วันนี้วันพระ วันอังคารที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๒

ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๓๖)

บรรพ์ที่ ๗ ตอนที่ ๒

สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม

ตอน จีวร

เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

จีวร

จีวร คือ ผ้าสำหรับนุ่งห่ม เป็นบริขารจำเป็นที่พระภิกษุต้องมี หากไม่มีก็ไม่สามารถบวชได้  ผ้าที่ใช้เย็บจีวรนั้นประกอบด้วย  ผ้าทำด้วยเปลือกไม้  เช่น ผ้าลินิน  ผ้าทำด้วยฝ้าย   ผ้าทำด้วยใยไหม ผ้าทำด้วยขนสัตว์ (เว้นผมและขนมนุษย์)   ผ้าทำด้วยเปลือกป่าน (ผ้าชนิดนี้เป็นผ้าเนื้อสาก) ผ้าทำด้วยของ ๕  อย่างนั้นแต่อย่างใดอย่างหนึ่งปนกัน  เช่น ผ้าด้ายแกมไหม

ขนาดจีวรที่ใช้มีดังนี้   ผ้าสังฆาฏิยาวไม่เกิน  ๖  ศอก  กว้างไม่เกิน ๔  ศอก  ผ้าจีวรยาวไม่เกิน  ๖  ศอก  กว้างไม่เกิน  ๔  ศอก    ส่วนสบงยาวไม่เกิน  ๖  ศอก  กว้างไม่เกิน  ๒  ศอก

สีของจีวรนั้น ไม่ได้ระบุลงไปแน่นอนว่าเป็นสีอะไร เป็นเพียงระบุว่า ผ้ากาสาวพัสตร์ คือ ผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด

น้ำฝาดที่ใช้ย้อมจีวรนั้นเป็นน้ำฝาดจากต้นไม้ พระภิกษุสมัยพุทธกาลย้อมจีวรจากสีธรรมชาติ คือ สีที่เกิดจากน้ำฝาดของต้นไม้ ๖  อย่าง  คือ  สีน้ำฝาดจากรากหรือเง่า    สีน้ำฝาดจากต้นไม้    สีน้ำฝาดจากเปลือกไม้   สีน้ำฝาดจากใบไม้   สีน้ำฝาดดอกไม้   สีน้ำฝาดจากผลไม้    น้ำฝาดที่พระภิกษุใช้ย้อมจีวรเกิดจากต้นไม้ต่างชนิดย่อมทำให้สีจีวรต่างกัน  ฉะนั้น  สีจีวรที่ภิกษุใช้จึงหลากสีแตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ที่ใช้ย้อม

สีจีวรที่พระภิกษุใช้อยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นสีที่ย้อมจากสีสังเคราะห์ จึงสามารถควบคุมให้จีวรออกเป็นสีเดียวกันได้ และ  ผ้าที่พระภิกษุนิยมใช้ในปัจจุบันมี ๓ สี คือ

  • สีเหลืองหม่น  เป็นสีที่ภิกษุใช้มาแต่เดิม ปัจจุบันเรียก สีเหลืองทอง  
  • สีเหลืองเจือแดงเข้ม  ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว   จะมีใช้ก็พระสงฆ์ทางเหนือของประเทศไทย  และพระสงฆ์ในพม่า
  • สีกรัก หรือสีแก่นขนน ปัจจุบันเรียกสีพระราชนิยม เพราะเป็นสีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนิยมถวายพระภิกษุ

บางวัดได้กำหนดให้พระภิกษุใช้จีวรสีเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยแห่งหมู่คณะ และนำมาซึ่งความน่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น สำหรับผ้าที่พระภิกษุใช้อยู่ในประเทศไทย ในปัจจุบันมีดังนี้

 ๑. สังฆาฎิ คือ ผ้าสำหรับห่มซ้อนป้องกันความหนาวในฤดูหนาว ปัจจุบันพระภิกษุใช้พับเป็นผ้าพาดหรือทาบลงบนไหล่ซ้าย  เมื่อถึงฤดูหนาวสามารถคลี่ออกมาห่มซ้อนทับจีวรได้

๒. จีวร  คือ ผ้าสำหรับห่ม เรียกตามบาลีว่า ผ้าอุตตราสงค์

๓. สบง คือ ผ้าสำหรับนุ่งปกปิดกายส่วนล่าง เรียกตามภาษาบาลีว่า ผ้าอันตรสวาสก  

 ๔. ประคดเอว ผ้าสำหรับรัดสบง  

๕. อังสะ    ผ้าใส่เฉียงบ่าปกปิดกายส่วนบนใช้คู่กับสบง

๖. ประคดอก หรือผ้ารัดอก ผ้าสำหรับรัดอกเวลาห่มจีวร เพื่อต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อยและรัดกุม โดยทั่วไปเรียก ห่มดอง

๗. ผ้ากราบ  ผ้าสำหรับใช้รองกราบ ปัจจุบันพระภิกษุ ใช้เป็นผ้ารับประเคนสิ่งของจากสุภาพสตรี

เล่าเรื่อง ประวัติการออกแบบจีวร

จีวร คือ ผ้าสำหรับนุ่งห่มของพระภิกษุ  ผ้าสมัยก่อนหาได้ยากพระภิกษุต้องเก็บเศษผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยที่ตกอยู่ตามพื้นดิน เปื้อนฝุ่นไม่สะอาด ไม่สวยไม่งาม  แม้กระทั้งผ้าที่เขาใช้ห่อศพที่ทิ้งเรี่ยรายอยู่ตามป่าช้า  นำมาเย็บต่อกันเป็นผืน หรือเนา ปะ ชุน ซัก ย้อมแล้วใช้นุ่งห่ม   

จีวรที่ผ่านกรรมวิธีนี้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า  ผ้าบังสุกุลจีวร แปลว่า  ผ้าเปื้อนฝุ่น หรือ ผ้าบังสุกุล  ต่อเมื่อมีผู้ศรัทธาในพระศาสนามากขึ้น  เห็นความลำบากของพระภิกษุจึงถวายผ้าสำหรับเย็บจีวรนุ่งห่ม

ต่อมา เมื่อมีผู้เข้าใจวิธีการตัดเย็บจีวร  จึงได้ตัดเย็บจีวรสำเร็จรูปถวายพระสงฆ์  จึงเกิดคหบดีจีวร[1]ตามมา

จีวรสมัยต้นพุทธกาลนั้นยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน  เพียงแต่ระบุว่าพระภิกษุอาศัยเก็บผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยที่เขาทิ้งตามย่านตลาด หรือผ้าที่เขาใช้ห่อศพตามป่าช้านำมาเย็บต่อกันเข้าเป็นผืนแล้วใช้นุ่งห่ม  ลักษณะจีวรจึงเป็นรอยตะเข็บปะติดกันเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ไม่มีรูปแบบ

ครั้นต่อมา   พระพุทธเจ้าให้พระอานนท์เป็นผู้ออกแบบจีวร  โดยอาศัยคันนาของชาวบ้านเป็นแบบในการออกแบบ  ประวัติการออกแบบจีวรมีดังนี้

คราวหนึ่ง    พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในทักขิณาคิรีชนบท    ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวแคว้นมคธ   ทรงรับสั่งเป็นเชิงปรารภกับพระอานนท์ว่า  อานนท์ เธอสามารถที่จะออกแบบจีวรให้มีลักษณะคล้ายคันนาอย่างนี้ได้ไหม    

พระอานนท์เถระ ซึ่งตามเสด็จมาข้างหลังพระพุทธเจ้า ได้พินิจพิจารณาลักษณะผืนนา   เพราะความเป็นผู้ฉลาดในการออกแบบ จึงเกิดความคิดขึ้นมาในขณะนั้น  ได้ทูลว่า  “สามารถทำได้ พระพุทธเจ้าข้า” 

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงสู่กรุงราชคฤห์แล้ว  พระอานนท์เถระจึงได้เริ่มลงมือออกแบบจีวรตามที่คิดไว้ แล้วนำไปถวายพระศาสดา  

พระศาสดาทอดพระเนตรแล้ว ทรงพอพระทัย เมื่อจะทรงสรรเสริญพระอานนท์เถระ  จึงเรียกพระภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า   ภิกษุทั้งหลาย   อานนท์เป็นบัณฑิต  อานนท์มีปัญญามาก   เข้าใจจุดประสงค์ที่เราตถาคตกล่าวแต่เพียงสังเขปให้พิสดารได้  คือ สามารถทำกุสิบ้าง   คีเวยยกะบ้าง   ชังเฆยยกะบ้าง   พาหันตะบ้าง 

จีวรที่ถูกตัดออกเป็นส่วนๆ เช่นนั้น  ย่อมหมดราคา เป็นของสมควรแก่สมณะ  และพวกโจรก็ไม่มีความต้องการ   เราอนุญาตให้ภิกษุใช้สังฆาฏิตัด   อุตตราสงค์ตัด  อันตรวาสกตัด

ต่อมาภายหลัง  สังฆาฏิ จีวร สบง  จึงมีรอยตัดเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่  ตามจีวรที่พระอานนท์ออกแบบ  เรียกว่า กระทง และกระทงหนึ่งๆ มีชื่อ ดังนี้

๑.  อัฑฒมณฑลคีเวยยกะ

๒.  มณฑลวิวัฏฏะ

๓.  อัฑฒมณฑลชังเฆยยกะ

๔.  มณฑลอนุวิวัฏฏะ

๕.  อัฑฒมณฑลพาหันตะ

๖.  มณฑลอนุวิวัฏฏะ

๗.  อัฑฒกุสิ

๘.  กุสิ

๙.  อนุวาต

๑๐. รังดุม

๑๑. ลูกดุม 

การที่พระพุทธองค์อนุญาตให้พระภิกษุใช้จีวรที่ถูกตัดออกเป็นส่วนๆ เช่นนั้น  เพราะผ้าที่ถูกตัดเป็นท่อนเช่นนี้เป็นเหมือนเศษผ้า เป็นของไม่มีราคา ไม่เป็นที่ล่อตาของพวกโจร เป็นของหมดค่าพวกโจรก็ไม่มีความต้องการ   เนื่องจากเอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้  ขายก็ไม่ได้ราคา เมื่อโจรไม่ต้องการก็ไม่เกิดอันตราย  นอกจากนั้น  ยังทำให้ภิกษุไม่ติดในความสวยงามของผ้าที่ใช้นุ่งห่ม

ความเข้าใจเรื่อง การครองจีวร (ห่มผ้า)

ธรรมเนียมการครองจีวรที่พระสงฆ์ไทยใช้อยู่ในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธี  แตกต่างกันไปตามธรรมเนียมนิยมของท้องถิ่นนั้นๆ  ธรรมเนียมการครองจีวรของพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  หากเป็นพิธีกรรมที่ต้องการความเป็นระเบียบ นิยมห่มดอง ทาบสังฆาฏิ รัดอกให้เรียบร้อย   ห่มเฉียงพาดลูกบวบนิยมบิดลูกบวบ[2]มาทางด้านขวามือ  ห่มคลุมหนีบลูกบวบและบิดลูกบวบมาทางด้านขวามือ   ดังปรากฏในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนว่า

       “ฝ่ายพระสงฆ์ห่มดองครองผ้า    เสร็จแล้วลงมาศาลาใหญ่

         เถรเณรนั่งจัดถัดกันไป      สัปบุรุษกราบไหว้ด้วยยินดี

บทเสภาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า  ธรรมเนียมการครองจีวรมาแต่เดิมของพระสงฆ์ไทยนั้น  หากเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญก็จะต้อง “ห่มดองครองผ้า” ให้เรียบร้อย

พิจารณาตามนี้ การครองจีวรของพระสงฆ์ไทยแบบเดิมที่มีมาแต่กรุงศรีอยุธยาจึงมี  ๓ วิธี   คือ 

(๑) ห่มดอง     ห่มจีวรที่พับไว้เป็นกลีบ เปิดไหล่ขวาซ้อนสังฆาฏิ รัดอกให้เรียบร้อย ใช้ห่มในงานที่เป็นสังฆกรรม  การบวชนาค  การรับกฐิน พิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธี ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ   เช่น  การทำวัตรไหว้พระสวดมนต์  เป็นต้น

นอกจากนั้น  การห่มดองในพิธีกรรม  ยังถือว่าเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าภาพที่ประกอบพิธีนั้นๆ ด้วย 

(๒) ห่มเฉียง    ห่มจีวรด้วยการบิดลูกบวบ(เกลียวผ้า)ไปทางด้านขวามือ พาดลูกบวบ(เกลียวผ้า)บ่นไหล่ซ้าย เปิดไหล่ขวา ใช้ห่มเวลาฉันเช้า, เพล  เวลาอยู่ในวัดและต้อนรับญาติโยมในการณีที่ไม่เป็นพิธีกรรมที่เป็นทางการ

(๓) ห่มคลุม บิดลูกบวบ(เกลียวผ้า)ไปทางด้านขวามือ ห่มคลุมปิดไหล่ทั้งสองข้าง หนีบลูกบวบ(เกลียวผ้า)ที่รักแร้ซ้าย  ใช้ห่มเวลาบิณฑบาต และเมื่อออกไปข้างนอกวัด

ธรรมเนียมการห่มจีวรแบบพระพม่ารามัญ

นอกจากนั้น   ยังมีวิธีที่นำแบบมาจากพระพม่ารามัญ  เป็นที่นิยมกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา มี ๓ แบบ คือ

(๑) ห่มเฉียง บิดลูกบวบ(เกลียวผ้า)ไปทางด้านซ้ายมือ พาดลูกบวบ(เกลียวผ้า)บนไหล่ซ้าย เปิดไหล่ขวา ซ้อนสังฆาฏิที่ไหล่ซ้าย  รัดอกให้เรียบร้อย ใช้ห่มในงานที่เป็นสังฆกรรม  การบวชนาค  การรับกฐิน ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ   เช่น  การทำวัตรไหว้พระสวดมนต์  เป็นต้น

(๒) ห่มเฉียง    บิดลูกบวบ(เกลียวผ้า)ไปทางด้านซ้ายมือ พาดลูกบวบ(เกลียวผ้า)เปิดไหล่ขวา ไม่ต้องซ้อนสังฆาฏิ ใช้ห่มเวลาฉันเช้า, เพล  เวลาอยู่ในวัดและต้อนรับญาติโยมในการณีที่ไม่เป็นพิธี

(๓) ห่มคลุม  บิดลูกบวบ(เกลียวผ้า)ไปทางด้านซ้ายมือ พาดลูกบวบ(เกลียวผ้า)ใช้ห่มเวลาบิณฑบาต และเมื่อออกไปข้างนอกวัด  ห่มชนิดนี้สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่า  ห่มแหวก  คือ เอามือแหวกเกลียวผ้าออกมา

ธรรมเนียมการห่มจีวรในพระราชอาณาจักรสยาม

เดิมที่เดียว พระสงฆ์สมัยกรุงศรีอยุธยาคงจะห่มผ้าแบบเดียวกันกับพระพม่ารามัญ ลาว และเขมร เพราะทั้งพม่า ไทย ลาว  เขมร ต่างก็ได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนามาจากประเทศศรีลังกา  

แต่เนื่องจากปัจจัยด้านสงครามสมัยอยุธยาระหว่างพม่ากับไทย  ทำให้พม่าชอบใช้กุศโลบาย โดยให้ทหารปลอมแปลงเป็นพระภิกษุเข้ามาแอบแฝงอยู่กับพระสงฆ์ไทย เพื่อสืบราชการข้างฝ่ายกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระสงฆ์ไทยสมัยอยุธยาต้องคิดแบบการครองจีวรที่ใช้เฉพาะพระสงฆ์ในพระนครกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่  เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระสงฆ์ในราชอาณาจักร กับพระสงฆ์นอกราชอาณาจักร

เวลาห่มเฉียงอยู่ในวัดเปิดไหล่ขวา แทนที่จะบิดลูกบวบ(เกลียวผ้า)ไปทางด้านซ้ายมือแบบเดิม ก็บิดเกลียวผ้าไปด้านขวามือ

 เวลาห่มคลุมออกนอกวัด  แทนที่จะพาดลูกบวบ(เกลียวผ้า)บ่นไหลซ้าย ก็หนีบลูกบวบที่รักแร้ซ้ายแทน

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา คือ พระสงฆ์ต้องโกนคิ้วเพื่อให้มีความแตกต่างระหว่างพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์พม่ารามัญ   และใช้เป็นธรรมเนียมเฉพาะพระสงฆ์ไทย ปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์   

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นในประเทศไทย  ได้นำวิธีครองจีวรแบบพระพม่ารามัญกลับมาใช้อีกครั้ง  คณะสงฆ์ธรรมยุตคงรักษาธรรมเนียมพระสงฆ์สมัยอยุธยาไว้เฉพาะการโกนคิ้ว ดังที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงปรารภเมื่อครั้งที่เจ้าฟ้ามงกุฎผนวชเป็นภิกษุแล้วได้ตั้งธรรมยุตินิกายขึ้น  และได้ตัดสินใจเปลี่ยนวิธีห่มจีวรใหม่ตามแบบพระพม่ารามัญที่ เรียกว่า  “ห่มแหวก

เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเข้าไปสวดมนต์ในพระราชวัง เห็นสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วไม่ตรัสว่าอะไร ก็คิดว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นชอบกับวิธีการห่มแหวกแบบพระพม่ารามัญ   จึงห่มแบบนี้เรื่อยมาและแพร่หลายในคณะสงฆ์ธรรมยุติ

   ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๓ ประชวรหนักคิดว่าจะเสร็จสวรรคตแน่แล้ว  แต่ก็ยังทรงวิตกเกี่ยวกับเรื่องการพระศาสนาอยู่ อยากให้พระสงฆ์ห่มผ้าแบบอยุธยาที่มีมาแต่เดิมกันทุกองค์ จึงมีพระลายลักษณ์อักษรถึงกรมขุนเดชอดิศร หรือพระองค์เจ้ามั่ง ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๒ ด้วยกัน  ขอให้ช่วยแก้ปัญหา

จดหมายกระแสพระราชโองการฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่   ๓   ทรงให้พระเจ้าลูกเธอ  พระองค์เจ้าอรรณพเขียนเมื่อ วันอังคาร เดือนสาม แรมสองค่ำ ปีจอ โทศก ขณะที่พระองค์ประชวรหนัก  และกรมขุนเดชอดิศร หรือพระองค์เจ้าชายมั่ง พระอนุชา ได้นำไปถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ซึ่งเป็นพระญาติผู้ใหญ่ผนวชอยู่ที่วัดโพธิ  และเป็นที่เคารพศรัทธาของเจ้านายผู้ใหญ่มากมาย  ในสมัยนั้น ดังมีข้อความว่า

            “พ่อมั่งขา พ่อจงเป็นเชฏฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วาระน้ำจิตต์และอธิบายของข้าผู้พี่ อันขันธะทุพพลภาพมากอยู่แล้ว ด้วยแผ่นดินศรีอยุธยา ทรงพระเจ้าแผ่นดินมาสองพระองค์แล้ว กับพี่ด้วยอีกคนหนึ่งเป็นสาม ตั้งแต่แผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อม

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ท่านได้ปราบดาภิเษก ปีขาลนั้นมาได้ห้าปี ถึงปีมะแมพี่จึงเกิด ตั้งแต่จำความได้มา จนอายุได้ยี่สิบสองปี ได้บวชในแผ่นดินนั้น ต่ออายุได้ยี่สิบสามปี จึงสิ้นแผ่นดินไป มาเป็นแผ่นดินของล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีกสิบหกปี จึงมาเป็นแผ่นดินของพี่ พระภิกษุผู้เป็นสงฆรัตน์ใน กรุงศรีอยุธยา ก็เห็นนุ่งสบงทรงจีวรเป็นลูกบวบทั้งสิ้นด้วยกัน

แต่พระม่ารามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่นั้น และเห็นครองผ้าผิดกับภิกษุของเรา จึงเรียกกันว่าพระมอญ เดี๋ยวนี้พระไทยก็ห่มผ้าเป็นมอญ โดยอัตตโนมัติ

ปัญหาของพี่เห็นว่าถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสร็จอยู่ ก็เห็นจะให้ประชุมพระราชาคณะ ได้ว่ากล่าวกันให้เห็นว่าควรไม่ควรนายอยู่แล้ว นี่พี่กลัวจะเป็นบาปเป็นบุญ เป็นคุณเป็นโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไป จึงมิได้กล่าวแต่ใจนั้นรักแต่อย่างบุราณอย่างเดียวนั้นและ

          สืบไปเบื้องหน้า พระภิกษุไทยซึ่งห่มผ้าเป็นมอญนั้นสูญไป พี่เห็นว่าจะควรกับศรีอยุธยา ก็ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอีกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ผู้ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่าเป็นเมืองมอญเมืองพม่าไปเสียมาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น

          นี่แลเป็นความวิตกของพี่มากนักหนา ให้พ่อเห็นแก่พี่ ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เธอเป็นบรมญาติอันใหญ่ ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัสตร์ทั้งรู้พระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก  แล้วก็เป็นพระภิกษุศรีอยุธยา

          พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่ง ให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอจะรับเอาไว้ครองได้ ก็ให้ถวายเถิด ถ้าเธอจะมิรับไว้ครองแล้ว ก็ให้เอาคืนมาเสีย

ภายหลัง  เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ ทราบข้อวิตกของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๓ จึงให้พระสงฆ์ในคณะธรรมยุตกลับมาครองจีวรแบบพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่กรุงศรีอยุธยา  ครั้นต่อมา  เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏลาสิกขา ขึ้นครอง ราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๔  คณะสงฆ์ธรรมยุตได้กลับไปห่มจีวรแบบพระสงฆ์พม่ารามัญเช่นเดิม

   จนมาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ปกครองคณะสงฆ์  ได้มีคำสั่งให้พระสงฆ์ทั่วสังฆมณฑลห่มแหวกตามแบบพระพม่ารามัญ  จึงทำให้วัดทั่วไปต้องห่มแหวกตามอย่างคณะสงฆ์ธรรมยุต เป็นผลทำให้พระสงฆ์ทั้งธรรมยุตและมหานิกายห่มแหวกทั่วราชอาณาจักรไทย

แต่อย่างไรก็ตาม  ยังมีวัดใหญ่ๆ บางวัดที่มีระเบียบแบบแผนมั่นคง ประพฤติตามธรรมเนียมของบุรพาจารย์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ยังคงห่มจีวรแบบพระสงฆ์เมื่อครั้งกรุงเก่าตราบจนปัจจุบัน


[1] คหบดีจีวร จีวรที่เย็บสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้วซึ่งชาวบ้านผู้มีจิตเลื่อมใสนำมาถวาย

[2] ลูกบวบ  หมายถึง  เกลียวผ้าที่ม้วนเข้าหากันเวลาพระสงฆ์ห่มจีวร

ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๓๖) บรรพ์ที่ ๗ ตอนที่ ๒ สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน จีวร เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here