รำลึกวันวาน วันเสาร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จเป็นองค์ประธาน งานอุปสมบท สามเณรวิโรจน์ สีน้ำเงิน ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร (เป็นการส่วนพระองค์)

     วันที่ ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕

          ต่อมา วันที่ ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๗.๔๘ น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เนื่องในโอกาสที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี ๒๔๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ณ วัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

จากนั้น ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมบรรพต แล้วทรงพระดำเนินขึ้นพระบรมบรรพตทางบันได จำนวน ๓๔๔ ขั้น แล้วเสด็จขึ้นลานองค์พระเจดีย์บรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) ด้านบนสุด ทรงถวายผ้าห่มองค์พระเจดีย์บรมบรรพต ทรงชักสายสูตรห่มผ้าที่องค์พระเจดีย์บรมบรรพต จากนั้น ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ

วัดสระเกศ เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิสังขรณ์ และทรงให้ขุดคลองรอบเมืองขึ้น ตั้งแต่บางลำพูถึงตอนเหนือวัดจักรวรรดิราชาวาส คลองหลอด คลองเหนือวัดสระแก พระราชทานชื่อว่า คลองมหานาค เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ พระราชทานชื่อวัดใหม่ว่า วัดสระเกศ แปลว่า ชำระหรือทำความสะอาดพระเกศา เนื่องจากวัดสระเกศนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เคยประทับและทรงประกอบพิธีสรงมุรธาภิเษก เมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีขาล ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๕ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินกรีธาทัพกลับจากกัมพูชา และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕

  ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บูรณะ และสร้างพระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด การก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมบรรพตมีความสูงจากฐานถึงยอด ๖๓.๖ เมตร ฐานรอบมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๕๐ เมตร องค์พระเจดีย์มีความสูง ๕๙ เมตร ฐานรอบมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ เมตร

เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระเจดีย์บรมบรรพต

ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๙ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๙ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร และเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมถวายโมเสคสีทองแบบเรียบ เพื่อซ่อมแซมองค์พระเจดีย์บรมบรรพต

จึงถือได้ว่าวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชจักรีวงศ์มาแต่ต้น พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์ก่อสร้างถาวรวัตถุและเสนาสนะสงฆ์สืบมาโดยลำดับ และทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระบรมบรรพต และประเพณีห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์บรมบรรพต ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ โดยมีประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ เดินทางมาร่วมงานและสักการะพระบรมสารีริกธาตุเป็นจำนวนมาก ( อ้างอิงจาก royaloffice.th)

วันนี้วันพระ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑

ขออธิษฐานจิต เจริญพระพุทธมนต์ “โพชฌงคปริต” ถวายพระพร “เจ้าฟ้าภาฯ”พระผู้เป็นมิ่งขวัญและแรงบันดาลใจของปวงประชาทั้งแผ่นดินและชาวโลก ขอพระองค์ทรงหายจากพระประชวรโดยเร็วพลัน

จากแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวร ฉบับที่ ๑ และ ฉบับที่ ๒

วันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

สำนักพระราชวัง เปิดให้ประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ขอให้ทรงหายจากพระอาการประชวรและมีพระพลานามัยแข็งแรงโดยเร็ววัน ผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ https://wellwishes.royaloffice.th ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เป็นต้นไป

พสกนิกรทั่วราชอาณาจักรและทั่วโลก เราสามารถน้อมจิตเหนือเศียรเกล้า เจริญพระพุทธมนต์ “โพชฌังคปริตร” ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเจริญจิตตภาวนาไปด้วยกัน ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อส่งพลังอันบริสุทธิ์เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ขอพระองค์ทรงหายพระประชวรโดยเร็ววัน

โพชฌงคปริตร : ปริตรแห่งองค์คุณเพื่อการตรัสรู้

จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “พุทธานุภาพ” อานุภาพของพระพุทธองค์
เรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ฉบับธรรมทาน พิมพ์ครั้งที่ ๑๙ โดยกองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศฯ

ขอพลังพุทธานุภาพ ถวายพระพร “พระองค์ภาฯ”

มิ่งขวัญปวงประชาทั้งแผ่นดิน ทรงหายจากพระประชวรโดยพลัน

จาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวรรค

ตำนานและอานุภาพการป้องกัน

โพชฌงคปริตร

เป็นปริตรที่โบราณจารย์ นำเอาโพชฌงคสูตรทั้ง ๓ สูตร คือ มหากัสสปโพชฌงคสูตร มหาโมคคัลลานโพชฌงคสูตร และ มหาจุนทโพชฌงคสูตร มาประพันธ์เป็นคาถาเรียกว่า โพชฌงคปริตร โดยน้อมเป็นสัจกิริยาเพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เกิดเป็นความสุขสวัสดี

เนื้อความในโพชฌงคสูตรทั้ง ๓ สูตรนั้น กล่าวถึงองค์คุณแห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ คือ

๑. สติ ความระลึกได้

๒. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นพิจารณาธรรม

๓. วิริยะ ความเพียร

๔. ปีติ ความอิ่มใจ

๕. ปัสสัทธิ ความสงบ

๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น

๗. อุเบกขา ความวางเฉย

ความเป็นมาของพระสูตรทั้ง ๓ ปรากฏใน พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวรรค

อานุภาพกาารป้องกัน

โพชฌงคสูตรทั้ง ๓ นี้ โบราณาจารย์ได้นำมาประพันธ์เป็นคาถาสำหรับเจริญภาวนา โดยน้อมเป็นสัจกิริยา เพื่อให้พระปริตรเป็นธรรมโอสถ บังเกิดพุทธานุภาพขจัดโรคภัยไข้เจ็บให้อันตรธานไป เกิดเป็นความสุขสวัสดี ภายหลังได้เกิดความนิยมว่า เมื่อเจ็บป่วยไม่สบายก็จะสวดโพชฌงคปริตร ซึ่งเป็นทั้งโอสถ เป็นทั้งพุทธมนต์

นอกจากนี้ เมื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเจ็บป่วยเป็นไข้หนักก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดโพชฌงคปริตรให้ฟัง หรือไม่ลูกหลานจะสวดให้ฟังก็ได้ แม้ในงานทำบุญอายุ พระสงฆ์ก็จะสวดพระปริตรบทนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและให้มีอายุยืน ผู้ไม่ต้องการเจ็บป่วย และปรารถนาความเป็นผู้มีอายุ โดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงควรเจริญโพชฌงคปริตรตามแบบอย่างพุทธสาวก

โพชฌงคปริตรนี้ ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์สวดให้ฟังหรือจะให้ลูกหลานสวดให้ฟังก็ได้

ในบทขัดตำนานท่านได้ประพันธ์เป็น คาถาแสดงอานุภาพโพชฌงคปริตรไว้ดังนี้

สังสาเร สังสะรันตานัง สัพพะทุกขะวินาสะเน

สัตตะ ธัมเม จะ โพชฌังเค มาระเสนัปปะมัททิโน

พุชฌิตวา เยปิเม สัตตา ติภะวามุตตะกุตตะมา

อะชาติง อะชะราพยาธิง อะมะตัง นิพภะยัง คะตา

เอวะมาทิคุณเปตัง อะเนกะคุณะสังคะหัง

โอสะถัญจะ อิมัง มันตัง โพชฌังคันตัมภะณามะ เห ฯ

คำแปล

“สัตว์ทั้งหลายตรัสรู้ โพชฌงค์ คือ ธรรม ๗ ประการนี้ใด อันเป็นเครื่องบำบัดทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย ผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ เป็นธรรมที่กำจัดมารและเสนามาร จึงเป็นผู้พ้นแล้วอย่างยอดเยี่ยมจากภพทั้ง ๓ ถึงพระนิพพาน อันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่มีภัย เราทั้งหลายจงสวดโพชฌงค์นั้น อันประกอบด้วยคุณตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นทั้งโอสถและเป็นทั้งมนต์ เป็นที่รวมแห่งสรรพคุณเป็นเอนก เทอญฯ”

โพชฌงคปริตร

โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา

วิริยัมปีติปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร

สะมาธุเปกขะโพชฌังคา สัตเตเต สัพพะทัสสินา

มุนินา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา

สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

เอกัส๎มิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง

คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ

เต จะ ตัง อะภินันทิตวา โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต

จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปต๎วานะ สาทะรัง

สัมโมทิต๎วา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

ปะหี(ออกเสียง ฮี) นา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง

มัคคาหะตะกิเลสา วะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

คำแปล

โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นพิจารณาธรรม ๓. วิริยะ ความเพียร ๔. ปีติ ความอิ่มใจ ๕. ปัสสัทธิ ความสงบ ๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๗.อุเบกขา ความวางเฉย เหล่านี้เป็นธรรมที่พระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว บุคคล อบรมฝึกฝนให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อพระนิพพาน ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ

สมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลานะ และพระกัสสปะเป็นไข้ ได้ความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง ท่านทั้งสองต่างชื่นชมยินดีพระธรรมเทศนานั้น แล้วกลับหายจากโรคทันที ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ

ครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเองทรงประชวรไข้ รับสั่งให้พระจุนทะเถระกล่าวโพชฌงค์ ๗ ประการนั้นถวายโดยเคารพ ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากประชวรนั้นแท้จริง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ ฯ

แท้จริงแล้ว อาพาธเหล่านั้นของท่านผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ อันตรธานไปไม่กลับเป็นอีก เหมือนอริยมรรคกำจัดกิเลสลงราบแล้ว ไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่่อฯ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน และเรียบเรียง หนังสือ พุทธานุภาพ จัดพิมพ์โดยกองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here