พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับ ฮิมานชู โชนิ ผู้แสดงเป็นพระพุทธเจ้า ในภาพยนต์ซีรีส์ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  วัดสระเกศฯ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับ ฮิมานชู โชนิ ผู้แสดงเป็นพระพุทธเจ้า ในภาพยนต์ซีรีส์ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๔๖ พระพุทธเจ้า” คือกัลยาณมิตรที่สุดของชีวิตพรหมจรรย์

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

        พระพุทธเจ้าตรัสว่า กัลยาณมิตรคือที่สุดของชีวิตพรหมจรรย์ ทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกนั้นพระองค์หมายถึง ปรโตโฆสะ คือผู้ที่มีความเป็นมิตรงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่หลวง มิตรที่ดีงามย่อมให้ของที่ดีงามให้ได้ยาก รับทำกิจที่ทำได้ยาก อดทนถ้อยคำหยาบคายแม้ยากที่จะอดใจไว้ได้ บอกความลับของตนแก่เพื่อน    ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ  เมื่อเพื่อนสิ้นโภคสมบัติก็ไม่ดูหมิ่น ฐานะเหล่านี้มีอยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นเป็นมิตรแท้ ผู้ประสงค์จะคบมิตร  ก็ควรคบมิตรเช่นนั้น

          ส่วนมิตรภายในคือ โยนิโสมนสิการ  การทำในใจให้ดีละเอียดถี่ถ้วน กล่าวคือ การพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน ทางพุทธศาสนาถือว่ามีคุณค่าเท่ากับสัมมาทิฐิ และความไม่ประมาท เลยทีเดียว

      ผู้เขียนเปิดบันทึกในครั้งหนึ่งที่สัมภาษณ์ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ลงในคอลัมน์ “วิปัสสนาบนหน้าข่าว” นสพ.คมชัดลึก เรื่อง “อยู่กับปัจจุบัน กับ ฮิมานชู โชนิ”  ในช่วงที่พระเอกผู้แสดงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และพระพุทธเจ้าในภาพยนตร์ซีรีส์ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” เดินทางมาประเทศไทย เป็นครั้งที่ ๔  พร้อมกับความประทับใจกลับไปอินเดียทุกครั้งจนต้องมาแล้วมาอีก  ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในขณะนั้น เล่าถึงความเป็นกัลยาณมิตรอันงดงามของพระเอกหนุ่มที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบวชเรียนในประเทศไทยสักครั้งหนึ่งในชีวิต  

       โดยในครั้งนั้นพระเอกพระพุทธเจ้ามีการพบปะกับแฟนคลับที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อบ่ายสองโมงของวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙ที่ผ่านมา ซึ่งเขาได้กล่าวกับพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้นว่า

“รู้สึกอบอุ่นเหมือนได้กลับบ้าน”

และเขาเตรียมการที่จะบวชในประเทศไทยด้วยอย่างน้อย ๗ วันในช่วงหลังออกพรรษา คือประมาณปลายปีนั้นเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบันทึกที่ผู้เขียนได้เขียนลงในคอลัมน์ “ลมหายใจสีเขียน” ในนามปากกา “กานพลู” ลงในนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ช่วงนั้นอีกฉบับหนึ่ง ตอน “ธรรมะทำให้โลกเย็นลง : พระเอกพระพุทธเจ้าเตรียมบวช” ซึ่งผู้เขียนทำงานเป็นทั้งผู้สื่อข่าว นักเขียน และผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวมากว่า ๒๔ ปี

      การที่ฮิมานชู โชนิ เอ่ยปากว่าจะบวช ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ญาณวชิโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้นเล่าให้ฟังต่อมาว่า

แม้ว่าเขาจะเป็นฮินดู ก่อนที่เขาจะแสดงเป็นพระพุทธเจ้าเขาต้องศึกษาพระพุทธศาสนามากและต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าไม่น้อย ต้องไปนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรมในหลายๆ ที่ อาทิ กับพระลามะจากทิเบตที่ลี้ภัยมาอยู่ในอินเดีย ไปฝึกนั่งสมาธิวิปัสสนาของท่านอาจารย์โกเอ็นกา หลายๆ คอร์ส ทำให้มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาพอสมควร

ฮิมานชู โชนิ ผู้แสดงเป็นพระพุทธเจ้า ในภาพยนต์ซีรีส์ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  วัดสระเกศฯ
ฮิมานชู โชนิ ผู้แสดงเป็นพระพุทธเจ้า
ในภาพยนต์ซีรีส์ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก”
ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง
แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

                “หลังจากที่เขามาเมืองไทย เขาเห็นความเป็นพระพุทธศาสนาที่มีชีวิตมาก สิ่งหนึ่งที่เขาพูดตอนพบปะกับแฟนคลับก็คือ หลักการของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงที่การได้อยู่กับปัจจุบัน เมื่ออยู่กับปัจจุบัน ความทุกข์ในอดีตก็ไม่ปรากฏ ไม่กังวลกับอนาคต และเห็นทุกสิ่งทุกอย่างประจักษ์แจ้งอยู่ต่อหน้าต่อตานี้

   “เขาได้ความรู้ว่า แม้ว่าทุกคนจะต่างเชื้อชาติและสัญชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนเรามีความสุขได้คือนำธรรมของพระพุทธเจ้าไปใช้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนศาสนา และความสุขนี้เหมือนกันหมด คือ เกิดสันติในใจ และเมื่อเกิดสันติในใจก็จะทำให้เกิดสันติสุขของโลกด้วย”

          เพราะธรรมะนั้น ทำให้เกิดปัญญา เห็นความจริงของชีวิตที่วนเวียนอยู่ในกฎแห่งกรรม เมื่อพบตรงนี้ก็หยุดที่จะเบียดเบียนกัน ชีวิตก็กลับมาสู่โหมดของความพอเพียง เมื่อพอเพียง ทรัพยากรบนโลกนี้ก็พอที่จะแบ่งปันกัน

ดังที่มหาตมะ คานธีกล่าวไว้ว่า ทรัพยากรในโลกมีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก แต่มีไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนที่มีความโลภเพียงคนเดียว …

         อีกประเด็นหนึ่งที่ฮิมานชู โชนิ เห็นก็คือ ศรัทธาของคนไทยที่มีต่อพระพุทธศาสนา ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในขณะนั้นเล่าให้ฟังต่อมาว่า …

     “ฮิมานชู โชนิ ผู้แสดงเป็นพระพุทธเจ้าบอกว่า เขาน้ำตาไหล เมื่อคนไทยให้ความรักกับเขามากขนาดนี้ทั้งๆ ที่ เขาเป็นเพียงคนที่แสดงเป็นพระพุทธเจ้า

เขามองว่าพระพุทธศาสนาได้เติมเต็มให้คนไทย สังคมไทย และประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๙ เขาก็จะมาร่วมงานบวชชีพราหมณ์ที่วัดสระเกศจัดบวชให้ลูกผู้หญิง ซึ่งจะมีการบวชตั้งแต่เช้า ถือศีล ๘ แล้วออกตอนเย็น อันจะทำให้เขาเห็นความเชื่อมโยงของความเป็นไทย ความเป็นพระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทำให้เขาเห็นความงามในความเป็นไทย เขาก็จะมาร่วมพิธีด้วยทั้งวัน เป็นความตั้งใจของเขา”

          ช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ฮิมานชู ไม่ได้อยู่เฉยๆ เขากลับมาศึกษาพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศไทย เขาไปสิงคโปร์ ไปประเทศต่างๆ สำหรับในประเทศไทย ที่วัดสระเกศ ท่านเจ้าคุณเทอดในขณะนั้นเล่าว่า มีพระชาวเนปาล ที่พูดภาษาฮินดีได้ พูดไทยก็ได้ ซึ่งเคยบวชอยู่ที่วัดสระเกศ แล้วกลับไปสร้างวัดอยู่ที่ประเทศเนปาล ก็กำลังสอนสมาธิให้เขาอยู่ แล้วเขาก็ตั้งใจว่าจะบวชสักระยะหนึ่ง เพื่อที่จะได้เรียนรู้พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

          “เขาบอกว่า วัดเขาจะมาบวชก็คือวัดสระเกศนี่เอง เพราะเขามีความอุ่นใจว่า เขาบอกว่ามาที่นี่เหมือนกลับบ้าน โดยเฉพาะเขาได้รู้ว่าบนภูเขาทองเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นองค์จริงของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และขุดจากประเทศของเขาในกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ นั่นคือเหตุผลที่เขาจะมาบวชที่นี่”

          สำหรับท่านเจ้าคุณเทอดในขณะนั้น ก็มีความประทับใจพระเอกผู้แสดงเป็นพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมากเช่นกัน ท่านบอกว่า เห็นการแสดงออกของเขามีความนอบน้อม อ่อนโยน เขากราบพระ ไหว้พระด้วยความงดงาม

     “ที่สำคัญก็คือซีรีส์พระพุทธเจ้าชุดนี้ ทำให้คนไทยรักในพระพุทธศาสนามากขึ้น รักพระพุทธเจ้ามากขึ้น เห็นความเป็นมนุษย์ธรรมดาของเจ้าชายสิทธัตถะในการที่จะเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ด้วยปัญญาอย่างแท้จริง”

             ท่านเจ้าคุณเทอดในขณะนั้น ยังมีข้อคิดให้อีกว่า ซีรีส์ชุดนี้เป็นกำลังใจให้กับผู้คนทั่วไปที่อาจจะยังเข้าใจพระพุทธศาสนาไม่ดีพอ ว่าแท้จริงแล้ว พระพุทธศาสนา สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาความทุกข์ในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายได้ หมายรวมไปถึงการแก้ปัญหาด้านปากท้อง ชนชั้นวรรณะ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ไปจนถึงมิติทางด้านจิตใจที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ในปัจจุบันชาติได้ โดยอาศัยศีล สมาธิ และปัญญาอย่างมีความเพียรในการปฏิบัติบนหนทางสายกลาง ซึ่งมีอริยมรรคมีองค์แปดเป็นวิธีการที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้จริง

เมื่อเล่าถึงภาพยนต์เดอะซีรีส์ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” คงอดกล่าวถึงทีมงานผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไปไม่ได้ ตั้งแต่ความตั้งใจของ ดร.โมดี้ ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามาแต่วัยหนุ่ม และใช้เวลาในการแสวงหาข้อมูลจากพระไตรปิฎกเถรวาท มหายาน และวัชรยานมาหลายสิบปี  เขาเคยไปกราบหลวงปู่ติช นัท ฮันห์  พระอาจารย์เซนชาวเวียดนาม ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส หากสังเกตกดีๆ ในซีรีส์ชุดนี้ยังมีกลิ่นอายของเรื่อง “คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่” (Old path white clouds)  หนังสือพุทธประวัติพระพุทธเจ้าที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เขียนขึ้นใหม่อยู่ในบทหนังด้วย ซึ่งท่านได้สร้างบทบาทของพระนางยโสธรา พระมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะ ให้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ในยุคสมัยที่ล่วงเลยมากว่า ๒๖๐๐ ปี ยิ่งทำให้เห็นภาพความเป็นมนุษย์โพธิสัตว์ของทั้งสองพระองค์มากยิ่งขึ้นในการมีชีวิตเพื่อผู้อื่นมาโดยตลอด

การเสด็จออกจากวังของเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อหาหนทางพ้นทุกข์ในการออกบวช เนกขัมมะ จึงมิใช่เรื่องที่พระองค์ต้องหนีออกจากวังแต่อย่างใด เพียงแต่ไปในช่วงเวลาที่ไม่ให้พระนางยโสธรารู้…แต่พระองค์ก็รู้…(ตามท้องเรื่องในเดอะซีรีส์ พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก)

          จึงไม่น่าแปลกใจว่า สำหรับฮิมานชู โชนิเอง ก็นับว่าไม่เพียงประสบความสำเร็จในจอเท่านั้น แต่นอกจอเขายังได้ทีมงานที่ช่วยเขาในเรื่องการแสดง ดูแลเขาในหลายๆ เรื่อง มาเป็นภรรยาคู่ชีวิต

ขอขอบคุณ ภาพจาก จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพจาก จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

และที่สำคัญทำให้เขาพบพระพุทธศาสนาที่มีชีวิตในประเทศไทย จนทำให้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะมาบวชในปลายปี (พ.ศ.๒๕๕๙) และอาจมีแผนที่จะไปฝึกปฏิบัติวิปัสสนาที่วัดป่าสักแห่งในประเทศไทย ที่จะทำให้เขาได้เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ทางใจได้อย่างแท้จริง

         เกี่ยวกับการแสดงบทเป็นพระพุทธเจ้า จึงไม่เพียงบทบาทการแสดงเท่านั้น ดร.โมดี้ ยังพาฮิมานชู โชนิ ไปศึกษาพุทธศาสนาวัชรยานกับองค์ดาไลลามะ กว่าจะประมวลผลออกมาเป็นมหากาพย์ชุดนี้ที่โลกไม่ลืม ที่ทำให้รักษาแก่นพระธรรมไว้ได้และมีความสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจตามสไตล์ของหนังที่ไม่ออกนอกลู่นอกทางเท่าไร ซึ่งทำให้ลมหายใจของพระพุทธองค์ ซึ่งก็คือ “พระธรรม” ยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไปถึง ๒๖๐๔ ปี (ในปีพ.ศ.๒๕๕๙)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับ ฮิมานชู โชนิ ผู้แสดงเป็นพระพุทธเจ้า ในภาพยนต์ซีรีส์ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” ขอขอบคุณ ภาพจาก วัดสระเกศฯ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับ ฮิมานชู โชนิ ผู้แสดงเป็นพระพุทธเจ้า ในภาพยนต์ซีรีส์ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” ขอขอบคุณ ภาพจาก วัดสระเกศฯ

สำหรับเรื่อง “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” คุณแม่ของผู้เขียนก็ชอบมาก แม้เราดูจบกันไปแล้วทางจอทีวี แต่คุณแม่ก็ให้ผู้เขียนเปิดจากยูทูปดูกันอีกหลายรอบ และยังซื้อทั้งชุดมาเปิดดูบนจอทีวีที่บ้านกันในวันหยุดอีกด้วย

จนกระทั่งคุณแม่จากไป เรายังดูเดอะซีรีส์ พระพุทธเจ้า ยังไม่จบในรอบที่เท่าใดก็จำไม่ได้ เพราะดูกันหลายรอบมากๆ ผู้เขียนยังจำคำสอนของคุณแม่จากภาพยนต์เรื่องนี้ไว้มากมาย และเพียรฝึกตัวเองอยู่ทุกวัน

การเล่าเรื่องพระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลกโดยมีท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในขณะนั้น เล่าเรื่องการมาเยือนของพระเอกพระพุทธเจ้าให้ฟัง เป็นเรื่องราวที่เหนือกาลเวลา เป็นหมุดหมายว่า “กัลยาณมิตร” ที่แท้จริงในชีวิตนั้น คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือเห็นทุกข์ในอริยสัจจ์ และเห็นหนทางออกจากทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นรุ่งอรุณแห่งชีวิต ที่พระพุทธเจ้า ทรงค้นพบหนทางออกจากทุกข์ในสังสารวัฏ ที่สามารถทำให้เราออกจากโลกธรรมได้อย่างแท้จริง

ผู้เขียนก็เพียรฝึกปฎิบัติขัดเกลาตนตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามรอยครูบาอาจารย์ผู้สานต่อทางให้เราก้าวเดิน อันมีท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ช่วยชี้ทางด้วยความเมตตา กรุณา ทำให้ผู้เขียนพบว่า เราต้องเพียรไปจนกว่าจะพึ่งตนเองได้ ตามรอยทางที่ครูบาอาจารย์ชี้แนะ และมีคุณแม่คอยพร่ำสอน

และทั้งหมดนี้ก็คือ ความหมายของคำว่า

“พระพุทธเจ้า

คือกัลยาณมิตรที่สุดแห่งชีวิตพรหมจรรย์”

โดยแท้  

ล้อมกรอบ

บันทึกธรรม "สัมมาสมาธิ" โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น  ภาพวาดโดย หมอนไม้
บันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ภาพวาดโดย หมอนไม้

สัมมาสมาธิ ตอนที่  ๑๒

 วิธีถอนจิตออกจากสมาธิ หลังจากอดทนถึงที่สุด

จากตอนที่แล้วอธิบายวิธีการถอนจิตออกจากสมาธิ  ในบันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ฉบับนี้อธิบาย “วิธีถอนจิตออกจากสมาธิ” กันต่อ เพราะพระพุทธเจ้าเองก็ไม่เหนื่อยที่จะสอนเราแบบนี้ จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพก็ยังทรงตามสอน ยังทรงพร่ำสอนเรื่องเดิมเนืองๆ

ในขณะเมื่อจิตร้องขอว่าหยุดเถอะปวดขามากแล้ว จะถอนออกจากสมาธิในครั้งแรก ก็ถามจิตกลับไปว่า ปวดขาแล้วตายไหม ตอบว่า ไม่ตาย ก็บอกจิตว่า ปวดขาไม่ตาย  ถ้าอย่างนั้นรอสักเดี๋ยว ดูลมหายใจไปอีกสักหน่อย พอไม่ตามใจ  จิตก็จะนิ่งๆ

แต่พอดูลมหายใจไปได้สักครู่ พอเผลอ จิตก็จะร้องขอ อีกแล้วว่า พอแล้วหยุดได้แล้ว เมื่อยมากแล้ว เจ็บมากแล้ว คันมากแล้ว เหน็บชามากแล้ว ทุรนทุรายมากแล้ว ไม่ไหวแล้ว ก็จะแสดงอาการหงุดหงิด ขัดเคือง เดือดดาน รุ่มร้อน เราก็บอกจิต ปลอบโยนจิตไปว่า เดี๋ยวก่อน อยู่เรื่อยๆ แม้จิตจะร้องขออย่างไร ก็ต่อรองกันไปเรื่อย   ไม่ว่าจิตจะร้องขอเรื่องใดๆ ก็ต่อรองกันไป สอนกันไป สอบสวนกันไป  หาอุบายกันไป และทั้งขู่ทั้งปลอบกันไป เอาจนจิตยอมศิโรราบ ให้จิตเห็นทุกข์จริงๆ  จนจิตขอร้องว่า ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวจริงๆ จึงหยุดได้

          ก่อนหยุดก็ดูว่า สภาวะอารมณ์ขณะนั้นเป็นอย่างไร ดูจิตว่าเป็นอย่างไร ดูกายว่าเป็นอย่างไร เมื่อดูกายดูจิตจนเห็นความเจ็บ ความปวด ความเมื่อยของกายชัดแล้ว ก็ดูความทุกข์ความทุรนทุรายดิ้นรนร้องขออยากเปลี่ยนท่านั่งของจิต จึงเปลี่ยนอิริยาบถขยับปรับท่านั่ง เมื่อขยับปรับท่านั่งใหม่แล้ว ก็ดูกายอีกว่า ความเจ็บความปวดเมื่อยเหน็บชาคลี่คลายไปอย่างไร เห็นความเจ็บปวดเปลี่ยนเป็นความสบายทางกาย แล้วก็ดูจิตที่เปลี่ยนจากการดิ้นรนทุรนทุราย เกลียดชังความเจ็บปวดทุกขเวทนา กลับกลายเป็นชอบความสุขสบายทางกายที่เกิดขึ้น 

ในที่สุดก็จะเห็นความชอบ ความชังที่เกิดขึ้น เพราะร่างกายสลับกันไปอยู่อย่างนี้

          ที่จริง  การดิ้นทุรนทุราย ร้องขอที่อยากจะออกสมาธิของจิต ในช่วงแรกๆ ของการฝึกปฏิบัติสมาธิ จะเป็นอยู่ช่วงระยะหนึ่ง ถ้าอดทนฝืนฝึกจนถึงที่สุดของแต่ละบัลลังก์อยู่บ่อยๆ ในที่สุดก็จะไม่ใช่ออกจากสมาธิเพราะการดิ้นรนทุรนทุรายร้องขอของจิต แต่จะเป็นการออกจากสมาธิตามเหตุตามปัจจัย

เมื่อดำเนินจิตในสมาธิไปจนเพียงพอแก่เวลาแล้วก็จะรู้ว่าขณะนี้ได้เวลาตามที่กำหนดแล้ว ขณะนี้มีกิจอย่างอื่นที่จะต้องไปทำต่อแล้ว จะรู้กาลเวลาสถานที่ที่เหมาะควรแก่การทำสมาธิ ไม่ใช่มีกิจบางอย่างเกิดขึ้นที่ต้องการความสามัคคีของหมู่คณะ เราก็ยังนั่งหลับหูหลับตาจะทำสมาธิอยู่ต่อไป เช่นนี้เรียกว่า ไม่รู้กาลรู้เวลา สถานที่ที่เหมาะควรแก่สมาธิ

          ความสำคัญของการนั่งสมาธิอยู่ที่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เมื่อยก็เปลี่ยนท่านั่งเจ็บปวดเหน็บชาก็ขยับ คันก็เกา แต่ให้รู้สึกตัวตามอาการนั้นๆ ก่อน อย่าสร้างความรู้สึกแบบใหม่เป็นเคร่งเครียด แข็งขืนเกร็งฝืดฝืนซ้อนทับขึ้นมา ให้รู้ไปตามธรรมชาติและธรรมดาของร่างกาย ปล่อยให้อาการนั้นเติบโตจนเต็มที่เพื่อให้จิตได้เรียนรู้ความเป็นจริงของร่างกาย 

          (โปรดติดตามตอนต่อไปวันอังคารหน้า)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับ ฮิมานชู โชนิ ผู้แสดงเป็นพระพุทธเจ้า ในภาพยนต์ซีรีส์ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  วัดสระเกศฯ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับ ฮิมานชู โชนิ ผู้แสดงเป็นพระพุทธเจ้า ในภาพยนต์ซีรีส์ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(ตอนที่ ๔๖) พระพุทธเจ้า คือกัลยาณมิตรที่สุดแห่งชีวิตพรหมจรรย์

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ )

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here