รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(ตอนที่ ๔๔) ตามรอยพระพุทธเจ้า กับ “ลูกผู้ชายต้องบวช” บนหนทางแห่งการดับทุกข์ และการเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการแบ่งปัน

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒)

เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบสองปีที่คุณแม่ของผู้เขียนจากไป ด้วยความระลึกถึงคุณแม่ทุกวัน ประดุจท่านยังอยู่กับเรา จึงได้ไปถวายสังฆทานผ้าไตร จีวรที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และทำบุญหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” พิมพ์เป็นครั้งที่สองแล้ว เขียนโดย ญาณวชิระ ซึ่งเป็นนามปากกาของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเป็นพระอาจารย์ที่ผู้เขียนเคารพศรัทธาเหนือเศียรเกล้า ด้วยความระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าและท่านอาจารย์เจ้าคุณซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของผู้เขียน ก็ได้เพียรฝึกตนแล้วก็น้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตอยู่เสมอ

ดังในหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” เล่มนี้ ที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในขณะนั้นได้เขียนขึ้นเพื่อให้ลูกผู้ชายได้มีโอกาสเห็นความงดงามในการบวชเรียนภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เพื่อการเรียนรู้ชีวิตพระภิกษุที่สมบูรณ์ จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ   

ขณะเดียวกันในทัศนะของผู้เขียนก็เห็นว่า “ลูกผู้ชายต้องบวช” ก็เป็นหนังสือที่ลูกผู้หญิงควรอ่านเช่นกัน เพราะหนทางของการฝึกตนเพื่อดับทุกข์ทางใจนั้น ไม่มีหญิงไม่มีชาย มีแต่สภาวะของจิตใจกับกิเลสที่เกาะกุมจิตใจให้สร้างทุกข์ไม่สิ้นสุดก่อเกิดภพน้อยใหญ่ให้ไม่รู้จบในสังสารวัฏแห่งการเวียนว่ายตายเกิดที่เราไม่อาจรู้ได

้ หากแต่การฝึกตนบวชกาย และบวชใจบนหนทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญาตามรอยทางอริยมรรคมีองค์แปด ในอริยสัจสี่ประการหนทางอันประเสริฐที่พระพุทธองค์ได้เปิดทางไว้อย่างชนิดเปิดของคว่ำให้หงายอย่างกระจ่างแล้ว หากเราน้อมนำมาปฏิบัติขัดเกลาตนให้จริง ทางออกจากทุกข์จักค่อยๆ ปรากฏขึ้นในใจเรา

สำหรับ “ลูกผู้ชายต้องบวช” เล่มนี้ ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในขณะนั้น ได้อธิบายหนทางแห่งการดับทุกข์อย่างกระจ่างบนหนทางในการฝึกตน ซึ่งหากทุกบ้านมีกันไว้ทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะมีลูกชายหรือลูกสาว เมื่อเขาได้มีโอกาสอ่านกันก็จะพบเส้นทางอันงดงามที่สามารถที่จะพาเขาออกจากทุกข์ได้ แม้ว่ายังไม่มีโอกาสบวชเรียนก็ตาม แต่เมื่อเขาศึกษาจนกระจ่างแล้วว่า นี่ละ คือหนทางที่จะดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ เปิดทางไว้ และมอบหนทางกับวิธีการไว้กับพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก เขาก็จะขวนขวายเดินตามรอยทางนี้ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะหายไปในที่สุดตามกฎแห่งไตรลักษณ์

แต่ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะหมดไป ขอให้มีเราเป็นผู้หนึ่งที่ได้ฝึกตนบนหนทางนี้ เพียรเผากิเลสในใจตนก็เป็นประดุจการได้ร่วมกรุยทาง แผ้วทางให้ทางแห่งการดับทุกข์นี้ทอดยาวไปเรื่อยๆ แม้เราไม่ได้บวชเรียนก็สามารถบวชใจได้และก็สามารถสนับสนุน ส่งเสริมพระสงฆ์ได้มีโอกาสบวชเรียนได้ตามกำลังของเรา

ศรัทธาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาที่ต้องการให้ตนเองพ้นทุกข์และผู้อื่นพ้นทุกข์ตามรอยพระพุทธเจ้านี้เองจะช่วยให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ต่อไปตลอดกาล

ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้น กล่าวไว้ว่า

บวชหนึ่งวันก็สืบต่อพระพุทธศาสนาหนึ่งวัน

บวชเจ็ดวัน

ก็สืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปอีกเจ็ดวัน

ยิ่งบวชตลอดชีวิต

ก็เท่ากับสืบทอดพระพุทธศาสนาไปตลอดชีวิต

และหากเราต่างเห็นความสำคัญของการบวชเรียน มีการบวชกันทุกวัน ทุกเวลา พระพุทธศาสนาก็จะมีลมหายใจต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด ตราบนั้นพระพุทธศาสนาจักดำรงอยู่เพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ให้เห็นธรรมต่อไปตลอดกาลนานไม่ขาดตอน  

ลองนึกดูว่า เมื่อทุกเช้าเราได้มีโอกาสใส่บาตรพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนเปิดบันทึกในนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ฉบับ ๑๑๙๙ ที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเมตตาให้ผู้เขียนสัมภาษณ์ไว้ในคอลัมน์ “ธรรมโอสถ” เรื่อง “เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการแบ่งปัน” ตอนหนึ่งเกี่ยวกับอานิสงส์ของการบิณฑบาต และการใส่บาตรว่า

การบิณฑบาต ไม่ใช่แค่ต้องการไปรับอาหารจากญาติโยมเท่านั้น แต่ว่า ถือโอกาสไปเยี่ยมโยม  เดินออกจากประตูวัด  ก็ไปตามเส้นทางเดินตามหมู่บ้าน เราก็ได้มีโอกาสเจอผู้คน โยมก็ทักทายเรา เราก็ทักทายโยม  เป็นวิถีชีวิตที่พระและชาวบ้านอาศัยการบิณฑบาตนี้ให้มีความใกล้ชิดกันมาก

          ตั้งแต่ตอนที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเป็นสามเณร บวชที่วัดปากน้ำ (วัดในหมู่บ้าน) ต่อมาไปอยู่วัดป่าพระพิฆเณศวร์ ซึ่งเป็นวัดร้างในป่า ห่างจากหมู่บ้านราว ๓ กิโลเมตร บริเวณบ้านปากน้ำ(บุ่งสระพัง) ต.กุดลาด อ. เมือง จ. อุบลราชธานี  ท่านเล่าว่าวิถีการบิณฑบาตนั้นมีความสำคัญยิ่งมาจนถึงทุกวันนี้ต่อมาว่า

          “อาตมาเดินบิณฑบาตออกจากวัดป่า ตั้งแต่ตีห้าครึ่ง เพราะต้องเดินเข้ามาในหมู่บ้าน  หมายความว่า ตีสี่ก็ต้องตื่นแล้ว  ทำกิจต่างๆ  เช่น กวาดศาลา แล้วก็ตั้งน้ำใช้ น้ำฉัน  จากนั้นค่อยเดินออกมา ก่อนจะเข้าหมู่บ้านก็ต้องรอว่าชาวบ้านเขาพร้อมตอนเวลาไหน รับบาตรเสร็จก็เดินกลับ ใช้เวลาเดินไปกลับประมาณ ๖ กิโลเมตร

“เวลาออกจากหมู่บ้านคนก็ต้องผ่านป่า ผ่านทุ่งนาเข้าไป เป็นช่วงเวลาที่เราได้ตรึกตรองบางสิ่งบางอย่าง ผู้คน วิถีชีวิต ใบไม้ ต้นหญ้า กรวดหิน สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เรานำมาพินิจพิจารณาบางสิ่งบางอย่าง  ทำให้เรามีจิตที่ละเอียดลง ผู้คนสองข้างทาง ต้อนวัวควายลงทุ่งลงท่า เป็นชีวิตที่งดงามมาก พอเราเดินไปสัมผัสสิ่งเหล่านี้ ตัวเราก็มีจิตที่ละเอียดลออกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นชีวิต ทำให้เราได้สัมผัสผู้คน กับทุกสิ่งทุกอย่าง

          “จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ วิถีชนบทก็ยังเป็นแบบเดิมตอนที่อาตมาเป็นสามเณรอยู่ ประชาชนก็จะมานั่งกันเป็นกลุ่มๆ อย่างนี้ แล้วพระก็เดินบิณฑบาต ร่วม ๓๐ ปี ของการใช้ชีวิตเป็นพระเป็นเณร  ชาวบ้านก็อยู่อย่างนี้ของเขา แล้วก็เลี้ยงพระเลี้ยงเณรในชุมชน ในชุมชนมีวัด วัดก็ต้องเกื้อกูลกับชาวบ้าน  ชาวบ้านก็เกื้อกูลกับวัด มีงานบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชน พระก็ต้องไปช่วย  ตอนเป็นเณร หน้าฝนถนนขาด หลวงพ่อเจ้าอาวาส ก็จะพาพระเณรไปช่วยกันทำถนน  ยังเป็นภาพที่ติดตาอยู่ตอนเป็นเณรที่ไปช่วยชาวบ้าน ในการถมถนนด้วย”

การเกื้อกูลกันของพระสงฆ์กับชาวบ้านจึงเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้พระพุทธศาสนามีชีวิตและลมหายใจมาจนถึงทุกวันนี้ สืบเนื่องจากการบวชเรียนของลูกชาวบ้านจนเป็นพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นผู้สืบทอดสายธารธรรมตามรอยพระพุทธเจ้าให้คนทุกข์ได้เห็นทางในการดับทุกข์ทางใจในที่สุด  

          ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้น อธิบายต่อมาว่า หมู่บ้านในประเทศไทยประมาณ ๗๐,๐๐๐ หมู่บ้าน วัด ณ เวลานี้ก็มีประมาณ ๔๐,๐๐๐ กว่าวัด เราอาจจะตัดวัดในชุมชนเมืองออกไป ประมาณ ๔,๐๐๐  – ๕,๐๐๐ วัด วัดที่เหลือประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัด เป็นวัดที่กระจายตัวอยู่ตามชุมชนทั่วประเทศไทย  พระท่านเหล่านี้ก็ยังมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับชาวบ้าน ซุกตัวอยู่เงียบๆ ในมุมใดมุมหนึ่งของสังคมใดสังคมหนึ่งในประเทศไทย แล้วต่างเกื้อกูลกันและกัน

ทำให้ผู้เขียนเข้าใจอย่างกระจ่างเลยว่า หนทางแห่งการดับทุกข์นี้ จะเหลือเพียงพระธรรมอยู่ในพระไตรปิฎกอย่างเดียวไม่พอ พระรัตนตรัย ซึ่งมีพระสงฆ์เป็นหนึ่งในเสาหลักของพระพุทธศาสนาจักต้องมีการบวชเรียนสืบต่อไปไม่สิ้นสุด ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในขณะนั้น กล่าวว่า “ชาวบ้านขาดพระไม่ได้ฉันใด พระก็ขาดชาวบ้านไม่ได้ ฉันนั้น “

บันทึกธรรม "สัมมาสมาธิ" โดย พระราชกิจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  ตอนที่ ๑๐  การขจัดนิวรณ์เพื่อเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ  ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
บันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดย พระราชกิจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๑๐ การขจัดนิวรณ์เพื่อเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

๑๐. การขจัดนิวรณ์เพื่อเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ

จากตอนที่แล้วเกี่ยวกับ “ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ” ในบันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น อธิบายอุปสรรคของการเข้าสู่สมาธิไว้ว่า 

อีกอย่างหนึ่ง ในยามใดก็ตามที่ถูกนิวรณ์ครอบงำ เกิดความฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อหน่าย เศร้าซึม ลังเล สงสัย ไม่เป็นอันดำเนินจิตเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ แม้เพียรพยายามอย่างไร นิมิตในอารมณ์พระกรรมฐานก็ไม่ปรากฏชัด คือ กำหนดอารมณ์กรรมฐานไม่ได้ เมื่ออารมณ์กรรมฐานไม่ปรากฏ การดำเนินจิตเข้าไปสู่ความเป็นกลางก็เป็นไปได้ยาก

การเข้าไปหาครูบาอาจารย์ที่ชำนาญมีความฉลาดในการเข้าสมาธิ ฉลาดในการดำเนินจิตให้ตั้งอยู่ในสมาธิ เป็นต้น ก็จะเป็นเหตุให้ได้รับคำแนะนำสั่งสอน  ให้ได้สอบสวนทวนสภาวะในอารมณ์พระกรรมฐาน ทำให้แก้อารมณ์กรรมฐานของตนได้ และรู้ถึงวิธีการที่จะเข้าสมาธิ รู้วิธีในการดำเนินจิตให้ตั้งอยู่ในสมาธิ รู้วิธีดำเนินจิตเข้าสมาธิสูงขึ้นไป เรียกตามที่นิยมกันในหมู่ผู้ปฏิบัติสมาธิก็ว่า สอบอารมณ์ ซึ่งก็คือ การสนทนา สอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติ นั่นเอง

          ทุกครั้งที่คิดไปจนสิ้นสุดความคิด จิตจะกลับเข้าสู่ความว่างภายใน จิตจะกลับเข้าไปอยู่กับความสงบ มีความเป็นเอกภาพ  ดำรงสภาวะความเป็นกลางในอุเบกขา ขณะที่จิตเข้าสู่ความสงบ ก็ยังมีกระแสความคิดอยู่ แต่เป็นกระแสความคิดที่เรียกกันว่า ธรรมารมณ์ เป็นห้วงความคิดภายใน

เพราะในขณะนั้น จิตสงัดจากการรบกวนจากกามคุณภายนอก  ไม่หน่วงอารมณ์ภายนอกเข้ามา ปิดการรับอารมณ์จากภายนอก ไม่เติมเชื้อจากภายนอก แต่จิตก็ดึงเอาอารมณ์ที่สะสมไว้ภายในขึ้นมาคิดปรุงแต่ง อารมณ์ภายในนี่แหละ เรียกว่า ธรรมารมณ์ เหมือนตะเกียงที่ไม่ได้เติมน้ำมันใหม่เข้าไป ไส้ตะเกียงก็ดึงน้ำมันเก่าที่อยู่ภายในตะเกียงมาใช้ให้เกิดแสงไฟต่อเนื่อง จากนั้น ค่อยๆ ให้ความคิดภายในสงบระงับไปตามลำดับ

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” เขียนโดย ญาณวชิระ

 “ จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ”

 ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาล

อ่านคำนำผู้เขียน

ก่อนอ่านลูกผู้ชายต้องบวช

            หนังสือเกี่ยวกับการบวชเล่มนี้  รวบรวมหลักการบวชไว้อย่างกว้างขวาง ทุกแง่ทุกมุม มีเกร็ดประวัติความเป็นมาแต่ละเรื่อง เพื่อให้หนังสือมีความน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ นอกจากนั้น ยังมีคำศัพท์อธิบายคำบางคำไว้ท้ายเล่ม สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำทางศาสนา  จึงทำให้หนังสือมีเนื้อหาค่อนข้างมาก

            ผู้เขียนต้องการแนะนำวิธีการบวช ที่ตรงตามหลักพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ละเลยสาระของการบวช ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี ที่ชาวพุทธควรจะรู้

            ข้อปฏิบัติบางอย่าง เกี่ยวกับการบวช ตามประเพณี ไม่เกี่ยวกับสังฆกรรม ตามหลักพระพุทธศาสนา ผู้เขียนได้บอกที่มาที่ไป และเหตุผล ในการปฏิบัติเช่นนั้นเอาไว้ เพื่อจะได้ปฏิบัติตามประเพณีอย่างเข้าใจ  ในเจตนารมณ์ของบูรพชน …

 อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ได้ยืนยันข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการบวช ที่ไม่ได้คลาดเคลื่อน จากหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งบูรพาจารย์ นำปฏิบัติสืบต่อกันมา  จากสมัยพุทธกาล  สู่ปัจจุบัน  ทั้งไม่ได้ละทิ้งประเพณีนิยมแบบไทยมาแต่เดิม 

แม้ผู้เขียนเองก็เชื่อมั่นว่า ความงดงามทางวัฒนธรรม และประเพณีไทย ถูกหล่อหลอมขึ้น จากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความละเอียด ประณีตงดงาม และกลมกลืน โดยมีหลักคำสอนของพระพุทธองค์  เป็นแกนหลัก    

ผู้เขียนได้พยายามประสานแก่นแท้ของการบวช ตามหลักพระพุทธศาสนา ให้สอดคล้องกับการบวช ตามแบบวัฒนธรรมประเพณีไทย  และให้ชื่อหนังสือเล่มนี้ ว่า  “ลูกผู้ชายต้องบวช” เพื่อยืนยันเจตนารมณ์บูรพชนไทย ที่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย และต่างก็ยืนยันอุดมคติของบรรพชนไทย ว่า “เกิดเป็นลูกผู้ชาย นับถือพระพุทธศาสนาชาติหนึ่ง ต้องบวช

จิรํ    ติฏฺฐตุ    พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

 “ญาณวชิระ”

นครหลวงของประเทศไทย, ระหว่างพรรษา  ปีพุทธศักราช   ๒๕๕๐

“ญาณวชิระ”
ภาพวาดลายเส้นเกรยองสีถ่าน โดย หมอนไม้

“ลูกผู้ชายต้องบวช”

เขียนโดย “ญาณวชิระ”

พิมพ์เป็นครั้งที่สองเพื่อเป็นธรรมทาน ท่านผู้สนใจสามารถขอรับหนังสือได้ที่ศาลาดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  ตอนที่ ๔๔  ตามรอยพระพุทธเจ้า กับ “ลูกผู้ชายต้องบวช”   บนหนทางแห่งการดับทุกข์  และการเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการแบ่งปัน  โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์   หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒
รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๔๔ ตามรอยพระพุทธเจ้า กับ “ลูกผู้ชายต้องบวช”
บนหนทางแห่งการดับทุกข์ และการเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการแบ่งปัน
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here