อ่านคำนำผู้เขียน

ก่อนอ่านลูกผู้ชายต้องบวช

            หนังสือเกี่ยวกับการบวชเล่มนี้  รวบรวมหลักการบวชไว้อย่างกว้างขวาง ทุกแง่ทุกมุม มีเกร็ดประวัติความเป็นมาแต่ละเรื่อง เพื่อให้หนังสือมีความน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ นอกจากนั้น ยังมีคำศัพท์อธิบายคำบางคำไว้ท้ายเล่ม สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำทางศาสนา  จึงทำให้หนังสือมีเนื้อหาค่อนข้างมาก

ผู้เขียนต้องการแนะนำวิธีการบวช ที่ตรงตามหลักพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ละเลยสาระของการบวช ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี ที่ชาวพุทธควรจะรู้

ข้อปฏิบัติบางอย่าง เกี่ยวกับการบวช ตามประเพณี ไม่เกี่ยวกับสังฆกรรม ตามหลักพระพุทธศาสนา ผู้เขียนได้บอกที่มาที่ไป และเหตุผล ในการปฏิบัติเช่นนั้นเอาไว้ เพื่อจะได้ปฏิบัติตามประเพณีอย่างเข้าใจ  ในเจตนารมณ์ของบูรพช

ผู้เป็นปัญญาชนที่ยึดมั่นในแก่นพุทธศาสตร์ อาจหงุดหงิดกับหนังสือเล่มนี้ ที่ดูเหมือนจะเน้นพิธีกรรม และหลงติดอยู่กับสิ่งที่ปัญญาชน เรียกว่า “เปลือกหรือกระพี้” จนทำให้หนังสือดูเหมือนจะห่างไกลจากแก่นแท้ของพุทธศาสตร์

ส่วนผู้ที่คุ้นชินกับการบวช ตามประเพณีนิยม อาจผิดหวังที่หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เน้นย้ำการบวช ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมประเพณี   ไม่ได้แจกแจงแยกแยะข้อปลีกย่อยทางประเพณี จนแทบไม่หลงเหลือภาพการบวชเก่าๆ  ที่คุ้นชิน  ไม่มีรำวง  กลองยาว  ปี่พาทย์  การเลี้ยงที่เอิกเกริกสิ้นเปลือง ตลอดจนแหล่ทำขวัญนาค บอกเล่าเรื่องราวพระคุณพ่อแม่   จนดูเหมือนเป็นหนังสือแนะนำวิธีบวช  ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “โกนหัวเข้าวัด”

อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ได้ยืนยันข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการบวช ที่ไม่ได้คลาดเคลื่อน จากหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งบูรพาจารย์ นำปฏิบัติสืบต่อกันมา  จากสมัยพุทธกาล  สู่ปัจจุบัน  ทั้งไม่ได้ละทิ้งประเพณีนิยมแบบไทยมาแต่เดิม 

แม้ผู้เขียนเองก็เชื่อมั่นว่า ความงดงามทางวัฒนธรรม และประเพณีไทย ถูกหล่อหลอมขึ้น จากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความละเอียด ประณีตงดงาม และกลมกลืน โดยมีหลักคำสอนของพระพุทธองค์  เป็นแกนหลัก    

ผู้เขียนได้พยายามประสานแก่นแท้ของการบวช ตามหลักพระพุทธศาสนา ให้สอดคล้องกับการบวช ตามแบบวัฒนธรรมประเพณีไทย  และให้ชื่อหนังสือเล่มนี้ ว่า  “ลูกผู้ชายต้องบวช” เพื่อยืนยันเจตนารมณ์บูรพชนไทย ที่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย และต่างก็ยืนยันอุดมคติของบรรพชนไทย ว่า “เกิดเป็นลูกผู้ชาย นับถือพระพุทธศาสนาชาติหนึ่ง ต้องบวช

จิรํ    ติฏฺฐตุ    พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

“ญาณวชิระ”

นครหลวงของประเทศไทย, ระหว่างพรรษา  ปีพุทธศักราช   ๒๕๕๐

“ลูกผู้ชายต้องบวช”

(ตอนที่ ๔๕) บรรพ์ที่ ๘ “สมาธิภาวนาและธุดงค์”(๓)

“ธรรมชาติของจิต” และ “ทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของจิต”

เรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ธรรมชาติของจิต

          การทำสมาธิ คือ การจับจิต หรือ ควบคุมจิตของตนให้อยู่กับที่ หรือ ให้อยู่กับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่เรากำหนด  ผู้ปฏิบัติต้องทำกติกากับตนเองว่า   จะเอาอะไรเป็นตำแหน่งที่จะให้จิตผูกติดอยู่ 

จะกำหนด “พุทโธ” , กำหนด “ลมหายใจเข้า-ออก” หรือกำหนดพุทโธสัมพันธ์กับลมหายใจก็ได้ ไม่ก็ กำหนด “พองหนอยุบหนอ” , “สัมมาอะระหัง”   หรืออื่นใดในบรรดากรรมฐาน ๔๐ ที่กล่าวมาแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง  

ข้อสำคัญของสมาธิ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้จักธรรมชาติของจิตก่อนว่าเป็นอย่างไร  หากรู้จักธรรมชาติของจิต แล้วจะสามารถกำหนดจิตได้ง่ายขึ้น

            เมื่อจะจับจิต   ต้องรู้จักลักษณะของจิต   จึงจะจับได้ถูก เหมือนคนจับไก่ต้องรู้จักลักษณะของไก่ก่อน หากบอกคนไม่รู้จักไก่ไปจับไก่  อาจจับผิดได้เป็ด ได้ห่าน ได้หมา หรือแมวมาก็ได้  เพราะยังไม่รู้ว่าไก่เป็นอย่างไร  พระพุทธเจ้าตรัสถึงธรรมชาติของจิตไว้ว่า

ผนฺทนํ จ ปลํ จิตฺตํ      ทุรกฺขํ  ทุนฺนิวารยํ

สุทุทฺทสํ  สุนิปุณํ        ยตฺถ กามนิปาตินํ

แปลว่า จิตนั้นมีธรรมชาติดิ้นรน อ่อนไหว 

รักษาได้ยาก   ห้ามได้ยาก

จิตนั้นกำหนดให้เห็นได้แสนยาก         

ละเอียดอ่อนยิ่งนัก

มักตกไปหาอารมณ์ที่ปรารถนา

ญาณวชิระ

            นี่คือ ธรรมชาติของจิต   เพราะความดิ้นรน อ่อนไหว  รักษายาก ห้ามยาก  กำหนดได้ยาก  มีความละเอียดอ่อน มักคิดถึงอารมณ์ที่ชอบที่พอใจ

หากเราคิดจะจับจิตที่ดิ้นรน ประคับประคองจิตที่อ่อนไหว  รักษาจิตที่รักษายาก  ห้ามจิตที่ห้ามยาก ชอบคิดแต่เรื่องของอนาคต หมกมุ่นแต่เรื่องของอดีต แม้แต่จะเห็นก็ยังเห็นได้แสนยาก มีความละเอียดอ่อนประณีตยิ่งนัก  จะทำอย่างไร

แค่เราห้ามเด็กไม่ให้ดื้อ บอกเด็กว่านิ่งๆ ยังห้ามได้แสนยาก ทั้งๆ ที่เด็กก็เป็นตัวเป็นตนมองเห็นได้ แต่นี่ห้ามจิตซึ่งมองไม่เห็น  ไม่มีตัวไม่มีตน  ไม่ให้จิตดิ้นรนฟุ้งซ่านจะทำได้อย่างไร

ทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของจิต

            การทำสมาธิ  คือ การจับจิตที่กำลังคิด หลักการนี้ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดไว้ในใจเสมอ เพราะจะเป็นฐานในการกำหนดจิต ต้องตามจับจิตเท่านั้นไม่ว่าจิตจะไปที่ไหน คิดอะไร เมื่อจิตคิดก็อย่าเข้าใจผิดไปว่าตนเองฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ

การคิด คือ ธรรมชาติของจิต โดยปกติจิตนั้นมีกำลังมากมายมหาศาล  มากจนทุกครั้งที่เราต้องการฝืนจิตว่า อย่ารักคนนี้นะ  จิตก็รัก อย่าเกลียดคนนี้นะ จิตก็เกลียด  อย่าโกรธคนนี้นะ  จิตก็โกรธ   อย่าโมโหคนนี้นะ จิตก็โมโห อย่ามองคนด้วยความดูหมิ่นนะ จิตก็ดูหมิ่น อย่าทำอย่างนี้นะ  จิตก็ทำ  เราต้องพ่ายแพ้ให้แก่จิตอยู่ร่ำไป  จิตมีกำลังมากมายมหาศาลเช่นนี้แหละ 

จิตนั้นมีกระบวนการทำงานอยู่ ๓ ทาง คือ

ทางกาย ได้แก่ เวลาเรายืน เดิน นั่ง นอน หรือทำโน่นทำนี่ จิตก็เฉลี่ยไปตามอิริยาบถต่างๆ เหล่านี้

ทางวาจา ได้แก่ เราพูดสิ่งโน้นพูดสิ่งนี่พูดกับคนโน้นคนนี้  จิตก็เฉลี่ยไปตามคำพูด

ทางใจ  ได้แก่  เราคิดเรื่องราวต่างๆ   มากมายในชีวิตวางแผนการทำงาน วาดภาพคิดฝันไปต่างๆ   

ที่เราเห็นจิตได้แสนยาก เพราะในชีวิตประจำวัน จิตทำงาน ๓ ทาง เฉลี่ยการคิดไปทั้ง ๓ ทางนั้น จึงไม่ค่อยได้เห็นจิต   แต่เมื่อใดที่เรารวมจิตไว้ในตำแหน่งเดียว  ก็สามารถเห็นจิตได้ง่ายขึ้น

จะเห็นได้ว่า ขณะนั่งลงทำสมาธิจิตจะวุ่นวายสับสน

แรงและเร็ว จนเราบอกกับตนเองว่า นั่งสมาธิไม่ได้เลย มีแต่ความฟุ้งซ่าน ไม่รู้ทำไมความคิดร้อยแปดพันอย่างเต็มสมองไปหมดสุดท้ายต้องเลิกทำสมาธิ

ความคิดเปรียบเหมือนสายน้ำ  หากไหลออกหลายทาง จะทำให้น้ำไม่มีแรงดัน    ไหลเพียงเอื่อยๆ     แต่หากปล่อยให้ไหลออกทางเดียว จะทำให้น้ำไหลแรง ยิ่งทางออกเล็กเท่าใด น้ำก็ยิ่งมีพลังมากเท่านั้น  และเราสัมผัสถึงความแรงของน้ำได้

การที่เรานั่งสมาธิแล้ว เห็นจิตเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างนี้   เพราะจิตมีโอกาสแสดงออกทางเดียว  คือ แสดงออกทางความคิดเท่านั้น 

ขณะนั่งสมาธิ  กายไม่ได้เคลื่อนไหว ไม่ได้เดินไปไหนมาไหน จิตก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานทางกาย เมื่อไม่ได้พูดกับใคร จิตก็ไม่ได้แสดงออกทางวาจา  มีทางเดียวที่จิตทำงานได้ คือ ทางใจ

จิตจึงคิด  คิด แล้วก็คิดไม่รู้จักจบสิ้น  เหมือนในสมองเต็มไปด้วยขยะแห่งความคิด เป็นผลทำให้ผู้ปฏิบัติสมาธิคิดว่า ตนเองฟุ้งซ่านรำคาญ   เกิดความเบื่อหน่าย  จึงเลิกปฏิบัติ

แท้จริง เมื่อนั่งสมาธิแล้วเราเห็นจิตกำลังคิดฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่  แสดงว่าทำสมาธิถูกทาง   เพราะเรากำลังเห็นจิต   รู้จักจิต  เราเห็นสิ่งที่เรากำลังตามจับ  เห็นจิตว่ากำลังดิ้นรน อ่อนไหว  รักษาได้ยาก ห้ามได้ยาก ละเอียดอ่อนยิ่งนักมักตกไปหาอารมณ์ที่ใคร่ ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เราก็พุ่งเป้าหมายไปที่จิตได้ง่าย

แต่ถ้านั่งสมาธิแล้ว ยังไม่เห็นความฟุ้งซ่านของจิต โอกาสที่จิตจะเกิดสมาธินั้นยาก เพราะเราเองยังไม่รู้กำลังวิ่งไล่จับอะไรอยู่  การบริกรรมพุทโธและบริกรรมด้วยคำอื่นๆ ซึ่งอาจน้อมนำจากบทสวดมนต์ทำวัตรมาเป็นคำบริกรรมสั้นๆ ได้ เช่น พุทโธ ธัมโม สังโฆ จะช่วยให้จิตสงบเร็วขึ้น ทำให้เห็นการทำงานของจิตจนเข้าสู่วิปัสสนาได้ในที่สุด

ไม่ต้องเกลียด กังวล หรือกลัวความฟุ้งซ่าน เพราะสิ่งนี้คือ บันไดที่จะนำเข้าไปสู่ตัวจิต  เมื่อเห็นความฟุ้งซ่านก็คือเห็นจิต เพราะความฟุ้งซ่าน  คือ ธรรมชาติของจิตที่ยังไม่มีสมาธิ มันก็จะดิ้นรนกวัดแกว่งทุรนทุราย  ในขณะที่เรากำลังวิ่งไล่จับให้จิตอยู่กับที่จิตยิ่งฟุ้งซ่านเป้าหมายยิ่งชัดเจน

“ลูกผู้ชายต้องบวช” (ตอนที่ ๔๕) บรรพ์ที่ ๘ “สมาธิภาวนาและธุดงค์”(๓) “ธรรมชาติของจิต” และ “ทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของจิต” เรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here