วันอานันทมหิดล ๙ มิถุนายน
วันคล้ายวันสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘
“พุทธศักราช ๒๔๘๑
พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน
ทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ
ณ บรมบรรพต “
โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) นำเสด็จในหลวงขึ้นภูเขาทอง วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ในการเสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกของพระองค์นั้น พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ในขณะนั้น เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเจดีย์) นำเสด็จในหลวงรัชกาลที่ ๘ ขึ้นภูเขาทอง
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีสมเด็จพระเชษฐภคินี และ สมเด็จพระอนุชา ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระบรมราชปิตุลาธิบดีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ขณะที่มีพระชนมพรรษาเพียง ๙ พรรษา และประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อศึกษาต่อ
ต่อมา พระองค์ยังทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะผนวชในพระพุทธศาสนา โดยได้มีพระราชหัตเลขาถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ทรงขอสังฆราชานุเคราะห์ในการศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนาเพื่อใช้ในการเตรียมพระองค์ในการที่จะอุปสมบท แต่ก็มิได้ผนวชตามที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอาราม กับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นตามสมควรอีกด้วย (ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)