พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร
พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๗๓

“ปณิธานแห่งชีวิต”

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ผู้เขียนเปิดบันทึกความทรงจำจากบทความที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น เมตตาเขียนให้ในคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” ในหน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก เมื่อวันอังคารที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เรื่อง “ศรัทธา” คือกำลังที่ค้ำจุนพระพุทธศาสนา

พระเจดีย์กลางน้ำที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระเจดีย์กลางน้ำที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ในบทความดังกล่าวท่านได้เล่าถึงช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ ประชาชนชาวไทย ที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้แสดงเจตจำนงด้วยศรัทธาที่มั่นคงในการตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ สิ่งเหล่านี้บูรพาจารย์ บรรพบุรุษ ได้ยึดถือ และนำปฏิบัติสืบมาจนเป็นแบบแผนอันดีงามถึงรุ่นพวกเรา

เพราะความกตัญญูเป็นรากฐานของชีวิต ผู้มีความกตัญญู เมื่อตามระลึกถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไป ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้  นี่เป็นสิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายยึดถือปฏิบัติมา

พระพุทธศาสนาที่บูรพาจารย์บรรพบุรุษนำสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาร่วม ๒๖๐๐ ปี นับแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน  แต่ธรรมะที่พระองค์ได้แสดง ได้เปิดเผย ก็ยังคงส่องสว่างรุ่งเรืองดุจดวงประทีป  คอยแผ่ความดีงามขับไล่ความมืดมน ให้เกิดความร่มเย็นแก่เราทั้งหลาย  ทั้งนี้เพราะศรัทธาเป็นกำลังของบรรพชนส่งทอดจากยุคสู่ยุค นำสืบๆ กันมานั่นเอง

สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม
สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม

ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงมโนปณิธานของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นสามเณรน้อย บรรพชาได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุผันผวนทำให้ท่านต้องไปอยู่ป่า อุปัฏฐากพระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ถึงสี่ปี ณ วัดร้างริมแม่น้ำมูล มีเรื่องราวกรรมฐานมากมาย ที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณท่านได้เรียนรู้ปณิธานแห่งชีวิตของครูบาอาจารย์ของท่านซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของท่านในเวลาต่อมา ดังที่ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า…

อาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ท่านมีปณิธานชีวิตของท่าน ทั้งในแง่การปฏิบัติพระกรรมฐาน และในแง่ของการทำงานเผยแผ่ เวลาเดินทางไปไหนมาไหน จะไปเทศน์ หรือไปสอนกรรมฐาน ท่านจะมีแฟ้มใส่กระดาษ A4 ติดไปด้วยเสมอ

“ในระหว่างนั่งรถเดินทาง ท่านจะจดระยะทางทุกที่ที่ท่านเดินทางไป เขียนเป็นแผนที่ลากเป็นเส้นจากหมู่บ้านนี้ผ่านหมู่บ้านนี้ จากตำบลนี้ผ่านตำบลนี้ จากอำเภอนี้ผ่านอำเภอนี้ จากจังหวัดนี้ผ่านจังหวัดนี้  แต่ละแห่งมีระยะทางกี่กิโลเมตร  มีอะไรเป็นจุดพิเศษบ้าง มีประวัติสถานที่ ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะเส้นทาง เป็นอย่างไร

“หลังท่านกลับวัด อาตมาจะรับย่ามและแฟ้มจากท่าน คอยอ่านที่ท่านจดบันทึกไว้  ก็พลอยได้รู้เส้นทางและลักษณะภูมิประเทศของแต่ละแห่งไปด้วย

” เรื่องปณิธานชีวิต อาจารย์มหามังกรมักจะสอนให้อาตมาจดจำไว้เสมอว่า

“ ข้าจะยิ้มแย้มแจ่มใส ข้าจะให้อภัยแก่ทุกผู้

ข้าจะทำดีแม้มีศัตรู ข้าจะอยู่ด้วยเมตตากรุณา

ข้าจะรักทุกคน ข้าจะไม่ดิ้นรนด้วยตัณหา

ข้าจะทำพูดคิดด้วยเมตตา ข้าจะสร้างปัญญาให้กล้าคม ”

            ความทรงจำในคำสอนของท่านอาจารย์เกี่ยวกับปณิธานชีวิต ท่านจะสอนให้เราเมตตาออกมาจากข้างใน ให้มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ฝึกสอนใจตนเองให้อภัยอยู่เสมอ แม้จะมีศัตรูหมายชีวิต ก็จะไม่คิดร้าย ให้สร้างความกรุณาขึ้นในใจ อย่าดิ้นรนทะยานอยากด้วยตัณหา จะทำพูดคิดก็ให้มีเมตตา และคอยสร้างปัญญาให้กล้าคม

           ซึ่งก็เหมือนที่หลวงพ่อสมเด็จสอนให้มีความเมตตา ว่า

คนเป็นผู้ใหญ่ต้องมีเมตตา ต้องทำใบหน้าให้เป็นอุตตราภิมุขีอยู่เสมอ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) พระอุปัชฌาย๋ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) พระอุปัชฌาย๋ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

อุตตราภิมุขี คือ มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ เป็นธรรมดาของการทำงาน จะต้องพบเจอกับเรื่องจุกจิกกวนใจ ก็อย่าแสดงความเกรี้ยวกราดจนเกินงาม จนคนรอบตัวอึดอัด อย่าบูดบึ้ง จึงจะบ่งบอกถึงการมีเมตตาออกมาจากข้างใน ญาติโยมที่มาพบมาเจอ เขาทุกข์ร้อนอยู่แล้ว หวังมาพึ่งเย็น เห็นพระสงบเย็นเขาก็จะได้สบายใจ แต่ถ้าเห็นพระเกรี้ยวกราด ร้อนเพราะโทสะกล้า เขาก็อึดอัดใจ

“หลวงพ่อสมเด็จยังบอกอีกว่า หากเห็นว่าคนที่มาพบพูดมากเกินไป ไม่รู้ที่ลง ไม่มีต้น ไม่มีปลาย วกไปวนมา ไม่รู้จักจบ แม้จะเป็นเรื่องรบกวนจิตใจ ก็ให้นั่งนิ่งๆ เฉยๆ เสียบ้าง พูดพอประมาณแล้วก็นิ่งเสียบ้าง อย่าไปแสดงการเกรี้ยวกราด

“ความคิดเรื่องการสร้างปัญญาให้กล้าคม จะดังก้องอยู่ในหัวของอาตมาอยู่เสมอ หลวงพ่อวัดปากน้ำจะสอนให้จดจำเรื่องการศึกษาหาความรู้ ว่า ถ้าอยากมีความรู้ก็ต้องอึด ต้องทน ฝึกฝนเอา “เพราะความรู้อยู่ยอดเหยา

ยอดเหยา หมายถึง เกือบตาย แทบตาย แทบเป็นลม

 “ต้นเหยา คือ ต้นละหุง ทางอีสานเรียกต้นละหุงว่า “ต้นเหยา” แต่เมื่อใช้เรียกอาการ “เหยา” จะแปลว่า แทบตาย แทบเป็นลมตาย เมื่อจะเปรียบเทียบอะไรก็ตามที่ทำยากแสนยาก เช่น การฝึกฝนปัญญาให้กล้าคม กว่าจะได้มาก็ปางตาย ก็ว่า “ความรู้อยู่ยอดเหยา ต้องตั้งใจจริงๆ จึงจะได้มา”

พระมงคลธรรมวัฒน์ ” บุญจันทร์ จัตตสัลโล ” ประทีป แห่งแม่มูล
พระมงคลธรรมวัฒน์ ” บุญจันทร์ จัตตสัลโล ” ประทีป แห่งแม่มูล

หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนอย่างนั้น อย่าเป็นแบบ “นกฮ้องทางใด๋ว่าดี ชะนีฮ้องทางใด๋ว่าม่วน” คือ อย่ามีจิตใจวอกแวกไปตามเสียงนกเสียงกา เขาว่าอะไรดี ก็จะดีไปเสียหมด เลยไม่ได้ดีสักอย่าง ต้องมีจิตใจมั่นคงต่อการศึกษาหาความรู้ “ทำให้สุดขุดให้ถึง”

คำสอนเหล่านี้เป็นแรงผลักดันทำให้ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เกิดกำลังใจที่จะเดินตามปณิธานชีวิตของครูบาอาจารย์ ท่านสอนให้คิดสอนให้เดิน ดังที่ท่านเล่าต่อมาว่า

พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร
พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร

ในระยะแรก เมื่อท่านอาจารย์มหามังกรต้องเดินทางไปเทศน์ ไปสอนบ่อยๆ ใกล้บ้าง ไกลบ้าง ต้องเช่ารถสองแถวของชาวบ้านไป บางทีก็นั่งรถประจำทางไป ต่อมา หลวงพ่อที่บ้านปากน้ำ เห็นว่า งานอาจารย์มหามังกรมีมาก เป็นห่วงการเดินทาง บางทีกลับดึกๆ ดื่นๆ มีรถบ้าง ไม่มีรถบ้าง ก็ลำบาก เกรงจะอันตราย จึงซื้อรถกระบะแบบมีหลังคาให้อาจารย์มหามังกรไปเทศน์ นับว่า เป็นรถคันแรกของวัดปากน้ำ หรือของวัดในแถบนั้นเมื่อราว ๓๐ กว่าปีที่แล้วเลยก็ว่าได้ 

เมื่ออาจารย์มหามังกรมาจำพรรษาอยู่วัดป่า ในดงพระคเณศ ริมแม่น้ำมูล ท่านจะทำหนังสือทำวัตรสวดมนต์แปลให้ชาวบ้านปากน้ำได้สวดตาม โดยพิมพ์ดีดใส่กระดาษไข แล้วโรเนียวออกมาเป็นชุดๆ จากนั้น ก็ทำเป็นเล่มด้วยตัวท่านเอง เอาไว้แจกโยมเวลามาทำวัตรสวดมนต์ ปกหนังสือท่านก็เขียนด้วยลายมือท่าน สวยงาม เพราะลายมือท่านสวยแบบคัดไทย อาตมาอยากลายมือสวยอย่างท่าน ก็หัดเขียนตามพื้นทรายข้างศาลา หลวงปู่โทนก็จะคอยพูดล้อ ว่า “ลายมือจัวน้อย คือ งูเลื้อยตามดินทรายแท้”

          จัวน้อย หมายถึง เณรน้อย เป็นภาษาคนโบราณทางอีสาน ท่านเรียกสามเณรน้อยแบบมีเมตตา

          เวลาท่านอาจารย์มหามังกรเดินทางไปไหนมาไหน  อาตมาเป็นสามเณร จะคอยนับปัจจัยใส่ซองตามจำนวนที่คิดว่าพอแก่การเดินทางแต่ละครั้ง แล้วเอาใส่ไว้ในกระเป๋าย่ามของท่าน คือ ในย่ามจะมีกระเป๋าเล็กอยู่ภายในย่าม ก็เอาซองปัจจัยสอดใสไว้ในกระเป๋านั้น ท่านก็จะรู้เอง เวลาลงรถโดยสาร ท่านจะส่งย่ามให้คนรถ เขาก็จะนับเอาเงินค่ารถตามจำนวนค่ารถในเที่ยวนั้น เหลือเท่าไหร่ ก็จะทอนคืนในซองกลับใส่ย่ามไว้ที่เดิม

คนตามชนบทสมัยโน้นมีความซื่อสัตย์ ห่วงพระศาสนา นับถือและศรัทธาพระมาก กลัวบาปกลัวกรรม จึงไม่คดไม่โกง ไม่ทำร้ายพระ

ตั้งแต่อาตมาดูแลพระอาจารย์มหามังกร  ไม่เคยเห็นซองเงินหายจากย่ามอาจารย์  เห็นเงินทอนติดซองกลับมาทุกครั้ง

เมื่อเสร็จกิจธุระเดินทางกลับ หมดเส้นทางที่รถผ่าน ท่านก็จะลงเดินเท้าเข้ามาในป่าดงพระคเณศ บางวันโยมปั่นจักรยานผ่านมาเห็นเข้า ก็จะให้ท่านซ้อนท้ายจักรยานไปส่ง ถึงที่ดินทรายก็ลงเข็น ถึงที่ดินแข็งก็ขึ้นปั้นมาส่งจนถึงวัดป่าในดงพระคเณศ เรื่องรถมอเตอร์ไซค์  ไม่ต้องพูดถึง ไม่มี อย่างเต็มที่ก็เป็นจักรยานเท่านั้น

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และคณะสงฆ์ ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปี พ.ศ.๒๕๕๙
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และคณะสงฆ์ ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปี พ.ศ.๒๕๕๙

    ส่วนอาตมาอยู่วัด คำนวณเวลาอาจารย์จะกลับมาถึง ก็จะนั่งมองทางคอยรับย่ามรับจีวรท่าน รับย่ามเสร็จ ปูอาสนะให้ท่านนั่ง ถวายน้ำถวายท่า ก็เอาปัจจัยที่เหลือจากซองในย่ามไปเก็บ แล้วก็เอาจีวรที่ชุ่มเหงื่อไปผึ่งให้แห้ง จึงพับเก็บไว้ข้างที่จำวัตรบนกุฏิท่าน

เรื่องนี้ หลวงพ่อที่วัดปากน้ำท่านจะสอนวิธีการอุปัฏฐากมาก่อนแล้วว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง ก่อนที่อาตมาจะมาเป็นสามเณรอุปัฏฐากท่านอาจารย์มหามังกร

นอกจากการฝึกให้มีความเมตตากรุณาออกมาจากข้างในแล้ว ท่านอาจารย์มหามังกรจะสอนให้รู้จักความดีและคนดีว่า คนดีนั้นมี ๓ ระดับ 

           คนดีอย่างสามัญ คือ คนที่ประพฤติถูกต้องตามหน้าที่ของตน ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ลูก ลูกศิษย์ หรือพลเมืองที่รู้จักหน้าที่ คนเช่นนี้ย่อมได้รับความนับถือ

คนดีระดับกลาง คือ คนที่สำรวมระวังอินทรีย์ อยู่ในศีล มีกิริยา วาจา ความประพฤติเรียบร้อย ไม่เสียหาย คนเช่นนี้ย่อมได้ความรัก ความเคารพ

          และ คนดีระดับสูง คือ คนที่ปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสออกจากตนตามหลักพระกรรมฐาน ไม่ว่าจะปฏิบัติพระกรรมฐานตามแบบสมถะหรือวิปัสสนา ก็ตาม คนเช่นนี้ ย่อมได้รับการบูชาสักการะอยู่เสมอ ถึงตัวตายไปแล้ว แม้แต่บริขารเครื่องใช้และอัฐิ  ก็ยังได้รับการบูชา

           แล้วท่านก็ย้ำว่า  “เณรอยากนับถือคนดีแบบไหน อยากเป็นคนดีแบบใด ก็เลือกเอา”

           หากวันไหนอาจารย์อยู่วัด หลังทำวัตรเย็น นั่งกรรมฐานเสร็จ ท่านจะคอยบอกคอยสอนเรื่องเหล่านี้ ซ้ำๆ แม้พูดเรื่องอื่น ก็จะมาจบเรื่องนี้ เหมือนต้องการให้สิ่งเหล่านี้ไปดังก้องอยู่ในหัวของเรา…”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และคณะสงฆ์ ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปี พ.ศ.๒๕๕๙
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และคณะสงฆ์ ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปี พ.ศ.๒๕๕๙

        ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ได้เมตตาอธิบายไว้ในคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” ในตอน ศรัทธา คือกำลังค้ำจุนพระพุทธศาสนาต่อมาอีกว่า  วันนี้เราจึงเห็นว่า แม้พระพุทธศาสนาจะล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน เราได้รับรู้ รับทราบ ข่าวคราวที่เกิดขึ้นในแวดวงพระศาสนา แต่ด้วยศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา  จนเป็นอจลศรัทธา คือ ศรัทธาที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่คลอนแคลนไปตามข่าวที่เกิดขึ้น มีความเพียรพยายามที่จะรักษาพระศาสนา มีสติเกิดปัญญารู้เท่าทันข่าว แม้ข่าวนั้น จะเป็นมงคลตื่นข่าวก็ตาม เป็นข่าวที่เกิดจากการสร้างขึ้นก็ตาม  หรือ ข่าวเกิดจากเจตจำนงที่มีเป้าหมายโดยประการอื่นๆ ก็ตาม  แต่ด้วยอาศัยที่เรามีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยเป็นอจลศรัทธาเสียแล้ว เราชาวพุทธทั้งหลาย ก็ยังคงเชื่อมั่น ให้ความอุปถัมภ์ค้ำจุนพระศาสนา  แล้วนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและคนรอบข้างของเรา   

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และคณะสงฆ์ ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปี พ.ศ.๒๕๕๙
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และคณะสงฆ์ ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปี พ.ศ.๒๕๕๙

      “ศรัทธา ก่อเกิดอุดมการณ์  อุดมการณ์ทำให้มีปณิธานอันยิ่งใหญ่ เราทั้งหลายจงปลูกศรัทธาให้กล้าแกร่ง จุดไฟอุดมการณ์ในการเผยแผ่พระศาสนาให้ลุกโชน แล้วปักหลักปณิธานให้มั่นคง มองไปข้างหน้า ด้วยสายตาอันยาวไกล 

       เพราะปณิธานจะทำให้พระศาสนาของบรรพชนดำรงอยู่สืบต่อไปไม่สิ้นสุดฯ”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ที่วัดปากน้ำ บ้านบุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ที่วัดปากน้ำ บ้านบุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

(ตอนที่ ๓๗)

ดูกายในอิริยาบถใหญ่ เปลี่ยนท่าอย่างไรรู้อย่างนั้น

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

          คราวที่แล้วอธิบายเรื่อง วิธีดูลมหายใจ (อานาปานสติ) โดยทำความรู้จักกับลมหายใจของตนเองตามขั้นตอนต่างๆ อาทิ  รู้ว่าลมหายใจก็อย่างหนึ่งความคิดก็อย่างหนึ่งผู้รู้ความคิดและลมหายใจก็อย่างหนึ่ง

          ครั้งนี้จะอธิบาย “การดูกายในอิริยาบถใหญ่ เปลี่ยนท่าอย่างไรรู้อย่างนั้น”

ดูกายในท่านั่ง: นั่งตรงๆ นั่งเอกเขนก นั่งพิง กึ่งนั่งกึ่งนอน นั่งหย่อนเท้า นั่งเท้าแขน นั่งรถ นั่งเรือ นั่งเครื่องบิน นั่งอย่างไรรู้อย่างนั้น มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในท่านั่ง

เห็นรูปนั่งแต่ไม่มีผู้นั่ง       

          ดูกายในท่านอน: นอนหงาย นอนคว่ำ นอนตะแคงซ้าย นอนตะแคงขวา นอนชันเข่า นอนมือก่ายหน้าผาก นอนพลิกไปท่าไหนรู้ท่านั้น นอนอย่างไรรู้อย่างนั้น

เห็นรูปนอน แต่ไม่มีผู้นอน

           ดูกายในท่าเดิน: เดินไปข้างหน้า เดินเร็ว เดินช้า เดินเล่นๆ กึ่งเดินกึ่งวิ่ง เดินเลี้ยวซ้าย เดินเลี้ยวขวา เดินตุปัดตุเป๋ เดินทอดน่อง เดินกลับไปกลับมา เดินอย่างไรรู้อย่างนั้น ก้าวเท้าไปอย่างไรรู้อย่างนั้น

เห็นรูปเดินแต่ไม่มีผู้เดิน

          ดูกายในท่ายืน: ยืนตรงๆ ยืนโน้มไปข้างหน้า ยืนโน้มไปข้างหลัง ยืนเท้าเอว ยืนโยกไปโยกมา ยืนพิง ยืนเหม่อมอง ยืนอย่างไรรู้อย่างนั้น

เห็นรูปยืนแต่ไม่มีผู้ยืน

          ดูกายในอิริยาบถย่อย: เคลื่อนไหวอย่างไรรู้อย่างนั้น

          ดูการเคลื่อนไหวของกาย: ดูการมอง การแล การเหลียว ดูการกระพริบตา ดูการหลับตา รู้สึกรับรู้ได้ถึงการหันซ้าย หันขวา เอี้ยวซ้าย เอี้ยวขวา การอ้าปาก การยิ้ม การหัวเราะ การกิน การดื่ม การลิ้มรส การเคี้ยว การกลืน การก้มหน้า การขยับแขน การกระดิกนิ้วมือนิ้วเท้า การสวมใส่เสื้อผ้า การถ่มน้ำลาย การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเกา การพลิกฝ่ามือ การคว่ำฝ่ามือ การหงายฝ่ามือ การพูด การคุย การเจรจา การต่อรอง การสั่งงาน การทะเลาะ การโต้เถียง มีการเคลื่อนไหวอย่างไร รู้อย่างนั้น เป็นความรู้สึกตัวไปตามความเคลื่อนไหวของอวัยวะทุกส่วน

เห็นการเคลื่อนไหวแต่ไม่มีผู้เคลื่อนไหว

          คำว่า “เห็น” ไม่ได้หมายความว่าตาเห็น คำว่า “ดู” ไม่ได้หมายความว่า “ตาดู” แต่หมายความว่า เห็นด้วยความรู้สึก ดูด้วยความรู้สึก รู้สึกรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของลมหายใจ รู้สึกรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนท่านั่ง รู้สึกรับรู้ได้ถึงรูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน รูปนอน รู้สึกรับรู้ได้ถึงการเคลื่อนไหวของอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รู้สึกรับรู้ได้ถึงความคิดในหัว

คำว่าเห็นในการปฏิบัติสมาธิ จึงไม่ได้หมายถึงตาเห็น แต่หมายถึงเห็นด้วยตาภายใน คือมีสติระลึกรู้ ดวงตาเป็น ตาของกายเอาไว้มองดู แต่สติเป็นตาของใจ เอาไว้ให้ใจระลึกรู้

ลมหายใจมีอยู่เพียงเพื่อให้สติระลึกรู้ ไม่ใช่เพื่อให้ตัณหาและทิฐิเข้าไปอิงอาศัย กายมีอยู่เพียงเพื่อให้สติระลึกรู้ ไม่ใช่เพื่อให้ตัณหาและทิฐิเข้าไปอิงอาศัย

ในที่สุด จากการเฝ้าสังเกตอย่างต่อเนื่องก็จะเห็นร่างกายชัดขึ้นจากการเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวของร่างกาย และเห็นกายสังขารคือลมหายใจเข้าออกที่คอยหล่อเลี้ยงร่างกายเอาไว้ ร่างกายสติก็เห็นชัด กายสังขารคือลมหายใจที่หล่อเลี้ยงร่างกายเอาไว้ สติก็เห็นชัด เห็นชัดขึ้นทั้งร่างกายและสิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกาย

การเฝ้าสังเกตทั้งร่างกายและทั้งกายสังขาร ก็เป็นภาวนาขึ้นมาเพราะการสังเกตดูบ่อยๆ ก็เห็นชัดขึ้นมาเรื่อยๆ จนจิตนิ่งรู้อยู่กับสิ่งอันเดียวนี้ ไม่รู้อย่างอื่นไม่แตกความคิดออกไปเก็บเอาสิ่งอื่นมารู้ ก็มีอารมณ์อันเดียว ขบคิดอยู่กับร่างกายและกายสังขาร คือ ลมหายใจ

โปรดติดตาม บันทึกธรรมสัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here