รำลึกวันวาน ....มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๔๑
“ศรัทธา อุดมการณ์ และปณิธาน สร้างสรรค์วิชาศิลปะให้เป็นประโยชน์กับสังคม“
(หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒)
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
“เพราะวัดเป็นรากเหง้า เป็นรากฐาน เป็นจุดกำเนิดของศิลปะไทยทุกแขนง ศิลปินในอดีตล้วนสร้างงานที่เป็นอมตะผ่านวัด สิ่งที่นักศึกษาจะต้องตระหนักมากที่สุด ก็คือ ในการสร้างงานขึ้นมา กว่าจะเป็นอมตะจนกลายเป็นงานศิลปะประจำชาติได้ จะต้องอาศัยหลักที่สำคัญ ๓ ประการ คือ จะต้องมีศรัทธา มีอุดมการณ์ และ มีปณิธานที่แน่วแน่ หลักทั้งสามนี้จะทำให้นักศึกษาสามารถสร้างงานให้เป็นอมตะ จนกลายเป็นศิลปะที่ดำรงอยู่คู่กับชาติได้
“ ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญ ศิลปินผู้สร้างงานจะต้องมีศรัทธาต่องานที่จะสร้างขึ้นมา เมื่อเรามีศรัทธาจึงทำให้เรามีอุดมการณ์ และอุดมการณ์นี่แหละเป็นที่มาของปณิธาน ในที่สุดงานศิลปะที่ศิลปินสร้างขึ้นมาด้วยปณิธานที่แน่วแน่ ก็จะกลายเป็นอมตะขึ้นมาให้ได้”
ปาฐกถาธรรม โดยพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในอดีตเมื่อครั้งที่ท่านเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการและปาฐกถาธรรม ในหัวข้อพิเศษ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับศิลปะไทย” วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐
ท่านพระอาจารย์กล่าวปาฐกถาธรรมต่อมาว่า “แต่สิ่งที่น่าแสดงความยกย่อง ก็คือ วันนี้ นักศึกษาได้นิมนต์พระสงฆ์มาเปิดนิทรรศการศิลปะ ขอให้ท่านผู้เป็นครูอาจารย์ทั้งหลาย ได้ดีใจกับลูกศิษย์ที่ท่านทั้งหลายสอนเขามา ซึ่งเป็นผลผลิตจากสถาบันศิลปะแห่งนี้ เมื่อลูกศิษย์ของท่านทั้งหลาย จะแสดงศิลปะได้นิมนต์พระมาปิดงาน ที่จริงควรจะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง แต่ลูกศิษย์ของท่านทั้งหลายก็เลือกที่จะนิมนต์พระมาเปิดงาน เมื่อสักครู่นักศึกษากล่าวรายงาน ก็บอกว่า เป็นการแสดงศิลปะของนักศึกษาที่จบจากคณะศิลปะประจำชาติ และศิลปหัตถกรรม ลึกซึ้งนะสองคำนี้
“โดยเฉพาะคำว่า ศิลปะประจำชาติ นี้ลึกซึ้ง แค่คำๆ เดียวก็มีความลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งเพราะคำว่า ศิลปะประจำชาติ มีที่มาที่ไป แสดงถึงความเป็นรากเหง้าของชนชาติไทยของเรามีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา ที่สำคัญก็คือ นักศึกษาทุกคนกำลังจะจบการศึกษา กำลังจะเดินออกจากสถาบันการศึกษาแห่งศิลปะนี้ และเมื่อออกไปแล้ว สิ่งที่ต้องนักศึกษาทุกคนต้องเผชิญในการนำความรู้ไปใช้ก็คือ จะต้องไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญของศิลปะประจำชาติ ก็คือ วัด นั่นเอง ดังที่กล่าวไปข้างต้น เพราะวัดเป็นรากเหง้า เป็นรากฐานที่สำคัญของศิลปะไทย เมื่อเราจะทำงานด้านศิลปะ เราจึงต้องกลับไปหารากเหง้าของตัวเองก่อน
“พระอาจารย์เดินเข้ามาก็ได้เห็นงานศิลปะที่จัดแสดงหลากหลายชิ้นงาน ล้วนบ่งบอกถึงความคิดที่เชื่อมโยงอยู่กับมิติทางพระพุทธศาสนา แน่นอนว่า กว่าจะเกิดงานแต่ละชิ้นขึ้นมาได้ ล้วนผ่านกระบวนการทางความคิด และความคิดนั้นก็ถูกหล่อหลอมมาจากครูบาอาจารย์ ที่ท่านบ่มเพาะเราขึ้นมา โดยศรัทธาที่ครูบาอาจารย์ท่านมีต่องานศิลปะไทย แล้วก่อกำเนิดเป็นงานศิลปะที่เราเห็น สิ่งเหล่านี้จะเป็นทางให้เราได้สร้างงานให้กับประเทศชาติในอนาคตข้างหน้า แต่สิ่งที่ควรจะตระหนักไว้ ก็คือ วันนี้ เราจบการศึกษา และเรากำลังจะเดินออกจากสถานที่ที่เป็นสถาบันการศึกษา เมื่อออกไปจากสถาบันแห่งนี้แล้ว เราจะต้องไปเกี่ยวข้องกับวัด
“โดยประสบการณ์ของอาตมา เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ในขณะนั้นที่วัดสระเกศได้ซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง ก็มีลูกศิษย์จากเพาะช่างไปเขียนซ่อมภาพอยู่ที่วัด ประมาณสิบกว่าคน ในจำนวนสิบกว่าคนนั้น หลังจากเขียนภาพที่วัดสระเกศเสร็จแล้ว บางคนก็เดินตามเส้นทางศิลปะต่อ บางคนก็ไปยึดอาชีพอื่น และบางคนทางวัดก็ยังใช้ให้ทำงานอยู่ อย่างเช่น ทวิช สังข์อยู่ ที่มาดูแลการเปิดงานในวันนี้ ก็ยังช่วยทำงานซ่อมจิตรกรรมฝาผนังอยู่ที่วัดสระเกศ ยังช่วยดูแล ยังเป็นศูนย์กลาง คอยเป็นตัวเชื่อมศิษย์รุ่นพี่ไปสู่รุ่นน้อง ผู้ที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่ๆ รุ่นครูบาอาจารย์ ก็ไปมาหาสู่อยู่ที่วัดสระเกศเป็นประจำ การที่นักศึกษาจบการศึกษาไปแล้ว และได้ใช้ความรู้ความสามารถดังกล่าวนี้ ก็เป็นเหตุให้กล่าวได้ว่า ได้ใช้วิชาศิลปะให้เป็นประโยชน์กับสังคม เพราะได้สร้างศิลปะให้กับประเทศชาติบ้านเมือง”
ล้อมกรอบ
๗. การดำเนินจิตในสมาธิ จนเห็นความไม่เที่ยงของความคิด
ในบันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดยพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น อธิบายในบท “ความเป็นผู้ฉลาดในอารมณ์ของสมาธิ” ต่อมาว่า หลังจากเข้าสู่สมาธิระดับหนึ่งแล้ว จิตเลิกให้ความสนใจลมหายใจ ไปให้ความสนใจกับความสงบแทน แต่เป็นลำดับจิตที่เคลื่อนไปตามธรรมดาของจิตที่ถูกฝึกหัดจนรู้ทางของตัวเองแล้ว
พอทำความเพียรจนได้ที่ ก็หยุดกำหนดลมหายใจ จิตเป็นอุเบกขาถึงความเป็นกลาง ก็ดูความว่างไปเรื่อย เมื่อความคิดเกิดขึ้นก็พิจารณาความคิด พิจารณาความไม่เที่ยงของความคิดที่สลับหมุนเวียนกันเกิดขึ้น อันแสดงความไม่เที่ยงของความคิด หรือความไม่เที่ยงของจิต
เมื่อความคิดนี้เกิดขึ้น ความคิดนี้ก็ดับไป แล้วความคิดอย่างใหม่ก็เกิดขึ้นมาแทนที่ แล้วก็ดับไป วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ก็เพ่งพิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปของความคิดอยู่อย่างนี้ บางความคิดก็จะเห็นความชอบเกิดขึ้น (สุขเวทนา) บางความคิดก็จะเห็นความชังเกิดขึ้น (ทุกขเวทนา) บางขณะก็จะเกิดภาวะสุกสว่างไสวนิ่งราบเรียบเป็นเอกภาพ มีความเป็นใหญ่ในตัวเอง (มหตัคคะ)
ความชอบ ความชัง ความยินดี ความยินร้าย ความไม่สบายใจที่เกิดจากความยึดถือก่อตัวขึ้นจากส่วนผสมพื้นฐานแห่งโลภะ โทสะ โมหะ มีตัณหาเป็นหัวเชื้อและมีอุปาทานเป็นส่วนยึดผนึกแน่น
บางขณะจิตก็ยกธรรมขึ้นพิจารณา พิจารณาในสติปัฏฐาน คือ การขบคิดเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ๔ (กาย เวทนา จิต ธรรม)
สัมมัปปธาน ๔ คือ พิจารณาถึงคุณของความเพียร (สังวรปธาน ปหานปธาน ภาวนาปธาน อนุรักขนาปธาน)
อิทธิบาท ๔ คือ พิจารณาถึงทางที่จะให้เกิดความสำเร็จในการลงมือปฏิบัติสมาธิ(ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)
อินทรีย์ ๕ คือ พิจารณาถึงธรรมที่เป็นใหญ่ในอารมณ์ทั้งปวงว่าต้องให้จิตประกอบด้วยอารมณ์เหล่านี้จึงจะครอบอารมณ์ฝ่ายอกุศลอื่นๆ ได้ และทำให้สำเร็จกิจในอริยมรรค(สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์)
พละ ๕ คือ พิจารณาถึงธรรมเป็นกำลังสนับสนุนอริยมรรค (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)
โพชฌงค์ ๗ คือ พิจารณาธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ (สติ ธัมมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสิทธิ สมาธิ อุเบกขา)
และมรรค ๘ (สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตา สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
ต่อมาก็พิจารณาความไม่เที่ยงในขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) พิจารณาในอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) และอายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) เป็นต้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง จนสมาธิเริ่มอ่อนกำลังลง เป็นเหตุให้นิวรณ์เริ่มแทรกเข้ามารบกวน ก็กลับไปเติมสมาธิด้วยการดูลมหายใจ จนจิตเข้าถึงความเป็นกลาง ก็กลับมาดูจิตต่อไป เหมือนนกที่บินร่อนอยู่ในอากาศ พอลมใต้ปีกจะหมดก็ขยับปีกกินลมทีหนึ่งก็ร่อนต่อไป การดำเนินจิตในสมาธิก็เช่นเดียวกัน
(โปรดติดตามตอนต่อไป วันอังคารหน้า)
รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๔๑ “ศรัทธา อุดมการณ์ และปณิธานสร้างสรรค์วิชาศิลปะให้เป็นประโยชน์กับสังคม “
(หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒)
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์