ในวันแห่งความรักจะมาถึง จึงขอน้อมนำความรักจากครอบครัวของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในครั้งนั้น ตั้งแต่วัยเยาว์เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน มาเล่าสู่กันฟัง พร้อมกับสัจธรรมแห่งความทุกข์จากความพลัดพรากที่ท่านพบ นี้เอง เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้มโนปณิธานในการดำรงสมณเพศดำเนินมาได้จนถึงทุกวันนี้

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(ตอนที่ ๑๗) ความรักอันยิ่งใหญ่ในวัยเยาว์

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า)
โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า)

ดังที่ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ในครั้งนั้นเล่าต่อมาว่า ที่จริง หลังจากบวช โยมที่บ้านก็เป็นห่วงว่า จะอยู่ไหวไหม ต่อไปจะอยู่อย่างไร ยิ่งโยมแม่ใหญ่ ยิ่งบ่นเป็นห่วงตลอด 

“เมื่อตอนอาตมาย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพ ก็คอยถามลูกถามหลานว่า กรุงเทพอยู่ทางไหน แล้วก็หันไปมองทางนั้นอยู่เสมอ คงเผื่อว่า หลานจะกลับมาทางนั้น

“เสื้อผ้าชุดสุดท้ายที่อาตมาใส่ก่อนบวชเณร โยมแม่ใหญ่เป็นคนเก็บไว้เอง พับวางไว้ในมุ้งข้างที่นอน ต้นมะม่วงข้างเถียงนาที่อาตมาปลูกก่อนบวช โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่)  โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) ก็คอยรดน้ำใส่ปุ๋ยดูแลไว้อย่างดี จนโตได้ออกลูก เป็นสิ่งแทนความรักความผูกพันที่โยมทั้งสองมีต่อหลาน  สุดท้าย คนเราแม้จะมีความผูกพันเช่นนี้  ก็มีวันแห่งความพลัดพราก แล้ววันหนึ่งโยมพ่อใหญ่กับโยมแม่ใหญ่ก็จากไปด้วยวัยชรา เห็นได้ชัดว่า ชีวิตคนเราไม่เหลืออะไรเลย  โยมทั้งสองไปไหนแล้วก็ไม่รู้ แต่เราคนข้างหลัง ลูกหลานก็ยังมีความห่วงหาอาทร เลยเกิดความเข้าใจว่า ถึงที่สุด แม้จะมีความรัก ความผูกพันเพียงใด สุดท้ายก็ต้องจากกัน ความเป็นพ่อ ความเป็นแม่ ความเป็นพี่ ความเป็นน้อง ความเป็นญาติสนิท มิตรสหาย

โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่) 

“ลองหลับตาพินิจให้ลึกลงไป เมื่อจากกันแล้วก็ไม่เหลืออะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ไม่รู้ว่า ใครจะเข้าใจคำนี้มากน้อยเพียงใด แต่เฉพาะอาตมาเข้าใจว่า มันไม่เหลืออะไร  แม้แต่ความรัก จะรักกันมากเพียงใด สุดท้าย สายใยแห่งความรักความผูกพันก็ขาดลง หลังตายจากกัน และเมื่อตายจากกันแล้ว จะไปแสวงหากันที่ไหน จะพบเจอกันได้อย่างไร ที่จะพบจะเจอกัน ไม่มีอีกแล้ว … 

“เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีชีวิตอยู่ จึงไม่มีอะไรดีไปกว่า ขอให้ทำดีต่อกัน ให้ตั้งความปรารถนาดีต่อกัน ให้เมตตากัน ให้เกื้อกูลเอื้ออาทรกัน แต่เป็นการทำดีเท่าที่ทำได้ ตามฐานานุรูป ของแต่ละคนแต่ละท่าน แม้พระเองก็ต้องตั้งอยู่ในความกตัญญ ดูแลโยมพ่อ โยมแม่ ตามฐานะที่ทำได้ ด้วยการสงเคราะห์โดยธรรม เรื่องการสงเคราะห์ญาติ พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า “ญาติสังคหะ” ธรรมข้อนี้แม้เป็นพระก็ต้องทำ”

เพราะความสูญเสีย ความพลัดพราก ที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ ทุกข์อย่างแท้จริง และไม่ใช่ทุกข์ธรรมดา

ดังที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์เล่าต่อมาว่า ความสูญเสีย ความพลัดพราก เป็นสิ่งที่เข้าใจว่า มันเป็นทุกข์สาหัสสากรรจ์ และทุกข์นี้ คิดให้ลึกลงไป หากถึงวันที่เราต้องเผชิญเข้าบ้าง เช่น พ่อแม่ต้องมาสูญเสียลูกตั้งแต่อายุยังน้อย หรือลูกต้องมาสูญเสียพ่อแม่ ต้องมาสูญเสียคนรักคนผูกพัน เราจะแบกรับมันไหวไหม เอาแค่ลูกเจ็บป่วย พ่อแม่ยังแทบหัวอกระเบิด ไม่เป็นอันอยู่อันกินแล้ว

 โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) กับ พระมหาเทอด ญาณวชิโร ในขณะนั้น
โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) กับ พระมหาเทอด ญาณวชิโร ในขณะนั้น

นี่คือ ความทุกข์เพราะความพลัดพราก

“ ที่จริง ทุกข์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเหมือนสุข สลับขั้วกันไปมา แต่คนเราไม่มีใครปรารถนาทุกข์ อยากให้สุขคงทนถาวร สิ่งสำคัญที่ต้องตั้งหลักให้ดี คือ ในปัจจุบันขณะ เมื่อทุกข์มา เราจะเรียนรู้ทุกข์ เราจะอยู่กับทุกข์ เราจะเข้าใจทุกข์ ไหวหรือไม่ไหว เราจะแบกรับมันให้ได้ 

“ถ้าเข้าใจ สุดท้ายก็จะยอมรับได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เข้าใจ ไม่เคยผ่านทุกข์  ไม่เคยเรียนรู้ทุกข์ และถึงแม้คนที่เข้าใจ เมื่อต้องประสบกับทุกข์ แม้จะรับไม่ได้ในชั่วขณะหนึ่งขณะใดที่ประสบ แต่ความเป็นผู้คงที่ มีหลักยึด ก็จะช่วยให้กลับมายืนอยู่ได้

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น   กับ โยมพ่อ (คุณพ่อเกิน วงศ์ชะอุ่ม) และโยมแม่ (คุณแม่หนูเพชร วงศ์ชะชะอุ่ม )
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
กับ โยมพ่อ (คุณพ่อเกิน วงศ์ชะอุ่ม) และโยมแม่ (คุณแม่หนูเพชร วงศ์ชะชะอุ่ม )

“บาลีว่า ตาทิโน ความเป็นผู้คงที่ ทำจิตให้คงที่ คือ ทำตัวให้ชินกับความทุกข์ และสิ่งที่จะช่วยให้เรามีหลักยึด ก็คือ มุมมอง หรือทัศนคติ เป็นสิ่งที่สำคัญ แม้ว่าสิ่งรอบข้าง มันจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อใดที่เรามีมุมมองที่ชัดเจน โดยท่าทีที่มั่นคง มีทัศนคติที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความเข้าใจ ก็จะไม่หวั่นไหว

“เหมือนกับศิลาที่เป็นแท่งทึบ หรือภูเขาที่เป็นหินล้วน แม้จะถูกลมพายุพัดกระหน่ำอย่างไร ก็ไม่ทำให้ภูเขาสั่นไหว เพราะทัศนคติ มุมมอง หรือท่าทีถูกทำให้ถูกต้อง ชัดเจนแล้ว มุมมองถูกปักลงไป เป็นมุมมองที่คงที่ มีความเสถียรทางความคิด 

ถ้าคนเราเข้าใจเช่นนี้ กระแสข่าวจะเป็นอย่างไร ชีวิตแวดล้อมจะดำเนินไปอย่างไร แม้แต่ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้เราหวั่นไหวในเป้าหมายได้ หากเรามีท่าที มีทัศนคติที่มั่นคง ก็คือ เรามีศรัทธาที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว เป็นอจลศรัทธา นั่นเอง”

ทั้งหมด อะไรที่ทำให้ท่านมีความมั่นคงทางใจเช่นนี้ …

“ สมัยก่อน โยมพ่อ (คุณพ่อเกิน วงศ์ชะอุ่ม) เคยสอนว่ายน้ำ ตอนเด็กๆ ไม่กี่ขวบ เวลาน้ำในแม่น้ำมูลขึ้นสูงในหน้าน้ำ มองไปทางไหนก็ไม่เห็นฝั่ง

โยมพ่อใช้ความกลัว เพื่อสร้างความกล้าให้อาตมา โยมพ่อใช้มือทั้งสองจับตัวอาตมาให้ลอยอยู่เหนือน้ำ ให้กางมือกางเท้าออก แล้วบอกว่าให้มองไปข้างหน้า เมื่อมองไปข้างหน้าก็ไม่เห็นฝั่ง เพราะน้ำบุ่งสระพังเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันกับแม่น้ำมูล น้ำท่วมเยอะมาก แล้วโยมพ่อก็ปล่อยมือจากตัวอาตมา มือและเท้าของอาตมาก็ตะเกียกตะกายตีน้ำ เพราะว่ายน้ำยังไม่เป็น ยิ่งตีน้ำก็ยิ่งจมลงๆ พอจมลงไป โยมพ่อก็จับยกขึ้นมาพยุงให้ลอยอยู่เหนือน้ำ บอกว่า มองไปข้างหน้า แล้วก็ปล่อยลงไปอีก ทำอยู่อย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า วันแล้ววันเล่า

ในที่สุด เมื่อถูกฝึกบ่อยๆ ก็รู้วิธีการประคองตัวในน้ำได้ ไม่ต้องตีน้ำ ที่ตีน้ำในตอนแรกเพราะความกลัว ยิ่งตีก็ยิ่งค่อยๆ จมลง พอนานๆ ไปก็เข้าใจและรู้วิธี แค่ประคองเฉยๆ แทบไม่ต้องทำอะไรก็ลอยตัวไปได้ นั่นคือการสอนว่ายน้ำของโยมพ่อ ที่ไม่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไร แต่ก็ทำให้อาตมาพบวิธีว่ายน้ำด้วยตัวเอง”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น

ท่านเจ้าคุณอาจารย์บอกว่า ที่เล่าเรื่องนี้เพราะกำลังจะอธิบายว่า มนุษย์เรามีศักยภาพที่จะทำอะไรได้หลายอย่าง ให้ขุดศักยภาพของตนเองออกมา เพียรฝึกฝนและทำหน้าที่ตามศักยภาพนั้น พระก็มีหน้าที่ของพระ ขณะเดียวกัน หน้าที่ของพระก็เป็นเรื่องที่อยู่ภายในตัว แต่ก็ก็ต้องไปเกี่ยวข้องอยู่กับการปกครองของคณะสงฆ์  และเชื่อมอยู่กับสังคมในทุกมิติ ตั้งแต่ครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชน จนถึงประเทศชาติบ้านเมือง และขยายกว้างออกไปจนถึงนานาชาติ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น

“ในฐานะเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปกครองคณะสงฆ์ ตามการมอบหมายของเจ้าคณะภาค ในฐานะเลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเกี่ยวกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกในประเทศ ตามมติมหาเถรสมาคม ในขณะนั้น

และในฐานะหัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ซึ่งคอยรับแนวคิดของประธานสำนักงานฯ มาแปรงเป็นวิธีสู่การปฏิบัติ เพื่อให้พระธรรมทูตที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศ สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น และมีผลสัมฤทธิ์การเผยแผ่บรรลุตามเป้าหมาย

“ทั้งหมดเป็นการนำงานปกครองตามหน้าที่มาเสริมให้เกิดงานเผยแผ่ ซึ่งเป็นมโนปณิธานตามอุดมการณ์  ให้งานปกครองกับงานเผยแผ่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการประคองความสมดุลของเรา เหมือนกับคนว่ายน้ำที่ลอยคออยู่ในน้ำได้ โดยใช้ความสมดุลทุกส่วนของร่างกายประคองตัวเองอยู่ในน้ำ”

จาก คอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๗  

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here