ทุกสังคม ทุกองค์กร

มีแบบแผน มีประเพณี มีกฎ

มีระเบียบ ยึดถือ ตกทอด

ควรให้ความเคารพในแบบแผน ประเพณีของท่าน

และประเพณีนี้เองไม่ใช่หรือ

ที่รักษาแก่นของธรรม

แก่นศาสนาไว้ไม่ให้ตกหล่นไปตามกาลเวลา

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และ พระครูสิริวิหารการ กับคณะแม่ชี ซึ่งเป็นชาวจีนที่มาบวชเนกขัมมะในประเทศไทยเป็นเวลา ๑ เดือนในปีพ.ศ.๒๕๕๘
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และ พระครูสิริวิหารการ กับคณะแม่ชี ซึ่งเป็นชาวจีนที่มาบวชเนกขัมมะในประเทศไทยเป็นเวลา ๑ เดือนในปีพ.ศ.๒๕๕๘

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(ตอนที่ ๗๙)

“ประเพณีนี้เองที่รักษาแก่นของธรรม แก่นศาสนาไว้

ไม่ให้ตกหล่นไปตามกาลเวลา”

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

"เหนือสิทธิมนุษยชน คือ กตัญูญูธรรม"  โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ จากคอลัมน์ "วิปัสสนาบนหน้าข่าว" หน้าวันพระ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
“เหนือสิทธิมนุษยชน คือ กตัญูญูธรรม” โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ จากคอลัมน์ “วิปัสสนาบนหน้าข่าว” หน้าวันพระ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ผู้เขียนเปิดบันทึกวันวานเมื่อครั้งยังทำงานอยู่ที่นิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” และ หนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ก็พบอีกหนึ่งบทความในคอลัมน์ “วิปัสสนาบนหน้าข่าว” หน้าวันพระ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระวิจิตรธรรมาภรณ์ เมตตาเขียนให้เป็นธรรมทาน ในช่วงที่มีชาวจีนชายหญิงมาบวชพระและบวชชีกันราว ๑ เดือนในประเทศไทย และก่อนกลับประเทศจีนก็มากราบครูบาอาจารย์ก่อนที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระวิจิตรธรรมาภรณ์
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระวิจิตรธรรมาภรณ์

ในครั้งนั้น ได้กราบเรียนถามท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของลูกผู้หญิงในการบวชเรียนของชาวจีนในประเทศจีน ท่านจึงเมตตาอธิบายถึงการบวชของลูกผู้หญิงชาวจีนให้ฟังว่าในประเทศจีนคงยากมาก เขาจึงมาบวชในประเทศไทยกันทุกปี

แต่สำหรับประเทศไทยเราโชคดีที่ลูกผู้หญิงได้มีโอกาสบวชเนกขัมมะเป็นแม่ชีและสามารถไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมได้ตลอดชีวิต ซึ่ง *สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ได้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดงานพระศาสนาเชิงรุกที่สำคัญในด้านต่างๆ เช่น ก่อตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา จัดพิมพ์แถลงการณ์คณะสงฆ์ รวบรวมกิจการต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารงานคณะสงฆ์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

ตลอดทั้งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่งมหาเถรสมาคม เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์และการพระศาสนาออกเป็นรายเดือนทุกวันที่ ๒๕ ของเดือน และหนังสือธรรมะอื่นๆ ริเริ่มให้มีศูนย์การคณะสงฆ์ประจำภาค ริเริ่มให้มีสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อรองรับงานคณะสงฆ์ ริเริ่มให้มีพุทธมณฑลประจำจังหวัด ริเริ่มให้จัดตั้งสำนักเรียนบาลีประจำจังหวัด ริเริ่มให้จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ฯลฯ (*อ้างอิงจาก สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ www.obhik.com)

ดังนั้นลูกผู้หญิงในประเทศไทยจึงได้รับโอกาสอันพิเศษในการบวชชีและการปฏิบัติธรรมไม่ต่างจากลูกผู้ชาย ตามรอยพระพุทธเจ้าที่ทรงเมตตากับลูกผู้หญิง

(พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และพระครูสิริวิหารการ กับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พร้อมทั้งชาวจีนทั้งชายหญิงมาบวชพระ และบวชชี ปฏิบัติธรรม ๑ เดือนในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๘)
(พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และพระครูสิริวิหารการ กับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พร้อมทั้งชาวจีนทั้งชายหญิงมาบวชพระ และบวชชี ปฏิบัติธรรม ๑ เดือนในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๘)

ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เมตตาอธิบายให้ฟังหลังจากที่กราบเรียนถามท่านเกี่ยวกับการบวชและการปฏิบัติธรรมของลูกผู้หญิงในประเทศไทย ในครั้งนั้นท่านยังเมตตาเล่าย้อนไปถึงในวัยเยาว์ของท่าน

ซึ่งเป็นจุดกำเนิดในการขออนุญาตท่านเขียนมโนปณิธานของท่านในเวลาต่อมาหลังจากนั้นอีกสองปี ด้วยเห็นว่าปฏิปทาและมโนปณิธานอันมุั่งมั่นในงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้างเพื่่อความร่มเย็นใจและความสุขสงบของสังคมไทยและสังคมโลก ประดุจแสงเทียนที่เพียรเผากิเลสตนเองเพื่อส่องทางสว่างแห่งปัญญาให้กับผู้คนต่อไปไม่สิ้นสุด

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และคณะสงฆ์ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปีพ.ศ.๒๕๕๙
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และคณะสงฆ์ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปีพ.ศ.๒๕๕๙

ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดบวชแต่เยาว์วัย เพราะมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นพระ ท่านได้รับความกรุณาจากโยมพ่อและโยมแม่ในการบวชเรียน เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากโยมแม่ใหญ่ (คุณย่า) ที่ให้ท่านเก็บดอกไม้เตรียมไว้ไปวัดในวันพระทุกสัปดาห์ และทั้งโยมพ่อใหญ่(คุณปู่) และโยมแม่ใหญ่ (คุณย่า) ก็มักไปวัดปฏิบัติธรรมช่วงวันโกนและวันพระเสมอ ทำให้ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเห็นความงดงามและความสงบเย็นในวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์มาแต่เยาว์วัยจึงมีปณิธานอันแรงกล้าที่จะเป็นพระด้วยเห็นว่า สังคมไทยตั้งแต่โบราณกาลเรามีพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตมายาวนาน

 และที่สำคัญคือ ลูกผู้หญิงหรืออุบาสิกาคือผู้ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้พระพุทธศาสนามีลมหายใจมาถึงทุกวันนี้  แทบทุกบ้านผู้ที่หุงหาอาหารส่วนใหญ่ก็คือ โยมแม่ จะเรียกได้ว่า ลูกผู้หญิงได้ปฏิบัติธรรมตั้งแต่ตื่นมา และทำอาหารอยู่ในครัวตั้งแต่เช้ามืดจนถึงเข้านอนเลยก็ว่าได้  จากที่ท่านเห็นโยมแม่ใหญ่ (โยมย่า) ของท่านที่เตรียมอาหารและผลไม้ที่ดีที่สุดใส่บาตรพระตลอดมา

จึงขอน้อมนำบทความจากคอลัมน์ “วิปัสสนาบนหน้าข่าว” หน้าวันพระ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมตตาเขียนให้เป็นธรรมทานมาเผยแผ่อีกครั้งหนึ่งใน manasikul.com

"เหนือสิทธิมนุษยชน คือ กตัญูญูธรรม" โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ จากคอลัมน์ "วิปัสสนาบนหน้าข่าว" หน้าวันพระ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
“เหนือสิทธิมนุษยชน คือ กตัญูญูธรรม” โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ จากคอลัมน์ “วิปัสสนาบนหน้าข่าว” หน้าวันพระ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

อาตมาเคยเป็นสามเณรอยู่วัดป่า ได้นกเป็นเพื่อน ข้างศาลาจะมีบ่อเล็กๆ กลางวันไปตักน้ำมาใส่บ่อให้นกแต้มปูนลงเล่น  นั่งดูนกเพลินๆ บ้าง นอกจากพระอาจารย์มหามังกร ปัญญวโร ที่เป็นอาจารย์ ก็มีหลวงปู่โทนอีกรูปหนึ่งอยู่ด้วยกัน เวลาเดินจงกรม ก็ทำทางเดินจงกรมคู่กับท่าน  แล้วเดินด้วยกัน  เวลานั่งสมาธิกลางวัน ก็ทำที่นั่งในป่าเข้าไปอีก  แม้อยู่วัดป่า แต่ก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่นั่น ได้รู้จักหนังสือสามก๊ก ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น  มิลินทปัญหา ฯลฯ

          พูดถึงเรื่องเดินจงกรม มีเรื่องเล่าตามประสายังเด็ก เวลาเดินจงกรมหลวงปู่ก็จะบอกว่า

จัวน้อย” (หมายถึง เณรน้อย)

ให้เจ้าย่างจากต้นไม้นั้น  ไปถึงต้นไม้นั้น 

เราก็เดินกับท่าน 

เพราะความที่ท่านขยันเดิน  เดินทุกวัน

ฉันเสร็จก็เดิน  เดินเช้า  เดินเย็น  เดินค่ำ 

ทางเดินจงกรมของท่าน

จึงลึกลงเป็นแนวตามทางจงกรม 

และดินตรงนั้นก็จะละเอียด 

เพราะถูกย่ำกลับไปกลับมา 

พอลึกลงมาก ก็กวาดดินกลบใหม่ 

แล้วก็เดินอีก 

วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“เราเป็นเด็ก ไม่ขยันอย่างท่าน  แต่อยากให้ทางเดินจงกรมลึกอย่างท่าน ก็เอาส้นเท้าทิ่มลงดินบ้าง ทำตามประสาเด็ก  กลางคืน จะจุดเทียนหรือไม่ก็ตะเกียงให้แสงสว่างเฉพาะช่วงทำวัตรสวดมนต์ เพราะไม่มีไฟฟ้า

“พอถึงเวลาบิณฑบาต ออกจากวัดป่า ต้องเดินอุ้มบาตสองใบ  จวนเข้าหมู่บ้าน  จึงเอาบาตรถวายอาจารย์  ท่านก็รับบาตรจากเราแล้วเดินเข้าหมู่บ้าน  พอออกพ้นหมู่บ้าน  เราก็รับบาตรจากท่าน  อุ้มเดินมาจนถึงวัดป่า ตอนกลับจะหนักมาก เพราะมีอาหารบิณฑบาต และต้องอุ้มสองใบ ซึ่งก็หนักเอาเรื่องอยู่

พระปัญญาวชิราภรณ์ และพระราชกิจจาภรณ์ กับคณะสงฆ์ ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุงสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี
พระปัญญาวชิราภรณ์ และพระราชกิจจาภรณ์ กับคณะสงฆ์ ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุงสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี

สมัยนั้นวัดป่าพระพิฆเณศวร์  ยังเป็นวัดร้างอยู่ในป่า ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร  ริมแม่น้ำมูล ใน จังหวัดอุบลราชธานี  พรรษานั้น  มีพระอาจารย์มหามังกร  หลวงปู่โทน  และมีพระบวชจำพรรษาอีกรูปหนึ่ง  รวมทั้งอาตมาซึ่งเป็นสามเณร  พรรษาถัดมา หลวงปู่ท่านก็ขึ้นภูพานนานหลายสิบปี  จนชราภาพมาก ช่วงสุดท้ายของชีวิตจึงกลับลงมาจำพรรษาที่วัดป่าอีกครั้ง  แล้วมรณภาพที่วัดป่า อายุท่านน่าจะร่วม ๙๐ ปี

ส่วนอาจารย์มหามังกร มรณภาพไปก่อนหน้านั้นนานหลายปี  เนื่องจากท่านชอบธุดงค์ น่าจะจำพรรษาที่วัดป่าพระพิฆเณศวร์  ๓ หรือ ๔ พรรษา  ต่อมา ท่านชอบธุดงค์ไปเรื่อย ไม่ชอบอยู่ติดที่ พอคนเริ่มรู้จักท่านมากขึ้น ก็ย้ายที่จำพรรษา

มีอยู่คราวหนึ่ง ไปธุดงค์แล้วติดเชื้อไข้ป่ากลับมา  อาทิตย์เดียวก็มรณภาพ  พระสายอีสานเรียกท่านว่ามหาน้อย  เนื่องจากรูปร่างท่านเล็ก  เทศน์เก่ง เวลาเทศน์ ชาวบ้านนั่งฟังตั้งแต่หัวค่ำจวนเที่ยวคืนตีหนึ่งจึงเลิก  พอตีสามก็นำทำวัตรสวดมนต์แล้วก็นั่งสมาธิจนฟ้าสาง

ลูกผู้ชายได้บวชเรียน ก็มีคำถามจากลูกผู้หญิงว่า จะได้สิทธิ์นั้นอย่างไร วันนี้ เรื่อง ภิกษุณีมีความสลับซับซ้อนในมติของสังคม

          ในประเทศไทย ไม่มีใครตอบได้ว่า วงศ์ภิกษุณีเคยมีอยู่หรือไม่ หรือขาดหายไปเมื่อใด น่าคิดว่า ทำไมขาดสูญไป ด้วยเหตุผลกลใด มองในมุมประวัติศาสตร์ ก็ยิ่งมืดมน แทบไม่เห็นมีการจดบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นหนึ่งในพุทธบริษัทที่สำคัญ นอกจากการปะทะกันทางด้านความคิด  ก็มีผู้พยามยามจะฟื้นฟูภิกษุณี  แต่คงไม่มีพระรูปใดจะรับรองความถูกต้องตามพระวินัย  ประเด็นปัญหาที่สำคัญในเวลานี้ก็คือ  น่าจะทำสิ่งที่มีอยู่ให้สมบูรณ์  เช่น แม่ชี ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่ามีสถานะอย่างไร

ประเด็นสถานะของแม่ชี  มหาเถรสมาคมก็เคยหยิบยกมาพูดเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ระยะหนึ่ง  ที่จะให้มีกฎหมายรองรับสถานะ  แต่มีการปะทะกันทางความคิด ทั้งในแง่การเมือง และในแง่ศาสนา ในที่สุดก็ตกไป

แม่ชี ซึ่งเป็นชาวจีนที่มาบวชเนกขัมมะในประเทศ ๑ เดือน ทุกปี
แม่ชี ซึ่งเป็นชาวจีนที่มาบวชเนกขัมมะในประเทศ ๑ เดือน ทุกปี

          สำหรับแม่ชีในสังคมไทย ดูเหมือนจะเข้ากับอัธยาศัยโดยรวมของสังคม  ไม่ก่อปัญหาที่สองซ้อนขึ้นมาอีก  มีผู้พยายามตีความว่า แม่ชีคือผู้รับใช้พระ ผิดหลักสิทธิมนุษยชน  เป็นการกดขี่ทางเพศ เป็นการมองเพียงมุมสิทธิมนุษยชนเท่านั้น  ไม่ได้มองในมุมศาสนา  ซึ่งตัวสิทธิมนุษยชน ก็ยังเป็นปัญหาในตัวเอง แก้ยังไม่ตก

ขณะที่สังคมไทยเราเป็นลักษณะที่ว่า ครูบาอาจารย์ท่านก็เกื้อกูลโดยธรรม  เมื่อมีสตรีต้องการประพฤติธรรมเป็นอนาคาริก ก็บวชเป็นแม่ชีให้อยู่พฤติธรรมในสำนักร่วมกับพระสงฆ์  สังคมเราก็อยู่เช่นนี้มาช้านาน  สตรีในชุดสีขาวบริสุทธิ์ ก็ดูสง่างาม

หากมองในมุมเกื้อกูลกันโดยธรรม  ศาสนาในบ้านเรา ก้าวข้ามเรื่องการกดขี่ทางเพศมานาน  เพราะยึดธรรมเป็นใหญ่  แบบครูบาอาจารย์เกื้อกูลศิษย์  ศิษย์ได้รับความเมตตาจากท่านโดยธรรม ปลดทุกข์ทางใจ ก็อุปัฏฐากโดยธรรม  มีการปัดกวาด  ตั้งน้ำใช้  น้ำฉัน  เป็นต้น

หากมองการจัดแจง ปัดกวาด ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน เป็นต้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของศิษย์โดยธรรม  เป็นเพียงการกดขี่ทางเพศ ก็ละเลยการเกื้อกูลกันโดยธรรม  เป็นการละเลยหน้าที่  ที่ศิษย์พึงปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์  ก็คือละเลยการปฏิบัติในกตัญญูธรรมนั่นเอง

ที่ใดศิษย์ไร้กตัญญู ไม่ควรนับเป็นศิษย์ที่ดี เหมือนพ่อแม่ เลี้ยงลูกไร้กตัญญู นอกจากความทุกข์ระทมใจในปัญหาที่ลูกก่อ ก็เหนื่อยเปล่า

ลูกไร้กตัญญู ไม่นับเป็นลูกที่ดี ฉันใด ศิษย์ไร้กตัญญู ก็ไม่นับเป็นศิษย์ที่ดี ฉันนั้น

   สังคมศาสนาในไทยเรา ครูบาอาจารย์ ท่านยึดการเกื้อกูลโดยธรรมอนุเคราะห์ศิษย์ เพราะเมตตาธรรมเป็นหลัก มีบวชถือศีลตามสมควรแก่ฐานะและโอกาส  บวชชี  ยังมีชีแบบโกนผม กับชีพราหมณ์แบบไม่โกนผม แยกย่อยลงไปอีก ล้วนแต่เป็นแนวทางที่ท่านหาทางทางออกในสิ่งที่เป็นช่องว่าง ซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้

วิถีบางอย่างในคณะสงฆ์มีประเพณี มีแบบแผนยึดถือกันมาตามธรรมตามวินัย  ส่งตกทอดกันมาจากบูรพาจารย์สู่รุ่นศิษย์ ท่านก็ถือของท่านมา เราก็อย่าไปลบล้างของท่าน

ภาพในสังคมไทยที่อยู่กันมา พอถึงวันพระ เราก็เห็นปู่ย่า ตา ยาย ลุง ป้า ใส่ชุดขาว มีดอกไม้ไปถือศีลในวัด กลางวันก็ช่วยพระกวาดศาลา กวาดลานวัด กวาดใบไม้  ใบหญ้า ก็อยู่กันมาแบบนี้ นมนานแค่ไหน ก็สุดจะคำนวณย้อนไปหาที่มาที่ไปได้  แต่ก็อยู่กันมา  ถือศีลตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่ง  รุ่งขึ้นลาศีลก็ไปทำมาหาเลี้ยงชีพ  ผู้หญิงที่มีอุตสาหะมาก ก็บวชชีโกนผมใส่ชุดขาวปฏิบัติธรรม  ด้วยการเกื้อกูลของครูบาอาจารย์  สังคมก็งดงาม

แม่ชีบางคนบางท่านเจริญในธรรม  บางคนลาศีลกลับไปใช้ชีวิตปกติของชาวพุทธ  การปะทะทางความคิดก็ไม่มี ความขัดแย้งก็ไม่เกิด  พอไปยึดแนวสิทธิมนุษยชน  โดยไม่คำนึงถึงบริบทของสังคมว่าอยู่กันมาอย่างไร ก็เริ่มห่างไกลแนวศาสนา แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา ก็กลับเป็นการสร้างปัญหาใหม่ซ้อนทับปัญหาเก่าเข้าไปเสียอีก  คือ ปัญหาแม่ชี ก็ยังหาทางออกกันไม่ได้ ก็มีปัญหาใหม่ซ้อนทับลงไป กลายเป็น “ลิงแก้แห”

ที่จริง สังคมไทยเรา มีภาวะการแก้ปัญหาแบบลิงแก้แหมาก ยิ่งแก้ยิ่งมั่ว ยิ่งแก้ยังพัน ในที่สุดก็รัดคอตัวเอง เพราะคนแก้ ก็ไม่รู้ปัญหาจริงๆ ไม่รู้อันไหนเงื่อน อันไหนปม เลยสร้างปมใหม่ขึ้นมา เป็นปมซ้อนปม”ทุกสังคม ทุกองค์กร มีแบบแผน มีประเพณี มีกฎ มีระเบียบ ยึดถือ ตกทอด ควรให้ความเคารพในแบบแผน ประเพณีของท่าน และประเพณีนี้เองไม่ใช่หรือ ที่รักษาแก่นของธรรม แก่นศาสนาไว้ไม่ให้ตกหล่นไปตามกาลเวลา

ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่า สังคมกำลังรื้อถอนวัฒนธรรม ประเพณีออกเป็นชั้นๆ โดยที่เราแทบจะไม่รู้สึกตัวในตอนแรก เหมือนกบอยู่ในกระทะ ตอนแรกก็ไม่ร้อน แต่พอร้อนขึ้นมาก็กระโดดออกจากกระทะไม่ไหวแล้ว

พระพุทธศาสนาคือรากฐานอันสำคัญของแผ่นดินไทยที่ทำให้ประเทศไทยมั่นคงสถาวรอย่างสงบสันติสุขมาจนถึงทุกวันนี้ แต่วันข้างหน้าก็ไม่อาจรู้ได้ หากเราไม่ช่วยกันรักษาพระสงฆ์ ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ผู้สืบต่อลมหายใจพระพุทธศาสนาทางตรงจากพระพุทธเจ้าโดยมีพระธรรมและพระอุปัชฌาย์อาจารย์สืบเนื่องมาไม่ขาดสายตลอด ๒๖๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา อันมีขนบธรรมเนียมประเพณีในแต่ละวัฒนธรรมแต่ละภาษาช่วยห่อหุ้มรักษาแก่นธรรมไว้ผ่านพุทธบริษัทฆราวาสญาติธรรมมาจนถึงทุกวันนี้.

พระเจดีย์กลางน้ำที่บ้านบุ่งสะพัง จังหวัดอุบลราชธานี
พระเจดีย์กลางน้ำที่บ้านบุ่งสะพัง จังหวัดอุบลราชธานี

บันทึกธรรมสัมมาสมาธิ

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(ตอนที่ ๔๓)

ให้มีสติขณะนิมิตเกิด

เปลี่ยนความคิดกลับมาดูลมหายใจ  

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

คราวที่แล้วอธิบายสภาวะในขณะปฏิบัติสมาธิ ไม่ว่าจะเกิดอาการอะไร ก็พลิกขณะจิตกลับมาดูลมหายใจ…

อย่าใส่ใจนิมิตดังกล่าว  บางทีก็เหมือน มีปีศาจจ้องมองมาข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้างหลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น จนรู้สึกกลัว ก็ให้มีสติพลิกขณะจิต เปลี่ยนความคิดกลับมาดูลมหายใจ ในขณะอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็ให้เอาลมหายใจเป็นฐานที่มั่นของจิตไปก่อน 

เมื่อพลิกขณะจิตมาตั้งมั่นไว้ที่ลมหายใจแล้ว บางขณะจิตจะถูกนิมิตดึงดูดให้หลุดจากลมหายใจ เลื่อนลอยออกไปจับจ้องอยู่ที่นิมิตต่างๆ อีก ก็ให้มีสติพลิกขณะจิต หรือให้มีสติเปลี่ยนความคิด กลับมาตั้งหลักไว้ที่ลมหายใจ

บางขณะอาจเกิดปีติ เกิดน้ำตาไหล ร้องห่มร้องไห้ ขนลุกขนพอง บางขณะเหมือนตัวพองขยายใหญ่ขึ้นหรือหดเล็กลง ท่อนล่างหนักเหมือนถูกกลืนกิน เกิดแสงเป็นเฉดสีต่างๆ ปรากฏขึ้นมา หรือ ปรากฏเป็นดวงไฟเล็กใหญ่ใกล้เข้ามา ถอยห่างออกไป หรือลอยนิ่งๆ อยู่ อาจเป็นแสงนวลใยอุ่นๆ อยู่ระหว่างหน้าผาก อาจเป็นแสงใสสุกสว่างเหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ หรืออาจเป็นแสงร้อนแรงเหมือนดวงพระอาทิตย์ส่องสว่างเต็มห้องแล้วขยายออกไปสุดขอบจักรวาล

ไม่ว่าจะเป็นอะไรแทรกเข้ามา ในระหว่างที่ขณะจิตกำลังรวมดวงก่อนก้าวเข้าสู่ความเป็นเอกภาพ มีความว่างภายใน ก็อย่าคำนึงถึง อย่าใส่ใจ อย่าตื่นเต้นดีใจ อย่ากลัว อย่าสงสัย ให้ดูให้รู้เฉยๆ แล้วพลิกขณะจิตกลับเข้าสู่ฐานที่ตั้ง คือ ลมหายใจ เพื่อรอโอกาสให้จิตมีกำลังขึ้นมา

ภาษาในทางปฏิบัติกล่าวว่า เพื่อให้อินทรีย์แก่กล้าขึ้นมา จะได้ไม่ถูกนิมิตหลอกจนหลงไปตามสิ่งที่จิตสร้างขึ้น ปรุงแต่งขึ้น หรือสิ่งที่จิตสังขารขึ้น บางทีจิตก็ดึงเอาเหตุการณ์ในอดีตย้อนไปจนถึงชาติหนหลังขึ้นมาก็ให้รู้

บางขณะเกิดอาการหมุนคว้าง เหมือนหมุนตามการหมุนของจักรวาลแล้วหมุนแคบเข้ามาจนตัวเราหมุน จากหมุนกว้างๆ ก็เป็นหมุนแคบเข้ามา จากหมุนช้าเหมือนการหมุนของจักรวาล ก็ค่อยๆ หมุนเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ จนความเร็วเพิ่มขึ้นเท่ากับจังหวะการเต้นของหัวใจ ที่จริงในระยะแรกเหมือนรู้สึกสบายกับการหมุนลอยคว้างอยู่ในอากาศ จิตจึงจับจ้องที่อาการลอย เพราะขาดสติไปหลงยินดี (อภิชฌา) กับการลอยและการหมุน จึงไม่รู้สึกตัวว่ากำลังหมุนเร็วขึ้น กระชั้นขึ้นตามการเร่งของลมหายใจ

ในที่สุดลมหายใจก็กระชั้น การหมุนก็เร็วเหมือนลูกข่าง

บางขณะก็ได้ยินเสียงแทรกเข้ามา ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง บางทีก็เหมือนแว่วเสียง บางทีก็เหมือนชัดเหมือนกระซิบเข้ามาข้างหูบ้าง บางทีก็แว่วมาจากที่ไหนสักแห่ง ว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว เป็นพระโสดาบันบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง เป็นพระอริยบุคคลบ้าง ปฏิบัติถูกต้องตรงแล้วบ้าง ก็ฟังเฉย ๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ที่ท่านเรียกว่าละอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ค่อย ๆ ชะลอให้ก้าวข้ามพ้นนิมิตไป จิตจึงจะรวมดวงเป็นเอกภาพเข้าสู่ความว่างภายใน

บางขณะก็ได้กลิ่นเหมือนสัตว์เน่าคละคลุ้งอยู่รอบตัว จนต้องลุกขึ้นไปดูนึกว่ามีสัตว์มาตายอยู่ข้าง ๆ พอลุกไปดูก็ไม่เห็นมีอะไร บางทีก็เหมือนเหม็นติดอยู่ปลายจมูก พอดูให้ชัดลงไปอีกก็เหมือนเหม็นออกมาจากลมหายใจ อย่ากลัว อย่าตกใจ อย่าสงสัย ให้รู้เฉย ๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ตัดความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ แล้วพลิกขณะจิตกลับสู่ฐานที่ตั้งของจิต คือลมหายใจ ก็ดูลมหายใจต่อไป 

บางขณะก็เหมือนได้ยินเสียงระฆังดังกังวานอยู่ในหูติดต่อกันไม่หยุด ที่จริงเป็นเสียงความเงียบในหู แต่จิตละเอียดมากจึงปรุงแต่งไปเร็วเป็นเสียงระฆัง ทำให้เกิดความรำคาญเสียงที่ดังอยู่ในหู เกิดความรู้สึกขัดเคืองใจต่อเสียง ความที่จิตละเอียดจะรำคาญแม้กระทั่งเสียงเข็มนาฬิกาเดิน

บางขณะก็ได้กลิ่นหอมเหมือนดอกไม้บานอยู่รอบตัว จิตก็ปรุงแต่งจินตนาการไปว่าเป็นดอกไม้ทิพย์บ้าง เป็นเทวดามาโปรยดอกไม้ทิพย์ให้บ้าง ก็รู้เฉย ๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ตัดความยินดียินร้าย ตัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ แล้วพลิกขณะจิตกลับเข้าสู่ฐานที่ตั้งแห่งสติ คือลมหายใจ

บางขณะก็ปรากฏเหมือนมีพระธุดงค์มาบอกพระกรรมฐาน บางครั้งติดขัดเรื่องอารมณ์พระกรรมฐานก็จะมีพระกรรมฐานมาแก้อารมณ์ให้ เป็นครูบาอาจารย์ที่เคยพบเคยเห็นบ้าง ไม่เคยพบเคยเห็นบ้าง บางครั้งก็สอนเดินจงกรม แบบช้าบ้าง แบบเร็วบ้าง แบบลอยอยู่กลางอากาศเหมือนนกบินอยู่ในอากาศบ้าง สอนให้เห็นถึงการปรากฏแห่งอนิจจัง ทุกข์ อนัตตา มีอยู่ทุกขณะของก้าวย่าง มายืนยันการปฏิบัติว่าถูกต้องแล้ว ปฏิบัติดีแล้วบ้าง ก็รู้เฉย ๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายตัดความยินดียินร้าย ตัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

บางขณะนิมิตก็ผุดขึ้นมาจากภายในจิตเอง เป็นมรรคบ้าง เป็นผลบ้าง เป็นความรู้ชนิดต่างๆ บ้าง เป็นบทแห่งคาถาโบราณ เป็นบทกวีบ้าง เป็นผู้รู้เห็นสิ่งที่ถูกปกปิดไว้บ้าง แทรกขึ้นมาภายในจิตเป็นลักษณะรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ

แม้จะเป็นนิมิตที่ผุดขึ้นมาจากจิต

ก็ไม่ยินดียินร้าย

  แล้วพลิกขณะจิตกลับเข้าสู่ฐานที่ตั้งแห่งสติ

คือลมหายใจ

ใช้สติตัดอย่าให้ทันได้ปรุงแต่งไปมาก”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เพราะจิตที่ละเอียดกำลังก้าวลงสู่ความสงบจะปรุงแต่งเร็วมาก ได้ยินเสียงอะไร ได้กลิ่นอะไร ถ้าสติไม่เร็วพอที่จะตัดได้ทันก็จะปรุงแต่งจินตนาการไปไกลกลายเป็นเสียงวิเศษวิโส กลายเป็นกลิ่นทิพย์ไปก็มี

ที่จริงก็เป็นเพียงแว่วเสียงลมบ้าง กลิ่นน้ำหอม กลิ่นดอกไม้โชยลมมาบ้าง กลิ่นสาบสางของลมหายใจบ้าง แต่จิตที่ละเอียดก็จะปรุงแต่งไปเป็นสิ่งที่วิเศษ เพราะสติไม่เร็วพอที่จะตัดการปรุงแต่งของจิตได้ทัน จึงเปิดโอกาสให้จิตได้สังขารอย่างต่อเนื่องแล้วก็ยึดในสิ่งที่จิตสังขารขึ้นมา และการเพ่งความสนใจไปที่นิมิต ก็ไม่ได้อันตรายหรือว่าน่ากลัวอะไร ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตอะไร ที่ท่านไม่ให้เพ็งความสนใจไปที่นิมิตไม่ใช่กลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่กลัวว่า นิมิตจะทำให้เกิดความเนิ่นช้า เป็นอันตรายต่อการรวมดวงก้าวลงสู่ความสงบของจิต

นิมิตเป็นอันตรายต่อกันรวมดวงของจิต ไม่ใช่เป็นอันตรายต่อชีวิต

(โปรดติดตาม บันทึกธรรมสัมมาสมาธิ และรำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป) 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here