้งสองท่าน ณ วันที่ ๑๕ กันยายน ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ เพื่อให้งานบริหารภายในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยดําเนินไปด้วยดี สมเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงคณะผู้บริหาร
เมื่อพระราชวิสุทธิเมธี (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้เข้ารับหน้าที่เป็นเลขาธิการ พระกวีวรญาณก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
พระกวีวรญาณในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการ ได้เร่งทํางานที่สําคัญ เช่นการศึกษาต่อ ทุนทางด้านมูลนิธิเอเชีย เฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อ และได้ทุนส่งพระพุทธศาสตรบัณฑิตไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยครั้งนั้นได้ติดต่อให้มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ และสําคัญแห่งหนึ่งในอินเดีย คือ B.H.U. (Banaras Hindu University) ยอมรับบัณฑิตจากมหาจุฬาฯ เข้าศึกษาต่อในขั้นปริญญาโทจนสําเร็จด้วยดี
การปูทางวางรากฐานการศึกษาเป็นเรื่องที่สําคัญมาก พร้อมไปกับเป็นสาระส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะเวลานั้นทางการบ้านเมืองไทยไม่ได้ยอมรับมหาวิทยาลัยสงฆ์เลย ไม่ว่าในสถานะของสถาบัน (ว่ามีอยู่จริง) หรือวิทยฐานะของบัณฑิตและผู้เล่าเรียน (ว่ามีความรู้พอจะนับถือได้)
ถึงเวลานั้นที่เดินหน้ามาได้ก็แค่ว่า พุทธศาสตรบัณฑิต ถ้าลาเพศไป ทางการยอมรับให้เข้าเป็นอนุศาสนาจารย์เท่านั้น และในการไม่ยอมรับนั้น ข้ออ้างที่สําคัญก็ย่อมได้แก่มาตรฐานการศึกษา ซึ่งโยงมาที่สถานะของสถาบันในแง่ของราชการงานเมือง ฯลฯ
ขณะที่ในบ้านเมืองของตนเองไม่ได้ความยอมรับ และเป็นเรื่องที่ต้องพยายามดําเนินการอย่างรอช่องทางหวังโอกาสที่ไม่มีอะไรชัดเจน นานอย่างมากนั้น การนําความยอมรับจากภายนอกคือต่างประเทศมาเป็นเครื่องยืนยันและเป็นแรงหนุนย่อมเป็นเครื่องสร้างความมั่นใจได้ไม่น้อย
ข้อที่สําคัญยิ่ง และได้ใช้ประโยชน์กันมากในระยะแรกก็คือ ถึงแม้ทางการบ้านเมืองไทยจะไม่รับรองวิทยฐานะของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ จะไปทําอะไรที่ไหนก็ไม่ได้ แต่พอบัณฑิตนั้นไปเรียนต่อในต่างประเทศได้เป็นมหาบัณฑิตกลับมาเมืองไทย ทั้งที่เมืองนี้รับความเป็นบัณฑิตของเขา แต่ข้ามไปรับความเป็นมหาบัณฑิตที่สูงกว่า ซึ่งเขาอาศัยความเป็นบัณฑิตอันนั้นแหละไต่ขึ้นไป แล้วได้จากที่อื่นๆ จะไปเข้าที่ไหน ทํางานอะไรก็ยอมรับไปตามค่าของวิทยฐานะแห่งสถาบันในต่างแดนนั้น
ช่วงเวลาระยะนั้น การได้ความยอมรับของสถาบันในต่างประเทศจึงเป็นจุดเน้นที่เด่นและสําคัญก็คือ การทําให้ได้ความยอมรับจากภายนอกในระยะแรกนั้น จํานวนมากเป็นความพยายามหรือดิ้นรนส่วนตัวหรือของบุคคล และว่ากันเป็นรายๆ ไป บางท่านได้เข้าเรียนในสถาบันซึ่งมีชื่อในบัญชีที่ยอมรับของ ก.พ. กลับไม่เป็นที่ยอมรับ (accredited) เมื่อสําเร็จมาเมืองไทยก็ได้แต่ความรู้ ถ้าไม่อยู่ทรงเพศไว้ออกไปข้างนอกก็หางานทํายาก อาจจะต้องมีความรู้ความสามารถเด่นจนมีเอกชนบางเจ้ารับเอาด้วยความนับถือ
รวมแล้วก็เป็นไปแบบกระจัดกระจาย และบางทีก็ไม่เป็นฐานให้แก่คนข้างหน้า แต่ก็ต้องทํากันมาอย่างนั้น ดีกว่าไม่มี และเมื่อได้ก็ค่อยๆ ก้าวกันไป
การที่พระเถระผู้บริหารมหาจุฬาฯ โดยมีพระกวีวรญาณเป็นเจ้าการ ดำเนินส่งพระพุทธศาสตรบัณฑิตไปศึกษาต่อครั้งนี้ ไปอย่างเป็นคณะ เป็นทางการ เป็นการติดต่อระหว่างสถาบัน และดูแล้วว่ามหาวิทยาลัยที่โน่นแห่งนั้นใหญ่โต มั่นคง และสําคัญ
ทั้งนี้การติดต่อให้รับรู้ยอมรับกันเป็นหลักฐานเพื่องานระยะยาวไปเลยว่า ปริญญาชื่อว่า พุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) จากสถาบันชื่อว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่ยอมรับของ B.H.U. ในบัดนี้และเบื้องหน้าสืบไป กับทั้งเป็นที่อ้างอิงในการติดต่อกับสถาบันอื่นๆ ได้ด้วย อันนี้จึงเป็นก้าวใหญ่ของงานการศึกษา และดังว่าแล้วก็สําเร็จเสร็จสิ้นไปด้วยดี
อนึ่ง การได้ความยอมรับครั้งนี้ มิใช่เพียงทางเดินและเป็นที่อ้างอิงสําหรับ พธ.บ. ในการส่งไปให้ศึกษาต่อได้สืบไปเบื้องหน้าเท่านั้น แต่เป็นการเสริมคุณภาพอาจารย์ในมหาจุฬาฯ ด้วย เพราะท่านที่ส่งไปครั้งแรกนี้เป็นผู้บริหาร เป็นครู อาจารย์ในมหาจุฬาฯ อยู่แล้ว เมื่อสําเร็จกลับมาก็เป็นกําลังที่ทําให้ทั้งงานการศึกษาภายในมหาจุฬาฯ เอง แรงเข้มเต็มสาระยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยเสริมแรงในการที่จะเร่งให้รัฐตรากฎหมายรองรับสถานะของมหาจุฬาฯแล้วก็ปรากฏด้วยว่า พธ.บ. ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศกลับมาแล้ว เมื่อออกไปอยู่ในวงงานทั่วไปข้างนอก ก็ได้เจริญงอกงามประสบความสําเร็จเป็นอย่างดีมิใช่น้อย ไม่เฉพาะแต่อาจารย์จํานงค์ ทองประเสริฐ ผู้ริเริ่มนี้ที่ได้เป็นเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ยังมีท่านอื่นอีกมากหลายที่ได้มีตําแหน่งสําคัญ เช่น เป็นคณบดีในมหาวิทยาลัย และเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสถาบันวิชาการต่างๆ เป็นต้น
ดังเช่นศาสตราจารย์พิเศษอดิศักดิ์ ทองบุญ ราชบัณฑิต (นายกสมาคม ศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ คนที่ ๓) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. จําลอง สารพัดนึก อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ คนที่ ๖)
งานสร้างและสําแดงมาตรฐานการศึกษานี้ เป็นอันว่าพระกวีวรญาณได้ทําไว้ให้แล้ว ทั้งโดยวิถีของบุคคลอันเป็นส่วนตัว ซึ่งให้เห็นว่า พระพุทธศาสตรบัณฑิตมีคุณสมบัติ มีความสามารถที่จะศึกษาต่อชั้นสูงขึ้นไปเป็นผลสําเร็จได้ในมหาวิทยาลัยชั้นนําหรือยอดเยี่ยมของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คนไทยมากหลาย ใฝ่ปรารถนา และทั้งโดยงานส่วนรวมในการติดต่อให้มหาวิทยาลัยอันเป็นสถาบันสำคัญในต่างประเทศ ยอมรับพระบัณฑิตที่มหาจุฬาฯ ส่งไปให้เข้าศึกษาต่อได้อย่างเป็นทางการ
ในงานขั้นสถาบันนี้ เมื่อตัวงานการรับเข้าศึกษาสําเร็จแล้ว ปล่อยงานส่วนปลีกย่อยให้ผู้รับมอบหมายได้ทำต่อไป ครั้นถึงวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ พระกวีวรญาณได้สละตําแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ
คราวนั้นผู้เล่าเรื่องนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ รูปที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ คือ ๑๐ วันก่อนนั้น ก็ต้องมาอยู่ประจําที่ทํางานในฐานะเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
ถึงตอนนี้เรื่องก็เข้าที่ลงตัวว่า ที่มหาจุฬาฯ พระราชวิสุทธิเมธี (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นเลขาธิการ และพระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ