รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ศรัทธาเป็นพลัง…

เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี

สร้างพระเจดีย์แห่งชีวิต

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

“คนเรามักหลงลืมอะไรไปบางอย่าง เรามีสิ่งที่ประเสริฐอยู่กับตัวเรา คือ ปัญญา ความคิด และความสามารถ ให้เราแปลงปัญญา ความคิด ความสามารถ ให้เป็นเกียรติ และความภูมิใจในชีวิต นั่นคือ หนทางแห่งการสร้างศรัทธาในตัวเอง แล้วเราจะเดินบนเส้นทางของตัวด้วยตัวเราเอง ตราบเท่าที่เรายังมิอาจศรัทธาในตัวเอง เราก็ยังไม่สามารถเดินบนเส้นทางของตัวเรา”

คำสอนของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่ผู้เขียนบันทึกไว้ได้กลับมาสอนใจในทุกขณะที่กำลังจะหมดแรง ความคิดถึงคุณแม่มากมายมหาศาลได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการสร้างบทสวดพระพุทธมนต์ข้ามปี ๕๐๐ เล่ม ถวายกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในขณะนั้นเป็นเลขานุการ และอดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่ผู้เขียนเคารพบูชาอย่างสูงสุด เพื่ออุทิศให้คุณแม่ผู้เป็นที่รักยิ่งของลูกๆ ทุกคน

ในขณะที่พิมพ์บทสวดมนต์ทีละแผ่นๆ คำสอนของพระพุทธองค์ก็ปรากฎในใจชำระล้างจิตที่สกปรกออกทีละนิดๆ การสวดมนต์ก็เป็นการปฏิบัติสมาธิ เป็นการชำระล้างจิตอย่างหนึ่ง การสร้างบทสวดมนต์ก็เหมือนกับการสร้างพระเจดีย์ เป็นพระเจดีย์อักษรพระไตรปิฎกที่สามารถอ่านและสาธยายพระไตรปิฎกเพื่อดับทุกข์ในใจได้ทุกที่ คำสอนของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดยังคงก้องอยู่ในใจ  

 “น้อมถวายพระราชกุศลฯ เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ”   โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  จาก คอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙
“น้อมถวายพระราชกุศลฯ เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ”
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
จาก คอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙

           ผู้เขียนเปิดบันทึกในคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมตตาเขียนบทความให้ในเรื่อง “น้อมถวายพระราชกุศลฯ เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี” และในบทความท่านได้เล่าถึง “กำเนิด การสวดมนต์ข้ามปี” ไว้ด้วยว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด ? ก็เลยขอนำมาเล่าสู่กันฟังต่อในช่วงเวลาปลายปีพอดีเช่นกัน

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ขอขอบคุณ ภาพจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

           ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เขียนเล่าว่า การสวดมนต์ข้ามปีนั้นเป็นประเพณีนิยมของชาวไทยมาแต่เดิม โดยก่อนสิ้นปี พระสงฆ์จะไปเจริญพระพุทธมนต์บทนพเคราะห์ ที่กรมประชาสัมพันธ์ จากนั้น ก็จะรอเวลาเที่ยงคืนเพื่อเจริญพระพุทธมนต์บทชัยมงคลคาถา ออกอากาศไปทั่วประเทศ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

           ต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในครั้งนั้น  ได้นำคณะสงฆ์วัดสระเกศ ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีขึ้น  ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศ โดยอนุวัติตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เคยประกอบพิธีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันเป็นประเพณีปีใหม่ของไทยที่มีมาแต่เดิม 

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว อุปเสโณ)
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

           และ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้เห็นความสำคัญของการสวดมนต์ข้ามปี จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์วัดสระเกศ จัดสวดมนต์ข้ามปีขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นแห่งแรก  ต่อมา คณะสงฆ์มีความเห็นร่วมกันว่า การสวดมนต์ข้ามปีเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเป็นค่านิยมที่งดงาม ควรแก่การส่งเสริม ที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ตำหนักสมเด็จฯ วัดสระเกศ จึงได้มีมติให้วัดทุกวัดจัดสวดมนต์ข้ามปี โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นศูนย์กลางการอำนวยการ และให้วัดเจ้าคณะจังหวัดเป็นศูนย์กลางการสวดมนต์ของจังหวัดนั้น ๆ 

เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๕๙
เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๕๙

           สำหรับวัดสระเกศ เป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับความร่มเย็นเป็นสุขของประเทศชาติบ้านเมืองมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่ ๑ ได้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ที่บริเวณสระน้ำวัดสะแก ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดสระเกศในปัจจุบัน เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน จากนั้นจึงประกอบพิธีมูรธาภิเษก ก่อนปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ผ่านพิภพเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 

           ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ทรงเปลี่ยนนาม “วัดสะแก” เป็น “วัดสระเกศ”  เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ต้องตามสถานที่ที่พระองค์ประกอบพิธีมูรธาภิเษก วัดสระเกศจึงถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  และราชวงศ์จักรี

เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๕๙
เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๕๙

           คณะสงฆ์วัดสระเกศได้รักษาประเพณีการเจริญพระพุทธมนต์  เพื่อประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์ในวาระที่สำคัญ ตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑  สืบต่อมา

           ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์โปรดฯ ให้มีการฟื้นฟูพิธีเจริญพระพุทธมนต์ บทมหาสมัยสูตร ให้มีระเบียบแบบแผนมากขึ้น โดยโปรดฯ ให้ประกอบพิธีที่พระวิหารพระอัฏฐารส วัดสระเกศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์  อันเป็นเทศกาลปีใหม่ตามธรรมเนียมโบราณของชาวไทย  เพื่อนำน้ำพระพุทธมนต์ไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ได้นำไปประพรมให้ลูกหลานบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข

           ต่อมา ทางราชการบ้านเมืองกำหนดวันขึ้นปีใหม่ จากวันสงกรานต์ไปใช้ตามความนิยมของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศ พิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยก็ลดความสำคัญลง และเริ่มเลือนหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทย

พระอัฏฐารส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
พระอัฏฐารส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

           การที่รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดให้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยที่พระวิหารพระอัฏฐารส วัดสระเกศ เพื่อความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ด้วยพระองค์ทรงปรารภว่า พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ในมหาสมัยสูตร  สืบเนื่องมาจากพระประยูรญาติของพระพุทธองค์เกิดความแตกแยกกันอย่างรุนแรง จนถึงขั้นยกกองทัพมาประจันหน้าจะทำสงครามกัน  เพราะแบ่งผลประโยชน์เรื่องน้ำไม่ลงตัว  พระพุทธองค์จึงเสด็จมาห้ามทัพ  ทำให้สงครามแย่งน้ำยุติลง

           ต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ให้จัดมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์รับปีใหม่ หรือที่เรียกว่า สวดมนต์ข้ามปีขึ้น โดยถือตามคตินิยมปีใหม่แบบสมัยปัจจุบัน  และทางวัดได้นำน้ำพระพุทธมนต์บทมหาสมัยสูตรมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มาพิธี  ตามธรรมเนียมเทศกาลปีใหม่โบราณของชาวไทยด้วย

ซึ่งในปีพ.ศ.๒๕๕๙ รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และวัดทั่วประเทศ จัดงาน “แสงเทียนแห่งสยาม” ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ โดยการเชิญชวนคนไทยร่วมสวดมนต์ข้ามปี น้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกทั้งยังเป็นการอวยพรให้ประเทศชาติเกิดความสงบสุขเจริญรุ่งเรืองอีกด้วย

เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๕๙
เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๕๙

           กิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างคืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ในบริเวณท้องสนามหลวง วัดทั่วประเทศ จำนวนกว่า ๓๑,๐๐๐ วัด และยังมีจัดกิจกรรมไปยังศูนย์การค้าต่างๆ  อาทิ บริเวณแยกปทุมวันถึงถนนสุขุมวิท ตลอดจนจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านใน ๑๕ จังหวัด วัดไทยทั่วโลก จำนวน  ๕๔๐ วัด และเครือข่ายพระพุทธศาสนา ๑๙๐  แห่ง ใน ๗๐ ประเทศ ซึ่งการจัดงานปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า  ๒๓  ล้านคน

           ปัจจุบันการสวดมนต์ข้ามปีได้กลายเป็นวัฒนธรรมประเพณีวิถีพุทธไปแล้ว ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเหนือเศียรเกล้า ที่เมตตาเขียนบทความประวัติความเป็นมาของการเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีให้เราได้เห็นรากอันมั่นคงของพระพุทธศาสนาที่ประดิษฐานในประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ที่บ้านเมืองเราสงบอยู่ได้เพราะพระพุทธศาสนาโดยแท้ ที่ทำให้เรามีเมตตา ให้อภัยและอโหสิกรรมต่อกัน ครอบครัวและสังคมจึงเดินหน้าต่อไปได้  ท่านได้เล่าประวัติความเป็นมาของพระอัฏฐารสไว้ด้วย ซึ่งผู้เขียนจะขอนำมาเล่าไว้ในมโนปณิธานของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในฉบับต่อไป 

เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๕๙
เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๕๙

ล้อมกรอบ

สัมมาสมาธิ ตอนที่  ๑๔

ความเป็นกลางของจิตเป็นอย่างไร

 สัมมาสมาธิ ตอนที่  ๑๔  ความเป็นกลางของจิตเป็นอย่างไร   โดย  พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  ภาพประกอบ :  หมอนไม้
สัมมาสมาธิ ตอนที่ ๑๔ ความเป็นกลางของจิตเป็นอย่างไร
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ภาพประกอบ : หมอนไม้

ในบันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้นอธิบายการถอนจิตออกจากสมาธิและสภาวะการดำรงจิตให้สงบอยู่ในความตื่นรู้ต่อมาว่า

เมื่อจิตอยู่ในความสงบ มีความสมดุล  ดำรงความเป็นเอกภาพในอุเบกขา รักษาความเป็นกลางในความชอบใจ ไม่ชอบใจอยู่อย่างนั้น จิตจะไม่วิ่งออกไปรับอารมณ์ภายนอก หรืออารมณ์จากภายนอกจะไม่สามารถชักจูงให้จิตออกไปจากความเป็นเอกภาพภายใน ก็คือไม่มีการเติมเชื้อกระแสชีวิตจากภายนอก กระแสวิญญาณที่ทำให้ชีวิตดำเนินไปเพราะอาศัยเชื้อ พลังงานจากภายนอกก็เป็นอันไม่มี

สิ่งภายนอกที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้น และดับไปตามธรรมชาติของสิ่งนั้น เสียงใครพูด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ เสียงพูดนั้นก็จะดับไปที่คนนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรดังก็จะดับไปที่สิ่งนั้น เมื่อไม่หน่วงเข้ามาปรุงแต่งต่อไป ก็จะเป็นเพียงเสียงที่เกิดขึ้นและดับไปตามเหตุและปัจจัยของสิ่งนั้น เช่น  เสียงระฆังดังก็เพราะว่ามีระฆังและมีคนตี เสียงระฆังจึงเกิดขึ้นจากการตี เมื่อหยุดตีเสียงก็ดับลง

เสียงที่ดังจากวิทยุก็ดับไปที่วิทยุ เสียงที่ดังจากโทรทัศน์ก็ดับไปที่โทรทัศน์ เสียงที่เกิดจากคนคุยกันก็ดับไปที่คนคุยกัน เสียงที่เกิดจากนกร้องก็ดับไปที่นกร้อง เสียงที่เกิดจากลมพัด หรือสิ่งอื่นใดก็ดับไปที่สิ่งนั้น เมื่อจิตไม่หน่วงอารมณ์จากภายนอกเข้ามาปรุงแต่ง (สังขาร) ก็ไม่มีการเติมเชื้อจากภายนอก  

ถ้าให้ตรงกับความเข้าใจตามภาษาก็คือ ไม่รับอารมณ์ภายนอกเอามาสังขารคิดปรุงแต่งจินตนาการ เมื่อไม่มีการเติมเชื้อจากข้างนอก  จิตก็จะดำเนินไปโดยการดึงเชื้อจากภายในจิตเองขึ้นมาใช้  ให้วิญญาณยึดเป็นอารมณ์สืบเนื่องไปเป็นกระแสชีวิต

ดังนั้น เราจึงเห็นสภาวะอย่างหนึ่งเกิดขึ้นและดับไปติดต่อสืบเนื่อง คือ  เราจะเฝ้าสังเกตเห็นความคิดทยอยกันเกิดขึ้นและดับไปไม่ขาดสาย เมื่อความคิดหนึ่งเกิดขึ้นและดับไป อีกความคิดหนึ่งก็จะเกิดขึ้นตามมาเหมือนระลอกคลื่น เพราะจิตได้ดึงเอาเชื้อเก่าที่สะสมเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิตขึ้นมาใช้ คือ จิตไม่กินเชื้อใหม่จากทางตา หู จมูก ลิ้น และการสัมผัสทางกาย แต่ใช้เชื้อเก่าทางใจ คือ อารมณ์ทางใจ มาหล่อเลี้ยงวิญญาณให้เกิดกระแสชีวิตดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

สรุปแล้วก็คือ แม้จิตสงัดจากกามคุณทั้ง ๕ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ก็ตาม แต่ก็ยังมีอารมณ์ทางใจให้เสพเสวย จึงต้องพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปจนสงัดจากอารมณ์ทางใจเป็นใจว่างๆ เปล่าๆ แต่ก็เป็นไปในลักษณะธรรมชาติของจิต มีการเกิดขึ้นและดับไป

                      ไม่มีธรรม จึงไม่เป็นธรรม ไม่ปฏิบัติธรรม จึงไม่เข้าใจธรรม

                 ผู้มีธรรม จึงเป็นธรรม ได้ปฏิบัติธรรม จึงเข้าใจในธรรมฯ

                                                      พระราชกิจจาภรณ์

         (โปรดติดตามตอนต่อไปฉบับหน้า)

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๔๙ “ศรัทธาเป็นพลัง… เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี สร้างพระเจดีย์แห่งชีวิต” จากคอลัมน์ มโนปณิธาน โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here