วันนี้วันพระ วันอาสาฬหบูชา วันพุธที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

ได้เป็นเครื่องจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

สำหรับบทนี้ เล่าถึงความเป็นมาโครงการต่างๆ ในยุคที่ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้นำคณะสงฆ์ ท่านได้สร้างคุณูปการให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างมากมายมหาศาล  เหมือนมีชีวิตเกิดมาเพื่อต่อลมหายใจให้กับพระพุทธศาสนา

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๕๓. นำพระพุทธศาสนา ก้าวสู่โลกยุคใหม่

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๕๓. นำพระพุทธศาสนา ก้าวสู่โลกยุคใหม่

              เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  เป็นหนึ่งในพระมหาเถระผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย  และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก 

แม้ตั้งใจจะบวชเป็นสามเณรเพียง ๗ วัน  แต่กลับดำรงตนอยู่ในสมณะเพศตลอดมาตราบเข้าสู่วัยชราจนอวสาน  ได้สร้างคุณูปการให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างมากมายมหาศาล  เหมือนมีชีวิตเกิดมาเพื่อต่อลมหายใจให้กับพระพุทธศาสนา

จริยาวัตรและปฏิปทาที่งดงาม  ภายใต้ใบหน้าอ่อนโยน  มีรอยยิ้มฉายอยู่บนหน้าตลอดเวลา  บ่งบอกถึงพลังแห่งเมตตาธรรม  เป็นภาพที่ติดตาและตรึงใจแก่ผู้พบเห็นอยู่ตลอด  อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฝึกฝนในพระกรรมฐานอย่างหนัก

ท่านสามารถสวดพระปาฏิโมกข์ได้ในพรรษาแรกแห่งการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  และยังสามารถเรียนสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค  อันเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์

สำนึกที่มีต่อความรับผิดชอบพระพุทธศาสนาเช่นนี้  ก่อตัวขึ้นท่ามกลางการฝึกฝนอย่างหนักของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ผู้เป็นพระอาจารย์  ได้เล็งเห็นอุปนิสัยด้วยญาณวิถีแล้วว่า  ศิษย์ผู้นี้  คือ  ผู้ที่จะนำพาพระพุทธศาสนาผ่านห้วงแห่งความยากลำบากในอนาคต

จากวันที่สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค  เพราะความรักที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเปี่ยมล้น  เมื่อก้าวขึ้นสู่การบริหารคณะสงฆ์  และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครอง  แม้พระเถระผู้ใหญ่ในสมัยนั้น  ต้องการให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครองในภาคกลาง  แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯ  กลับขอที่จะไปเป็นผู้ปกครองทางภาคที่กันดารและเดินทางไปยากที่สุด  คือ ภาคอีสาน  เนื่องจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เล็งเห็นว่า  หากจะพัฒนาประเทศชาติและพระศาสนา  จะต้องพัฒนาจากภาคที่มีประชากรมากที่สุดก่อน โดยเน้นที่การให้การศึกษา 

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้นำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่  อันเป็นยุคแห่งการปฏิวัติการเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งสำคัญ  เป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดงานพระศาสนาเชิงรุก (ที่สำคัญ) ในด้านต่างๆ เช่น  ก่อตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา   จัดพิมพ์แถลงการณ์คณะสงฆ์   รวบรวมกิจการต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารงานคณะสงฆ์  ตลอดทั้งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์  กฎกระทรวง  กฎมหาเถรสมาคม  ระเบียบ  คำสั่งมหาเถรสมาคม  เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์และการพระศาสนาออกเป็นรายเดือน  ทุกวันที่ ๒๕ ของเดือน  และหนังสือธรรมะอื่นๆ 

ริเริ่มให้มีศูนย์การคณะสงฆ์ประจำภาค  ริเริ่มให้มีสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดทุกจังหวัด  เพื่อรองรับงานคณะสงฆ์  ริเริ่มให้มีพุทธมณฑลประจำจังหวัด  ริเริ่มให้จัดตั้งสำนักเรียนบาลีประจำจังหวัด  ริเริ่มให้จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด  ริเริ่มให้ยกร่างหลักสูตรการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษในมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย  ยกร่างหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ  ริเริ่มจัดตั้งโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย  ริเริ่มให้มหาวิทยาลัยสงฆ์เปิดหลักสูตรผู้บริหารสำหรับพระสังฆาธิการ  เพื่อยกระดับการศึกษาของพระสังฆาธิการในสังฆมณฑล  ริเริ่มจัดตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์พระพุทธศาสนา  ริเริ่มให้พระสงฆ์นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ริเริ่มให้จัดตั้งกลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา  จัดการเรียนการสอนตามแนวโรงเรียนวิถีพุทธ  และให้เรียกเยาวชนที่เรียนในโรงเรียนการกุศลว่า “ลูกพระพุทธเจ้า”

ริเริ่มให้ปรับการเจริญพระพุทธชัยมงคลคาถาในวันขึ้นปีใหม่  เป็นการสวดมนต์ข้ามปี  เพื่ออนุวัติให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม  ริเริ่มการจัดกิจกรรมงานวัด  และกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  อนุวัติให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่   ริเริ่มจัดตั้งพระธรรมทูตอาสา  ๕  จังหวัดชายแดนภาคใต้   ริเริ่มให้พระสังฆาธิการเกษียณอายุในวัย ๘๐ ปี  เพื่อยกขึ้นเป็นปูชนียบุคคลของสังฆมณฑล

และ ริเริ่มให้จัดตั้งองค์กรพระสงฆ์รุ่นหนุ่มเข้ามาทำงานการบริหารคณะสงฆ์  เพื่อกลั่นกรองงานพระมหาเถรสมาคม  รองรับงานพระศาสนาให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ๕๓. นำพระพุทธศาสนา ก้าวสู่โลกยุคใหม่ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here