ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์  (เทอด ญาณวชิโร) เทศน์อบรมสามเณร ปี ๒๕๖๐
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เทศน์อบรมสามเณร ปี ๒๕๖๐

ผู้เขียนจำได้เสมอ…

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์  (เทอด ญาณวชิโร) สอนว่า เวลาทำอะไรก็ตามให้เอาธรรมะนำ และทำให้เต็มกำลังความสามารถของเรา เพราะเมื่อเวลามองย้อนกลับไปก็จะมีปีติหล่อเลี้ยงใจเสมอ

ดังที่ท่านทำหน้าที่ทุกอย่าง ทั้งการภาวนาส่วนตน และการทำหน้าที่ดูแลคณะสงฆ์ ตลอดทั้งงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่อยู่บนบ่าทั้งสองของท่านอย่างเต็มกำลังมาโดยตลอด และท่านยังมองทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตมุมบวกเสมอ ท่านว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นจุดสำคัญที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยสติและปัญญาในการทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาแล้วอย่างเต็มกำลังต่อไป

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จึงกลับมา เพื่อเป็นพลังกำลังใจของผู้เขียน และผู้อ่านที่เดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน …เส้นทางแห่งการฝึกตนตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกว่าจะพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(ตอนที่ ๓๖) บูรพาจารย์กับการดำเนินชีวิต และ ปีติ หล่อเลี้ยงใจ

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

เมื่อมองย้อนกลับไปครั้งที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลกุฏิคณะ ๗ และกุฏิที่ท่านอยู่นั้นก็เคยเป็นกุฏิที่พักของหลวงพ่อพริ้ง โกสโล พระวิปัสสนาจารย์องค์สำคัญของเกาะสมุย ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อสมเด็จตั้งแต่ท่านบวชเป็นเณรน้อย เวลามาวัดสระเกศ  หลวงพ่อพริ้งก็จะมาพักที่กุฏินี้

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

และคณะ ๗ นี้ก็เป็นคณะที่ต้องดูแลพระนวกะของวัดสระเกศด้วย โดยมากบุตรหลานชาวบ้านที่บวชเป็นพระนวกะที่วัดสระเกศก็จะอยู่ที่คณะ ๗ นี้ โดยมีอาจารย์เจ้าคุณเป็นพระพี่เลี้ยง

การเป็นพระพี่เลี้ยงอาจดูเหมือนเป็นงานเล็กๆ ที่ดูไม่สลักสำคัญอะไรเมื่อเปรียบเทียบกับงานคณะสงฆ์ด้านอื่นๆ แต่กลับเป็นงานที่หลวงพ่อสมเด็จให้ความสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ 

“ท่านจะคอยถามไถ่ถึงการเป็นอยู่ของพระใหม่อยู่ตลอด หลวงพ่อสมเด็จสอนเสมอว่า พระพี่เลี้ยงเป็นงานปลูกศรัทธาให้ลูกหลานชาวบ้านที่เข้ามาสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ใหม่ๆ จะได้รับความอบอุ่นใจ และได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเข้าใจ

“พระพี่เลี้ยงที่ดีจะปล่อยให้พระใหม่เคว้งคว้างว้าเหว่ไม่ได้ จะต้องเป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งพระพี่เลี้ยง เป็นทั้งครูบาอาจารย์ไปพร้อมๆ กัน เพื่อเขาจะได้เห็นคุณของพระศาสนา จะได้รักวัดรักพระศาสนา เหมือนชาวนาปักดำข้าวกล้าที่ยังอ่อนๆ จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี

 ต่อมา เมื่อหลวงพ่อสมเด็จมรณภาพ ท่านก็ได้มาดูแลคณะ ๕ ซึ่งเป็นกุฏิหลวงพ่อสมเด็จ ท่านได้เล่าให้พระเณรฟังในวันครบรอบวันมรณภาพของพระธรรมเจดีย์ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ตอนหนึ่งว่า

“พระธรรมเจดีย์ เป็นพระอาจารย์หลวงพ่อสมเด็จ (สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)) หลวงพ่อสมเด็จท่านให้ความเคารพครูบาอาจารย์มาก เราทุกคนคงทราบกันดีว่า หลวงพ่อสมเด็จมีความกตัญญูสูงมาก 

” และท่านก็ให้ความสำคัญกับความกตัญญูด้วยการปฏิบัติให้เราเห็น ไม่ว่าในโอกาสใดก็ตาม เวลาท่านพูดกับพระเณร ท่านจะพูดเรื่อง พระอาจารย์ของท่าน ก็คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ สูงขึ้นไปจนถึงสมเด็จปู่ คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)”

“ตลอดเวลาที่พวกเรามาอยู่วัดสระเกศ จะเห็นว่า หลวงพ่อสมเด็จจะปลูกฝังพวกเราให้เห็นความสำคัญของบูรพาจารย์เสมอ อย่างเช่นวันนี้ วันมรณภาพของพระธรรมเจดีย์ ท่านจะเน้นให้สามเณรมา จะไม่เน้นพระ เพื่อท่านจะถือโอกาสนี้เล่าให้สามเณรฟัง เพื่อปลูกฝังสามเณร ให้เห็นว่า บูรพาจารย์ มีความสำคัญอย่างไร”

อาจารย์เจ้าคุณเล่าว่า

“ตอนที่หลวงพ่อสมเด็จให้อาตมาท่องปาฏิโมกข์ ท่านก็เรียกอาตมามานั่งศาลาเรือนไทยตรงนี้ แล้วก็บอกให้ไปท่องปาฏิโมกข์ แล้วก็กลับมาทวนให้ท่านฟังวันละข้อ  ท่านก็เล่าให้ฟังเพื่อให้เราเกิดศรัทธาและเกิดกำลังในการท่องว่า ผู้ที่สวดปาฏิโมกข์ได้เกิดทุกชาติจะเป็นผู้นำคน แม้จำต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็จะเป็นผู้นำฝูงทุกภพชาติ

” เจ้าคุณธรรมเจดีย์ให้ท่านท่องปาฏิโมกข์ตั้งแต่บวชพระพรรษาแรก ท่านบอกว่า ต้องท่องให้ได้ ต้องได้ขึ้นสวดตั้งแต่พรรษาแรก ถ้าพรรษาแรกสวดไม่ได้ ก็จะไม่ได้ หลวงพ่อสมเด็จจึงมีความพยายาม และก็สวดได้ในพรรษาแรกที่บวชเป็นพระ พอท่องปาฏิโมกข์ได้ พระอาจารย์ของท่านก็ให้ขึ้นสวด

“จำได้คำหนึ่งว่า ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์บอกหลวงพ่อสมเด็จว่า แกขึ้นสวดได้ จึงได้ขึ้นธรรมาสน์สวด ตอนท่องจะต้องทวนกับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์จนมั่นใจว่าสวดได้ ท่านจึงให้ขึ้นสวดได้”

“อาตมาเองตอนท่องปาฏิโมกข์ก็มาทวนกับหลวงพ่อสมเด็จ พอเย็นๆ ท่านว่าง ก็ลงจากคณะ ๗ มาคณะ ๕ มาสวดให้ท่านฟัง แล้วก็ซ้อมกับท่านจนจบสังฆาทิเสส พอรู้แนว รู้วรรคตอนขึ้นลง รู้ท่วงทำนองการสวดแล้ว ท่านจึงปล่อยให้ไปท่องเอง”

“การที่หลวงพ่อสมเด็จสอนการสวดพระปาฏิโมกข์ ท่านสอนละเอียด เวลาสวดขึ้นอย่างไร ลงอย่างไร สวดไม่ต้องเร็ว สระให้ลอย สระสั้นเป็นสั้น ยาวเป็นยาว ต้องฟังให้ได้คำ จบเป็นข้อ เป็นวรรค ต้นช้า กลางเร็ว และจบช้า เหมือนท่วงทำนองรถไฟวิ่ง ก็เล่าให้ฟังว่า เพราะเรามีบูรพาจารย์ดี ท่านให้ความรัก ความเมตตาสืบทอดกันมา เมื่ออาตมามาดูแลคณะ ๕ สิ่งใดก็ตามที่หลวงพ่อสมเด็จท่านถือปฏิบัติ อาตมาก็ปฏิบัติอย่างนั้น เพื่อให้พระเณรเห็นว่า บูรพาจารย์ท่านมีความสำคัญอย่างไร”

การสวดปาฏิโมกข์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากไม่มีสมาธิที่ควรแก่การงาน ท่านอาจารย์เจ้าคุณอธิบายเรื่องการฝึกสมาธิของท่านไว้ในบันทึกการทำสมาธิในบทต่อมาว่า

ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ 

นับตั้งแต่ลืมตาดูโลก ภูเขาแห่งความคิดก่อตัวขึ้น ล้วนมีรากมาจากความทะยานอยาก เกาะอัดแน่นจนเป็นแท่งทึบไม่ต่างอะไรจากภูเขาหิมพานต์ ยากที่จะเจาะให้ทะลุหรือกระทบให้สะเทือนได้ ผู้ที่ต้องการทลายภูเขาแห่งความคิดจึงต้องเจาะเข้าไปให้ถึงรากความคิด คือตัณหา ด้วยวิธีการปฏิบัติสมาธิ ปลุกสติสัมปชัญญะให้ค่อยๆ ตื่นรู้ขึ้นมา ปิดตานอกเปิดตาใน ปิดความรู้เก่าเปิดความรู้ใหม่ คอยสกัดกั้นไม่ให้ความคิดก่อตัวขึ้นแล้วขยายใหญ่โต จนยากที่จะทลายได้โดย ให้สติทำหน้าที่ตัดทอนความคิด

“การฝึกสมาธิจึงเป็นการฝึกจิตให้ระลึกรู้ทุกครั้งที่ความคิดก่อตัวขึ้นมาภายในใจ ไม่ว่าจะคิดดีหรือคิดร้ายก็มีสติระลึกรู้ “

” พอรู้แล้วความคิดก็จะหยุดลงทันที ทดลองบอกตัวเองว่า ให้คิดเรื่องที่คิดไปเมื่อสักครู่ที่ผ่านมาดูอีกที จิตก็จะนิ่งๆเฉยๆ ไม่คิดเรื่องนั้น เพราะจิตถูกรู้แล้ว แต่เมื่อเผลอเลอขาดสติขาดความรู้สึกตัวก็จะไปคิดเรื่องอื่น หรือวนกลับไปคิดซ้ำเรื่องเดิม

“การเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิมีความสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของการเจาะเข้าไปหารากของความคิด ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ ก็คือฝึกสมาธิจนมีความชำนาญ ซึ่งจะต้องผ่านการนั่งบ่อยๆ จนรู้วิธีกำหนด จับจ้องให้ความสนใจอยู่ลมหายใจด้วยตัวเอง รู้ว่าลมหายใจเข้าเป็นอย่างไร ลมหายใจออกเป็นอย่างไร ขณะลมหายใจหยาบเป็นอย่างไร ขณะลมหายใจละเอียดเป็นอย่างไร ขณะลมหายใจหดหายไปเป็นอย่างไร เมื่อลมหายใจหดหายไป กายก็จะปรากฏเหมือนหายไปด้วย

จิตก็ชื่อว่าก้าวเข้าสู่ความว่างจากกาย ว่างจากความคิด ก็ดูความว่างต่อไป ฝึกจนมีความชำนาญในการเข้าสมาธิ จนถึงขนาดว่าแค่สติแตะลมหายใจไม่กี่ครั้งก็ตัดเข้าสู่ความสงบได้ ฝึกจนถึงขนาดว่าจะกำหนดลมหายใจหรือไม่กำหนดลมหายใจก็ได้ เพียงแค่กำหนดจิตลงไป ก็ตัดเข้าสู่ความสงบได้ทันที

“เมื่อฝึกจนชำนาญแล้ว ในที่สุดลมหายใจก็หมดความจำเป็น จะกำหนดลมหายใจหรือไม่กำหนดลมหายใจ ก็สามารถประคองจิตตัดเข้าสู่ความสงบได้ เรียกว่า ฉลาดในการเข้าสมาธิ”

เมื่อรู้หลักในการเข้าสมาธิแล้ว จนกระทั่งสมาธิเกิด นั่นล่ะ คือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่วิปัสสนา หรือ การเห็น กาย ใจ ตามความเป็นจริงนั้นเอง และการฝึกทั้งหมดนี้ ต้องมีครูชี้แนะ และการชี้แนะของท่านอาจารย์เจ้าคุณ ท่านก็เมตตาบันทึกไว้ให้เราท่าน ผู้ที่กำลังหาหนทางที่จะดับทุกข์ภายในใจอยู่เช่นกัน

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๓๖ บูรพาจารย์กับการดำเนินชีวิต และ “ปีติหล่อเลี้ยงใจ”

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here