ณ พระเจดีย์บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี
ณ พระเจดีย์บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(ตอนที่ ๔๗) น้ำใจวิญญูชนคนเล็กๆ การศึกษาบาลีและปริยัติสามัญ หัวใจของการรักษาพระเณรไว้ได้ในอนาคต

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

           ผู้เขียนเปิดบันทึกมโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ที่เตรียมไว้ลงนสพ.หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก เมื่อวันอังคารที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ก็ยิ่งรำลึกถึงท่านในความใส่ใจกับทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อย ๆ ในความเป็นครูบาอาจารย์ และความเป็นกัลยาณมิตรของท่านที่ได้บ่มเพาะจากพ่อแม่ครูอาจารย์ทั้งพระป่า และพระบ้าน โดยมีหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) พระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นผู้เป็นแบบอย่างด้วยการทำให้ดูอยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส ตลอดจนได้สานสร้างแนวทางในการทำงานอย่างเสียสละชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนามาโดยตลอด

ดังเรื่องที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เล่าว่า ตอนที่อาตมาเรียนปริญญาตรี และต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พอฉันเพลเสร็จหลังเที่ยง พระเณรจะนัดกันเดินออกมาทางหลังวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เพื่อไปมหาวิทยาลัย มีชาวจีนเป็นคนขับรถบรรทุกหกล้อรับจ้างขนไม้คนหนึ่ง ที่เมตตาพระเณรในวัดจะคอยรับส่งพระไปเรียน ถึงเวลาเที่ยงสิบห้านาที ก็จะมาแวะจอดรถรอรับไปส่งที่มหาวิทยาลัยทุกวัน

“เป็นเวลาเนิ่นนานหลายสิบปีที่โยมทำเช่นนี้ แม้ถึงรอบที่เขาจะได้คิวรับจ้างไปส่งไม้ เขาก็จะยอมสละให้รถคันอื่นได้รับไปก่อน เพราะจะต้องไปส่งพระเรียน ส่งพระเสร็จจึงมาต่อคิวใหม่ พระวัดสระเกศก็จะขึ้นรถจีวรอร่ามเหลืองเต็มรถหกล้อ วิ่งออกไปทางราชดำเนินผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผ่านสี่แยกคอกวัว อ้อมสนามหลวงเข้าถนนระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปลงท่าพระจันทร์ พระบางรูปบางองค์แดดร้อนก็เอาจีวรคลุมศีรษะ เพราะรถหกล้อขนไม้ไม่มีหลังคา ชาวบ้านเห็นก็เป็นธรรมดา  เพราะความเกื้อกูลเอื้ออาทรต่อพระเณรของชาวบ้านในยุคนนั้นมีมาก บางองค์ออกมาไม่ทันก็รวมกันจับรถตุ๊กตุ๊กยี่สิบบาทตามไป

“จนเมื่อไม่กี่วันก่อนหลังผ่านไปร่วม ๒๐ ปี อาตมาเกิดนึกถึงโยมขึ้นมา จึงถามคนที่รู้จักว่า โยมหายไปไหน เมื่อทราบว่าป่วยอยู่ เพิ่งออกจากโรงพยาบาลจึงไปเยี่ยมที่บ้าน จึงได้คุยกัน โยมแสดงอาการดีใจได้เล่าถึงความหลังมากมาย แม้ไม่ได้เรียนหนังสือหนังหา แต่โยมก็ภูมิใจที่ได้มีโอกาสส่งพระเณรเรียนจนจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกจำนวนมาก

“โยมเล่าว่า ที่เกิดแรงบันดาลใจเช่นนี้ ก็เพราะเห็นสมเด็จฯ ท่านส่งเสริมให้พระเณรได้เรียนหนังสือ โยมหากินอยู่กับโรงไม้หลังวัด แม้ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็ขอให้พระเณรได้เรียน พอทำอะไรได้ก็อยากจะช่วย แต่อาตมาเห็นว่า แม้ว่าโยมไม่ได้เรียนหนังสือ แต่น้ำใจโยมเป็นวิญญูชนจริงๆ โยมเล่าว่า ตลอดเวลาสามสิบสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาโยมใส่บาตรทุกเช้าไม่ได้ขาด แม้ว่าอาจใส่บาตรพระรูปเดิมๆ แต่ถ้านับเป็นจำนวนก็จะได้เป็นแสนรูปแล้ว

” เวลาพระเดินบิณฑบาตผ่านตรงสายไฟที่นกจับเป็นจำนวนมาก เห็นนกขี้ลงมาถูกจีวรพระ โยมก็เอาร่มไปกั้นให้ท่าน และไปรับไปส่งพระเณรเรียนหนังสือ นับเป็นจำนวนรูปจำนวนวันตลอดสามสิบสี่สิบปีก็หลายหมื่นรูป และวันหนึ่งลูกชายของโยมก็สอบเข้าเรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ โดยที่โยมเองก็ไม่รู้ว่า นั่นคือมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศไทย”

โยมเล่าว่า คงจะเป็นอานิสงส์ที่ขับรถส่งพระเณรเรียนหนังสือ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กับเด็กๆ โรงเรียนวัดสระเกศ กรุงเทพฯ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กับเด็กๆ โรงเรียนวัดสระเกศ กรุงเทพฯ

ท่านเจ้าคุณอาจารย์เล่าให้ฟังเพื่อเชื่อมต่อให้เห็นว่า ความเป็นวิญญูชนไม่เกี่ยวกับการศึกษาเลย ความเป็นวิญญูชนเกิดจากเนื้อแท้ด้านใน แต่ถ้าถามว่า การศึกษามีความจำเป็นไหม โดยเฉพาะการศึกษาปริยัติสามัญของพระเณร เพราะความคาดหวังของฆราวาสญาติโยมตลอดจนพระผู้ใหญ่บางองค์บางท่านก็ต้องการให้พระเณรเรียนบาลีอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริง ทำได้หรือไม่อย่างไร

ท่านเมตตาอธิบายว่า ในฐานะที่มีโอกาสเข้ามาสนองงานคณะสงฆ์ในสายการปกครอง เป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐ และมองในมุมของผู้สังเกตการณ์จากวงใน ที่ลงพื้นที่ในเขตการปกครอง เห็นพระท่านทำงานกันทุกส่วนที่รับผิดชอบ ฝ่ายก่อสร้าง ท่านก็สร้างวัด สร้างเจดีย์สร้างโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ ฝ่ายเผยแผ่ ก็สอนก็เทศน์ ออกแบบหลักสูตร จัดปฏิบัติธรรม จัดค่ายต่างๆ ขยายการเผยแผ่ออกไปจนถึงต่างประเทศทั่วโลก ฝ่ายการศึกษาก็จัดการศึกษาแต่ละระบบที่ตัวเองถนัด ไม่ว่าจะเป็นนักธรรม บาลี พระปริยัติธรรมแผนกสามัญ

“โรงเรียนการกุศลของวัดที่ทำการศึกษาเพื่อสงค์เคราะห์ลูกหลานชาวบ้านยากจน ตลอดจนระดับมหาวิทยาลัย และฝ่ายช่วยเหลือสังคม ก็ทำสังคมสงเคราะห์ ฝนตกถนนขาด น้ำท่วม คนเป็นทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจที่ไหน ก็ไปช่วยเหลือที่นั่น แต่ละท่านถนัดแบบไหน ก็ทำแบบนั้น กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ

พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพรหมสิทธิ กับ พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพรหมสิทธิ กับ พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

           “โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา วันนี้การเรียนบาลีโดยตรงเริ่มพบจุดเปลี่ยนแปลง ทุกวัดที่จัดการศึกษาบาลีพบปัญหาเดียวกัน คือ ผู้เรียนไม่มี ต้องอ่อนล้ากับการคอยหาเณรมาเรียนทุกปี เนื่องจากเณรที่จะบวชเรียนก็ไม่มีแล้ว จะหาวิธีแก้กันอย่างไร หรือมีก็น้อยลงมาก และเณรก็ไม่มีความอดทนเหมือนเมื่อก่อน เช่น เรียนร้อยรูปอาจทนเรียนจนสอบได้เปรียญสามสิบรูป อีกเจ็ดสิบรูปต้องลาสิกขาไป ทำให้พระศาสนาสูญเสียบุคลากรไปโดยใช่เหตุ ได้มาหยิบมือหนึ่งแต่เสียไปหอบหนึ่งก็ไม่คุ้มกับการลงแรงจัดการศึกษา เป็นการสูญเสียมหาศาล

“ในขณะที่เด็กคนอื่นเรียนไปตามระบบยังได้ ม.๕ ม.๖ วันนี้ พ่อแม่เด็กถ้าเลือกได้ก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะให้ลูกมาบวชเรียน คิดกันว่า ไม่จำเป็นต้องเลือกเส้นทางการศึกษาแบบพระเณรแล้ว เพราะบ้านเมืองเขาขยายการศึกษาไปทั่วถึงแล้ว ก็ให้เด็กเรียนไปตามระบบ จะมีหลุดเข้ามาวัดบ้างก็น้อย จำนวนพระเณรจึงลดลง ที่หลุดเข้ามาบ้างแต่คณะสงฆ์ก็รักษาเอาไว้ไม่ได้ ซึ่งก็อาจจะไปตรงกับความต้องการของผู้ที่ประสงค์จะลดจำนวนพระเณรลง เพราะเห็นว่า พระเณรมีจำนวนมากเกินความจำเป็น”

ประเด็นนี้ ท่านเจ้าคุณอาจารย์เทอดเมตตาเล่าต่อมาว่า หลวงพ่อสมเด็จฯ บอกว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญตอบโจทย์นี้ได้ พอจะแก้ปัญหาได้ และสามารถรักษาจำนวนสามเณรไว้ได้ ค่อยๆ ขัดเกลาคัดกรองขึ้นมา อย่างน้อยพระเณรก็ดำรงสมณเพศอยู่ได้อีกห้าปี หกปี กว่าจะจบ ม. ๖ ในระหว่างนี้ ถ้าจัดการศึกษาให้ดี ให้เรียนบาลีควบคู่ไปด้วย ในระยะเวลาห้าถึงหกปี ก็อาจจะได้ชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือสองชั้นสามชั้น ก็คือ เอาคุณภาพจากปริมาณ 

“คำว่า คุณภาพ คือ บาลี ส่วนปริมาณ คือ จำนวนเณรเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ จนกว่าจะจบ ม. ๖ ในระหว่างนี้สามเณรก็เรียนบาลีไปด้วย โอกาสที่จะได้ชั้นใดชั้นหนึ่งก็พอมีความเป็นไปได้ รูปที่ไม่ค่อยไปด้านบาลี ก็ยังได้การศึกษาตามที่กฎหมายบ้านเมืองกำหนด แต่ถ้ามุ่งเรียนบาลีอย่างเดียว โอกาสที่จะเสียเรื่องการศึกษาไปเลยก็มีสูงถึงเจ็ดสิบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ การศึกษาของคณะสงฆ์จึงต้องมามองใหม่

“ปัจจุบัน มีโรงเรียนปริยัติสามัญสี่ร้อยกว่าแห่ง มีพระเณรเรียนอยู่ประมาณห้าหกหมื่นรูป เราจะทำอย่างไรกับบุคลากรที่มีอยู่นี้ ซึ่งกำลังลดลงทุกวัน เราเคยดูตัวเลขที่เป็นสถิตินี้ไหม กับบุคลากรที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เป็นเพราะอะไร พระเณรจึงลดลง”

ท่านเจ้าคุณอาจารย์เชื่อมโยงกลับไปมองที่การศึกษาของชาติที่ทำหน้าที่แทนพระไปแล้วเมื่อกว่าห้าหกสิบปีที่ผ่านมา

“อาจเป็นเพราะการศึกษาทางโลก มีส่วนทำให้พระเณรลดลง แต่ไม่ใช่ปัญหาหลัก  มาดูโรงเรียนปริยัติสามัญดีๆ ที่มีอยู่สองสามร้อยโรงเรียน มีโรงเรียนวัดเล็กๆ แห่งหนึ่ง ไม่มีตำแหน่งทางการปกครองอะไร เป็นเจ้าอาวาสอย่างเดียว แต่สามารถทำการศึกษาพระเณรได้ถึงสองสามร้อยรูป เราก็ไปถอดบทเรียนจากโรงเรียนนี้ออกมาว่า ท่านเป็นวัดเล็กๆ แล้วท่านบริหารจัดการวัดอย่างไร จึงสามารถไปโน้มน้าวเด็กมาบวชเรียนได้ สมมติ นี่คือประเด็นที่หนึ่งที่ตั้งไว้ ท่านใช้วิธีอะไร ไปเชื่อมกับโรงเรียนประถมรอบๆ ว่ามีกี่โรงเรียน หรือไปหาเณรมาอย่างไร ไปบอกพ่อแม่เขาอย่างไร จึงมาเรียนกัน ให้ลูกมาเรียนอยู่กับท่าน

“ประเด็นต่อมาก็คือ เมื่อลูกหลานชาวบ้านมาเรียนกับท่านแล้ว มาอยู่กับท่านแล้ว ใช้ระบบอะไรในการปฏิบัติให้มีระเบียบเรียบร้อย และประเด็นที่สาม เมื่อมาอยู่แล้วอาหารการกิน ท่านเลี้ยงสามเณรอย่างไร จึงอยู่ได้ ระบบการหาทุนหาอย่างไร  สื่อสารอย่างไร จึงมีทุนในการบริหารดูแลได้

“และ ประเด็นที่สี่ วิชาการที่ท่านสอน ท่านทำอย่างไรที่ให้เณรอยู่กับท่าน ได้ความรู้ตามระบบชั้นต่างๆ เรื่องการบริหารท่านทำอย่างไร ก็จะไปตอบโจทย์โรงเรียนพระปริยัติธรรมอื่นๆ ที่โอดครวญว่า ไม่มีเณรแล้ว เมื่อถอดบทเรียนนี้ออกมาก็นำบทเรียนนี้ไปมอบให้กับพระโรงเรียนในเขตที่ต่างดูแลกันอยู่ เพื่อไปแก้ปัญหาว่า ถ้าไม่มีเณรทำอย่างไร ก็ลองปรับใช้วิธีของพระรูปนี้ที่ท่านทำอยู่ ท่านอาจมีสิบวิธีที่จะได้เณรมา หรือท่านมีวิธีอยู่แล้วสองสามวิธีก็นำสองสามวิธีนี้ไปเติม เพื่อเติมเณรมาอยู่ในสำนักของท่าน”

การศึกษาของพระเณรจึงจะสามารถสืบทอดพระพุทธศาสนาไว้ได้ต่อไป โดยรักษาแก่นธรรมและทันต่อโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว

ล้อมกรอบ

สัมมาสมาธิ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  ตอนที่ ๑๓ แม้จิตสงบก็สงบอยู่ในความตื่นรู้   ภาพประกอบโดย หมอนไม้
สัมมาสมาธิ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๑๓ แม้จิตสงบก็สงบอยู่ในความตื่นรู้
ภาพประกอบโดย หมอนไม้

สัมมาสมาธิ ตอนที่  ๑๓

แม้จิตสงบก็สงบอยู่ในความตื่นรู้

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

จากตอนที่แล้วอธิบายวิธีการถอนจิตออกจากสมาธิ หลังจากอดทนถึงที่สุดตามเหตุปัจจัย ที่ต้องไปทำภารกิจต่างๆ ต่อในชีวิตประจำวัน ก็อาศัยสมาธิที่นุ่มนวลควรแก่การงานนี้เองอย่างต่อเนื่อง ในความหมายนี้คือ ทำสมาธิจนจิตสงบและแม้จิตสงบก็สงบอยู่ในความตื่นรู้นี่เอง

ในบันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับนี้อธิบายต่อมาว่า จิตที่นิ่งราบเรียบในสมาธิ มีความสมดุลเป็นเอกภาพ ดำรงสภาวะความเป็นกลาง นิ่งอยู่ในความตื่นรู้ จะรับรู้ทุกความคิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไป แม้จิตจะคิดหรือปรุงแต่งเรื่องใดก็จะอยู่ในการรับรู้ของสติมีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม แม้ความคิดแล้วความคิดเล่าจะเกิดขึ้น  แต่ความคิดนั้นก็จะไม่รบกวนความสงบให้กระเพื่อม  หลุดลอยออกไปจากความเป็นกลาง จะมีอุเบกขารักษาความสมดุลเป็นเอกภาพในความเป็นกลางไว้เช่นนั้น

คือ แม้จะเกิดความคิดด้านสุข(สุขเวทนา) ก็ไม่รบกวนให้ความสงบกระเพื่อมหลุดออกจากความเป็นกลาง แม้จะเกิดความคิดด้านทุกข์ (ทุกขเวทนา) ก็ไม่รบกวนให้ใจกระเพื่อมไหวออกจากความสงบหลุดออกจากความเป็นกลาง หรือแม้จะไม่มีความคิดไปทางสุขหรือทุกข์ชอบหรือชัง ก็เฝ้ากำหนดดูรู้อยู่เฉยๆ  ว่า ขณะนี้ใจไม่สุขไม่ทุกข์ แต่เป็นใจเฉยๆ (อทุกขมสุขเวทนา)

         ความคิดที่เกิดขึ้น  ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ชอบหรือชัง  ก็จะเป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปในจิต ตามธรรมชาติของความคิดเท่านั้น ผู้รู้ก็เป็นแต่เพียงผู้รู้  จะคิดดีหรือคิดไม่ดี ชอบหรือชังก็จะอยู่ในการรับรู้ของสติสัมปชัญญะ เหมือนแม่แม้จะปล่อยให้ลูกออกไปวิ่งเล่น แต่ก็จะให้อยู่ในสายตา คอยระแวดระวังเกรงจะเกิดอันตราย

         จิตที่รักษาความสมดุลเป็นกลางไว้ได้ จะรับรู้เพียงความคิดที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น โดยความคิดที่เกิดขึ้น (สังขาร–การปรุงแต่ง) ไม่สามารถดึงจิตให้หลุดออกไปจากความเป็นกลางได้ เช่นเดียวกับขณะที่อยู่กับความสงบ มีความสมดุลเป็นกลาง เสียงจากภายนอกที่เรียกกันว่าอารมณ์ภายนอก ที่เกิดขึ้นรอบตัวก็ไม่สามารถดึงจิตให้ออกไปจากความสงบได้

ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรต่อเสียงอะไรที่เกิดขึ้นรอบตัว ก็จะเป็นเพียงรับรู้ว่าเป็นเสียง แล้วเสียงนั้นก็จะเลือนหายไป ไม่มีอิทธิพลพอที่จะกระทบจิตให้กระเพื่อมไหวหลุดออกไปจากความสงบได้ และแม้กายจะรับรู้สัมผัสทางกายที่เกิดขึ้นจากลมที่โชยพัดกระทบกาย จะเย็น จะหนาว จะร้อน ก็รับรู้ เพียงว่าเป็นความเย็น ความหนาว ความร้อนที่เกิดจากดิน ฟ้า อากาศ แต่ก็ไม่มีอิทธิพลพอที่จะดึงจิตที่อยู่ในความสงบให้ออกจากความสมดุลเป็นกลางได้ ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดำรงอยู่ตามธรรมชาติ แล้วก็หายไปตามธรรมชาติ ไม่มาหายไปที่จิต

           (โปรดติดตามตอนต่อไปสัปดาห์หน้า)

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (ตอนที่ ๔๗) “น้ำใจวิญญูชนคนเล็กๆ, การศึกษาบาลีและปริยัติสามัญ หัวใจของการรักษาพระเณรไว้ได้ในอนาคตโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here