พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเลขานุการ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเลขานุการ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ในขณะนั้น

ผู้เขียนเปิดบันทึกความทรงจำ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งที่ท่านเมตตาเขียนบทความให้กับ นสพ.คมชัดลึก ในคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” จึงขอเล่าเรื่องหนังสือ “สุวรรณบรรพต : สยามพุทธศิลป์” ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้นเป็นผู้เขียน ตอนหนึ่งประกอบกับบทความของท่าน อันจะทำให้เห็นภาพรวมของต้นรากของเรา โดยมีพระพุทธศาสนาคือขวัญแห่งแผ่นดิน เป็นมรดกจากบรรพชนที่หลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ทำให้เราเข้าใจว่า ความสงบสันติของประชาชนทุกยุคสมัยนั้น มาจากความเสียสละของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ทรงเป็นเอกอักครศาสนูปถัมภกมาจนถึงทุกวันนี้

ดังที่ท่านเขียนไว้ในคำนำว่า

“ศิลปะ” คือ เครื่องมือสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แม้ว่าข้อเท็จจริง ศิลปะจะมีหน้าที่รับใช้สุนทรียะทางจิตใจของปัจเจกชน ซึ่งก็คือ ศิลปินต้องการสร้างความงาม จึงได้สร้างศิลปะในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมา แต่คุณค่าที่ตามมา คือ ประชาชนที่เสพศิลปะได้เข้าถึงคุณค่าของศาสนา และดำเนินชีวิตตามหลักแห่งความดีที่ศิลปินเสนอผ่านศิลปะ

“ศิลปะ” จึงได้ชื่อว่า “เป็นมงคลสูงสุด” อย่างหนึ่ง

ในโอกาสครบครอบ ๕ ปี สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ และโอกาสอันสำคัญยิ่งที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีอายุวัฒนมงคลครบ ๘๕ ปี สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ จึงได้จัดงานแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแผ่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม ตลอดระยะเวลา ๕ ปี ที่ผ่านมา ในงานดังกล่าว ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินมีชื่อเสียงของเมืองไทย ได้ร่วมส่งผลงานภาพเขียน เพื่อจัดแสดงนิทรรศการในชื่อ “สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์”

พ.ศ.๒๕๕๕ อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ได้วาดภาพถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ในนิทรรศการสุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ ในโอกาสครบ ๘๕ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์
พ.ศ.๒๕๕๕ อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ได้วาดภาพถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ในนิทรรศการสุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ ในโอกาสครบ ๘๕ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์

โดยมาก เราคุ้นเคยกับการแสดงงานตามหอศิลป์ หรือนิทรรศการภาพเขียนตามที่ต่างๆ ซึ่งแต่เดิมจิตกรรมฝาผนังในวัดก็คือ นิทรรศการถาวรนั่นเอง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป สังคมก็หมุนตามโลก การนำเสนอจิตกรรมฝาผนังก็อนุวัตรตามวิธีการของโลก จึงมีการนำศิลปะออกจากวัดไปอยู่ตามหอศิลป์ ทำให้จิตรกรรมในวัดดูซบเซาลงไป กาารจัดนิทรรศการภาพเขียนในวัด ตามวิธีการแสดงศิลปะยุคปัจจุบันเป็นการนำศิลปะกลับคืนสู่วัด กลับคืนสู่จุดกำเนิด ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาศิลปะที่เกิดขึ้นในวัด ซึ่งก็เป็นที่มาของการจัดนิทรรศการ เป็นกาารย้อนกลับไปสู่อดีต ด้วยการใช้วิธีปัจจุบัน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเลขานุการ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

“หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา จึงเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของประชาชน เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้สมดุลกับผู้คน ก่อเกิดพิธีกรรมต่างๆ กำหนดแบบแผน การมองโลกให้ผู้คนระลึกถึงหลักธรรมทางศาสนา ความดีงาม และปฏิบัติตนให้สอดคล้องไปกับหลักธรรมคำสั่งสอน เพื่อให้สังคมสงบสุขเรียบร้อย รวมไปถึงวัดยังเป็นแหล่งให้การศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาการต่างๆ ตั้งแต่โบราณกาล …”

ผู้เขียนอ่านตัวหนังสือของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เขียนไว้ในหนังสือ “สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์” แล้วก็ระลึกถึงท่านตลอดเวลา ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด และครูบาอาจารย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้อุทิศชีวิตเสียสละเพื่อพระพุทธศาสนามาโดยตลอด เพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ต่อไป เพื่อช่วยคนทุกข์ให้พ้นทุกข์ โดยที่เราไม่เคยจะถามถึงประวัติแต่ละท่านแม้แต่น้อย ว่าท่านลำบากเพียงใดในการประคองบาตรหนึ่งใบ เดินเท้าเปล่าจาริกไป เพื่อโปรดญาติโยมให้ได้เรียนรู้เรื่องจาคะลดละตัวตนตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนกว่าจะสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

วันนี้ สิ่งที่หลงเหลือจากบรรพชน แม้เป็นเพียงซากปรักหักพังจากพระพุทธรูป พระเจดีย์ แต่ก็ยังคงมีร่องรอยให้เราไต่ถามว่า เหตุใด บรรพชนจึงมีความมั่นคงในการสร้างตัวแทนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราได้เรียนรู้กัน

ความงดงามประเทืองจิตใจก่อเกิดปัญญาแห่งพุทธศิลป์ กำลังเป็นสิ่งที่เราหลงลืมไปจนทำให้คนสมัยนี้ ไม่มีเวลาให้กันและกัน ไม่มีเวลาแม้แต่จะชื่นชมความงามของศิลปะไทยแม้เพียงเวลาน้อยนิด …เรากำลังจะทิ้งรากอันดีงามของตนเองไปหรือเปล่า…จึงของน้อมนำบทความของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดที่เขียนไว้มาแบ่งปันในวันที่จิตใจผู้คนสับสนและเคว้งคว้างจนบางครั้งแทบหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ได้

ประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะเรียนรู้…

“มรดกอันล้ำค่าจากบรรพชน” จากคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐

        เมื่อสัปดาห์ก่อน สนทนากับนักศึกษา ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนามนุษย์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บนพื้นฐานของสถาบันชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์

        เนื้อหาที่เล่าให้นักศึกษาฟัง และชวนให้พวกเขาคิดตามไปด้วย เป็นเรื่องเกี่ยวกับท่าทีที่ควรมีต่อพระพุทธศาสนา เมื่อเข้ามาวัด ที่ตอนนี้เรียกได้ว่า อยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ ต้นโพธิ์ต้นใหม่ จะเติบโตแข็งแรงหรือไม่เพียงใด ก็เป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะสานต่อไป ในวันนี้และวันข้างหน้า

        เมื่อเข้ามาวัดก็ให้เรียนรู้ว่า สิ่งก่อสร้างทั้งหมดที่เห็น แม้จะเสมอเป็นเพียงวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ แต่ก็เป็นวัตถุที่แฝงไว้ด้วยจิตวิญญาณประกอบศรัทธาอันบริสุทธิ์ของผู้สร้างซ่อนอยู่ทุกอณู

        ท่านเหล่านั้นไม่มีความลังเล เคลือบแคลง สงสัยในพระศาสนา ลงมือสร้างด้วยศรัทธาที่หนักแน่น มั่นคง ทั้งหมด คือ มรดกทางวัฒนธรรมที่เกิดจากจิตสาธารณะอันประเสริฐของบรรพชน

        วันนี้พวกเรามาเรียนรู้การบริการสาธารณะ การสร้างวัดของบรรพบุรุษไทย จนเกิดวัดกว่าสามหมื่นวัดทั่วประเทศ เป็นแบบอย่างการบริการสาธารณะของบรรพชน บ่งบอกถึงจิตที่เป็นสาธารณะอย่างแท้จริง โดยไม่ผ่านกระบวนการศึกษา แต่จิตเช่นนี้ถูกหล่อหลอมขึ้นจากศรัทธาอันบริสุทธิ์ ท่านเหล่านั้นมองการสร้าง คือ ประโยชน์ที่จะเกิดแก่ส่วนร่วม และอยากให้คนรุ่นหลังมีโอกาสได้สัมผัสความร่มเย็นแห่งพระศาสนาเช่นกับที่ท่านได้สัมผัส

        เราจึงเห็นคนในชุมชน ในหมู่บ้านตามชนบทบริจาคอิฐคนละก่อน ทรายคนละถังปูนคนละกระสอบ กว่าจะเกิดวัดแต่ละวัดขึ้นในหมู่บ้านของตน

        นี่คือความหมายของ คำว่า จิตสาธารณะอันบริสุทธิ์ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ถาวรวัตถุ

        เพราะคำนึงถึงประโยชน์สองด้าน ได้แก่ อัตตประโยชน์ คือ ประโยชน์ตน และ ปรหิตตประโยชน์ ประโยชน์ส่วนรวม เมื่อได้ทำตามคำสอนพระบรมศาสดา ตนเองก็สุขใจ สบายใจ แช่มชื่นใจ ว่า ความเป็นชาวพุทธ สิ่งที่ควรทำเราก็ได้แล้ว และสิ่งนั้นก็ได้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย

        เช่นเดียวกับนักศึกษาในวันนี้ พวกเรากำลังทำประโยชน์ตนให้สมบูรณ์ คือ การศึกษาเล่าเรียน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มาปัดกวาดทำความสะอาดวัด ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ ก็ชื่อว่า ได้ทำประโยชน์ทั้งสองด้าน

        เมื่อลงมือทำไปเรื่อยๆ จนเกิดความเชื่อมั่นว่า เราได้ทำสิ่งที่ควรทำแล้ว จะเกิดความสงบเย็นภายในใจ และความศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็ยิ่งจะมั่นคงขึ้น เป็นอจลศรัทธา ซึ่งจะทำให้ชัดเจนในแนวทางการสานต่อพระพุทธศาสนาไปสู่อนาคต ที่มีรากฐานอันมั่นคงจากอดีต

        ขอให้พวกเราจงเรียนรู้การเสื่อมสลายของพระพุทธศาสนา จากประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เพราะนั่นคือ บทเรียนที่ล้ำค่าสำหรับชาวพุทธฯ

        ดังเช่น ภาพวาดพระเจ้าตากในศาลาหลังนี้ พระองค์ยืนมองย้อนกลับไปยังอาณาจักรศรีวิชัยทางตอนใต้ของเรา แล้วมองกลับไปยังอินเดียเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว และมองไปยังบังคลาเทศ อัฟกานิสถาน คาซัคสถาน จนถึงอาณาจักรศรีวิชัย แถบนั้น พระพุทธศาสนาไม่เหลืออยู่แล้ว

        หันมาดูอีกภาพ ซึ่งเป็นฝั่งประเทศไทย เจดีย์ยอดแทงเสียดฟ้า โบสถ์ วิหารแต่ละหลังตระการตา สิ่งเหล่านี้ ล้วนเกิดจากศรัทธาของบรรพบุรุษไทยเรา ที่มีความรัก ความหวงแหนในพระพุทธศาสนา ช่วยกันคุ้มครองอุ้มชู ปกป้อง ให้เป็นมรดกที่ไม่ธรรมดา คือ ทั้งล้ำค่า ทั้งวิเศษ ให้อยู่คู่กับแผ่นดินไทยของเรา

        ขอให้พวกเราหลับตา แล้วมองย้อนจากภาพพระเจ้าตาก ที่กำลังยืนมองย้อนกลับไปในอดีต พระองค์นำทหารต่อสู้ เหนื่อยยาก ให้เราช่วยกันคิดดูว่า พระองค์ท่านสู้เพื่ออะไร ทหารบาดเจ็บล้มตายไปเท่าไหร่ เหนื่อยยากสายตัวแทบขาด เลือดหยดลงบนแผ่นดินไทยมากมายเพียงใด

        เมื่อพระองค์กอบกู้แผ่นดินคืนมาได้สิ่งที่พระองค์ทำหลังจากกอบกู้แผ่นดินมาได้ และบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขแล้ว ก็คือ ทรงถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา ดังพระราชปณิธานของพระองค์ที่ว่า …

        อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก

ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา

ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา

แด่ศาสนา สมณะ พุทธโคดม

       ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี

สมณะพราหมฌ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม

เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม

ถวายบังคม แทบบาท พระศาสดา

       คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า

ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา

พระพุทธศาสนาอยู่ยง คู่องค์กษัตรา

 พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กันฯ

        ดังนั้น เมื่อพวกเราคิดถึงพระองค์ท่านเมื่อใด พระองค์ก็อยู่กับเรา เพราะกรวดทรายทุกเม็ด หินทุกก้อน เป็นผืนดินที่พระองค์ทรงเหยียบย่างไป เป็นลมหายใจของพระองค์ และลมหายใจของพระองค์ ก็เป็นลมหายใจเดียวกับที่เราสูดเข้าไปทุกวัน เป็นลมหายใจเดียวกับที่พระองค์ทรงต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งแผ่นดินนี้

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเลขานุการ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ในขณะนั้น

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๕๖ “พระพุทธศาสนา คือมรดกอันล้ำค่าแห่งบรรพชน ” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ เรียบเรียง ด้วยความเคารพท่านอาจารย์เจ้าคุณเหนือเศียรเกล้า

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

(ตอนที่ ๒๑)

เห็นเฉยๆ กับเห็นแบบจำได้

จากประสบการณ์การภาวนา

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

           เพราะจิตเกิดเป็นคราวๆ ทีละขณะจิต กลายเป็นความคิดที่เกิดขึ้นทีละครั้ง เราก็ยึดถือ ความคิดนั้นแหละว่าเป็นตัวเราของเรา ถ้าจะพูดให้ลึกลงไปก็เรียกว่า ยึดขันธ์ ๕ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นตัวเราของเรา ใครจะมาแตะต้องตัวเรา เห็นต่างจากความคิดเราไม่ได้

            สมมุติว่าเราจะเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง เราเข้าไปในสนามบิน เห็นผู้คนมากมายเต็มไปหมด บางคนนั่ง บางคนยืน บางคนเดิน เราก็เห็นเฉยๆ แล้วมองผ่านไป ไม่ได้สำคัญมั่นหมาย ไม่ได้ยินดียินร้ายอะไร ก็เพียงแต่เห็นเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร 

สิ่งที่เห็นก็เพียงแต่เป็นรูปยืน รูปนั่ง รูปเดิน

แต่เผอิญปราดสายตาไป เห็นอีกคนหนึ่ง เราเกิดจำได้ว่าเป็นญาติเรา คือ สัญญาจำได้ว่าเป็นญาติไม่ได้เจอกันนาน ก็เกิดสังขารคิดปรุงแต่งไปในทางดีใจที่ได้เจอญาติ ตอนแรกมองเห็นคนอื่นๆ ก็เฉยๆ เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญว่าใครเป็นใคร ก็เป็นแต่เพียงรูปอย่างหนึ่งที่นั่งอยู่ ที่ยืนอยู่ ที่เดินอยู่ ที่พูดอยู่ แต่พอจำหน้าตาท่าทางคนหนึ่งได้ว่าเป็นญาติ จิตก็ปรุงแต่งเป็นดีใจ เกิดปีติ กระตือรือร้น เป็นความสงสัยเป็นคำถามมากมายพรั่งพรูออกมา เป็นความยึดถือว่าเป็นญาติของเรา

            จิตส่วนที่ทำหน้าที่รับรู้เกิดขึ้นมารับรู้แล้วดับไป ส่งต่อหน้าที่ให้สัญญา  จดจำได้ ทำเครื่องหมายไว้ แล้วสัญญาก็หมดหน้าที่ดับไป ส่งต่อให้สังขารทำหน้าที่คิดปรุงแต่งจินตนาการเป็นพอใจ ไม่พอใจ แล้วดับไปพร้อมกับเก็บข้อมูลเป็นอนุสัยไว้ในจิต   เกิดเป็นกระแสวิญญาณสืบเนื่องต่อไป

            เรายึดขันธ์ที่เกิดขึ้นและดับไปเป็นคราวๆ นี่แหละ ว่าเป็นตัวเราของเรา ยึดเอาความคิดที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ว่าเป็นตัวเราของเรา ร่างกายก็เป็นขันธ์อันหนึ่ง เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ดับไปเป็นคราวๆ แม้สิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็เกิดขึ้นและดับไปเป็นคราวๆ ส่งทอดคุณสมบัติต่อไปยัง ดิน น้ำ ไฟ ลม อันใหม่ ตั้งแต่เล็กจนโต เซลล์ในร่างกายจะว่าเป็นเซลล์ที่เกิดจาก ดิน น้ำ ไฟ ลม อันเดียวกัน ก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นคนละส่วนกัน ก็ไม่ใช่ เซลล์เก่าตายเพื่อก่อกำเนิดเซลล์ใหม่ แล้วก็ส่งคุณสมบัติต่อกันไปเช่นนี้

            ความเกิดดับในรูปกายจะมีตั้งแต่หยาบไปจนถึงละเอียด จากรูปไปจนถึงนาม จากรูปขันธ์ไปจนถึงนามขันธ์ จากรูปขันธ์ที่หยาบ ไปจนถึงรูปขันธ์ละเอียด จากนามขันธ์ที่หยาบไปจนถึงนามขันธ์ที่ละเอียด การเกิดดับของรูปขันธ์ที่หยาบ คือ อิริยาบถ เกิดดับ จากท่านั่งเป็นท่ายืน เดิน นอน สลับกันไปทั้งวัน

ละเอียดลงไปจนถึงการเคลื่อนไหวเกิดดับ เพราะอวัยวะทุกส่วนของร่างกายสลับกันเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ไม่มีว่างเว้น

ละเอียดลงไปอีกเป็นธาตุในกาย หรือเซลล์เกิดดับอยู่ตลอด  ไม่มีว่างเว้น

ละเอียดลงไปอีก นามขันธ์ คือ   จิตเกิดดับ  แม้ในการเกิดดับของจิตก็ยังมีองค์ประกอบของจิตเกิดดับละเอียดลงไปอีก คือ วิญญาณเกิดดับ จึงเรียกว่า วิญญาณไม่เที่ยง เวทนาเกิดดับ จึงเรียกว่า เวทนาไม่เที่ยง สัญญาเกิดดับจึงเรียกว่า สัญญาไม่เที่ยง สังขารเกิดดับ จึงเรียกว่า สังขารไม่เที่ยง

เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเกิดและดับเป็นคราวๆ เช่นนี้  จึงไม่มีสิ่งควรยึดถือว่าเที่ยง ว่ามีตัวตน

ขันธ์ส่วนที่เป็นนาม คือ ความรู้นึกคิดจิตใจ

ก็เกิดและดับไปเป็นคราวๆ

เช่นเดียวกันกับขันธ์ส่วนของรูป

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ขันธ์ห้าเป็นภาระหนัก แบกรับภาระของกายก็หนัก แบกรับภาระของใจก็หนัก

ที่ว่าหนักก็เพราะเมื่อใจคิดอย่างนี้แล้วไม่ได้ดังใจก็หนักอกหนักใจ ก็ก่อความระทมทุกข์ขึ้นมาที่ใจ คนเราทุกข์หนักก็เพราะดิ้นรนจะให้ได้ดั่งใจนี่แหละ เมื่อขันธ์ห้าไม่ได้ดั่งใจก็ทุรนทุราย กายไม่ได้ดั่งใจก็ทุรนทุรายใจไม่ได้ดั่งใจก็ทุรนทุรายใจ แต่เมื่อได้มาปฏิบัติธรรมได้เห็นลมหายใจ พอใจเริ่มพบความสงบ ได้มีโอกาสใคร่ครวญพิจารณาธรรม ก็เริ่มเบาใจเย็นใจ  เริ่มเข้าใจว่า อะไรๆ จะให้ได้ดั่งใจเป็นไม่มี เพราะมันไม่แน่

ไม่แน่ คือ ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง  คือ เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อะไรที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาจะให้ไม่เป็นทุกข์ ไม่มี เวลาทุกข์ก็ทุกข์เหมือนใจจะขาด เวลากลุ้มใจก็กลุ้มใจแทบบ้าคลั่ง  เวลาน้อยเนื้อต่ำใจ ก็คิดประชดประชันจนจะฆ่าตัวตาย

เราเคยทุกข์กับความคิดเรื่องใดวนซ้ำ มันจะค่อยๆ  เพิ่มความรุนแรงขึ้น เราปล่อยให้มันเจริญเติบโต เหมือนปล่อยให้สิ่งมีชีวิตเจริญเติบโตซ้อนทับขึ้นมาในใจเรา โดยไม่เคยคิดแม้แต่จะหาวิธีกำจัดมันออกไป เพราะไม่มีสติระลึกรู้จึงต้องทุรนทุรายไปกับความคิด แต่พอมีสติระลึกรู้แล้วมันก็จะหยุด หรือรอบความคิดจะเกิดช้ากว่าเดิม

จากเดิมที่คิดวนซ้ำจนหัวแทบระเบิด  เมื่อรู้แล้วรอบความคิดก็จะช้าลง ยิ่งมีสติระลึกรู้อยู่บ่อยๆ ก็เหมือนใช้สติไปตัดให้รอบความคิดขาดเป็นตอนๆ ไม่ปล่อยให้มีโอกาสได้เจริญเติบโต

ต่อไปก็นานๆ ทีจึงจะวนกลับมาคิดซ้ำ แม้จะวนกลับมาก็ไม่ก่อความรุนแรงอีกแล้ว เพราะถูกตัดตอนให้ขาดเป็นท่อนโดยสติอยู่บ่อยๆ  ในที่สุดก็จะเป็นแค่ระลอกความคิดที่ก่อตัวขึ้นแล้วจางหายไปเอง  ไม่ใช่ก่อตัวขึ้นแล้วพัฒนาจนกลายเป็นคลื่นร้ายโหมกระหน่ำ  ทำลายทุกอย่างที่ขวางอยู่ข้างหน้าให้พังพินาศลง

            การฝึกหัดจิตเพื่อให้ความระลึกรู้เจริญเติบโต ต้องค่อยๆ ให้เจริญเติบโตไปตามลำดับ ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป อย่าถึงกับเร่งวันเร่งคืนจนเกินไป เหมือนเลี้ยงลูกเราก็ดูเขาค่อยๆ  เจริญวัยเติบโตขึ้นไปตามลำดับ จะเลี้ยงทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ไม่ได้ จะเลี้ยงแบบบำรุงบำเรอจนเกินไป ไม่ให้รู้ทุกข์รู้ยากบ้าง ก็ไม่ได้ ก็ต้องให้ได้เรียนรู้สุขบ้าง ทุกข์บ้าง

การจะให้ความระลึกรู้เจริญเติบโตก็ให้จิตเรียนรู้สุขบ้าง ทุกข์บ้าง  ให้จิตได้เรียนรู้ถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ให้จิตได้มีข้อมูลว่า อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง แม้ความสงบที่เราแสวงหา ก็ไม่เที่ยง บางที่อยากก็ไม่สงบ บางทีไม่อยากกลับสงบ

ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนมีอยู่แม้กับความสงบ

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

จาก บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ ตอนที่ ๒๑ “เห็นเฉยๆ กับเห็นแบบจำได้” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

โปรดติดตามตอนต่อไป …

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here