รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๗๕
การเดินทางของคัมภีร์พระวิทยากร
“สื่อธรรม” สร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญา
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
ผู้เขียนเปิดบันทึกความทรงจำ เมื่อครั้งยังทำงานเป็นนักข่าวและผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวอยู่ที่นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และดูแลหน้าธรรมวิจัย กับ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี ตลอดช่วงเวลายี่สิบกว่าปีเกือบสามสิบปีที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชน ในช่วงประมาณสิบปีก่อนที่นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์จะปิดตัวลงในกลางปีพ.ศ.๒๕๖๐ และหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ก็ปิดตัวลงตามมาหลังจากนั้นในกลางปีพ.ศ.๒๕๖๓
กว่าครึ่งชีวิตของการทำงานสื่อ ผู้เขียนพบว่า พระพุทธศาสนาคือหัวใจในการแก้ไขปัญหาแทบทุกเรื่องราว ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยการแก้ไขที่จิตใจของเราเองก่อนเลย เมื่อจิตใจเรามีสติปัญญาก็สามารถแก้ไขเรื่องครอบครัว ทำความเข้าใจปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แม้บางอย่างหาทางออกไม่ได้ ก็ไม่ตีโพยตีพาย ต่อมาก็เข้าใจเพื่อนร่วมงานทำงาน และต่อมาก็ทำความเข้าใจกับในสังคมซึ่งมีความคิดต่างเป็นเรื่องธรรมดา
ในมุมของพระพุทธศาสนามุ่งเน้นให้เรากลับมาแก้ไขที่ตัวเองก่อนในทุกเรื่อง พระพุทธองค์สอนให้เราคิดดี ทำดีและพูดดี ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ออกไปแก้ไขผู้อื่น แต่ให้กลับมาแก้ไขที่ตัวเราเอง ตลอดจนไม่ว่าปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราก็อาศัยหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้ได้ทุกเรื่องอีกเช่นกัน แม้กระทั่งการเตรียมตัวตายอย่างมีสติที่อาจมาเยือนเราได้ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออกเลยก็ว่าได้
ผู้เขียนจึงศรัทธาในปณิธานของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เป็นอย่างมาก ตลอดเวลาที่ผ่านมา ท่านทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกด้านอย่างถวายชีวิต แม้ท่านมีภาระมากมายในการเป็นทั้งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นพระพี่เลี้ยงให้กับพระเณรที่บวชใหม่ และยังเป็นเลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ซึ่งงานทั้งหมดของท่านก็หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน คือ มุ่งปฏิบัติขัดเกลาตนให้พ้นทุกข์และทำงานพระศาสนาด้านการเผยแผ่เชิงรุกอย่างเต็มกำลัง
ตั้งแต่มหาอุทกภัยทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง ในเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นมา ที่สร้างความเสียหายให้กับเรือกสวน ไร่นา บ้านเรือน ทำให้ประชาชนลำบากกันเป็นอย่างมาก โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) พระอุปัชฌาย์ของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด มีความเมตตา ห่วงใยพระภิกษุสามเณรและผู้ประสบอุทกภัย จึงมีบัญชาให้คณะสงฆ์นำสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค ออกไปช่วยเหลือประชาชนตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศที่ไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ข้างปลาอาหาร วัดวาอารามถูกน้ำท่วม โดยมีวัดที่ประสบอุทกภัยมากกว่า ๓,๕๒๕ วัด และมีพระภิกษุได้รับความเดือดร้อนมากวา ๓๗,๐๐๐ รูป
ในครั้งนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมหาเถรสมาคม จัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือวัด และผู้ประสบภัยน้ำท่วมของคณะสงฆ์” ขึ้น ที่สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ วัดสระเกศ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธมณฑล ภายใต้ความอุปถัมภ์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน และเสริมสร้างกำลังใจ แก่ผู้ที่ประสบอุทกภัยตามศูนย์ผู้พักพิงต่างๆ
โดยศูนย์ช่วยเหลือวัด และผู้ประสบภัยน้ำท่วมของคณะสงฆ์ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และเร่งด่วน ทั้งกลางวัน กลางคืน วันละหลายๆ รอบ แม้จะพบกับอุปสรรคในการเดินทาง แต่ก็ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เนื่องจากเห็นสภาพความลำบากของประชาชน โดยทุกๆ วัน บริเวณหน้าสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ข้างบรมบรรพต (ภูเขาทอง) จะเห็นพระภิกษุ สามเณรและประชาชนผู้มีจิตอาสา ช่วยกันขนเครื่องอุปโภค บริโภค เรือ ขึ้นรถออกหน่วยไปช่วยเหลือยังสถานที่ต่างๆ ในบางครั้ง รถไม่สามารถจะเดินทางไปได้ก็ช่วยกันขนสิ่งของลงเรือ เพื่อนำไปช่วยเหลือวัด และผู้ประสบภัยน้ำท่วม แม้บางครั้งเรือจะล่ม รถจะตายติดน้ำ แต่พระภิกษุสามเณรและผู้มีจิตอาสาก็ไม่ละความพยายาม ยังอุตสาหะนำสิ่งของไปถึงจุดหมายให้ได้ (จากหนังสือ “สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ : ศรัทธา กำเนิดพุทธศิลป์ แห่งแผ่นดินทอง โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร))
จากจุดแรกเริ่มของงานสังคมสงเคราะห์ในยามเกิดอุทกภัย นำมาสู่ โครงการ “ธรรมะเยียวยาใจ” ผู้ประสบภัยน้ำท่วม , “จริยธรรมแชนแนล” จากสื่ออาสาน้ำท่วม ถึงสื่ออาสานำธรรมดี , “พระธรรมทูตอาสา” ๕ จังหวัดชายแดนใต้ , “พระนักเขียน” สอนนกขมิ้นให้บินอย่างอินทรี และอีกมากมายโครงการภายใต้การขับเคลื่อนธรรมจักรเชิงรุก คือขับเคลื่อนให้ไวเพื่อช่วยเหลือผู้คนไปสู่ความพ้นทุกข์ในทุกๆ ด้านตามรอยพระพุทธเจ้าของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เป็นเลขานุการ
และจากการทำงานอย่างทุ่มเทถวายชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนามายาวนานของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดกับคณะสงฆ์ในนามกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรมและกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ที่เปรียบเสมือนปีกทั้งสองข้างของท่านอาจารย์เจ้าคุณ ทำให้งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกก้าวไกลไปมากพระสงฆ์รุ่นใหม่กลับไปยังวัดบ้านเกิด สร้างค่ายคุณธรรม ช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย สร้างสรรค์ชุมชนให้เข็มแรง เด็กๆ เป็นกำลังของครอบครัว รักแผ่นดินเกิด กลับไปดูแลแม่พ่อปู่ย่าตายาย เป็นส่วนเสริมครอบครัว การศึกษา และสังคมในทุกภาคส่วนให้มั่นคงยั่งยืนปลอดภัย มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิต สังคมก็ร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป เพราะวิถีพุทธวิถีธรรมสร้างสรรค์สังคมอุดมธรรม เป็นการปิดทองหลังพระที่งดงามที่สุด
ด้วยมโนปณิธานอันมั่นคงของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ผู้เขียนจึงของน้อมนำบทความในคอลัมน์ “หมายเหตุพระไตรสรณคมน์” นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ เรื่อง “สื่อธรรม” นำจิตสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างไร มาน้อมถวายบูชาสักการะพระพุทธเจ้า เล่าเรื่องอังงดงามแห่งการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านอาจารย์เจ้าคุณอย่างถวายชีวิตให้โลกได้รับรู้ถึงมุมเล็กๆ ของการทำงานรับใช้พระพุทธศาสนาที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลก ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้…
ถึงเวลาแล้วที่พระสงฆ์จะต้องออกเผยแผ่ธรรมผ่านสื่อทุกช่องทาง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ๆ สำหรับผู้ที่แสวงหาทางดับทุกข์ทางใจเล็กๆ น้อยๆ ไปจนกระทั่งเมื่อความตายมาเยือนจะทำอย่างไรจึงจะละวางสิ่งภายนอกและความยึดติดภายในจิตใจออกไปให้หมดก่อนที่จะเปลี่ยนภพภูมิเพื่อการเดินทางครั้งใหญ่ในสัมปรายภพอย่างปลอดภัย
นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมากล่าวเล่นๆ เป็นโวหารให้น่าสนใจ แต่ไม่อยากให้พุทธบริษัท และผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์จริงๆ ต้องเสียโอกาสที่จะได้ลิ้มรสพระธรรมที่สามารถช่วยนำจิตไปสู่ความสงบกลับต้องไปอยู่กับข่าวสารที่ทำให้จิตตกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันตามสื่อต่างๆ ที่มาเคาะประตูใจกันตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับไปแทบไม่ได้สติ ไม่มีเวลาแม้แต่จะสวดมนต์สักบท ไม่มีเวลากลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกสักครั้ง แล้วก็หลับไปความคิดฟุ้งที่ทำให้ฝันอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อตื่นขึ้นมาวิ่งบนสายพานอย่างไม่มีเวลากลับมาใคร่ครวญจิตใจตนเอง
ด้วยเหตุแห่งทุกข์ของผู้คนในยุคเร่งรีบจนขาดสติอันจะทำให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ซึ่งอาจก่อทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้มหาศาล เมื่อวันที่ ๑๖-๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงได้จัดโครงการอบรมพระสงฆ์ทั่วประเทศเพื่อปฏิวัติการเผยแผ่รูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ “พัฒนาศักยภาพพระวิทยากร หลักสูตรผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ การเผยแผ่” รุ่นที่ ๒ ขึ้น ณ ศาลาหลวงพ่อโชคดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร โดยมีพระสงฆ์จากทั่วประเทศกว่าร้อยรูปเข้าโครงการ
การอบรมแบ่งเป็นสองครั้ง ในครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖-๒๙ มกราคม ๒๕๖๑ และครั้งที่สองซึ่งเพิ่งผ่านไปเมื่อไม่กี่วันนี้เอง ซึ่งการอบรมดังกล่าว พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ ประธานกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม ได้นำเทคนิคการใช้สื่อต่างๆ ประกอบกับ เทคนิคการสร้างปฏิภาณไหวพริบในการตอบปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจใจการใฝ่ธรรม เทคนิคการบรรยาย รวมไปถึงการเขียนสื่อธรรม มาเรียงร้อยให้เป็นธรรมาวุธถวายแด่พระสงฆ์ ได้ฝึกฝนการใช้สื่อต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ จนกระทั่งปิดโครงการ ในยามบ่ายของวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระราชกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในนามของหลวงพ่อพระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ฯ กล่าวไว้ในยามบ่ายของวันปิดโครงการตอนหนึ่ง
“จากนี้ไป เมื่อพระมหาธนเดช ได้ติดอาวุธให้ทุกท่านแล้ว คือ ธรรมาวุธจะทำให้ทุกท่านมีความอาจหาญตั้งขึ้น ก็เพราะเราเชื่อว่า วิชาที่อาจารย์ให้ไป เป็นเคล็ดลับวิชาที่สามารถนำไปใช้ได้ เพราะท่านได้ฝึกฝนตนเองจนมีความช่ำชอง มีความชำนาญในการใช้วิชานั้นแล้ว และท่านก็ได้นำมาถ่ายทอดให้กับพวกเรา แล้วพวกเราก็เดินทางลัดกัน”
เพื่ออะไร ก็เพื่อจะช่วยเหลือผู้คนไว้ดับทุกข์ในใจ ให้ทันกับความทุกข์ที่เร็วกว่าจรวดในยุคสื่อออนไลน์ที่เคาะหัวใจเราให้ตระหนกตกใจอยู่ตลอดเวลา
ท่านเจ้าคุณอาจารย์ กล่าวต่อมาว่า เพราะฉะนั้น หลังจากการอบรมในครั้งนี้ ทุกท่านก็จะเดินทางไปทุกทิศทางทั่วประเทศ นำคัมภีร์พระวิทยากรสู่คัมภีร์ชีวิตที่จะอุทิศลมหายใจเพื่อพระพุทธเจ้า เพื่องานพระพุทธศาสนาให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง
“ขอให้เราทราบว่า บัดนี้ภาระธุระพระศาสนาวางอยู่บนบ่าทั้งสองของท่านแล้ว จากนี้ไปให้ท่านปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาไปตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
“เมื่อท่านทั้งหลายไปจากที่นี่แล้ว ต้องนำคัมภีร์นี้ไปสร้างศิษย์ของตนเองต่อไป และจงสอนพวกเขาว่า ให้พวกเขารักษา ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาไปตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิต และจงสั่งสอนศิษย์ของศิษย์ของศิษย์ให้พวกเขารักษา ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาไปตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ในการอบรมครั้งนี้มีสามเณรมาร่วมด้วย ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญมากที่จะช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไปไม่สิ้นสุด”
เพราะการคุ้มครองพระพุทธศาสนาตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิตจักเป็นการสานงานพระศาสนาต่อไปไม่สิ้นสุด ดังที่ ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์กล่าวต่อมา
“เมื่อทุกท่านมีธรรมาวุธ คือ สื่อธรรม นี้แล้ว ก็ขอให้เดินทางกระจายกันไปทั่วทุกทิศานุทิศ คือ ทิศน้อย ทิศใหญ่ ไปทุกทิศทาง แต่ละรูปไม่ต้องไปในทางเดียวกัน ไปทำงานตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ และนำคัมภีร์นี้ไปสอนศิษย์ให้รักษาพระพุทธศาสนาตราบลมหายใจสุดท้ายของเขา ดังกล่าวแล้ว
“การรักษา ปกป้อง คุ้มครองพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ใช้คัมภีร์นี้เพื่ออบรมให้คนเป็นคนดีอย่างเดียว แต่ต้องให้อุดมการณ์ ให้ปณิธาน ให้เป้าหมาย และให้ภาวนาไปจนกว่าจะพ้นทุกข์ทางใจส่วนตน และเผยแผ่หลักธรรมคำสอนที่ถูกตรงต่อไป ซึ่งมีวิธีการหลากหลาย ไปสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ ของนักเผยแผ่ให้กระจายไปทั่วแผ่นดินไทย ให้แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินพระพุทธศาสนา ขาวสะอาดบริสุทธิ์ ให้แผ่นดินนี้ ให้ร่มเงา ให้ความร่มเย็นใจแก่ผู้ทุกข์ร้อน ใครทุกข์ร้อนก็สามารถแวะมาใต้ร่มเงาแห่งพุทธธรรม
“ใครมีทุกข์ร้อนสิ่งใดก็ช่วยเขาให้ร่มเย็นใจ มีพละ มีกำลังในการก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอีก
” การทำหน้าที่เป็นพระวิทยากร หรือ นักเผยแผ่ สิ่งสำคัญก็คือ วิชชา จรณะ สัมปันโน สุคะโต โลกวิทู ซึ่ง วิชชา ของพระพุทธเจ้าเป็นวิชชาสูงสุด ประเสริฐสุด ส่วนวิชชา คือ ความรู้ของพวกเรา เป็นความรู้อย่างธรรมดาสามัญ ทุกท่านจะได้นำไปเผยแผ่ และฝึกตนไปจนกว่าจะก้าวล่วงทุกข์ ด้วยตัวของท่านเอง
“จรณะ คือ กิริยามารยาท เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเผยแผ่ ต้องสะอาดกาย การนุ่งห่มจีวรต้องเป็นปริมณฑลให้เรียบร้อย เวลาไปบรรยายที่ไหน อย่าได้รุ่มร่าม จีวรต้องสะอาดหมดจด แม้เป็นจีวรเก่าก็ต้องสะอาด สะอาดวาจา เป็นสิ่งสำคัญ รู้จักพูดในสิ่งที่ควรพูด เว้นในสิ่งที่ควรเว้น อย่าพูดเอาอร่อยปาก ลึกลงไป คือ สะอาดใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ใจต้องสะอาด เพราะจรณะนี้เอง ที่ทำให้พระพุทธศาสนาได้บุคคลสำคัญ เพราะเป็นแรงบันดาลใจทำให้เกิดความเลื่อมใสมาจนถึงทุกวันนี้
“สุคะโต พระพุทธเจ้าไม่ว่าเสด็จไปไหนก็แล้วแต่ พระองค์เสด็จไปเพื่อความร่มเย็นใจ ไปดีหมดทุกทิศทาง เพราะฉะนั้น เราก็เดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ไม่ว่าเราจะไปทางใดก็แล้วแต่ ทำให้คนเกิดความร่มเย็นใจ
“ความทุกข์ของตนเองก็ใช้ทมะข่มใจไว้ หน้าตาเราต้องเบิกบานเข้าไว้ เจอปัญหาอะไรมา ให้ยิ้มไว้ก่อน ปรับโหมดใหม่ ปรับอารมณ์ใหม่ สุคะโต พระพุทธเจ้าพระองค์ประเสริฐสูงสุดแล้ว พระองค์ทรงไปแล้วด้วยดี พระวิทยากรก็กำลังจะช่วยให้ทุกคนมีหนทางไปแล้วด้วยดีเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า
“ และ โลกวิทู ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง พระพุทธเจ้าทรงทะลุทะลวงทุกโลกธาตุ แสนโกฏิจักรวาล ทุกโลกธาตุ ทะลุหมด แต่โลกวิทูอย่างเรา เอาง่ายๆ คือ รู้ธรรมเนียมของโลกเขา รู้สังคม รู้ชาวบ้านชาวเมืองว่าเขาไปถึงไหนแล้ว เขาอยู่อย่างไร เป็นอย่างไร เข้าใจใน ปุคคลัญญุตา คือ รู้บุคคล รู้ความสามารถในการสื่อสาร รู้เครื่องมือในการสื่อสาร รู้ว่า เราจะพูดกับใครด้วยเครื่องมืออะไร เราจะไปหาใคร เราสนทนากับใครด้วยเรื่องอะไร นอกจากนี้ก็ต้องรู้ชุมชน รู้สังคมว่าเขาเป็นอย่างไร ก็คือ รู้โลกให้เข้าใจโลก เมื่อรู้ก็จะทำงานพระศาสนาได้”
ท่านเจ้าคุณอาจารย์กล่าวทิ้งท้ายว่า พระพุทธศาสนาเดินทางมาถึงวันนี้ได้ ก็เพราะอาศัยบรรพบุรุษบูรพาจารย์ ท่านได้นำพาพระพุทธศาสนา ให้สืบต่อมาจนถึงพวกเรา ซึ่งท่านได้ทำหน้าที่ที่แตกต่างหลากหลายตามความถนัด ไม่ใช่ทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง
“บางรูปถนัดการก่อสร้างก็อย่าไปตำหนิอย่าไปว่าท่าน เราในฐานะนักเผยแผ่สมัยใหม่ก็ต้องเข้าใจ อย่าไปทางตรงทางเดียว เดี๋ยวจะไปชนกำแพง เจอต้นไม้ก็ต้องหลีกต้นไม้ เจอตอก็ต้องหลีกตอ อย่าเดินไปชนอย่างเดียวจะหัวแตก ให้เข้าใจบริบทของพระพุทธศาสนาที่มีความหลากหลาย
“ดังบรรพบุรุษบูรพาจารย์ของเรามีความถนัด และทำงานที่หลากหลาย อาทิ รูปที่ท่านถนัดเรื่องนวกรรม ท่านก็ทำเรื่องก่อสร้าง ให้เรามีกุฏิได้นอน มีโบสถ์ได้สวดมนต์ แต่ว่าจะให้ท่านถนัดเรื่องพูด ท่านก็พูดไม่ได้ บางรูปที่ท่านทำงานก่อสร้างท่านไม่พูดเลย แต่ท่านสามารถแสดงธรรมให้เราเห็นสัจธรรมจากการทำงานก่อสร้างได้
“จากศรัทธาปสาทะของท่าน ก่อเกิดศรัทธาปสาทะของผู้คน และท่านก็ได้ใช้ศรัทธาสร้างตั้งแต่ส้วม กุฏิเสนาสนะ ศาลา โบสถ์ วิหาร พระพุทธรูป ไปจนถึงยอดพระเจดีย์ ให้เราได้กราบไหว้บูชาน้อมจิตถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่ง ทุกอย่าง คือสายธารแห่งพระพุทธศาสนาอันงดงามร่มเย็นเป็นหนึ่งเดียว นั่นเอง ”
บันทึกธรรมสัมมาสมาธิ
(ตอนที่ ๓๙)
“ขจัดนิวรณ์ ๕ อวิชชาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์”
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
คราวที่แล้วอธิบายเรื่อง ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ว่า อวิชชาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ที่จริงก็อันเดียวกัน เพราะไม่รู้จริงจึงอยาก เพราะรู้ไม่ทันจึงอยาก อยากเห็นรูป อยากได้ยินเสียง อยากสัมผัส จากคิดนึกจินตนาการด้วยใจ เมื่อไม่รู้ทันความอยาก จิตก็หลงวิ่งออกไปหาอารมณ์ตามที่อยาก เมื่อได้มาตามที่อยากก็ยึดไว้ เมื่อไม่สามารถยึดสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดาไว้ได้ตามใจอยาก ก็เสวยทุกข์ เมื่อวิ่งออกไปหาอารมณ์บ่อยๆ ยึดไว้บ่อยๆ ไม่ได้ตามที่ใจอยากบ่อยๆ ก็เสวยทุกข์อยู่บ่อยๆ
อวิชชา คือ ความไม่รู้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ไม่รู้ในอะไรจึงเกิดทุกข์ จะดูอวิชชาให้เห็นง่ายๆ ก็ให้ดูที่นิวรณ์ ๕
ความไม่รู้ว่า ความอยากในกาม ความพอใจในกาม ความที่จิตแส่ออกไปหาสิ่งที่ใคร่ที่พอใจเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เมื่อไม่รู้ก็ทำตามอำนาจของกามฉันทะ เมื่อทำตามก็ก่อความทุกข์ เมื่อมารู้ว่า ความพอใจในกามทำให้จิตวิ่งออกไปหยิบฉวยเอาสิ่งก่อทุกข์จากข้างนอกมาใส่ไว้ในใจ สติก็ห้ามเสีย กามฉันทะ ความพอใจใจกามก็ดี อภิชฌา ความเพ่งเล็งยินดีก็ดี ราคะก็ดี ก็คือโลภะ อันเดียวกัน พอรู้ว่า จิตจะเตร่ออกไปหาสิ่งที่พอใจ แล้วจะนำทุกข์กลับมาด้วย สติก็ห้ามเสีย ไม่ให้จิตออกไป จิตมีความอยาก เมื่อถูกห้ามก็ทุรนทุราย ขุ่นมัว ไม่แจ่มใสเมื่อเพ่งดูจนรู้นิวรณ์ข้อกามฉันทะ ว่า อ้อ! ตัณหาความอยากในกามนี่เอง เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ดวงตาก็เกิดขึ้น ปัญญาก็เกิดขึ้น ญาณก็เกิดขึ้น วิชชาก็เกิดขึ้น แล้วเกิดความโปร่งโล่งแจ้ง สว่างไสวอยู่ภายใน เป็นความเอิบอิ่มใจว่า “ช่างประเสริฐเหลือกิน เราได้รู้สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว”
อวิชชาไม่รู้ว่า ความพยาบาทเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ความไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ ความโกรธ ความเกลียด ความอาฆาต รวมความว่า ความพยาบาทเกิดจากความไม่ชอบใจ คือโทมนัส ก็แก้ที่เหตุ คือ ไม่ปล่อยให้ทำตามอารมณ์ที่ใจชอบ คือ อภิชฌา และอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ คือโทมนัส
อะไรก็ตามที่ทำตามความชอบ ความชัง ความพอใจ ไม่พอใจ ก็ล้วนเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งสิ้น ก็รักษาจิตไว้เป็นกลางๆ ไม่ชอบ ไม่ชัง
จิตที่ชอบก็จะมีแต่ความมัวเมา ชุ่มด้วยความอยาก คือ กามฉันทะ จิตที่มีพยาบาท ก็จะมีแต่ความขัดแย้ง ขัดเคือง ไม่พอใจ มองคนอื่นด้วยสายตาแห่งการดูหมิ่นดูแคลน ปรามาส สบประมาท เย้ยหยัน จะคอยแส่ออกไปหาเรื่องทุกข์ เรื่องเดือดร้อน พอจิตมีความไม่พอใจก็มีความไม่เที่ยงตรงเป็นอคติ จิตมีความไม่พอใจพยาบาทขัดเคืองก็เป็นจิตขุ่นมัว ไม่แจ่มใส
เพ่งดูให้รู้นิวรณ์ข้อพยาบาท ว่า จิตที่มีความพยาบาท ก็จะมีแต่ความหงุดหงิด ขัดแย้ง ขัดเคือง ไม่พอใจ เดือดดาลใจ ชอบมองคนอื่นด้วยสายตาแห่งการดูหมิ่นดูแคลน เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด
เมื่อรู้เช่นนี้ก็ปิดอารมณ์ความรู้สึกพยาบาทลงเสีย แล้วเปิดอารมณ์ความรู้สึกกรุณาขึ้นมาในจิตใจ ดวงตาก็เกิดขึ้น ปัญญาก็เกิดขึ้น ญาณก็เกิดขึ้น วิชชาก็เกิดขึ้น เกิดความโปร่งโล่งแจ้ง มีความสว่างไสวอยู่ภายใน ก็จะมีแต่ความเอิบอิ่มใจ
นิวรณ์อีกอย่างหนึ่ง คือ ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ทำให้จิตใจไม่เบิกบานแจ่มใส สะลึมสะลือ ทึบทื่อ เฉื่อยชา ไม่ว่องไว ไม่มีกำลังพอที่จะต้านทานอกุศลในใจได้
เมื่อมีความง่วงสติก็ไม่ทำงาน ปัญญาก็ไม่ทำงาน จิตที่มีความง่วงก็จะทื่อๆ
เหมือนจอบเหมือนเสียมเหมือนมีดพร้าที่ทื่อ จะขุดจะสับจะตัดก็ไม่ถนัดถนี่ จิตที่ง่วงจะเฉื่อยชา ไม่รู้ กำลังจิตจะตก แม้พยายามยกจิตขึ้น จิตก็จะตกลงไปอีก ไม่มีกำลังพอที่จะขบคิด พิจารณาไตร่ตรองอะไรได้ จะขุ่นมัว ไม่แจ่มใส
อีกอย่างหนึ่ง คือ อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านทำให้จิตไร้หลัก เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็ไม่ชัดเจน ฟุ้งๆ เบลอๆ เพราะมีฝุ่นละอองกิเลสต่างๆ ลอยฟุ้งขึ้นมาปกปิดใจอยู่ตลอด ทำให้คิดแบบไม่มีหลัก
เพื่อป้องกันความฟุ้งซ่าน จึงให้ตั้งหลักความคิดไว้ที่ลมหายใจ ให้ใจนิ่งใจใสก่อน เมื่อใจมีหลัก ใจก็นิ่งไม่ไหว ความฟุ้งซ่านก็ลดลง ละอองกิเลสก็ค่อยๆ สงบลง สติก็แจ่มชัดขึ้นมา ปัญญาก็แจ่มชัดขึ้นมา ความรู้ก็แจ่มชัดขึ้นมา
เมื่อไม่มีความฟุ้งซ่าน ความขุ่นมัวก็ลดลง เป็นใจใส ใจสะอาดเหมือนขวดน้ำที่ตั้งไว้นิ่งๆ น้ำในขวดก็เริ่มนิ่ง ฝุ่นละอองในขวดน้ำก็เริ่มนอนก้น ในที่สุดน้ำในขวดก็ใส
ละอองกิเลสที่นอนก้นอยู่ในใจ พอใจไหวก็คอยลอยขึ้นมาปกปิดใจอยู่เรื่อย เรียกว่า อนุสัย คือ กิเลสละเอียด ได้แก่ ทิฏฐิหลงในความคิดความเห็น วิจิกิจฉา ความโลเลลังเลสงสัย ปฏิฆะ ความขุ่นข้องหมองใจ ความขัดเคืองใจ ราคะ ความยินดีติดใจในกาม ภวะ ความยึดติดในความมีความเป็น เป็นอะไรก็ยึดในสิ่งนั้น มีอะไรก็ยึดในสิ่งนั้น มานะ ความถือตัวถือตน ความอวดดื้อถือดี และอวิชชา ความหลงไม่รู้จริง
นิวรณ์อีกอย่างหนึ่ง คือ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เพราะไม่รู้จริงจึงลังเล แต่ถ้ารู้จริงแล้วก็ไม่ลังเลสงสัย
ที่ไม่รู้จริงก็เพราะขาดการได้ ยินได้ฟัง ขาดการศึกษาเล่าเรียน ขาดครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน ก็คิดเองเออเองไป ไม่รู้ถูกรู้ผิด ขาดการขบคิด ใคร่ครวญ พิจารณา ไตร่ตรอง สอบสวนหาความจริง จนสิ้นสงสัย
การฟังครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน ก็เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้หมดความลังเลสงสัย การศึกษาหาความรู้ การสอบถาม การอ่านหนังสือ อ่านตำรับตำรา และการขบคิด ใคร่ครวญ ก็เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้หมดความลังเลสงสัย
บางแห่ง เวลาปฏิบัติธรรมจึงมีการสอบอารมณ์ คือ ครูบาอาจารย์เปิดโอกาสให้พูดคุยสนทนาสอบถามเพื่อแก้ข้อสงสัยในการปฏิบัติ บางคนพอครูบาอาจารย์เปิดโอกาส แทนที่จะสอบถามเรื่องการปฏิบัติก็เอาปัญหาเรื่องโลกแตกมาสอบมาถาม คอยดึงออกนอกทางปฏิบัติก็ไม่ได้ประโยชน์ต่อการก้าวในการภาวนา
การสอบอารมณ์นอกจากช่วยแก้ข้อสงสัยในการปฏิบัติแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านยังถือเป็นโอกาสให้ข้อธรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ด้วย
เมื่อบอกว่า อวิชชา เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด จะเริ่มต้นแก้เหตุแห่งทุกข์ตรงไหนก่อน ก็เริ่มต้นแก้ที่นิวรณ์นี่แหละก่อน เมื่อทำลายเครื่องกีดขวาง คือ นิวรณ์ลงได้ แสงแห่งความรู้ก็เริ่มฉายส่องผาดผ่าน อวิชชา คือ ความมืดในจิตแสงแห่งความรู้ผาดผ่านไปถึงไหน ความไม่รู้ก็หมดไปที่ไหน
อวิชชาความไม่รู้เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพื่อจะไม่ให้ทุกข์ก็สร้างเหตุแห่งปัญญาขึ้นมา เมื่อสร้างเหตุแห่งปัญญาขึ้นมาได้ มีความรู้แล้ว มีสติแล้ว ไม่หลง ไม่ลืม ไม่เผลอเลอลืมสติแล้ว มันก็ดับอวิชชาไปในตัว ไม่ต้องไปดับทุกข์ที่ไหน
ความรู้เกิดที่ไหน ความไม่รู้ก็ดับที่นั่น แสงสว่างเกิดที่ไหน ความมืดก็ดับที่นั่น
เพ่งความสนใจลงไปที่ความดับทุกข์ จิตรวมดวงลงที่ความดับทุกข์ ถ้าดับความอยากคือตัณหาได้ ทุกข์ก็ดับ ถ้าไม่อยากเสียอย่างเดียวก็ไม่ทุกข์ เป็นนิโรธ
เมื่ออยากก็จะเกิดความยึดมั่น เมื่อยึดสิ่งใดภพชาติก็เกิดที่สิ่งนั้น เมื่อภพชาติเกิดทุกข์ก็เกิด เมื่อดับความอยากในสิ่งใด การยึดในสิ่งนั้นก็ไม่มี เมื่อไม่มีการยึด ภพชาติในสิ่งนั้นก็ไม่เกิด เมื่อไม่มีภพชาติแล้ว ทุกข์จะมีแต่ที่ไหน เมื่อมารู้ว่าดับตัณหาได้ ทุกข์ก็ดับ เป็นวิปัสสนา
เพ่งความสนใจลงไปที่การลงมือปฏิบัติเพื่อให้ทุกข์ดับ จิตรวมดวงลงที่มรรค คือหนทางที่จะดับตัณหาอันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เมื่อลงมือปฏิบัติสมาธิก็ชื่อว่า เริ่มต้นลงมือทำให้ทุกข์ดับไป ตามเส้นทางแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘
เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องมาตามลำดับเช่นนี้แล้ว ก็มีความดำริในใจที่จะดำเนินไปตามความเห็นที่ถูกต้องนั้น ก็ลงมือพูด ลงมือทำ ลงมือทำมาหาเลี้ยงชีพที่ถูกที่ควรมีความพยายามชอบ มีสติระลึกรู้ไว้เสมอว่า เรามีความเห็นเช่นนั้น แล้วก็มีสมาธิตั้งใจมั่นหมั่นปฏิบัติไปตามความเห็นที่ถูกต้องนั้น
โปรดติดตาม สัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป