
วันนี้วันพระ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘
“ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.
ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์
ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต
บอกเล่าปฏิปทาในการ ครองตน ครองคน ครองงาน
เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”
สำหรับ สองตอนนี้ ผู้เขียนได้ลำดับเส้นทางชีวิตของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ตั้งแต่เกิดจนถึงการวางรากฐานงานพระธรรมทูตในพระพุทธศาสนา

๕๔.
ลำดับชาตกาลโดยสังเขป สู่ความยิ่งใหญ่ตลอดกาล
ชีวิตของพระสงฆ์รูปหนึ่ง เมื่อแรกตั้งใจบรรพชาเป็นสามเณรเพียง ๗ วัน แต่กลับดำรงตนอยู่ในสมณเพศตลอดมาตราบเข้าสู่วัยชราจนคืนสู่ธรรมชาติ และสามารถสร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาได้อย่างอัศจรรย์ เหมือนชีวิตเกิดมาเพื่อต่อลมหายใจให้พระพุทธศาสนา
เป็นระยะเวลากว่า ๔๐ ปี ที่พระธรรมทูตสามารถยืนได้อย่างสง่างาม และพระพุทธศาสนาได้เดินทางไปทั่วทุกมุมโลก ก็เพราะความกล้าหาญทางธรรมของท่านที่อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาถวายเป็นปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) นามเดิมว่า เกี่ยว นามสกุล โชคชัย นามฉายา อุปเสโณ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๑ ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี

เมื่อยังเยาว์ ได้ศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านจนจบประถมปีที่ ๔ กระทั่งอายุได้ ๑๒ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดภูเขาทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี แม้เจตนาจะบวชเพียงแค่ ๗ วัน แต่ด้วยปุพเพกตปุญญตา ทำให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังคงมั่นในสมณเพศต่อมา หาได้คิดลาสิกขาไม่ โยมมารดาจึงนำไปฝากไว้กับท่านพระครูอรุณกิจโกศล (หลวงพ่อพริ้ง) วัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี


เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ฝักใฝ่ในการศึกษา มีวิริยะ อุตสาหะ จนหลวงพ่อพริ้งเห็นอุปนิสัย ได้นำไปฝากไว้กับเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) โดยอยู่ในการปกครองของพระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร) ณ วัดสระเกศฯ กรุงเทพมหานคร

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๒ เมื่อมีอายุครบอุปสมบท ก็ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศฯ โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

๕๕. ลำดับเส้นทางชีวิตในพระพุทธศาสนา กับการวางรากฐานงานพระธรรมทูต
พ.ศ.๒๔๘๙ สอบได้นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ.๒๔๙๗ สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๙๗ ไปร่วมประชุมฉัฏฐสังคีติ ณ ประเทศพม่า

พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลวินัยปิฎก ฉบับปี ๒๕๐๐ ของคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๐๐ ไปร่วมประชุมอรรถกถาสังคายนา ณ ประเทศพม่า

พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นผู้ช่วยอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปดูการศาสนา และเพื่อศาสนสัมพันธ์ ที่ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ
พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นประธานคณะกรรมการต้อนรับสมณทูต จากไต้หวัน

พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ปัจจุบัน คือ อธิการบดีมหาวิยาลัย) ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค ๙ เป็นหัวหน้าอำนวยการพระธรรมทูต สายที่ ๘

พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ๙ เป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์ การศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศลาว ศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ในความอุปถัมภ์ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.)
พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
พ.ศ.๒๕๑๓ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เป็นกรรมการยกร่างหลักสูตรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ

พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นหัวหน้าคณะไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามคำนิมนต์ของรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
พ.ศ.๒๕๒๔ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ๑๐ เป็นรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก
พ.ศ.๒๕๒๕ ไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อสาธิตอุปสมบทกรรม และอุโบสถกรรมตามแบบคณะสงฆ์ไทยที่ประเทศศรีลังกา

พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นประธานกรรมาธิการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกในมหามงคลสมัยพระชนมพรรษา ๕ รอบของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เป็นประธาน คณะกรรมการสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นประธานคณะกรรมการจัดการชำระและพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๑๒ สิงหาคม
พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นประธานกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุ สามเณร (ศ.ต.ภ.) เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต
พ.ศ.๒๕๓๕ เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวไต้หวัน ณ ประเทศไต้หวัน

พ.ศ.๒๕๓๗ เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวออสเตรเลีย ณ ประเทศออสเตรเลีย
พ.ศ.๒๕๓๙ เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ และสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศเยอรมนี
พ.ศ.๒๕๔๐ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม เป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย
พ.ศ.๒๕๔๑ เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวไต้หวัน ณ ประเทศไต้หวัน
พ.ศ.๒๕๔๒ เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อเปิดวัดไทยนอร์เวย์ และสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาในภาคพื้นยุโรป เช่น ประเทศสวีเดน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส และ สวิตเซอร์แลนด์
พ.ศ.๒๕๔๓ เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวไต้หวัน ณ ประเทศไต้หวัน
พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ.๒๕๔๙ ริเริ่มให้จัดตั้งกลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา
พ.ศ.๒๕๕๐ ริเริ่มให้จัดตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์พระพุทธศาสนา ภายใต้กำกับมหาเถรสมาคม ริเริ่มให้พระสงฆ์นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พ.ศ.๒๕๕๑ จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ภายใต้การกำกับของมหาเถรสมาคม โดยการสนับสนุนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางด้านความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

พ.ศ.๒๕๕๓ ให้กำเนิดพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพระบัญชาให้อัญเชิญพระคัมภีร์โบราณทางพระพุทธศาสนา ๒,๐๐๐ ปี จากประเทศนอร์เวย์ มาประดิษฐานเป็นการถาวร ณ บรมบรรพต ภูเขาทอง
พ.ศ.๒๕๕๔ จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือวัด และผู้ประสบภัยน้ำท่วมของคณะสงฆ์

พ.ศ.๒๕๕๕ ก่อตั้งรางวัลระดับนานาชาติ “Awakening Leadership Award” และประกาศเกียรติคุณแก่ผู้นำชาวพุทธกว่า ๘๕ ประเทศทั่วโลก ณ องค์การสหประชาชาติ เนื่องในโอกาสฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๗, หน้า ๒๓๘ – ๒๔๘)
