เมื่อย้อนไปในวันวาน แม้ผ่านไปเกือบสี่สิบปี หากทว่า ความทรงจำอันงดงามยังคงปรากฏในใจของผู้ฟังเสมอ เมื่อเด็กคนหนึ่งมีความปรารถนาจะเป็นพระและมุ่งมั่นในการเป็นพระที่ดีมาโดยตลอด เพราะการที่จะเกิดมีพระสุปฏิปันโนสักรูปหนึ่ง เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใชเ่รื่องบังเอิญ การที่เราเหล่าพุทธบริษัทช่วยกันรักษาพระสงฆ์สุปฏิปันโนไว้ ก็เท่ากับรักษาพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบให้ยืนยาวเพื่อช่วยชีวิตผู้คนให้พ้นทุกข์ไปตราบนานเท่านาน
ดังมโนปณิธานท่านพระอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนหนึ่งว่า “…จะเกิดอีกกี่ชาติก็จะบวชเป็นพระ …”
ความเป็นพระนั้นสำคัญเพียงใด …
(๔) เณรน้อยในป่าใหญ่
เด็กชายเทอด วงศ์ชะอุ่ม ในวัยเยาว์ มีหน้าที่เก็บดอกไม้ตามที่โยมแม่ใหญ่สอนไว้เพื่อวางไว้บูชาพระที่หัวนอน และเก็บดอกไม้ไปวัดในวันพระ คราวที่แล้ว ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์( เทอด ญาณวชิโร) เล่าว่า เวลาพระย่ำกลองฟังแล้วไพเราะจับใจ เด็กๆ ชอบฮัมปากไปตามจังหวะเสียงพระย่ำกลอง สะท้อนไปตามสายน้ำ ทุ่งนา ป่าไม้ พอตอนเช้าก็มีเสียงระฆังดังสะท้อนมาอีก บอกว่าพระจะออกบิณฑบาต เสียงระฆังกังวานไพเราะไม่แพ้เสียงย่ำกลอง
“อาตมาในวัย ๑๒- ๑๓ ปี โดยส่วนตัวก็อยากบวช ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าการบวชเป็นอย่างไร ในตอนนั้นก็เป็นความหวังของโยมพ่อ และโยมแม่ จึงไม่ง่ายเลยที่จะบวช เช่นเดียวกับเด็กๆ ในครอบครัวอื่นๆ”
“วันหนึ่งเลยประท้วงไม่กินข้าวทั้งวัน นอนซุกตัวอยู่ในผ้าห่มตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ได้ยินเสียงโยมพ่อกับโยมแม่คุยกันว่าให้บวชเถอะ บวชไม่เกิน ๗ วันก็คงจะสึก แล้วเรียกให้มากินข้าว แต่มีข้อแม้ว่า ต้องหาเพื่อนบวชด้วยกันอีกหนึ่งคนให้ได้ก่อน จึงจะให้บวช”
พอโยมพ่อบอกกับท่านอย่างนั้น เด็กชายเทอดดีใจกระโดดออกมาจากเรือนวิ่งออกจากบ้านตั้งใจไปชวนเพื่อนบวช จะเป็นด้วยความบังเอิญหรืออย่างไร เพื่อนของท่าน เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว และอยากบวชเหมือนกัน จึงขอแม่บวช แม่ไม่ยอมให้บวช พอดีพ่อของเพื่อนท่านเสียชีวิตไปแล้ว เหลือแต่แม่ แล้วแม่ไม่ให้บวช เพื่อนของท่านจึงไปแอบหลบอยู่ที่เล้าไก่ ตามหาเท่าไรก็ไม่เจอ จนแม่ของเพื่อนท่านต้องไปหาหมอธรรมมาช่วยนั่งทางในตามหาจนพบ จึงอนุญาตให้บวช แต่มีข้อแม้ว่า ต้องหาเพื่อนมาบวชด้วย จึงจะให้บวช
ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด บอกว่า ช่างเป็นเรื่องบังเอิญเสียนี่กระไร
“เพื่อนก็ดีใจ วิ่งออกจากบ้านจะมาชวนอาตมาบวช ต่างคนต่างวิ่งมาเจอกันกลางทางพอดี ต่างคนต่างถามกัน ก็รู้ว่า จะไปชวนกันบวช ทำไมเวลาตรงกันขนาดนั้น ทำไมเหตุการณ์ไม่เกิดขึ้นเหลื่อมเวลากันสัก ๓ นาที ๕ นาที เป็นเรื่องที่ว่าอัศจรรย์ก็อัศจรรย์ จะบังเอิญก็บังเอิญ”
จากนั้นโยมพ่อและผู้เฒ่าในหมู่บ้านก็พาเด็กชายเทอดไปฝากตัวเป็นนาคที่วัดปากน้ำ เพื่อเตรียมตัวบวช
การเตรียมบวชท่านต้องฝึกหัดท่องขานนาค ฝึกหัดรับบาตร ประเคนของพระ เก็บดอกไม้สำหรับให้พระบูชาตอนทำวัตร ตั้งกาน้ำฉันอุปัฏฐากพระ
ท่านเล่าให้ฟังต่อมาว่า หลวงพ่อท่านตั้งใจให้เป็นผ้าขาวสักสิบวัน แต่ในวันที่สามก็ให้บวชเลย
“ท่านบอกว่าท่องขานนาคได้แล้ว ท่านก็จัดการโกนผมให้ แล้วนั่งซ้อนท้ายจักรยานโยมพ่อไปอีกสี่กิโลเมตรเพื่อไปบวชที่วัดกุดลาด ซึ่งเป็นวัดมีพระอุปัชฌาย์ พอบวชเสร็จแล้วก็นั่งซ้อนท้ายจักรยานโยมพ่อกลับมาอยู่ที่วัดปากน้ำ จ.อุบลราชธานี “
นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความฝันที่อยากจะบวชของเด็กชายคนหนึ่งเมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว กว่าจะมาเป็น พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) วัย ๔๖ ปี พรรษาที่ ๒๔ ในวันนี้
หลังจากสามเณรเทอด บรรพชาได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุผันผวนทำให้ท่านต้องไปอยู่ป่า อุปัฏฐากพระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ถึงสี่ปี
แต่ก่อนที่จะไปเรียนรู้วิถีการภาวนาในป่าสมัยเป็นเณรน้อยของท่านกับครูบาอาจารย์ ท่านเล่าประวัติในช่วงที่อยู่กับหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของท่านรูปแรก ให้ฟัง ซึ่งทำให้ท่านแตกฉานในบาลีในเวลาต่อมา
“เมื่อบวชได้หนึ่งพรรษาเรียนนักธรรมชั้นตรี ฝึกท่องบทสวดมนต์และฝึกอ่านอักษรธรรมสำหรับเทศน์ตามประเพณีอีสาน การเรียนอักษรธรรมเริ่มจากผูกปัญญาบารมี แล้วต่อด้วยผูกอื่นๆ
“หลังฉันเช้าเสร็จต้องมาต่อหนังสือจากหลวงพ่อ เพราะหนังสือผูกมีไม่พอสำหรับสามเณรทุกรูป มีแต่เฉพาะหลวงพ่อ การต่อหนังสือ คือ วิธีว่าตามเป็นตอนๆ แล้วไปท่องให้ขึ้นใจ จำได้แล้วจึงต่อท่อนต่อไป ถ้าใครยังจำไม่ได้ก็ให้ว่าของเดิมให้ได้ก่อน
“พอเข้าพรรษาที่สอง หลวงพ่อต้องการให้ได้เปรียญจึงส่งไปเรียนบาลี แต่มีเหตุต้องให้ย้ายกลับมาหลังออกพรรษา และได้ข่าวว่า โยมพ่อกับโยมแม่อยากให้สึก แต่โยมทั้งสองไม่กล้าบอกเณรด้วยตัวเอง ได้แต่เพียงพูดเปรยๆ ผ่านคนอื่นมา ซึ่งในใจขณะนั้นยังไม่คิดอยากสึก เป็นเหตุให้ตัดสินใจไปอยู่กับพระอาจารย์มหามังกรในป่า ซึ่งก็คือวัดร้างที่ไม่มีชาวบ้านกล้าล่วงล้ำกล้ำกลายเข้าไป”
ณ วัดร้างริมแม่น้ำมูล มีเรื่องราวกรรมฐานมากมาย ที่สามเณรเทอด ได้เรียนรู้จากพ่อแม่ครูอาจารย์ และการอยู่เพียงลำพังเป็นบททดสอบอันวิเศษที่ทำให้ท่านก้าวข้ามความกลัวได้อย่างไร
(จากคอลัมน์ มโนปณิธาน โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ )