วันนี้วันพระ วันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๗

เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระในยุคกึ่งพุทธกาล ผู้นำพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกสู่โลกกว้าง ด้วยการสร้างพระสงฆ์รุ่นใหม่เพื่อรับใช้สังคมไทยและสังคมโลกในการดับทุกข์ทางใจตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาตั้งแต่จารึกมาประดิษฐานบนผืนแผ่นดินไทยในยุคสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชมากว่าสองพันปี

โดยตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ เป็นต้นมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)ได้ออกเดินทางไปสังเกตการณ์พระพุทธศาสนา ในประเทศใกล้เคียง เช่น ลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ศรีลังกา และ อินเดีย เป็นต้น

สำหรับสามบทนี้เล่าย้อนไปถึงวัตรปฏิบัติและปฏิปทาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช(อยู่)  ที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นแบบอย่าง และกลายเป็นต้นธารแห่งจริยาวัตรอันงดงาม  อันนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าตามเส้นทางธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๔๘.อยากไปเรียนภาษาบาลีที่ลังกา 

  ๔๙.จุดกำเนิดการทำงานต่อพระพุทธศาสนา  ๕๐.สร้างตึกผู้มีพระคุณ

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๔๘.

อยากไปเรียนภาษาบาลีที่ลังกา      

              ความจริง  ตอนนั้น หลวงพ่อสมเด็จฯ คิดอยากนั่งเรือไปเรียนภาษาบาลีที่ลังกา  เพราะใครไปใครมาเมื่อพูดถึงพระพุทธศาสนาก็พูดถึงลังกากันทั้งนั้น  อย่างพระที่ไปมาหาสู่หลวงพ่อพริ้ง  อาจารย์ของหลวงพ่อ ก็พูดถึงลังกาอยู่เป็นประจำ  จึงคิดตามประสาเด็ก  อยากไปเรียนบาลีที่นั่นบ้าง  เมื่อก่อนที่เกาะสมุย  มักเล่าถึงเรื่องหลวงพ่อเพชรไปลังกา  ไปอินเดีย  ส่วนอีกรูปก็กางเรือใบไปเรียนบาลีที่กรุงเทพฯ  ล้วนแต่เป็นเรื่องผจญภัยตามแต่ใครจะปรุงแต่งเพิ่มสีสัน ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก  พอเป็นเณรก็ยิ่งได้ยินบ่อยมาก

 ๔๙.

จุดกำเนิดการทำงานต่อพระพุทธศาสนา

              เมื่อเจริญก้าวหน้าในพระศาสนามาโดยลำดับ  จนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ และมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศทั่วโลก  เพื่อหาหนทางจะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ก็นึกเสมอว่า  เป็นบุญเหลือเกินที่ได้มาอยู่ใกล้สมเด็จพระสังฆราช

จากวันนั้น  เจ้าประคุณสมเด็จฯ  ก็ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการที่จะพบปะผู้คน  ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจเพื่องานพระศาสนาอย่างต่อเนื่อง  ออกไปเยี่ยมพระสงฆ์ในทุกวัดที่อยู่ในการปกครอง  ศึกษาทั้งประวัติศาสตร์และสภาพการเป็นอยู่เพื่อแนะนำการจัดระบบการศึกษา

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ติดตามไปกิจนิมนต์กับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่ลูกศิษย์ในตลาดเมืองนครปฐม ตอนจะเดินทางกลับ ท่านบอกให้คนขับรถ ให้วิ่งไปรอบๆโบราณสถาน ๒-๓รอบ ที่ทางราชการกั้นรั้วไว้ จึงได้ถามท่านว่า  “หลวงพ่อหาอะไรครับ”  ท่านก็บอกว่า “ หาจุดที่ประชุมเพลิงของท่านพระโสณะ พระอุตตระ ประเทศไทยเป็นหนี้ท่านทั้งสอง รวมความแล้ว คือเป็นหนี้พระศาสนา”

ได้ฟังแล้วทำให้นึกถึงพระบาลีข้อว่า  คารโว จ (คาระโว จะ) ให้ความเคารพในบุคคลที่ควรแก่การเคารพ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ผู้คนจะสรรเสริญ. 

พระมหาเถระ ผู้ได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ เกื้อกูลประโยชน์น้อยใหญ่ทุกด้านทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อชาติ พระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ มาอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอด ๖๔ พรรษาในร่มกาสาวพัสตร์

๕๐.สร้างตึกผู้มีพระคุณ

              ภายหลังเมื่อลูกศิษย์รูปหนึ่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจในจังหวัดที่ห่างไกล  แล้วเกิดอาพาธ  ไม่มีโรงพยาบาลรักษา  จนถึงแก่มรณภาพลง  กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างตึกสงฆ์อาพาธขึ้นในจังหวัดชายแดนตามมาอย่างเงียบๆ  ภายใต้ชื่อ “ตึกผู้มีพระคุณ” โดยไม่มีการเรี่ยไร  ไม่มีการบอกบุญ  และไม่ได้ประกาศให้ใครรับรู้  ทุนในการสร้างทั้งหมดได้มาจากการรวบรวมปัจจัยจากผู้มีจิตศรัทธาที่ทำบุญในโอกาสต่างๆ เมื่อครบจำนวนก็ลงมือสร้างตามแบบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

จากวันนั้นเป็นต้นมา  ตึกสงฆ์อาพาธภายใต้ชื่อ “ตึกผู้มีพระคุณ” จึงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดน  ตึกแล้วตึกเล่าตราบจนปัจจุบัน

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นที่รู้จักกันในหมู่ลูกศิษย์ว่า  ท่านตั้งอยู่ในความกตัญญู  และให้ความเคารพนอบน้อมต่อสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นพระอาจารย์เป็นอย่างมาก

แม้สมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นพระอาจารย์ละสังขารจากท่านไปนานแล้ว  แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ยังปฏิบัติเสมือนหนึ่งพระอาจารย์ยังอยู่กับท่านเสมอ  แม้กระทั่งของสิ่งใดที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระสังฆราช(อยู่) ท่านเก็บรักษาไว้อย่างดี  และจัดวางไว้ในฐานะที่ควรให้ความเคารพบูชา  เสมือนหนึ่งสิ่งนั้นเป็นตัวแทนของพระอาจารย์  จริยาวัตรและปฏิปทาข้อนี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ลูกศิษย์ลูกหา

มีคราวหนึ่ง  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ไม่อยู่  มีกิจต้องไปข้างนอก  พระเณรเห็นว่าท่านไม่อยู่ก็ปรารถนาดี  จึงช่วยกันทำความสะอาดกุฏิ  ปรากฏว่าได้ไปพบแฟ้มประวัติและเรื่องราวของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชทางหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อพิมพ์อื่นๆ  ถูกตัดเก็บไว้ในแฟ้ม  และเก็บไว้ในหีบห่ออย่างดี  ดูตามวันเดือนปีที่ปรากฏก็เป็นเวลานานร่วม ๕๐ ปี

แม้วันเวลาจะผ่านไปยาวนานเช่นนั้น  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ยังเก็บรักษาสิ่งของที่เกี่ยวเนื่องกับพระอาจารย์ไว้  แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูและความเคารพบูชาที่มีต่อพระอาจารย์อย่างมิเสื่อมคลาย  จนเกิดเป็นความแปลกใจสำหรับพระเณรที่พบเห็นว่า  ท่านเก็บกระดาษชิ้นเล็กชิ้นน้อยนี้ไว้ได้อย่างไรยาวนานเช่นนั้น

วัตรปฏิบัติและปฏิปทาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช(อยู่)  ได้รับการถ่ายทอดเป็นแบบอย่าง และกลายเป็นต้นธารแห่งจริยาวัตรอันงดงาม  อันนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าตามเส้นทางธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย

ด้วยความกตัญญูเป็นสิ่งที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยึดถือปฏิบัติมั่นคง  ไม่ว่าจะเป็นความกตัญญูต่อบุคคล  หรือสถานที่  และจะแสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วยการตอบแทนตามโอกาสเสมอ  มิใช่จะเป็นความกตัญญูต่อผู้ใหญ่กว่าเท่านั้น  แม้สามเณรที่อุปัฏฐากดูแล  ท่านก็ถือเป็นสิ่งที่ต้องตอบแทนน้ำใจ  เจ้าประคุณสมเด็จฯ  มักระลึกถึงผู้มีน้ำใจต่อท่าน  ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่  ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปนานหรือไม่ก็ตาม  เช่น เมื่อครั้งที่หลวงพ่อพริ้งได้นำท่านหนีสงครามจากรุงเทพฯ  ในระหว่างทางได้แวะพักที่บางสะพาน  เจ้าอาวาสที่วัดเขาโบสถ์ให้โยมชีต้มข้าวให้ฉัน  ท่านก็พูดถึงและระลึกอยู่เสมอว่า  วัดเขาโบสถ์และชาวบางสะพานมีบุญคุณต่อท่าน  แล้วท่านก็หาโอกาสตอบแทนบุญคุณอยู่เสมอ 

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๔๘.อยากไปเรียนภาษาบาลีที่ลังกา   ๔๙.จุดกำเนิดการทำงานต่อพระพุทธศาสนา  ๕๐ .สร้างตึกผู้มีพระคุณ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here