จงรักษาเกียรติภูมินี้ไว้

เป็นความภาคภูมิใจของชีวิต…

โรงเรียนวัดสระเกศ มีเกียรติประวัติ

เป็นโรงเรียนมัธยมแรกของประเทศ

จากเกียรติประวัติ กลายเป็นเกียรติภูมิ

วันนี้ เกียรติภูมิของโรงเรียน

วางอยู่บนไหล่ของนักเรียนทุกคน

นับจากวันที่ก้าวมาสู่ความเป็นศิษย์สำนักภูเขาทอง

ขอให้พวกเราทุกคน เชื่อมั่น และศรัทธา

จงรักษาเกียรติภูมินี้ไว้ เป็นความภาคภูมิใจของชีวิต

พระวิจิตรธรรมาภรณ์

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ *

*เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น มอบหมายให้พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีไหว้ครู มอบทุนการศึกษาและให้โอวาท นักเรียนโรงเรียนวัดสระเกศ

กราบขอบพระคุณที่มา : เว็บไซต์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร www.watsrakesa.com

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๖๗ “ครูกับศิษย์” วิถีแห่งธรรม

ตามรอยบาทพระบรมศาสดา

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ผู้เขียนเปิดบันทึกที่เคยสัมภาษณ์ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น เมื่อปีพ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งท่านเมตตาให้สัมภาษณ์เพื่อเขียนมโนปณิธานแห่งชีวิตไว้ในคอลัมน์ “ธรรมโอสถ” นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และคอลัมน์ มโนปณิธาน ในนสพ.คมชัดลึก ก่อนจะปิดตัวลงไปแล้วทั้งสองฉบับ

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ตอนที่ ๑๑ ครูบาอาจารย์ คือรุ่งอรุณทางความคิด  โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๐)
จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ตอนที่ ๑๑ ครูบาอาจารย์ คือรุ่งอรุณทางความคิด โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๐)

หลังจากที่ท่านเมตตาเขียนบทความ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ให้กับนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ๒๔ ตอนเป็นธรรมทาน (ก่อนที่นิตยสารจะปิดตัวลงในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐ ) เพื่ออธิบายความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปบนสวรรค์เพื่อโปรดพระพุทธมารดาอย่างเป็นลำดับด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

"ความเป็นมาของพระอภิธรรม" โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๒๗๖ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๒๗๖ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙

ความเมตตาของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในการให้เขียนมโนปณิธานเผยแผ่ในสื่อนั้น ท่านมิได้ให้เขียนเพื่อเชิดชูท่านแต่อย่างใด แต่ด้วยความศรัทธาในวัตรปฏิบัติของท่านตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และครูบาอาจารย์ของท่านอย่างงดงามมาตลอดชีวิตของท่าน จึงขอท่านเขียนเพื่อเป็นพลังใจให้กับผู้อ่านที่กำลังแสวงหาหนทางสู่การพ้นทุกข์เช่นกัน  ท่านจึงเมตตาให้เขียนเพื่อนำสาระแห่งธรรมจากที่ท่านได้เรียนรู้จากพระพุทธเจ้า จากครูบาอาจารย์มาเผยแผ่ให้เห็นหนทางการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ในสังสารวัฏทั้งส่วนตนและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไปด้วย

(จาก คอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๗  ความรักอันยิ่งใหญ่ในใจเรา โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)
(จาก คอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๗ ความรักอันยิ่งใหญ่ในใจเรา โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

และในความเป็นพระเถระท่านจึงมีหน้าที่มากมายในการสร้างพระเณรสืบทอดหน่อเนื้อพุทธบุตร ผู้เขียนจึงขอถ่ายทอดการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านไปพร้อมๆ กับประวัติของท่านเพื่อให้เห็นรากฐานอันมั่นคงในบวรพระพุทธศาสนาที่ประดิษฐานในประเทศไทยมากว่า ๗๐๐ ปี โดยมีพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก และทรงเป็นพุทธมามกะทุกพระองค์ ซึ่งนำความสงบสันติร่มเย็นมาสู่ประชาชนชาวไทยตลอดกาลนาน

พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

 ดังที่ท่านเล่าถึงหลวงพ่อของชุมชน หลวงพ่อนักพัฒนา พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของท่านตั้งแต่เริ่มบรรพชาเป็นสามเณรในวัยเพียง ๑๒-๑๓ ปี

โดยเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ครบรอบชาตกาล ๗๐ ปี พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) พอดี (พ.ศ.๒๔๙๓-๒๕๕๐) ผู้เขียนจึงขอน้อมนำความเป็นพระนักพัฒนาที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้น เมตตาเล่าให้ฟัง  

“หลวงพ่อของอาตมา หลวงพ่อบุญจันทร์ จตฺตสลฺโล ท่านเป็นพระบ้านๆ เป็นพระนักพัฒนา อย่างเรื่องต้นมะพร้าว ในทางอีสานปลูกมะพร้าวยาก เพราะแห้งแล้งมาก ท่านก็ทดลองปลูกโดยการขุดหลุมลงไปแล้วก็เอาไหตั้งไว้ในดิน เอาดินมาใส่ไห แล้วก็เอามะพร้าวที่เป็นลูกที่มีหน่อและมีรากหย่อนลงไปในนั้น จากนั้นก็ใส่น้ำลงไป คือให้มะพร้าวได้น้ำจากโอ่ง เมื่อก่อนในวัดมะพร้าวเต็มไปหมด แล้วก็ขยายออกไปให้ชาวบ้าน สอนให้ชาวบ้านปลูกอย่างนี้บ้าง และพาชาวบ้านขุดบ่อ โดยการพาชาวบ้านเผาอิฐเพื่อที่จะก่อเป็นบ่อลงไปอยู่ข้างล่าง จนบางบ่อขณะที่ก่อก็ถล่มลงไปทับท่านเกือบตาย ชาวบ้านก็ช่วยกันดึงท่านขึ้นมา นี่คือชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าท่านทำขนาดนี้”

พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

“ต่อมาชาวบ้านทุกข์ยากลำบากมาก ท่านก็ทำยุ้งฉางกลางขึ้นมา แล้วก็เอาข้าวไปไว้ในยุ้งฉางกลาง เหมือนเป็นธนาคารข้าว พอถึงนอกฤดูทำนา ใครไม่มีข้าวก็มายืมข้าวจากยุ้งฉางไปหุงหากิน เพราะชาวบ้านเวลาทำนาไปปลายฤดูข้าวจะหมด พอข้าวหมด ยังไม่ถึงฤดูที่จะเก็บเกี่ยว ข้าวก็หมดแล้ว ก็ต้องมายืมจากยุ้งฉางกลางนี้ไป บางคนก็ไม่มีข้าวปลูก ท่านก็จะคัดข้าวที่เป็นข้าวปลูกไว้ ใครไม่มีก็มายืม

“ต่อมาก็พัฒนาเป็นโรงเรียนโรงนา แล้วก็ไปกันที่ให้เป็นแปลงสำหรับนากลาง เมื่อชาวบ้านทำนาในที่ของตนเสร็จแล้ว ก็มาทำนากลาง เพื่อเก็บไว้เป็นส่วนกลาง ท่านคิดถึงขนาดนั้น นี่คือหลวงพ่อ บุญจันทร์ ที่อาตมาอยู่กับท่าน

ความที่ท่านเป็นพระนักพัฒนา อยู่กับชาวบ้าน ท่านเป็นพระของชาวบ้าน ใครๆ ก็เรียกท่านหลวงพ่อ หลวงตา ตอนถนนขาด สะพานขาด  ตอนที่อาตมาเป็นเณรตัวเล็กๆ ก็ไปช่วยกันซ่อมสะพาน เวลาน้ำไหลเชี่ยวกรากแรง ก็ต้องกระโจนลงไปทำสะพาน ทำถนนหนทาง บางทีเกิดพายุ ก็ต้องไปช่วยกันซ่อมบ้าน เพราะบ้านในชนบทไม่ได้แข็งแรง ถ้าลมมาแรงๆ หลังคาก็ไปแล้ว หลวงพ่อก็พาพระเณรไปช่วยซ่อมหลังคา ไปช่วยชาวบ้าน ไปปีนหลังคาช่วยชาวบ้านซ่อมหลังคา

สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม รูปแรกจากซ้าย
สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม รูปแรกจากซ้าย

ความผูกพันของวัดและชุมชนจึงเกิดขึ้นอย่างแน่นแฟ้น เป็นความผูกพันแบบเหนียวแน่น เวลาทำกิจของสงฆ์แล้วก็ไปช่วยชาวบ้าน

เหมือนกับที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ได้เพียรพยายามสร้างพระเณรให้กลับไปช่วยเหลือชุมชนที่บ้านเกิดมาโดยตลอด

ในพระพุทธศาสนาก็มียุคเปลี่ยนผ่าน ในปัจจุบัน ชีวิตที่ท่านได้เล่าไม่มีแล้วในวิถีสังคมพระพุทธศาสนา สังคมก็เปลี่ยนผ่านไปอีกมิติหนึ่ง แต่เป็นอีกมิติที่จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจในบริบทของความหลากหลายในมิติทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น กับอาจารย์โรงเรียนวัดสระเกศ ปีพ.ศ.๒๕๕๙ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์  พระวิจิตรธรรมาภรณ์
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น กับอาจารย์โรงเรียนวัดสระเกศ ปีพ.ศ.๒๕๕๙ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระวิจิตรธรรมาภรณ์

วันที่อาตมาเดินเข้าไปในโรงเรียนวัดสระเกศ อาตมาก็ไปบอกว่า ทำอย่างไรที่จะให้เด็กได้รู้ ณ วันที่เด็กเขาไม่รู้ว่าบ้านเขาเป็นอะไร   บ้านเขามีอะไร เด็กที่เดินมาเรียนในโรงเรียนวัดสระเกศ โดยที่เขาไม่รู้ว่าบ้านเขาเป็นอะไร บ้านเขามีอะไร บ้านเขาเคยเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ความภูมิใจในบ้านตัวเองก็ไม่มี  

“อาตมาก็ไปแนะนำว่า ช่วยยกร่างหลักสูตร ประวัติของโรงเรียนวัดสระเกศ เริ่มจากว่า อาคารหลังแรกเป็นอย่างไร ให้ศึกษาจากนาฬิกาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประทานให้ไว้ เมื่อแรกที่การศึกษาชาติ พระองค์ทรงมอบนาฬิกานี้ให้กับโรงเรียน หนึ่งในนั้นก็คือ โรงเรียนวัดสระเกศ นาฬิกาเรือนนี้ก็ยังอยู่ นาฬิกาเรือนนี้สั่งมาจากเยอรมัน

เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น มอบหมายให้พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีไหว้ครู มอบทุนการศึกษาและให้โอวาท นักเรียนโรงเรียนวัดสระเกศ
เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น มอบหมายให้พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีไหว้ครู มอบทุนการศึกษาและให้โอวาท นักเรียนโรงเรียนวัดสระเกศ

“ทำอย่างไรจึงจะให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าว่า เขาได้อยู่กับสิ่งที่มีคุณค่า โรงเรียนวัดสระเกศ เป็นโรงเรียนที่เกิดจากการปฏิวัติการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

“ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมอบให้ตั้งอยู่ที่ศาลาวัด เพราะได้นำศาลาวัดเป็นโรงเรียน เราก็ทำประวัติความเป็นมา ให้เห็นภาพเก่าของศาลาวัด แล้วนำมาใส่พ.ศ. ต่อมาเป็นอาคารเรียน และต่อมาก็เป็นอาคารยุคสมัยใหม่ และอาคารยุคปัจจุบัน ก็จะเห็นเป็นช่วงเวลาพัฒนาการของโรงเรียน  เด็กก็จะมีความภูมิใจ มีเกียรติ

ที่อาตมาคิดก็คือ เมื่อไรที่เราสร้างความภาคภูมิใจให้กับท้องถิ่นเราเองในแต่ละที่ ก็เป็นการทำรากให้แข็งแรง รากนี้ก็จะเป็นฐานให้กับพระพุทธศาสนามีความมั่นคง”

เมื่อได้ฟังท่านอาจารย์เจ้าคุณเล่าแล้ว ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ผู้เขียนก็กราบเรียนท่านว่า ก็จะให้คุณแม่เล่าความเป็นมาของโรงเรียนที่คุณตากับคุณยายสร้างขึ้นให้ฟังอย่างนี้บ้าง แล้วก็จะบันทึกไว้ จนป่านนี้ คุณแม่จากไปสองปีกว่าแล้ว ก็ยังไม่ได้บันทึกเลย แต่แม้ว่าไม่ได้บันทึกเรื่องราวของตนเอง ประวัติของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้น กับลมหายใจของพระพุทธองค์ที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอย่างมั่นคงไม่คลอนแคลนมาถึงท่านและศิษย์ตถาคตทั่วโลก ก็สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างเงียบๆ ในทุกสถานการณ์แห่งชีวิต พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรขัดเกลากิเลสในตนจนผู้คนบนโลกเห็นความอนิจจัง ทุกขังและอนัตตาในจิตมาตลอด ๒๖๐๐ กว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม จนสามารถนำมนุษย์รอดพ้นมาได้ด้วยสันติธรรม มาจนถึงทุกวันนี้

เพราะเรามีพระสงฆ์ดังเช่นท่านอาจารย์เจ้าคุณและครูบาอาจารย์ทุกท่านทั่วโลกที่อุทิศชีวิตเพื่อธรรมเพื่อพระพุทธศาสนา ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชามาทุกยุคทุกสมัย ยอ้นกลับไปถึงสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์และพระอริยสงฆ์สาวกทุกองค์ไม่เคยต้องการสิ่งใดตอบแทน นอกจากช่วยให้ผู้คนมีธรรมเห็นธรรมในตนก็จะไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น เห็นทุกคนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ในสังสารวัฏทั้งสิ้น

ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ในสังสารวัฏนี้ไม่มีใครไม่เคยเป็นพ่อแม่พี่น้องกับเราเลยสักคนเดียว ดังนั้น ถ้าเราทำร้ายใครก็เท่ากับทำร้ายตัวเรา ทำร้ายครอบครัวของเรานั่นเอง การปฏิบัติธรรมก็เป็นการสืบทอดลมหายใจพระพุทธองค์ในการขัดเกลากิเลสในตนเองก็เป็นการปิดทองหลังพระและเป็นช่วยให้ผู้อื่นและสังคมพ้นทุกข์ไปพร้อมๆ กัน

ผู้เขียน เขียนจากใจที่ประสบจากความทุกข์แสนสาหัสในชีวิตของตนเองไม่เคยต้องการสิ่งใด ขอความเป็นธรรมให้ท่านอาจารย์เจ้าคุณและพระเถระพระอาจารย์ทุกท่านก็พอ และเขียนจากการเรียนรู้ชีวิตของท่านอาจารย์เจ้าคุณและครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ประสบกับความทุกข์แสนสาหัสในชีวิต แต่ทุกท่านก็ยังมีจิตเมตตากรุณาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตลอดเวลาโดยไม่เคยบ่นถึงความลำบากของท่านเลย แม้ผู้เขียนไม่ได้กราบท่านโดยตรง ก็ขอน้อมเศียรเกล้ากราบนมัสการท่านอาจารย์เจ้าคุณตรงนี้ทุกครั้งที่เขียนถึงธรรมะที่ปรากฏจากจิตท่านที่บันทึกไว้ในความทรงจำมาโดยตลอดและศิษย์ก็น้อมนำมาปฏิบัติทุกวัน ประดุจว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๖๗ “ครูกับศิษย์” วิถีแห่งธรรมตามรอยบาทพระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ขอขอบคุณ ภาพจิตกรรมฝาผนัง ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพจิตกรรมฝาผนัง ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๓๒

โฉมหน้าของตัณหา (จบ)

“รู้กายรู้ใจลงไปตรงๆ ตามความเป็นจริง “

พอเริ่มรู้ทันความคิด อวิชชา คือความไม่รู้ก็เท่ากับจางหายไปตามลำดับ และความรู้คือวิชชา ปัญญา พุทโธ หรือผู้รู้ ก็เติบโตขึ้นมาแทนที่ เหมือนพอจุดคบไฟ แสงไฟก็เริ่มขับไล่ความมืดให้ถอยห่างออกไป แสงสว่างมีมากเท่าไหร่ ความมืดก็ถอยห่างออกไปเท่านั้น

            การปล่อยให้จิตได้กระทบอารมณ์ จึงเป็นการฝึกให้วิชชาได้รับการพัฒนา ไม่ปล่อยให้จิตจมนิ่งแช่อยู่กับความสงบอย่างเดียว พอสงบแล้วก็ปล่อยให้จิตออกมากระทบอารมณ์แล้วก็ดูความเปลี่ยนแปลง แล้วก็กลับเข้าไปอยู่กับความสงบอีกแล้วก็ปล่อยให้จิตออกมากระทบอารมณ์ ฝึกทำอย่างนี้สลับกันไปมา เพราะถ้านิ่งอยู่เฉยๆ ในความสงบจะติดสบาย พอติดสบายจิตก็ไม่อยากออกไปทำงานอย่างอื่น ไปอยากออไปพบปะผู้คน ไม่อยากทำงานทำการอะไร

            ในทางปฏิบัติครูบาอาจารย์ท่านก็สอนว่า จิตไม่อยากออกไปทำงานวิปัสสนา อยากแช่นิ่งกับความสงบ อยากแช่นิ่งกับความว่าง อยากอยู่กับความไม่มีอะไร

จิตกระทบอะไรจะเป็นชอบใจ ไม่ชอบ ก็ภาวนาให้รู้อารมณ์นั้น

            การฝึกจิตให้มีสมาธิตั้งมั่นเป็นสมถะ ก็เป็นการทำจิตให้มีฐานที่มั่น พอตั้งฐานที่มั่นได้แล้ว ก็ปล่อยให้จิตได้ออกไปรับอารมณ์ ออกไปทำงานวิปัสสนา ก็เหมือนทหารพอตั้งฐานที่มั่นได้แล้ว ก็ออกไปเดินลาดตระเวนหาข่าว ไม่ใช่นั่งคลุกอยู่ในฐานอย่างเดียวอยู่ในฐานอย่างเดียวไม่รู้ว่ารอบฐานที่มั่นมีอะไรบ้าง

            พุทโธอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงการเป็นผู้รู้อย่างนี้ ไม่ได้อยู่ที่ท่องพุทโธๆ ไปเรื่อย ความหมายที่แท้จริงของพุทโธอยู่ที่รู้กายรู้ใจลงไปตรงๆ ตามความเป็นจริง ท่องพุทโธก็ดี แต่ถ้าให้ดีจนครบสมบูรณ์มากขึ้นไปอีก ท่องพุทโธแล้ว ก็ต้องให้ผู้รู้เกิดขึ้นมาด้วย

ในที่สุด จากสงบเพราะที่มีอารมณ์เดียวอยู่กับลมหายใจอยู่กับความว่าง ก็จะพัฒนามาเป็นสงบเพราะปัญญา สงบเพราะลมหายใจจะเรียกว่า สมถะก็ได้ สงบเพราะปัญญาจะเรียกว่าวิปัสสนาก็ได้ หรือจะเรียกว่าภาวนาก็ได้ เป็นการทำให้ความสงบและปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่าไปสงสัย อย่าไปแยกแยะ อย่าไปใส่ใจว่าจะเป็นอะไร จะเป็นอะไรก็เป็น ขอให้ทำตามนี้ไปเรื่อย ก็จะเป็นเองรู้เอง และหมดความสงสัยไปเอง จะไม่มีคำถาม ไม่มีความสงสัยผุดขึ้นมาในหัวว่า อันนี้เป็นสมถะ อันนี้เป็นวิปัสสนา

ใครจะว่าสมถะดีก็ดี ใครจะว่าวิปัสสนาดี ก็ดี ใครจะว่าปฏิบัติสมถะก่อนวิปัสสนาดี ก็ดี ดีไปหมดทุกอย่าง เพราะหมดความสงสัยแล้ว ก็เป็นแต่เพียงผู้รู้คอยเฝ้าสังเกตดูกิริยาของจิตเท่านั้น

บางทีก็ว่าฝึกแนววิปัสสนาเพื่อดูสติก่อน จึงค่อยฝึกแนวสมถะ บางทีก็ว่าฝึกแนวสมถะให้จิตเป็นสมาธิก่อน จึงค่อยฝึกแนววิปัสสนา ก็เป็นเรื่องต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเห็น เป็นการการใส่อารมณ์ความคิดเห็นเข้าไป จึงมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป บางทีก็เลยเถิดถึงกับทะเลาะกันจนกลายไปความแตกแยก

ที่จริงก็ฝึกไปพร้อมๆกันทั้งสองอย่างนั่นแหละ เช่น กำหนดลมหายใจจนจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจ ลมหายใจเป็นจิต จิตเป็นลมหายใจคลุกเคล้ากันเข้า จิตจดจ่อแนบแน่นอยู่อย่างนี้ก็เป็นสมถะ

มื่อจิตพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ รู้ว่า ลมหายใจมีเกิดมีดับ ลมหายใจไม่เที่ยง ก็เป็นวิปัสสนา เพราะใช้ปัญญาพิจารณาลมหายใจ

เห็นอย่างสมถะเหมือนพลแม่นปืน เพ่งจับจ้องเล็งไปที่เป้าหมายเป็นการมองแบบตรงๆ ไม่ให้คลาดไปจากสายตา ส่วนเห็นแบบวิปัสสนา เหมือนการมองแบบเวรยามรักษาการณ์ มองแบบกว้างๆให้เห็นถ้วนทั่ว มองแบบเฝ้าระวัง มีความตื่นตัวรู้รอบอยู่ตลอด เป็นการมองแบบตรวจตรา ที่จริงก็คนๆเดียวกัน  บางคราวก็เพ่งจับจ้อง บางคราวก็มองแบบตรวจตาโดยรวม

สงบเพราะเป็นสมถะจิตมีอารมณ์เดียวอยู่กับลมหายใจ พอออกจากลมหายใจ ก็ไม่สงบ จะถูกรบกวนจากการรับรู้อารมณ์ทางตา  หู จมูก ลิ้น  กาย ใจ อยู่ตลอด เป็นความสงบเพียงชั่วคราว ขณะมีอารมณ์เดียวอยู่กับลมหายใจ แต่สงบเพาะปัญญา จะสงบถาวร เพราะกระทบอารมณ์ดีก็รู้ กระทบอารมณ์ร้ายก็รู้ อารมณ์ไม่มีขึ้น ไม่มีลง ไม่มีสูง ไม่มีต่ำ เป็นอารมณ์กลางๆ ไม่ว่าจะรับอารมณ์ชนิดใดเข้ามา จิตที่กระทบกับอารมณ์อยู่บ่อยๆ ด้วยความตั้งมั่น ก็จะเกิดการเรียนรู้ อารมณ์แต่ละชนิดที่กระทบ ก็รู้อยู่อย่างนั้น

บางครั้ง อาจกระทบอารมณ์แรงๆ เช่นอยู่เฉยๆ ก็ถูกด่าแรงๆ ถูกตวาดแรงๆ ก็ให้จิตใด้กระทบบ้าง ไม่งั้นจะไม่รู้อารมณ์แรงๆ แบบนี้  ก็จะไม่ทัน เมื่อไม่ทันเพราะจิตไม่เคยรู้มาก่อน ก็จะคิดปรุงแต่งไปแรงแบบคนมีอารมณ์รุนแรง ผลสะเทือนที่เกิดจากการกระทบกับอารมณ์ แรงๆแบบนี้หากรู้ไม่ทัน อารมณ์นั้นก็จะตั้งอยู่นาน จิตจะดึงกลับขึ้นมาคิดปรุงแต่งแรงวนซ้ำๆ กระทบอารมณ์ที่ชอบแรงๆ ก็เช่นกันก็ต้องรู้ไว้ก่อน

ได้คนที่ชอบ ได้คำพูดที่ชอบ ได้สิ่งของที่ชอบ พอชอบก็คิดปรุงแต่งไปมาก ก็ให้จิตได้กระทบบ้าง

กระทบกับอารมณ์แรงๆ ทั้งชอบและไม่ชอบแล้วก็ดูกลับเข้ามาที่ใจ ดูใจว่ากระเพื่อมแรงมากน้อยแค่ไหน ถึงระดับที่หัวใจเต้น หรือแค่ปรุงแต่งไปด้วยความพอใจ หรือขัดเคืองใจ

เมื่อดูให้ลึกลงไปขบคิดด้วยปัญญา ก็จะพบว่า แม้อารมณ์ที่ชอบใจคิดปรุงแต่งเป็นสุข แท้จริงแล้วก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะอยากให้เป็นสุขอยู่อย่างนั้นจึงเป็นทุกข์ กลัวว่าสุขจะหายไป เป็นทุกข์ว่าสุขจะอยู่อย่างนี้ต่อไปได้อย่างไร เป็นทุกข์ว่าใครจะมาช่วยทำให้สุขดำรงอยู่ต่อไป เป็นทุกข์กลัวว่าจะมีใครมาทำให้สุขเปลี่ยนไปหรือไม่ ก็ดิ้นรนแสวงหาวิธีที่จะให้สุขดำรงอยู่โดยประการต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ดั่งใจ แล้วสุขก็เปลี่ยนไปจนได้ ก็ทุรนทุราย พร่ำเพ้อรำพึงรำพัน ตีอกชกตัวเสียดายอยากไขว่คว้าคืนกลับมา ก็ขัดเคืองเคียดแค้นชิงชังคนที่เป็นต้นเหตุทำให้สุขแปรไป

แม้เมื่อรับอารมณ์แล้ว ปรุงแต่งไปทางทุกข์ ไม่พอใจก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะคอยคิดว่าทำอย่างไรความทุกข์จึงจะหายไป เป็นทุกข์เพราะไม่อยากเป็นทุกข์อย่างนี้ เป็นทุกข์เพราะคิดว่าจะมีใครมาช่วยให้ทุกข์นี้หายไป เป็นทุกข์เพราะจะมีใครมาช่วยให้เป็นสุขได้อย่างไร ก็พยายามแสวงหาที่พึ่งโดยประการต่างๆ

ที่จะให้เป็นสุขอยู่ตลอดไปตามใจอยากนั้น ก็ไม่ได้ เพราะสุขก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวสุขก็จะเปลี่ยน เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่เปลี่ยน เพราะปัจจัยยังไม่พร้อม เมื่อปัจจัยพร้อม มีอารมณ์อื่นเข้ามาตัด ก็เปลี่ยนไปเป็นทุกข์อีกแล้ว

เมื่อเห็นได้อย่างนี้ โฉมหน้าตัณหาก็ถูกเปิดเผยออกมา เราก็มองเห็นชัดตามที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เราดูว่า

ยายัง ตัณหา โปโนพภวิกา นันทิราคะสะหะคะตา ตัตระ ตัตราภินันทินีฯ เสยยะถีทังฯ กามะตัณหา ภะวะตัณหา วิภะวะตัณหาฯ ตัณหานี้ใด ก่อให้เกิดภพอีก มีความกำหนัดยินดีเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ย้อมไว้  คือ ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น และความไม่อยากมีไม่อยากเป็น”

พระองค์ชี้ให้เราดูตรงๆแล้วว่า ตัวตัณหานี่แหละเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ อยากสิ่งใดก็ยึดสิ่งนั้น ยึดสิ่งใดภพชาติ ก็เกิดที่สิ่งนั้น ภพชาติเกิดที่สิ่งใด ความทุกข์ ความโศกเศร้า ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความร่ำไรรำพันก็เกิดขึ้นที่สิ่งนั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ชี้ให้ดูลงไปตรงๆอย่างนี้แล้ว เวลาภาวนาเราก็ดูลงไปตรงๆ ตามที่พระพุทธเจ้าชี้อย่างนี้แหละ อย่าไปดูที่อื่น ดูทุกข์ที่มากระทบใจ สาวลงไปดูตัณหาที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ดูแล้วก็ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของทุกข์ทั้งมวล ภาวนาให้ความรู้อย่างนี้เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น มอบหมายให้พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีไหว้ครู มอบทุนการศึกษาและให้โอวาท นักเรียนโรงเรียนวัดสระเกศ
เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น มอบหมายให้พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีไหว้ครู มอบทุนการศึกษาและให้โอวาท นักเรียนโรงเรียนวัดสระเกศ

(โปรดติดตาม บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนตอนไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here