
คำเกริ่นนำ
“ท่านสอนเสมอว่า อะไรก็ตามถ้าเราได้ สำนักไม่ได้ พระศาสนาไม่ได้ อย่าเอา ถึงแม้เราไม่ได้ แต่สำนักได้ พระศาสนาได้ ให้เอา เราได้ สำนักได้ พระศาสนาได้ ให้เอา รวมความ คือ จะทำอะไรก็แล้วแต่ ให้ถือพระศาสนาเป็นที่ตั้ง” เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) มักจะกล่าวสอนพระเณรวัดสระเกศฯ อยู่เสมอ และกลายเป็นปณิธานที่โยงใยให้เห็นผ่านประสบการณ์ชีวิตของพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) หรือ เจ้าคุณเทอด ตั้งแต่วัยเด็กของท่านที่บวชด้วยศรัทธา ได้ศึกษา ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ และได้สืบสานงานเผยแผ่ ล้วนแต่เป็นไปเพื่อพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น

ยิ่งพอได้อ่านเนื้อหาตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้าย ยิ่งทำให้เห็นคำว่า “ปณิธาน” ของท่านเจ้าคุณฯ ชัดเจนยิ่งขึ้น มีที่มาที่ไป และเรียงร้อยบนวิถีชีวิตทุกช่วงเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นของการออกบวช คือ ท่านมีศรัทธาอย่างแรงกล้า โดย “การมีศรัทธา” นับเป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับท่านที่อยู่ท่ามกลางสิ่งดีงามรอบตัว ยังพรั่งพร้อมไปด้วยวิถีวัด วิถีบ้าน และวิถีชุมชนเป็นอันเดียวกัน เกื้อกูลอาศัยกัน มีความอบอุ่นและช่วยเหลือสนับสนุนกันให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แต่ “การมีศรัทธา” กลับกลายเป็นสิ่งที่ยากมากในสังคมปัจจุบัน เพราะคนทุกวันนี้แทบไม่เคยสัมผัสบรรยากาศดีงามแบบวิถีวัด วิถีบ้านเช่นนี้มาก่อนหรือบางทีก็หลงไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจนหันกลับมาทำลายวิถีนี้เสียเองอย่างน่าเสียดาย
การได้อ่านหนังสือนี้ทำให้เข้าใจได้เลย คำว่า “เป็นบุญจริงๆ นะ” ที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) กล่าวไว้ ช่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง สำหรับคนที่เกิดมาท่ามกลางบรรยากาศแบบนั้น และกลายเป็นสิ่งที่ท่านเจ้าคุณฯ พยายามรักษาเอาไว้ ตามคำสอนของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่ว่า
“พระศาสนาอยู่กับงานเผยแผ่ ทำงานเผยแผ่กันให้มาก การเผยแผ่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปกครองคณะสงฆ์ แม้การก่อสร้างซ่อมแซมบูรณะวัดวาวิหารเรือนพระเจดีย์ พระเณรก็ต้องทำ รวมไปถึงการช่วยเหลือสงเคราะห์สังคม การศึกษาทั้งนักธรรม บาลี และปริยัติแผนกสามัญ ตลอดจนความรู้อื่นๆ ที่ไม่ขัดพระธรรมวินัย ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ เป็นความมั่นคงของพระศาสนา”
เมื่อได้อ่านประสบการณ์การทำงานของท่านเจ้าคุณฯ จึงพบว่าท่านพยายามต่อยอดด้วยการสร้างบรรยากาศแบบวิถีวัดและวิถีบ้านให้กลับมาอีกครั้งผ่านโครงการมากมายที่เน้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกไปในพื้นที่ผ่านสถาบันพัฒนาพระวิทยากร กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม และกลุ่มอื่นๆ ทั่วประเทศไทย

แม้ท่านเจ้าคุณฯ จะทำงานมากขนาดนี้ แต่ก็ยังคงชีวิตแบบสมถะ เรียบง่าย น่าศรัทธา น่าจะเป็นด้วยวิถีชีวิตที่ท่านดำเนินตามแบบครูบาอาจารย์ทั้งหลวงพ่อที่วัดปากน้ำ และอาจารย์มหามังกร ที่ชีวิตของท่านเหล่านี้จะซุกตัวเงียบๆ อยู่กับชาวบ้านในมุมใดมุมหนึ่งของสังฆมณฑล ไม่แสดงตัว ไม่ปรากฎทั้งโดยนามและฉายา แต่ท่านอาจารย์ก็มีมุมความคิด มีวิถีการปฏิบัติ มีวิธีการดำเนินชีวิตที่น่าศรัทธายิ่ง
หนังสือ “มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)” เป็นบันทึกช่วงเวลาที่เกิดขึ้นและผ่านไป แต่สิ่งที่ได้รับจากหนังสือนั้นไม่ต่างจากอนุสาวรีย์ที่เต็มไปด้วยความทรงจำและเรื่องราวที่เรียงร้อยกันจนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในใจของผู้อ่านที่กำลังหลงอยู่ในความมืดมิดให้ได้รับแสงอรุณที่จะช่วยส่องสว่างให้เห็นหนทางที่กำลังจะก้าวเดินไปในอนาคตข้างหน้าได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ขอกราบขอบพระคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่เมตตาให้ช่วยเขียนคำเกริ่นนำ อนุโมทนาโยมมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ ที่เสียสละแรงกาย สติปัญญาในการช่วยจัดทำต้นฉบับและดูเนื้อหาอย่างละเอียด ตลอดถึงทุกท่านที่ช่วยเป็นแรงกำลังจนทุกอย่างสำเร็จและลุล่วงไปได้ด้วยดี
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี
สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) คำเกริ่นนำ โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี
ขอขอบคุณ หนังสือเสียง “รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) คำเกริ่นนำ โดย PAKNAM 89.50 Redio BUNGSRAPANG