“พระวิทยากร คือ ผู้ถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอให้ทำหน้าที่ด้วยความภาคภูมิใจ และครองตนเพื่อรักษาเกียรติของความเป็นพระวิทยากรของตน”

พระราชกิจจาภรณ์

โครงการอบรมพระวิทยากรกระบวนธรรม

      จากปกหลังของคู่มือพระวิทยากรกลุ่มคลินิกคุณธรรม ซึ่งพระอาจารย์อรรถพล ธีรปญฺโญ ประธานกลุ่มคลินิกคุณธรรม รักษาการเจ้าอาวาสวัดภูเขาหลง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เมตตาเล่าว่า เพราะแรงบันดาลใจและอุดมการณ์ในการเผยแผ่งานพระพุทธศาสนาอย่างทุ่มเทถวายชีวิตของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นี้เองจึงมีวันนี้

 สิ้นสุดการรอคอย…

เพจกลุ่มคลินิกคุณธรรม (moralclinicgroup) ได้โค้ชคำสั้นๆ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ ว่า ในที่สุด “คู่มือพระวิทยากรกลุ่มคลินิกคุณธรรม”  ก็ได้จัดพิมพ์เป็นที่เรียบร้อย

พระอาจารย์นฤนัย ถิรสทฺโธ (ท่านกวางนคร) และ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระอาจารย์นฤนัย ถิรสทฺโธ (ท่านกวางนคร) และ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ขอโมทนากับ  พระอาจารย์นฤนัย ถิรสทฺโธ  (ท่านกวางนคร) หรือ พระอาจารย์กวาง นคร ผู้เรียบเรียง คู่มือด้วยความตั้งใจยิ่ง พระมหาภูมิรพี ผู้คอยเติมเต็มภาษาบาลี พระวิทยากรกลุ่มคลินิกคุณธรรมทุกรูป ที่ได้ร่วมสร้างงานกันมา จนเกิดกลุ่มคลินิกคุณธรรม และโมทนากับคณะศรัทธาที่ร่วมจัดพิมพ์คู่มือพระวิทยากรกลุ่มคลินิกคุณธรรม”

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๗๖

“คู่มือพระวิทยากรกลุ่มคลินิกคุณธรรม

จากหินก้อนแรกบนภูเขาที่อาจารย์วางให้

คือ รากฐานและลมหายใจของพระเจดีย์ที่มีชีวิตในวันนี้”

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ผู้เขียนเกิดความปีติยินดีกับกลุ่มคลินิกคุณธรรมที่รังสรรค์นวัตกรรมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างสมสมัย สร้างสรรค์จากประสบการณ์การทำงานเผยแผ่กับกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามและกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม ซึ่งประดุจปีกทั้งสองข้างของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) มาโดยตลอด

จาก “คัมภีร์พระวิทยากระบวนธรรม” และ “คัมภีร์พระวิทยากรบรรยายธรรม” ที่จัดพิมพ์ขึ้นมาภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ซึ่งมีท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เป็นเลขานุการในขณะนั้น ก่อเกิดแรงบันดาลใจและอุดมการณ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับพระสงฆ์มากมาย ประดุจเทียนที่ส่องสว่างไปข้างหน้าไม่มีวันดับ ตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกย่างก้าวมาจนถึงทุกวันนี้

ดังที่พระอาจารย์พระอรรถพล ธีรปญฺโญ ประธานกลุ่มคลินิกคุณธรรมรักษาการเจ้าอาวาสวัดภูเขาหลง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เล่าว่าการเผยแผ่งานพระพุทธศาสนาที่ท่านทำอยู่นี้ได้แรงบันดาลใจและอุดมการณ์จากท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ หรือท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ซึ่งไม่ใช่จากตัวหนังสือที่ท่านเขียน แต่จากประสบการณ์การทำงานของท่านที่อาตมาได้เรียนรู้กับท่าน ท่านใส่ใจพระสงฆ์และคณะสงฆ์อย่างทุ่มเท ท่านอุทิศตน เสียสละชีวิตเพื่องานเผยแผ่พระพุทธศาสนามาโดยตลอด

“อาตมาจึงได้นำอุดมการณ์งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด มาหลอมรวมเป็นพลังในการขับเคลื่อนงานอบรมหรืองานค่ายคุณธรรมอย่างสร้างสรรค์กับทุกกลุ่มตามรอยธรรมที่ท่านได้สร้างไว้ ดังที่ท่านเคยกล่าวกับอาตมาว่า

ท่านกวาง อาจารย์ได้วางหินก้อนแรกบนภูเขาไว้แล้ว ต่อไปก็คือหน้าที่ของท่านที่จะสร้างพระเจดีย์ต่อเองให้สำเร็จนะ

ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ทั้งคู่มือพระวิทยากรกลุ่มและพระเจดีย์บนภูเขาสำเร็จในเวลาไล่เลี่ยกันแล้ว”

พระอาจารย์อรรถพล ธีรปญฺโญ (พระอาจารย์กวาง) ประธานกลุ่มคลินิกคุณธรรม รักษาการเจ้าอาวาสวัดภูเขาหลง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ขอขอบคุณ ภาพจากเพจ กลุ่มคลินิกคุณธรรม
พระอาจารย์อรรถพล ธีรปญฺโญ (พระอาจารย์กวาง) ประธานกลุ่มคลินิกคุณธรรม รักษาการเจ้าอาวาสวัดภูเขาหลง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ขอขอบคุณ ภาพจากเพจ กลุ่มคลินิกคุณธรรม

 ซึ่งล่าสุดทางกลุ่มคลินิกคุณธรรมก็เพิ่งจัด โครงการ “ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาจิต เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศของศาลจังหวัดนาทวี” จำนวน ๔๐ ท่าน เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ ผ่านไปด้วยดี โดยมีกิจกรรมอาทิ ธรรมะตื่นรู้, หนึ่งคำบันดาลใจ : แรงบันดาลใจสร้างได้ด้วยตัวเราเอง,ตามหาหัวใจ : กิจกรรมเปิดใจ เพื่อ แลกใจ, ตื่นรู้ เพื่อเรียนรู้ ,ต้นแบบต้นธรรม และ สวดมนต์ทำวัตร เจริญสติ เป็นต้น

กิจกรรม "ธรรมะตื่นรู้" โดย พระอาจารย์นฤนัย ถิรสทฺโธ (ท่านกวางนคร) ใน โครงการ "ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาจิต เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศของศาลจังหวัดนาทวี" เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ ณ วัดภูเขาหลง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
กิจกรรม “ธรรมะตื่นรู้” โดย พระอาจารย์นฤนัย ถิรสทฺโธ (ท่านกวางนคร) ในโครงการ “ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาจิต เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศของศาลจังหวัดนาทวี” เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ ณ วัดภูเขาหลง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

เพื่อทำความรู้จักกลุ่มคลินิกคุณธรรมกันอีกนิด จึงขอนำคำนำจากคู่มือพระวิทยากรกลุ่มคลินิกคุณธรรมมาแบ่งปันตอนหนึ่ง…

“กลุ่มคลินิกคุณธรรม เป็นกลุ่มพระวิทยากรที่ทำหน้าที่เผยแผ่และเป็นหน่วยงานบริการทางวิชาการพระพุทธศาสนา ซึ่งผ่านกระบวนการฝึกอบรมให้กับเด็ก เยาวชน สามเณร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยได้จัดทำหลักสูตรการให้การอบรมสอดคล้องกับกระแสโลก กระแสธรรมในปัจจุบัน

“หลักสูตรการให้การอบรมกลุ่มคลินิกคุณธรรมนี้ เป็นการนำประสบการณ์จากการทำหน้าที่และทฤษฎีที่ได้รับการปลูกฝังจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วผ่านกระบวนการกลั่นกรอง จนเป็นหนังสือคู่มือการอบรมกลุ่มคลินิกคุณธรรมเล่มนี้

กิจกรรม "ต้นแบบต้นธรรม" โครงการ "ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาจิต เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศของศาลจังหวัดนาทวี" เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ ณ วัดภูเขาหลง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
กิจกรรม “ต้นแบบต้นธรรม” โครงการ “ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาจิต เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศของศาลจังหวัดนาทวี” เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ ณ วัดภูเขาหลง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

“เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้แก่พระภิกษุ สามเณร ประชาชน หรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนใจได้ศึกษาและนำแนวทางกระบวนการอบรมจิตวิทยาการให้คำปรึกษาไปใช้

“กราบขอบพระคุณพระเทพญาณโมลี (ผัน ปสนฺโน) อดีตประธานที่ปรึกษากลุ่มคลินิกคุณธรรม ที่มอบวาทะธรรมเรื่องขันติ คือความอดทน อดทนต่อความลำบาก อดทนต่อความตรากตรำ อดทนต่อความเจ็บใจ ให้แก่พระวิทยากรกลุ่มคลินิกคุณธรรมได้นำมาปฏิบัติ และนำมาเป็นแนวทางในการทำงาน

อีกทั้งขอขอบคุณสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี,ดร. กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม พระมหาธนเดช ธมมฺปญฺโญ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม พระมหาประสิทธิ์ ธมฺมปทีโป และครูบาอาจารย์ทุกท่าน ที่เป็นเสมือนผู้ชี้แนะชี้นำ

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“ท้ายสุดนี้ ต้องขอขอบคุณพระวิทยากร และคณะทำงานกลุ่มคลินิกคุณธรรมทุกท่าน ที่ได้ทุ่มเทกำลังทั้งกายใจ กำลังปัญญา เพื่อร่วมกันถ่ายทอดคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจรรโลงพระศาสนาสืบไป ”

พระอาจารย์อรรถพล ธีรปญฺโญ และท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระอาจารย์อรรถพล ธีรปญฺโญ และท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

แม้ว่าทางกลุ่มคลินิกคุณธรรมจะพบกับอุปสรรคเพียงใดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างสร้างสรรค์เหนือกาลเวลาก็ไม่เคยท้อ เพราะมโนปณิธานของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดได้หยั่งลึกลงในจิตใจของศิษย์ผ่านเตาหลอมเหล็กที่ร้อนแรงจนได้เหล็กกล้าพร้อมที่จะเผชิญกับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบได้ผ่านประสบการณ์ภาวนาอย่างเข้มข้นอยู่ในกายใจของพระสงฆ์สุปฏิปันโน ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลกสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ๒๖๐๐ กว่าปีก็เป็นที่ยืนยันว่า พระรัตนตรัยยังดำรงอยู่ในจิตใจของผู้ปฏิบัติคือพระเจดีย์ที่มีชีวิตและมีลมหายใจต่อไปไม่สิ้นสุด

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

ตอนที่ ๔๐

มัคคสมังคี (มรรคสามัคคี)

โดย พระราชกิจจาภรณ์

(เทอด ญาณวชิโร)

เมื่อปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘  ก็ชื่อว่าปฏิบัติในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ และปัญญา เพราะมรรคมีองค์ ๘  ก็รวมลงที่ไตรสิกขา การพูดชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ เป็นศีล ความพยายามชอบ ความมีสติระลึกรู้ชอบ ความมีสมาธิชอบ เป็นสมาธิ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เป็นปัญญา ซึ่งมรรคมีองค์ ๘  ก็คือไตรสิกขา และไตรสิกขาก็คือมรรคมีองค์ ๘  นั่นเอง

แต่มรรคมีองค์ ๘  ถ้าจะให้มีกำลังสามารถเจาะทะลุชำแรกกิเลสออกมาได้ มรรคทั้ง๘  ข้อ ต้องมารวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นมรรคสามัคคี

มรรคต้องสามัคคีกันรวมกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนการฟั่นเชือกจะให้เหนียวแน่นกลมกลึง ต้องใช้เชือกแต่ละเส้นที่มีขนาดเท่ากัน เวลาฟั่นเป็นเกลียวจึงจะลงตัวกลมกลึงแนบสนิทแน่นติดกันดี ไม่มีช่วงไหนเล็กใหญ่เกินกว่ากัน สวยงาม มั่นคง แข็งแรง เหนียว ทน ควรแก่การใช้งาน

ถ้าเส้นหนึ่งใหญ่เส้นหนึ่งเล็ก เอามาฟั่นรวมกัน ฟั่นไปแล้วก็ไม่เท่ากัน ไม่แนบสนิทดี  ไม่เหนียว ไม่ทน ไม่ควรแก่การใช้งาน

เชือกแต่ละเส้นก็คือมรรคแต่ละข้อ  เมื่อฟั่นรวมกันแล้วก็จะเกิดมีกำลังขึ้นมา จึงต้องเอามาฟั่นรวมกันให้เป็นมรรคสามัคคี ด้วยการปฏิบัติสมาธิ

การเริ่มลงมือปฏิบัติสมาธิ ก็คือขั้นตอนของการเริ่มเอามรรคแต่ละข้อมารวมกัน เหมือนการเริ่มลงมือฟั่นเชือก

และเมื่อเริ่มลงมือฟั่นแล้วก็ดำเนินการฟั่นไปเรื่อยด้วยฉันทะ เชื่อมั่นว่าจะเป็นเชือกที่เหนียวแน่นขึ้นมา ทำการฟั่นด้วยความเพียรที่เป็นไปไม่หยุดหย่อน มีความขวนขวายเอาใจใส่ คอยตรวจสอบแต่ละส่วนแต่ละเส้นอยู่เสมอว่า เข้ากันดีไหม ส่วนไหนหลวมส่วนไหนแน่นก็ปรับปรุงแก้ไขให้กลมกลึงสนิทแน่น เรียกตามภาษาปากว่า มรรคสามัคคีกัน

แต่ถ้าจะเรียกให้ตรง ก็เรียกว่า “มัคคสมังคี”ความพรั่งพร้อมของมรรคแต่ละข้อ มรรคแต่ละข้อมารวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียงไม่ก่อนไม่หลัง 

มรรคทั้ง ๘  ข้อ มารวมกันที่การปฏิบัติสมาธิ เมื่อยกจิตขึ้นสู่องค์ภาวนาคือลมหายใจ จะเพียรสังวรระวังก็เพียรสังวรระวังอยู่ที่ลมหายใจ จะละก็ละอยู่ที่ลมหายใจ จะภาวนาก็ภาวนาอยู่ที่ลมหายใจ จะตามรักษาก็รักษาอยู่ที่ลมหายใจ และมีฉันทะเชื่อมั่นว่าลมหายใจจะทำให้เกิดความสงบ กำหนดลมหายใจต่อไปด้วยความเพียรชอบที่เป็นไปไม่หยุดหย่อน มีความขวนขวายเอาใจใส่ หมั่นตรวจสอบรอบด้านว่า จิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจหรือไม่ หรือว่าลมหายใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตหรือไม่ ทำให้ลมหายใจกับจิตเป็นประหนึ่งเกลียวฟั่นเชือก

เมื่อจิตรวมดวงมีอารมณ์เดียวอยู่กับลมหายใจ แล้วละวางลมหายใจก้าวสู่ความว่างภายใน มีความเบิกบานเป็นเอกภาพสว่างไสวอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญา และอุเบกขาอันบริบูรณ์ ไตรสิกขาและมรรคก็ชื่อว่ารวมองค์กัน เป็นมัคคสมังคี แต่ถ้าจะพูดเพื่อสื่อสารให้เข้าใจกันง่ายตามภาษาชาวบ้าน ก็พูดว่า มรรคสามัคคีกัน

จุดที่องค์แห่งมรรครวมองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็คือการที่จิตรวมดวงลงรู้ปัจจุบันขณะก้าวสู่ความว่างภายใน จิตรวมดวงลงที่ไหน ก็รวมดวงลงที่อารมณ์พระกรรมฐาน คือลมหายใจ แล้วละวางลมหายใจเข้าสู่ความว่างภายใน

เมื่อใดก็ตามที่มีการลงมือปฏิบัติสมาธิ มีความเพียรพยายามอยู่จนจิตรวมดวง เมื่อนั้นมรรคก็เป็นอันรวมองค์กัน ไม่ว่าจะเป็นมรรคมีองค์ ๘  ไม่ว่าจะเป็นไตรสิกขา เมื่อปฏิบัติสมาธิแล้วก็เป็นอันเดียวกัน คือรวมเป็นหนึ่งในความสงบหรือความว่างภายใน

ในมรรคมีองค์ ๘ ข้อ มี “ความเห็นชอบ” เป็นองค์แห่งมรรคที่เจืออยู่ในมรรคทุกข้อ

เห็นว่า ดำริอย่างนี้เป็นความดำริที่ถูก เห็นว่า พูดอย่างนี้เป็นการพูดที่ถูก เห็นว่า ทำอย่างนี้เป็นการกระทำที่ถูก เห็นว่า ดำเนินชีวิตอย่างนี้ เป็นการดำเนินชีวิตที่ถูก เห็นว่า พยายามอย่างนี้เป็นความพยายามที่ถูก เห็นว่า ระลึกรู้อยู่อย่างนี้เป็นความระลึกรู้ถูก และเห็นว่า มีความตั้งใจมั่นเป็นสมาธิอยู่อย่างนี้ เป็นความตั้งใจมั่นที่ถูก

มีความเห็นอย่างไรจึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิที่รวมดวงจนเป็นความเห็นที่เป็นพลัง ก็เห็นอยู่อย่างเดียวคือมีความเห็นอยู่กับลมหายใจ มีความเห็นอยู่กับความเคลื่อนไหวที่เป็นปัจจุบันขณะ

ไม่ว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็กลับมามีความเห็นตรึกตรองอยู่กับลมหายใจ อยู่กับความเคลื่อนไหวที่เป็นปัจจุบันขณะ ไม่ว่าจะดําริอะไรก็ดำริที่จะดูลมหายใจ ไม่ว่าจะพูดจะทำจะลงมือปฏิบัติอะไรก็ปฏิบัติอยู่กับลมหายใจ ไม่ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร ก็เป็นไปเพื่อตรึกตรองอยู่กับลมหายใจ พยายามก็พยายามอยู่กับลมหายใจ มีสติก็มีสติอยู่กับลมหายใจ มีสมาธิก็มีสมาธิอยู่กับลมหายใจ มรรคมีองค์ ๘  จึงรวมกันเป็นหนึ่งที่การลงมือปฏิบัติเพื่อดำเนินจิตไปสู่ความสงบ

อธิบายอีกอย่างหนึ่ง จะมีความคิดเห็นตรึกตรองไปอย่างหนึ่งอย่างไรก็ให้มีความคิดเห็นตรึกตรองอยู่กับลมหายใจ จะมีความดำริอะไรก็ให้มีความดำริอยู่กับลมหายใจ จะพูดจะจาอะไรก็เป็นไปเพื่อน้อมมาที่ลมหายใจ จะทำอะไรก็เป็นไปเพื่อรู้ลมหายใจ จะดำเนินชีวิตอย่างไรก็ให้ดำเนินไปเพื่อระลึกรู้ลมหายใจ จะพยายามอะไรก็พยายามเพื่อน้อมเข้ามาระลึกรู้อยู่กับลมหายใจ จะมีความตั้งใจมั่นก็ให้มีความตั้งใจมั่นอยู่กับลมหายใจ

เมื่อทุกอย่างเป็นไปเพื่อน้อมเข้ามาที่ลมหายใจ ก็เป็นปัจจุบันขณะอยู่กับลมหายใจ มรรคมีองค์ ๘  ก็มารวมลงที่ปัจจุบันขณะอยู่กับลมหายใจ เมื่อรู้ลมหายใจก็คือการดำเนินจิตไปตามอริยมรรคนั่นเอง

เมื่อมรรครวมองค์กันในสติปัฏฐานอยู่อย่างนี้ ไตรสิกขาก็เป็นอันรวมองค์กัน 

สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔อินทรีย์ ๕  พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ก็เป็นอันรวมลงที่มรรค จะเพียรสังวรระวังก็เพียรสังวรระวังอยู่ที่ลมหายใจ จะละก็ละอยู่ที่ลมหายใจ จะภาวนาก็ภาวนาอยู่ที่ลมหายใจ จะคอยรักษาก็รักษาอยู่ที่ลมหายใจเป็นปธาน ๔ จะมีฉันทะก็มีฉันทะอยู่กับลมหายใจ จะเพียรก็เพียรอยู่กับลมหายใจ จะเอาใจใส่ก็เอาใจใส่อยู่กับลมหายใจ จะสอดส่องอยู่กับลมหายใจเป็นอิทธิบาท ๔       

เมื่อทำอยู่อย่างนี้อินทรีก็แก่กล้า ศรัทธาที่จะทำก็เพิ่มมากขึ้น ความเพียรก็เพิ่มมากขึ้น สติ สมาธิ ปัญญาก็แก่กล้าตามกันมา และเกิดเป็นกำลังเจริญขึ้นพร้อมๆ กัน ไม่ก่อนไม่หลัง เป็นอินทรีย์ ๕ เหมือนกิ่ง ก้าน ใบ สาขา เปลือก กระพี้ และ แก่นแห่งต้นไม้ เมื่อเจริญก็เจริญเติบโตขึ้นพร้อมๆ กัน ไม่ก่อนไม่หลัง

เมื่อมรรคมีองค์ ๘  รวมองค์กัน ก็เป็นอันองค์แห่งการตรัสรู้ คือองค์แห่งโพชฌงค์รวมองค์กัน เมื่อโพชฌงค์รวมองค์กัน ก็เป็นอันโพธิปักขิยธรรม  ๓๗  ประการ รวมองค์กันเป็นธรรมสมัคคี ดำเนินจิตไปสู่ความว่างภายใน จิตก็ถึงความเป็นจิตดั้งเดิม มีความเป็นจิตประภัสสร เป็นอุเปกขาสัมโพชฌงค์ เสวยความเป็นใหญ่ในตัวเอง

ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้งปวง วางอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

คำว่า ธรรมสามัคคีที่พูดถึงก็คือ ธรรมแต่ละหัวข้อมารวมกันอย่างพรั่งพร้อม ไม่ว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘ ผนึกกำลังกันแน่นเพื่อชำแรกกิเลส

(โปรดติดตาม สัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here