เรียนรู้ฏิปทาพระเถระรูปหนึ่ง ผู้รักในพระพุทธศาสนายิ่งชีวิต ผู้สร้างทางให้กับพระสงฆ์รุ่นใหม่ ได้มีโอกาสบวชเรียนและเผยแผ่ธรรมไปทั่วโลก ได้มากที่สุดในยุคสมัยของท่าน อานิสงส์ที่พุทธบริษัทและมวลมนุษยชาติได้รับคือ โอกาสในการศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และเข้าถึงธรรมได้อย่างอิสระและหลากหลายเส้นทางมากที่สุดเพื่อไปสู่จุดหมายเดียวคือสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ

สำหรับสองบทนี้เล่าย้อนไปเมื่อครั้งที่หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้มีโอกาสเผยแผ่ธรรมครั้งแรก และการเรียนภาษาอังกฤษ ตามคำแนะนำของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ซึ่งมีความสำคัญมากในการจาริกธรรมเพื่อเปิดเส้นทางการเผยแผ่ธรรมไปยังนานาชาติในเวลาต่อมา ด้วยการเรียนภาษาอังกฤษของพระเณรสมัยก่อนโน้น  ไม่เหมือนอย่างทุกวันนี้  โดยเฉพาะถ้าพระเณรเรียนภาษาอังกฤษ  ก็จะถูกมองไม่ดี  หาว่าเป็นพระนอกรีต  แต่สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) พระองค์ท่านไม่เห็นอย่างนั้น  ทรงเห็นว่า  เป็นเรื่องดีสำหรับพระเณร  หากพระเณรดี  วัดก็ดี  วัดดี  พระศาสนาก็ดีด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้หลวงพ่อสมเด็จฯ ใส่ใจในภาษาอังกฤษ และภาษาต่างๆ อีกหลายภาษา เพื่อเหตุผลประการเดียวคือ การเผยแผ่ธรรมตามวัตถุประสงค์ของพระพุทธเจ้า

๔๖.เผยแผ่ธรรมครั้งแรก

              หลวงพ่อสมเด็จฯ อยู่ในฐานะผู้รู้หรือพหูสูตในด้านคัมภีร์พระไตรปิฎก  มีความแตกฉานในอรรถกถาธรรมทั้งฝ่ายเหนือ  ฝ่ายใต้  แต่ท่านมิได้เอาความสำเร็จของปริยัตินั้นไว้อวดผู้ใด  เรียนรู้แล้วก็เก็บไว้ที่ใจ แล้วท่านก็พิจารณาลึกลงไปอีกว่า  ปริยัติต่างๆ ที่เรียนมานั้นจะต้องได้รับการทดลองให้รู้ผลแห่งความจริงทุกกระแส  มิฉะนั้นปริยัติก็เป็นเพียงตัวหนังสือหรือร่างทรงที่ไร้วิญญาณอย่างแท้จริง  ไร้แก่นสารที่จะนำไปสอนหรือนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดในชีวิต  ศาสตร์ใดที่ท่านได้เคยศึกษาที่เคยได้ร่ำเรียนมาจากสมเด็จพระสังฆราช  ศาสตร์นั้นท่านก็เก็บรักษาไว้ที่ใจ   และเมื่อถึงเวลาอันสมควรท่านก็ได้นำมาทดลองปฏิบัติจนเห็นจริงได้ผลจริง

ดังที่เล่าให้ฟังในตอนต้น  เมื่อปี ๒๔๙๗ หลวงพ่อสมเด็จฯ  เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเกี่ยว  ออกเดินทางไปร่วมสังคายนาพระไตรปิฎกฉัฏฐสังคีติ ณ ประเทศพม่า  ในการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ณ ประเทศพม่านี้เอง  พระมหาเกี่ยวได้พบกับพระสงฆ์จากนานาประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์จากพม่า  ลังกา ลาว  และกัมพูชา  เป็นต้น  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พระมหาเกี่ยวก็ได้เดินทางไปร่วมสังคายนาคัมภีร์อรรถกถา ณ ประเทศพม่า  เพื่อร่วมฉลองกึ่งพุทธกาลอีกครั้ง

นับเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ในระดับนานาชาติครั้งแรก 

อันเป็นการปูทางนำพระพุทธศาสนาก้องโลก  ในโอกาสต่อมา”

              ด้วยความใฝ่รู้  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์เมื่อครั้งเป็นพระมหาเกี่ยว  ได้ศึกษาภาษาอังกฤษ ตามคำแนะนำของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ด้วยพระองค์เป็นพระที่ทันโลกทันเหตุการณ์  คอยติดตามเหตุบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศอยู่ตลอด  ความสนใจเหตุบ้านการเมืองนั้น  ถึงขนาดว่าเมื่อได้เวลาข่าวพระองค์ก็ทรงตั้งใจฟัง  ไม่ทรงรับแขกในเวลาข่าว  ซึ่งเป็นอุปนิสัยที่สืบทอดมาถึงเจ้าประคุณสมเด็จฯ ด้วย  เพราะทรงเก่งภาษาต่างประเทศหลายภาษา  เช่น  ภาษาอังกฤษ  ภาษาจีน  ภาษาญี่ปุ่น  และเป็นครูสอนในภาษานั้นๆ ด้วย  โดยเฉพาะภาษาอังกฤษทรงสนทนากับแขกต่างชาติโดยไม่ต้องมีล่าม  

“การที่พระองค์ท่านมีความรอบรู้ในหลายๆ ภาษา ก็เพราะพระองค์มีอัธยาศัยอ่อนโยน  คนจึงชอบมาพบท่าน  มีคนรักเคารพบูชาท่านเยอะ และท่านก็มีโอกาสรู้จักคนมาก  ความรู้ในเรื่องภาษาต่างๆ  พระองค์ท่านก็เรียนจากผู้ที่มาพบนี้เอง”

๔๗. เรียนภาษาอังกฤษ           

              ครูสอนภาษาอังกฤษของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) มีชื่อว่า “พระยาวรรณศาสตร์ประพฤติ”  เป็นฝรั่งเชื้อชาติโปรตุเกส  และเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนตำรวจ  เดิมทีพระยาวรรณศาสตร์ประพฤติได้มากราบนมัสการสมเด็จพระสังฆราชเพราะมีผู้แนะนำให้มา  เมื่อมาแล้วเกิดสบอัธยาศัย  จึงแวะเวียนมาเฝ้าพระองค์บ่อยขึ้น  ภายหลังเกิดความคุ้นเคยมากขึ้น  เห็นว่าพระองค์มีความสนใจในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องภาษา  จึงมาถวายความรู้ให้ทุกอาทิตย์  หรือวันไหนที่ว่างท่านก็จะมา

ต่อมา พระองค์ท่านทรงแนะนำการเรียนภาษาอังกฤษแก่พระมหาเกี่ยว อุปเสโณ ว่า  การเรียนภาษาอังกฤษนั้นไม่ยาก  แต่ต้องทำให้ติดต่อกันไม่ให้ขาด  วันหนึ่งต้องท่องศัพท์ภาษาอังกฤษให้ได้อย่างน้อย ๕ คำ  ต้องทำให้ได้วันละ ๕ คำ  หนึ่งปีเท่านั้นแหละก็เก่ง  สามารถพูดได้แล้ว  แต่ต้องจำไว้ว่า  ฝึกพูดภาษาอังกฤษจะต้องไม่อาย  ผิดถูกไม่ต้องอาย

สมเด็จพระสังฆราชไม่ได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษข้างนอก  ทรงพูดอยู่ในห้องน้ำ  ที่พูดในห้องน้ำ  เพราะห้องน้ำเสียงก้อง  เวลาพูดออกมาทำให้เรารู้สำเนียงพูดว่าชัดหรือไม่ชัด  เป็นการพูดให้เข้าหูเราเอง ไม่ใช่ให้เข้าหูคนอื่น

    พระองค์ท่านมีเหตุผลของท่านอย่างนั้นและทำอย่างนั้นทุกวัน  จนกระทั่งพูดภาษาอังกฤษได้เก่งและคล่อง  เวลามีแขกชาวต่างชาติมาเฝ้า  พระองค์ท่านไม่ต้องมีล่าม  ท่านพูดของท่านเอง

              การเรียนภาษาอังกฤษของพระเณรสมัยก่อนโน้น  ไม่เหมือนอย่างทุกวันนี้  โดยเฉพาะถ้าพระเณรเรียนภาษาอังกฤษ  ก็จะถูกมองไม่ดี  หาว่าเป็นพระนอกรีต  แต่สมเด็จพระสังฆราช  พระองค์ท่านไม่เห็นอย่างนั้น  ทรงเห็นว่า  เป็นเรื่องดีสำหรับพระเณร  หากพระเณรดี  วัดก็ดี  วัดดี  พระศาสนาก็ดีด้วย

พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๔๖. เผยแผ่ธรรมครั้งแรก ๔๗. เรียนภาษาอังกฤษ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here