วันจันทร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ ๑๖ ปี มรณกาล พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) อดีตเจ้าคณะตำบลกุดลาด , อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง) บ้านปากน้ำ (บุ่งสระพัง) ตำบล กุดลาด อำเภอ เมือง จังหวัด อุบลราชธานี จึงขอนำชีวประวัติขององค์ท่านมาเล่าสู่กันฟังพอสังเขป
พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๙ อายุ ๘๑ ปี พรรษา ๖๐ บิดา นายคำ มารดา นางคูณ นามสกุล ประสานพิมพ์ ณ บ้านเลขที่ ๑๐๙ หมู่ ๓ บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
บรรพชาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระครูคัมภีรญาณ วัดบ้านแคน ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์
อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๐ ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูคัมภีรญาณ วัดบ้านแคน ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการดี กนฺตสีโล วัดดงบังเหนือ ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการกุ ปญฺญาวโร วัดยางวังไฮ ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
การศึกษา
พ.ศ. ๒๔๘๒ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๔๘๘ สอบได้นักธรรมชั้นเอกจากสำนักศาสนศึกษาวัดหลวง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๔๙๒ สอบไล่ได้มัธยมศึกษา มศ. ๕ ( ม.๕ เดิม ) จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๔๙๘ สอบได้ประโยคครูพิเศษมูล
งานการปกครอง
พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดผาแก้วใหญ่ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นผู้รักษาการเจ้าวัดผาแก้วน้อย ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ตำบลกุดลาด
งานการศึกษา
พ.ศ. ๒๕๒๙ เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี สำนักศาสนศึกษาวัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง)อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
งานด้านสาธารณูปการ
พ.ศ. ๒๕๒๐ ดำเนินการสร้างอุโบสถทรงไทยที่ วัดปากน้ำตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ลงรักปิดทอง ปูหินอ่อน
พ.ศ. ๒๕๒๕ ดำเนินการสร้างกุฏิลักษณะทรงไทย ๔ หลังที่ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๒๕ ดำเนินการสร้างซุ้มประตูหน้าวัดลักษณะทรงไทย ติดลายปูนปั้นที่วัดปากน้ำตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๒๘ ดำเนินการสร้างอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะทรงไทยประยุกต์ ๒ ชั้น
พ.ศ. ๒๕๓๘ ดำเนินการสร้างศาลาการเปรียญทรงไทย ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นทำด้วยหินขัด พ.ศ. ๒๕๓๘ สร้างพระเจ้าใหญ่บรรจุพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานในศาลาการเปรียญ ที่วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๗ ดำเนินการขุดสระน้ำ ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี กว้าง ๒๕ เมตร ยาว ๕๐ เมตร เพื่อใช้อุปโภค บริโภค ภายในวัด
พ.ศ.๒๕๓๙ ดำเนินการสร้างศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนประจำหมู่บ้าน ๑ หลัง ชั้นเดียว ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๔๓ ดำเนินการก่อสร้างศาลานาบุญ ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้างด้วยไม้ หลังคาสังกะสี
พ.ศ. ๒๕๔๔ ดำเนินการสร้างหอไตรลักษณะทรงไทย ๑ หลัง ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
พ.ศ. ๒๕๔๕ ดำเนินการสร้างเมรุ ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๔๕ ดำเนินการสร้างหอระฆังลักษณะทรงไทย จำนวน ๑ หลัง ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
พ.ศ. ๒๕๔๕ ดำเนินการสร้าง พระธาตุพนมจำลอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปทองคำ หลวงพ่อเงินจำลอง ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
พ.ศ. ๒๕๔๖ ดำเนินการบูรณะโรงครัวภายในวัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
พ.ศ. ๒๕๔๘ ดำเนินการสร้างกุฏิรับรองลักษณะทรงไทย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง
พ.ศ. ๒๕๔๘ ดำเนินการสร้างกำแพงรอบวัด ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
งานบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดปากน้ำ
พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์อาคารพระปริยัติธรรม ๑ หลัง ลักษณะทรงไทย ๒ ชั้นทำด้วยไม้ เสาคอนกรีต หลังคามุงสังกะสี ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ ๑ หลัง ลักษณะทรงไทย ๒ ชั้นทำด้วยไม้ เสาคอนกรีต หลังคามุงสังกะสี ณ วัดปากน้ำตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
วัดที่อยู่ในการอุปภัมภ์
พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ดำเนินการบูรณะ วัดป่าพิฆเณศวร์ (วัดป่าบ้านบาก) ดงพระคเณศ (เพื่อใช้เป็นที่ปฎิบัติธรรม) โดยการสร้างกำแพงรอบวัด (บุ่งสระพัง) ศาลาการเปรียญ บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ.๒๕๒๐ ได้ซื้อที่ดินขยายพื้นที่วัดป่าพิฆเณศวร์ ให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าและหนองน้ำในบริเวณนั้นทั้งหมดประมาณ ๗ ไร่
พ.ศ.๒๕๒๔ ดำเนินการสร้างศาลาพักสงฆ์ ณ สำนักสงฆ์บุ่งสระพัง (โนนวัด) ที่บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๕ ดำเนินการสร้างกุฏิสงฆ์ ๑ หลัง ลักษณะทรงไทย ๒ ชั้นทำด้วยไม้ เสาคอนกรีต หลังคามุงสังกะสี ณ วัดนาคำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ.๒๕๒๖ ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญทรงไทย วัดบ้านนาคำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๒๘ ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญและอุโบสถทรงไทย วัดบ้านหนองมะนาว ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๐ ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถทรงไทย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ วัดบ้านบ่อหวาย ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ.๒๕๓๕ ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญ วัดบ้านโคกกลาง ตำบลคำหว้า อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๖ ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญ วัดบ้านโนนสมบูรณ์ ตำบลบุ่งมะแลง กิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๘ ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถทรงไทย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ วัดบ้านนางิ้ว ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๙ ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถทรงไทย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ วัดบ้านค้อ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทรงไทย
พ.ศ. ๒๕๔๐ ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถทรงไทย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ วัดผาแก้วใหญ่ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทรงไทย
พ.ศ. ๒๕๔๐ ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญทรงไทย สร้างด้วยไม้ พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยสังกะสี ณ วัดป่าพิฆเณศวร์ บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ร่วมกับทางราชการดำเนินการขุดสระน้ำสาธารณะที่บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดกว้าง ๔ ไร่ ลึก ๖ เมตร เพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์
พ.ศ. ๒๕๔๒ ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถทรงไทย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ วัดบ้านหมากมี่ ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ.๒๕๔๕ ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถทรงไทย วัดผาแก้วน้อย ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ.๒๕๔๖ ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญทรงไทย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก วัดหนองคู ตำบลกุดประทาย อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๔๙ ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญ วัดบ้านผ้าแก้วน้อย ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
งานสาธารณสงเคราะห์
พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้นำประชาชนดำเนินการปรับปรุงและสร้างถนนในหมู่บ้านปากน้ำตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ.๒๕๑๙ ได้นำประชาชนก่อสร้างสถานีอนามัยประจำตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้ดำเนินการก่อสร้างธนาคารข้าวและซื้อข้าวเข้าธนาคารเพื่อเป็น กองทุนสงเคราะห์ประชาชน ที่บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนบ้านปากน้ำ (อาคารบุญจันทร์) ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาสภาตำบลกุดลาด (สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี) บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนบ้านปากน้ำ (อาคารพัฒนกิจวิมล) ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ร่วมกับทางราชการดำเนินการสร้างถนนจากทางหลวงแผ่นดินเข้าสู่สำนักสงฆ์บุ่งสระพัง(โนนวัด)หน้ากว้าง ๔ เมตร หนา ๒๐ เซนติเมตร เป็นระยะทาง ๒.๕ กิโลเมตร ที่บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาเย็นใจ ทรงไทยสมัยใหม่ ๒ ชั้น สร้างด้วยไม้ พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ทรายหาดบุ่งสระพัง (ซึ่งต่อมานายอำเภอเมืองอุบลสมัยนั้น ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อ หาดบุ่งสระพัง เป็นหาดศรีพิรมย์ ตามนามสกุลของนายอำเภอ) บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ร่วมกับทางราชการดำเนินการสร้างถนนจากทางหลวงแผ่นดินเข้าสู่หาดบุ่งสระพัง หน้ากว้าง ๔ เมตร หนา ๒๐ เซนติเมตร เป็นระยะทาง ๓ กิโลเมตร ที่บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้สร้างถนนคอนกรีต เสริมเหล็กรอบวัด ณ วัดปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มงานการศึกษา
การศึกษาพัฒนาชีวิต ประเทศชาติ และพระศาสนา
หลังจากพระมงคลธรรมวัฒน์ ได้พัฒนาชุมชนให้เกิดความก้าวหน้าในหลายๆ ด้านแล้ว ในขณะเดียวกันท่านก็ได้พัฒนาการศึกษาควบคู่กันไปด้วย ท่านได้ตั้งความหวังไว้ว่า จะเปิดสำนักเรียนขึ้นที่วัดปากน้ำแห่งนี้ให้ได้ และท่านได้ยึดเป็นหลักการไว้ว่า “การเปิดสำนักเรียนบาลี ที่จะให้มั่นคง และประสบผลสำเร็จนั้น จะต้องมีครูสอนที่เป็นลูกศิษย์โดยตรงเท่านั้น เพราะปัจจัยที่สำคัญของการเรียนการสอนภาษาบาลี อยู่ที่ครูผู้สอน”
พระมงคลธรรมวัฒน์ จึงเริ่มบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทางการศึกษา ไปพร้อมกับการพัฒนาชุมชน ระยะแรกท่านได้นำเยาวชนลูกหลานเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุสามเณรแล้วส่งเสริมให้ศึกษาเล่าเรียน ทั้งทางโลกและทางธรรม โดยมีความหวังที่จะเห็นลูกศิษย์ได้เป็นเปรียญธรรม และด้านทางโลกก็ต้องให้มีการศึกษาสูงขึ้นไปตามลำดับ จึงได้ส่งลูกศิษย์ให้ไปเรียนในสำนักเรียนต่างๆ ทั้งใกล้และไกล เนื่องจากการ เรียนภาษาบาลี เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ผู้ศึกษาต้องใช้ความจำ ความอดทน และความมุ่งมั่นสูง หากขาดความอดทน การศึกษาภาษาบาลีก็ไร้ผล ท่านจึงมักสอนลูกศิษย์ให้อดทนว่า
“แลนไวสามเหล่า เต่าช้าสามหนอง”
“แลน(ตะกวด)แม้จะวิ่งเร็ว ก็สามารถวิ่งได้ ๓ ป่า เท่ากับเต่า เต่าแม้จะเดินช้าก็สามารถว่ายน้ำได้ ๓ หนองเท่ากับแลน ช้าหรือเร็ว ไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องอดทนที่จะเดินไปหาจุดหมาย” (ขอบพระคุณ ข้อมูลจากเว็บไซต์ paknamubonclub.com)
จากประวัติโดยสังเขป ย่อมมีเรื่องราวที่น่าจดจำและประทับใจมากมายจากศิษยานุศิษย์จนก่อเกิดเป็นส่วนหนึ่งของมโนปณิธานท่านพระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) แห่งวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ดังที่ ท่านเล่าไว้ในมโนปณิธานเกี่ยวกับหลวงพ่อของชุมชน หลวงพ่อนักพัฒนา พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของท่านตั้งแต่เริ่มบรรพชาเป็นสามเณรในวัยเพียง ๑๒-๑๓ ปี ตอนหนึ่งว่า
“หลวงพ่อของอาตมา หลวงพ่อบุญจันทร์ จตฺตสลฺโล ท่านเป็นพระบ้านๆ เป็นพระนักพัฒนา อย่างเรื่องต้นมะพร้าว ในทางอีสานปลูกมะพร้าวยาก เพราะแห้งแล้งมาก ท่านก็ทดลองปลูกโดยการขุดหลุมลงไปแล้วก็เอาไหตั้งไว้ในดิน เอาดินมาใส่ไห แล้วก็เอามะพร้าวที่เป็นลูกที่มีหน่อและมีรากหย่อนลงไปในนั้น จากนั้นก็ใส่น้ำลงไป คือให้มะพร้าวได้น้ำจากโอ่ง เมื่อก่อนในวัดมะพร้าวเต็มไปหมด แล้วก็ขยายออกไปให้ชาวบ้าน สอนให้ชาวบ้านปลูกอย่างนี้บ้าง และพาชาวบ้านขุดบ่อ โดยการพาชาวบ้านเผาอิฐเพื่อที่จะก่อเป็นบ่อลงไปอยู่ข้างล่าง จนบางบ่อขณะที่ก่อก็ถล่มลงไปทับท่านเกือบตาย ชาวบ้านก็ช่วยกันดึงท่านขึ้นมา นี่คือชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าท่านทำขนาดนี้”
“ต่อมาชาวบ้านทุกข์ยากลำบากมาก ท่านก็ทำยุ้งฉางกลางขึ้นมา แล้วก็เอาข้าวไปไว้ในยุ้งฉางกลาง เหมือนเป็นธนาคารข้าว พอถึงนอกฤดูทำนา ใครไม่มีข้าวก็มายืมข้าวจากยุ้งฉางไปหุงหากิน เพราะชาวบ้านเวลาทำนาไปปลายฤดูข้าวจะหมด พอข้าวหมด ยังไม่ถึงฤดูที่จะเก็บเกี่ยว ข้าวก็หมดแล้ว ก็ต้องมายืมจากยุ้งฉางกลางนี้ไป บางคนก็ไม่มีข้าวปลูก ท่านก็จะคัดข้าวที่เป็นข้าวปลูกไว้ ใครไม่มีก็มายืม
“ต่อมาก็พัฒนาเป็นโรงเรียนโรงนา แล้วก็ไปกันที่ให้เป็นแปลงสำหรับนากลาง เมื่อชาวบ้านทำนาในที่ของตนเสร็จแล้ว ก็มาทำนากลาง เพื่อเก็บไว้เป็นส่วนกลาง ท่านคิดถึงขนาดนั้น นี่คือหลวงพ่อ บุญจันทร์ ที่อาตมาอยู่กับท่าน
“ความที่ท่านเป็นพระนักพัฒนา อยู่กับชาวบ้าน ท่านเป็นพระของชาวบ้าน ใครๆ ก็เรียกท่านหลวงพ่อ หลวงตา ตอนถนนขาด สะพานขาด ตอนที่อาตมาเป็นเณรตัวเล็กๆ ก็ไปช่วยกันซ่อมสะพาน เวลาน้ำไหลเชี่ยวกรากแรง ก็ต้องกระโจนลงไปทำสะพาน ทำถนนหนทาง บางทีเกิดพายุ ก็ต้องไปช่วยกันซ่อมบ้าน เพราะบ้านในชนบทไม่ได้แข็งแรง ถ้าลมมาแรงๆ หลังคาก็ไปแล้ว หลวงพ่อก็พาพระเณรไปช่วยซ่อมหลังคา ไปช่วยชาวบ้าน ไปปีนหลังคาช่วยชาวบ้านซ่อมหลังคา
ความผูกพันของวัดและชุมชนจึงเกิดขึ้นอย่างแน่นแฟ้น เป็นความผูกพันแบบเหนียวแน่น เวลาทำกิจของสงฆ์แล้วก็ไปช่วยชาวบ้าน เหมือนกับที่ท่านพระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) ได้เพียรพยายามสร้างพระเณรให้กลับไปช่วยเหลือชุมชนที่บ้านเกิดมาโดยตลอด
“ที่อาตมาคิดก็คือ
เมื่อไรที่เราสร้างความภาคภูมิใจ
ให้กับท้องถิ่นเราเองในแต่ละที่
ก็เป็นการทำรากให้แข็งแรงรากนี้ก็จะเป็นฐานให้กับพระพุทธศาสนามีความมั่นคง
เมื่อพระพุทธศาสนามั่นคง
ก็เป็นที่แน่นอนว่าประชาชนจะมีหลักธรรม
ในการดำเนินชีวิตเพื่อความสงบเย็นใจ
สังคมก็จะปลอดภัยและมีสันติสุข”
พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์)
๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
บุญกฐินสามัคคี ณ วัดป่าบ้านบาก (วัดป่าพระพิฆเณศวร์)
บ้านปากน้ำ(บุ่งสระพัง) ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ก่อนถึงวันงานกฐินสามัคคีวัดบ้านบาก (วัดป่าพระพิฆเณศวร์) พระมหาแชมป์ แห่งวัดสระเกศ ฯ นำคณะวัชรโพธิสถานมงคลธัญ ศรัทธาสายบุญจากกรุงเทพมหานคร เดินทางมาร่วมอนุโมทนากฐิน เเละได้ร่วมถวายผ้าจีวรห่มองค์พระประธาน โดยมีหลวงตาเด็จ, พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์), พระอาจารย์สังคม ญาณวฑฺฒโน( อดีต พระราชอุปเสณาภรณ์) ,พระอาจารย์พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จิตฺตธมฺโม) และ พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จากวัดสระเกศฯ เมตตาต้อนรับคณะ สนทนาธรรม และห่มจีวรองค์พระประธาน
จากนั้นก็ถวายปัจจัยร่วมกฐิน และ เดินชมสถานที่ภายในวัดมีศาลปู่พระพิฆเนศและสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญของวัดป่าและได้มีซินแสดูทิศทางและสถานที่สัปปายะภายในบริเวณวัด
และยังได้พบกับคณะเจ้าภาพกฐินด้วย
ต่อจากนั้นทางคณะวัชรโพธิสถานมงคลธัญก็ได้สวดสาธยายมนต์ ถวายแก่เทวดาอารักษ์ที่คอยปกปักคุ้มครองรักษาป่า
ยามเช้า “วันจตฺตสลฺโลรำลึก” ครบรอบ ๑๖ ปี มรณกาลพระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ และบุญกฐินสามัคคี วัดป่าบ้านบาก (วัดป่าพระพิฆเณศวร์) บ้านปากน้ำ(บุ่งสระพัง) ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิธีทอดกฐินสามัคคี วัดป่าบ้านบาก (วัดป่าพระพิฆเณศวร์) บ้านปากน้ำ(บุ่งสระพัง) ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
โดย คุณไพที่ พิชัยสวัสดิ์ – คุณฐานิตา สามัคคี
คุณฎาพ์วี พิชัยสวัสดิ์ – พร้อมครอบครัว ประธานกฐินสามัคคี
ณ วัดป่าบ้านบาก (วัดป่าพระพิฆเณศวร์) บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
เวลา ๐๘.๐๐ น
– แห่องค์กฐินสามัคคี และต้นปราสาทผึ้งจากวัดปากน้ำ เข้าสู่วัดป่าบ้านบาก (วัดป่าพระพิฆเณศวร์)
เวลา ๐๙.๓๐ น.
– เจริญพระพุทธมนต์ ฉลององค์กฐิน
– ถวายไทยธรรม
– ทอดผ้าไตรบังสุกุล
– พระสงฆ์ทั้งนั้น พิจารณาผ้าไตรบังสุกุล
– อนุโมทนา / กรวดน้ำ รับพร
– ศิษยานุศิษย์ในพระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จติตสลฺโล) ประกอบพิธี บรรจุวัตถุมงคลลงสะดือศาลพระพิฆเณศวร์
– พระสงฆ์ทั้งนั้นเจริญชัยมงคลคาถา
เวลา ๑๐.๔๐ น.
– พิธีถวายผ้ากฐิน
คำถวายผ้ากฐิน
” อิมัง มะยัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมัง สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตตะวาจะ, อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง ฑีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ นิพพานายะจะ ฯ “
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย และ เมื่อรับแล้วขอจงกรานใช้ กฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์ และ ความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และเป็นพลวปัจจัยไปจนถึงนิพพานเทอญ ฯ
– พระสงฆ์สวดอปโลกน์กฐิน
(อปโลกน์กฐิน ) หมายถึง การที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอชึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่าผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือการเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์ (อ่านว่าอะ-ปะ-โหลก) เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้วจึงต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์จึงนับเป็นสังฆกรรม
พระสงฆ์ทั้งนั้น อนุโมทนา / กรวดน้ำ รับพร
เวลา ๑๑.๐๐ น.
ถวายภัตตาหารเพล
เสร็จพิธี
ยอดกฐินสามัคคีวัดบ้านบาก (วัดป่าพระพิฆเณศวร์) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
๑) ยอดคุณจ๊อด-ส้ม เจ้าภาพอุปถัมภ์กฐิน จำนวนปัจจัย ๑๐๐,๐๐๐ บาท
๒) ญาติโยมทำบุญผ่านพระมหาแชมป์ วัดสระเกศฯ จำนวนปัจจัย ๕๕,๐๐๐ บาท
๓) ทำบุญออนไลน์ผ่านบัญชีวัด จำนวนปัจจัย ๑๖๗,๔๗๔ บาท
๔) ชาวบ้านปากน้ำ และ ในจังหวัดอุบลราชธานี
๕) ต่อยอดกฐิน
รวมเป็นปัจจัยทั้งสิ้น ๔๗๕,๒๓๐ บาท (สี่แสนเจ็ดหมื่นห้าพันสองร้อยสามสิบบาทถ้วน)
กฐิน ที่มาในสมัยพุทธกาล และเรื่องเล่าจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ “กฐินขันธกะ” ความว่า
ครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐ ๓๐ รูปเดินทางเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป ล้วนถืออรัญญิกธุดงค์ (อยู่ป่าเป็นวัตร) ปิณฑปาติกธุดงค์ ( บิณฑบาตเป็นวัตร) และ เตจีวริกธุดงค์ ( ละเว้นการมีผ้าครอบครองและใช้สอยผ้าเกิน ๓ ผืน เป็นวัตร) เดินทางไปพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษามีใจครุ่นคิดว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์
ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางไปถึงพระนครสาวัตถี พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย เป็นพุทธประเพณี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้ เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต
ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจครุ่นคิดว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมีกถา พระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์ได้
๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว.
ความหมายของ “กรานกฐิน” จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ป ยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
กรานกฐิน ขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์เพื่ออนุโมทนา ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่า ผู้กราน
พิธีทำในบัดนี้คือ ภิกษุซึ่งจำพรรษาครบ ๓ เดือนในวัดเดียวกัน (ต้องมีจำนวน ๕ รูปขึ้นไป) ประชุมกันในอุโบสถ พร้อมใจกันยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ภิกษุรูปนั้นทำกิจตั้งแต่ ซัก กะตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วบอกแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้าให้ เพื่ออนุโมทนา และภิกษุสงฆ์นั้นได้อนุโมทนาแล้ว เรียกว่า กรานกฐิน
ถ้าผ้ากฐินเป็นจีวรสำเร็จรูป กิจที่จะต้อง ซัก กะ ตัด เย็บย้อม ก็ไม่มี
(กราน เป็นภาษาเขมร แปลว่า ขึง คือทำให้ตึง กฐิน เป็นภาษาบาลี แปลว่า ไม้สะดึง กรานกฐินก็คือขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง) เขียน กราลกฐิน บ้างก็มี
สำหรับอานิสงส์ของผู้ทอดถวายผ้ากฐิน และบริวารกฐินนั้นมีมากมาย เพราะเป็นมหาสังฆทาน ขอขยายความนอกตำรา ซึ่งหากถามผู้ที่ร่วมบุญกฐินในแต่ละปีก็จะได้คำตอบที่ทำให้อิ่มใจ อิ่มบุญกันถ้วนหน้า ตั้งแต่คิดที่จะทำบุญ ตอนร่วมบุญ อนุโมทนาบุญ และหลังจากงานกฐินผ่านไปแล้ว ก็ยังอิ่มบุญ มีปีติหล่อเลี้ยงใจไปตลอดทุกวัน เพราะเป็นการถวายสังฆทานครั้งใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มีเวลาหนึ่งเดือนหลังออกพรรษา เป็นการสร้างความสามัคคีในระหว่างพุทธบริษัท ทำให้เกิดความมั่นคงในสังฆะ หรือสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกันด้วยความเมตตา กรุณา จึงเกิดความร่มเย็น เป็นสุข และสงบสันติ
อีกทั้งเป็นการสั่งสมบุญกุศลไว้ในภายภาคหน้า เพราะเราไม่รู้ว่า พรุ่งนี้หรือชาติหน้าอะไรจะมาก่อนกัน ดังที่พระเถระชาวทิเบตได้กล่าวไว้ เมื่อเราตื่นขึ้นมาก็มีแต่วันนี้เท่านั้น วันนี้จึงเป็นที่ดีที่สุดที่เราจะได้ทำบุญแต่เช้า คือ ใส่บาตร และถวายกฐินสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จะนำไปใช้ตลอดทั้งปี
และยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยให้พระสงฆ์ดำรงธาตุขันธ์ในการบำเพ็ญสมณธรรมไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือ พระนิพพาน ตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้รู้แจ้งโลก
การได้สงเคราะห์พระสงฆ์ตามพระวินัยซึ่งเป็นไปตามพระบรมพุทธานุญาตที่ทรงเมตตาให้รับสังฆทานในช่วงหลังออกพรรษาเป็นเวลา ๑ ครั้งต่อหนึ่งวัด ในแต่ละปี เป็นการรักษาประเพณีของชาวพุทธที่ดีงามสืบกันไปให้เห็นคุณค่าของการทำบุญที่จะช่วยให้กุลบุตร กุลธิดามีจิตใจเมตตาโอบอ้อมอารีมีน้ำใจต่อกันในครอบครัวและสังคม ซึ่งทานคือ บาทฐานแรกของการสร้างบารมีธรรมเคียงคู่ไปกับการรักษาศีล และจิตภาวนาบนทางสายกลางที่จะช่วยให้จิตเรามีกำลังในการต่อสู้กับกิเลสน้อยใหญ่ที่มากล้ำกรายหลอกลวงระหว่างเดินอยู่บนมรรคาอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ให้เรามีสติ สมาธิอันมั่นคง และมีปัญญาในการตัดกิเลสได้โดยสะดวกจนกว่าจะสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ
เป็นการบูชาของพระพุทธคุณอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงบอกหนทางออกจากทุกข์อย่างละเอียด ซึ่งเมื่อนำมาปฏิบัติแล้วสามารถดับทุกข์ได้จริงตามรอยพระองค์ และพระสงฆ์ผู้เป็นศิษยานุศิษย์ ผู้เป็นเนื้อนาของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ซึ่งได้เมตตาถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าผ่านการปฏิบัติของท่านจนเห็นผลแล้ว
การทำบุญกฐินจึงเป็นกุศลผลบุญที่ยิ่งใหญ่ที่ได้เป็นผู้ที่ช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนา ผู้ถวายกฐินปรารถนาความสำเร็จใด ๆ ก็จะมีกำลังใจ กำลังสติและปัญญาให้มีความเพียรไม่ท้อ มีอิทธิบาท ๔ ในการทำกิจทุกอย่างให้สำเร็จตามความปรารถนา ด้วยทาน ศีล ภาวนา เป็นหนทางที่จะนำจิตของผู้ปฏิบัติไปนิพพาน หรือสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏอันเป็นเป้าหมายหลักของชาวพุทธ