ความเดิมจากตอนที่แล้ว …

หลังจากที่สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม อาสาไปเป็นเณรอุปัฏฐากพระอาจารย์มหามังกรใน ปญฺญาวโร วัดร้างกลางป่าใหญ่ บ้านปากน้ำ บุ่งสะพัง จ.อุบลราชธานี เพื่อฝึกกรรมฐานกับพระป่า  ในตอน “ความอดทนเป็นสิ่งที่วิเศษ”  ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในครั้งนั้น เล่าให้ฟังถึงความเพียรของเณรน้อยที่ในวัยสิบสองสิบสามปี ท่านต้องอยู่ป่าเพียงลำพังเป็นอย่างไร ในช่วงที่ครูบาอาจารย์ไม่อยู่ โดยมีวัตรปฏิบัติพระธรรมวินัยตามรอยพระพุทธเจ้าอย่างซื่อสัตย์ และการฝึกตนในแบบฉบับของพระป่าอย่างเต็มกำลัง จนกระทั่งก้าวข้ามความกลัวไปได้ …

สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม
สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม
  • มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร )
  • ตอนที่ ๘ ก้าวข้ามความกลัว
  • หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๘  สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐
  • โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

(๘ ) ก้าวข้ามความกลัว

         ในพรรษาแรกแห่งการอยู่ป่าของสามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม  กับพระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ท่านได้พบกับหลวงปู่ท่านหนึ่ง ชื่อหลวงปู่โทน ซึ่งมีชื่อพ้องกับโยมพ่อใหญ่(โยมปู่) ของท่าน

หลวงปู่โทน

         หลวงปู่โทน บวชเมื่ออายุมากแล้ว  คืออายุประมาณ ๖๐ ปี  เหตุที่มาบวช ท่านเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์เล่าว่า น่าจะมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างทำให้ท่านเบื่อการใช้ชีวิตฆราวาส  ทั้งๆ ที่ในหมู่บ้าน ท่านค่อนค้างมีฐานะ ครอบครัวลูกหลานก็อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ก็ยังตัดสินใจบวชเมื่อแก่

         เป็นเรื่องน่าสนใจของคนในยุคนี้ว่า  พระพุทธศาสนามีดีอะไร ทำไมจึงยังมีผู้คนที่คิดจะบวชอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย นับเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล  แม้ว่าในปัจจุบัน  ด้วยข้อมูลข่าวสารที่ถูกปรุงแต่งและปล่อยให้ทะลักไหลบ่าไร้การกลั่นกรองจากปัญญาโดยรอบ ดูเหมือนว่า จะมีผู้คนเป็นจำนวนมากมองการบวชด้วยท่าทีตั้งข้อสงสัย แต่การบวชที่คนมองว่าเป็นแค่เพียงวัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรม กลับยังคงรักษาแก่นพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น รอบางช่วงบางเวลาที่เหมาะสมสำหรับบางคน

         มาเรียนรู้วิถีพระที่เป็นพลังสืบทอดวิถีธรรมให้ดำรงอยู่ จากหลวงปู่กับเณรน้อย เมื่อต้องมาอยู่ด้วยกันในวัดป่าเป็นอย่างไร  ในเวลาที่ท่านอาจารย์พระมหามังกรไม่อยู่

         ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เล่าว่า ในพรรษานั้น หลวงปูโทนย้ายมาจำพรรษาอยู่ด้วยกันที่ป่าซึ่งเป็นวัดร้างใกล้ปากแม่น้ำมูล จ. อุบลราชธานี  แห่งนี้ ความที่หลวงปู่โทนมุ่งเรื่องกรรมฐาน  ท่านจึงพูดเท่าที่จำเป็น  เวลาในแต่ละวันของหลวงปู่โทนผ่านไปกับการเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนา  บางวันหลวงปู่ก็ชวนเณรมาเดินจงกรมด้วยกันบ้าง  แล้วท่านก็กำหนดทางเดินจงกรมให้ว่า ให้เณรเดินจากต้นไม้ต้นนี้ ถึงต้นไม้ต้นนั้น

         “บางวันเดินจงกรมแข่งกันบ้าง  ใครจะเดินได้ทนกว่ากัน  เดินไปๆ ดินก็ลึกลงเป็นแนวตามทางเดิน  ก็กวาดดินให้กลับมาเสมอเท่าเดิม แล้วก็เดินอีก เดินจนเม็ดดินตามแนวทางเดินละเอียดเพราะถูกย่ำไปมา  เวลาเดินจงกรม หลวงปู่ท่านเดินจริงๆ จังๆ จนทางเดินของท่านลึกลงไปประมาณครึ่งแข้ง จึงกวาดถมทีหนึ่ง ส่วนอาตมายังเป็นเด็ก เห็นท่านเดินจนทางสึกเป็นแนวลึกลงไป ก็อยากให้ทางเดินจงกรมที่ตัวเองเดินเป็นอย่างนั้นบ้าง  จึงเดินเอาส้นเท้าทิ่มลงไปที่พื้นดินบ้าง เล่นบ้าง ท่านก็ไม่ว่าอะไร คงเข้าใจประสาเด็ก

         “บางวันท่านก็ชวนเข้าป่าไปนั่งห้าง ไปทำที่นั่งสมาธิ ก็นึกไปทางสนุก ต้องทำเป็นแคร่ผูกระหว่างต้นไม้  ให้สูงขึ้นมาจากพื้นสักหน่อย  กันน้ำฝนไหลบ่าบ้าง กันสัตว์กันแมลงบ้าง อาตมาอยู่ภาวนากับท่านในพรรษาแรก  พอพรรษาที่สองท่านขึ้นภูพานหายไปยาวนานมาก  จนแก่อายุร่วม ๙๐ ปี  ค่อยกลับลงมา เจอกันอีกที อาตมาก็อายุร่วมสี่สิบ ส่วนท่านก็ตาฝ้าฟาง  ไปอยู่บนเขามาร่วม ๓๐ ปี พบกันท่านก็จับมือจับแขน แล้วก็เรียก เณรเทอด ๆ คงจะด้วยความรำลึกถึง แล้วท่านก็มอบกระบอกน้ำ ที่ท่านทำใช้เองบนภูเขาให้ อยู่มาไม่นานกี่ขวบปีท่านก็มรณภาพ

         “พิธีเผาศพท่านทำแบบเรียบง่าย ไม่ต้องมีพิธีอะไร เผากันบนกองฟอนกลางแจ้ง กลางป่า เหมือนสมัยพุทธกาล  ตรงบริเวณใกล้ศาลาเก่าที่อาตมากับท่านเคยอยู่กันเมื่อตอนเป็นเณร

         “ตอนที่อยู่กับท่านก็ฝึกทำอุปกรณ์ใช้เอง  ทำกระบอกน้ำดื่มบ้าง เพราะน้ำดื่มน้ำฉัน อาจารย์ให้กรองทุกครั้ง ทำขาบาตรบ้าง เหลาริ้วคันกลดบ้าง แม้เพียงพรรษาเดียวที่ได้อยู่กับท่าน แต่ความผูกพันของหลวงปู่กับเณรน้อยก็มีมาก ลึกซึ้งยาวนานเกินคำบรรยาย”

         ย้อนกลับไปหลังจากพรรษาแรกผ่านพ้น การจากลาของหลวงปู่โทนขึ้นภูพาน ทำให้เณรเทอดต้องพบความจริงบางประการของการอยู่ป่า  บ่อยครั้งที่ต้องอยู่ตามลำพังเพียงรูปเดียวท่ามกลางป่าใหญ่ ไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้เทียนหรือไม่ก็ตะเกียงน้ำมันการ์ด  เพราะท่านอาจารย์มหามังกร เป็นพระนักเทศน์ ผู้คนเคารพนับถือมาก จึงมักนิมนต์ท่านไปแสดงธรรม และสอนกรรมฐานอยู่เนืองๆ บางทีก็สามวันเจ็ดวัน นานหน่อยก็สิบวัน

         “ช่วงแรกๆ ที่ท่านอาจารย์มหามังกรไม่อยู่ อาตมาก็นำเทียนพรรษาไปจุดรอบศาลา เพื่อให้แสงเทียนสว่างรอบ เวลาอยู่ในป่าคนเดียวนี่มันน่ากลัวมากนะ คิดไปต่างๆ นานา พอตกกลางคืน แค่ใบไม้ร่วงถึงพื้นก็ได้ยิน ดึกๆ รู้สึกเหมือนมีคนมาเดินรอบศาลาแบบอารักขา เหยียบใบไม้ขอกแขกๆ อย่างนี้ไปจนราวตีสองแล้วก็เงียบหายไป

         “คนที่ไม่เคยเจอที่สุดของความกลัวว่าเป็นอย่างไร ก็จะไม่รู้ แต่อาตมาผ่านมันมาแล้ว  กลัวจนเหงื่อที่ออกมาเหนียว  ทั้งๆ ที่ลมเย็นๆ อากาศหนาวๆ แต่เหงื่อนี้เหนียวเลย  คนโบราณเรียกว่า กลัวจนยางตายออก  แต่พอเวลาผ่านไปได้อยู่กับความกลัวจนกระทั่งหายกลัว ป่าทั้งป่าก็เป็นของเรา ไฟฉายก็ไม่มี

         “ไฟฉายมีเฉพาะหลวงพ่อที่วัดปากน้ำ  เวลาท่านเดินมาป่า  ท่านไม่ได้ฉายไฟตลอด ท่านจะเปิดแวบๆ ไปจนสุดทางที่ไฟฉายส่องถึง แล้วก็ปิดไฟ เดินไปจนสุดทาง แล้วก็เปิดอีกแวบๆ แล้วก็ปิดไฟ เป็นอย่างนี้ เพื่อประหยัดไฟ แล้วตอนกลางคืนเวลาอยู่จำวัดป่ารูปเดียวไม่มีไฟฉาย ก็ใช้สัญชาตญาณเอา อยู่จนรู้ว่า ต้นไม้อะไร อยู่ตรงไหน อยู่จนตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของป่า อยู่จนป่าทั้งป่าเป็นเรา”  

(โปรดติดตามตอนที่ ๙ สัปดาห์หน้า “ดวงดาวกับชีวิต…ลิขิตเอง”

มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร )
ตอนที่ ๘ ก้าวข้ามความกลัว
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๘  สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here