การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ใน “ทศชาติ” ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งท่านพระอาจารย์ญาณวชิระ หรือ ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)ในครั้งนั้น เขียนขึ้นในปีพ.ศ.๒๕๔๙ ท่านให้ความสำคัญไม่เพียงการศึกษาจากพระไตรปิฎก หากยังอยู่ในวิถีการปฏิบัติของท่านในเพศบรรพชิตมาตลอดชีวิตของท่านด้วย

หนังสือ “ทศชาติ” ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ
หนังสือ “ทศชาติ” ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ

นับตั้งแต่บรรพชาเป็นสามเณรน้อยในวัยเพียงสิบสองสิบสามปี ท่านก็มีความตั้งใจที่จะเป็นพระ ดังในรำลึกวันวาน มโณปณิธานของท่านอย่างชัดเจนว่า

จะขอเกิดเป็นพระทุกชาติไป

เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ทางใจ ตามที่ได้เล่าไว้ในตอนแรกๆ มาจนถึงฉบับนี้ ซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครสักคนที่อาจมาอ่านเจอเข้า และแน่นอนว่าท่านเป็นแรงบันดาลใจต่อผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งที่นำจิตไปสู่การปฏิบัติตามรอยท่าน ตามรอยธรรมแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๓๒ “เมตตาบารมี” วิถีพระโพธิสัตว์  

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ฉบับนี้ก็เลยจะขอย้อนเวลาหาอดีตชวนท่านผู้อ่านท่องโลกด้านใน จากทศชาติชาดก ถึงหนังสือ “ทศชาติ” ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” กันต่อ ซึ่งตีพิมพ์ถึง ๘ ครั้ง ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๙ – พ.ศ.๒๕๕๗ เล่มนี้

เราจะมาเรียนรู้และวิถีการปฏิบัติกันในเรื่อง ทศบารมี ๑๐ ประการ อันได้แก่ ๑.ทานบารมี

๒.ศีลบารมี ๓.เนกขัมมบารมี ๔.ปัญญาบารมี ๕.วิริยบารมี ๖.ขันติบารมี ๗.สัจจบารมี ๘.อธิษฐานบารมี ๙. เมตตาบารมี และ ๑๐.อุเบกขาบารมี ที่พระโพธิสัตว์ในแต่ละชาติได้บำเพ็ญมาอย่างเอกอุ

โดยบารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ พระอาจารย์ญาณวิระอธิบายว่ามีลำดับขั้นของบารมีในการปฏิบัติ ดังนี้

อย่างธรรมดา เรียกว่า บารมี  พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณโดยไม่คำนึงถึงทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ แม้แต่คนที่พระองค์รัก

อย่างกลางเรียกว่า อุปบารมี ทรงบำเพ็ญพระโพธิญาณโดยไม่คำนึงถึงอวัยวะร่างกาย

และอย่างสูงสุด เรียกว่า ปรมัตถบารมี ทรงบำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณโดยไม่คำนึงถึงชีวิต เพราะทรงหวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิต จึงทรงสละได้แม้แต่ชีวิต ซึ่งบารมีทั้ง ๑๐ ประการ นี้พระโพธิสัตว์บำเพ็ญละเอียดขึ้นไปตามลำดับจนถึงขั้นสูงสุดรวมเป็น ๓๐ บารมี

ดังที่เราสวดสรรเสริญบารมีของพระพุทธเจ้าในบทสวด บารมี ๓๐ ทัศ อันเป็นยอดธรรมของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อนนั่นเอง

ฉบับนี้จึงขอยกเรื่องการปฏิบัติ “เมตตาบารมี” มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งมีอยู่ในหัวใจของพระโพธิสัตว์ทั้ง ๑๐ ชาติและมากกว่านั้น เพราะความเมตตาเป็นพื้นฐานจิตที่จะพัฒนาต่อไปจนเกิดความกรุณาอย่างไม่มีประมาณในการช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปอย่างไม่คิดถึงแม้แต่ชีวิตตนเอง  

ดังที่พระอาจารย์ญาณวชิระเขียนไว้ว่า ความเมตตาคือ ไมตรีจิต ความรัก ความปรารถนาดี ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจดีต่อกัน ต้องการทำประโยชน์สุขให้แก่เพื่อนมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย

เมตตาจัดเป็นธรรมพื้นฐานของใจขั้นแรก ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทำให้มองกันในแง่ดี หวังดีต่อกัน พร้อมที่จะรับฟัง และเจรจากันด้วยความเข้าใจ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีอคติ ไม่มีความโกรธ ความเกลียด เป็นที่ตั้ง เป็นหลักธรรมพื้นฐานสำหรับสร้างความสามัคคีและเอกภาพในหมู่ชน

 ประกอบด้วย

 เมตตากายกรรม การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

เมตตาวจีกรรม การพูดจากันด้วยถ้อยคำสุภาพอ่อนโยน ว่ากล่าวตักเตือนด้วยความหวังดี และจริงใจ  

เมตตามโนกรรม การมองกันในแง่ดี มีความปรารถนาดี มีความหวังดี มีความสงสาร มีความเห็นใจ อยากช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ คิดทำแต่สิ่งที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่กันและกัน อย่างสูงสุด มุ่งที่จะเห็นตนเองและผู้อื่นพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ จึงยอมสละทรัพย์สิน คนรัก อวัยวะ ร่างกาย หรือแม้กระทั่งชีวิต เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสรรพสัตว์ เป็นสิ่งที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ

“เมื่อพระพุทธเจ้า ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงปฏิบัติในเมตตาบารมีอย่างแรงกล้า ๓ ขั้นโดยลำดับแล้ว ดังนี้ ๑. เมตตาบารมี ทรงรักษาปฏิบัติเมตตาบารมีเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่ารักษาคนที่รักและทรัพย์สิน ๒.เมตตาอุปบารมี ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมียิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย และ ๓. เมตตาปรมัตถบารมี ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีอย่างสูงสุด ด้วยการรักษาเมตตาบารมียิ่งกว่าชีวิต คือ ทรงรักษาปฏิบัติในเมตตาบารมี เพื่อพระโพธิญาณยิ่งชีวิต

สังเกตได้ว่า ในทศชาติบารมี หรือร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ ของพระโพธิสัตว์ล้วนเกิดจากเมตตาบารมีเป็นที่ตั้งทั้งสิ้น จึงมีคำกล่าวว่า “เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก” เป็นเรื่องจริงโดยแท้  เป็นเหตุให้เรื่องราวของทศชาติเดินทางกาลเวลามาหลายพันปีมาจนถึงพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าเมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อน

พื่อเหตุผลประการเดียวคือ

ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิตให้พ้นทุกข์ในสังสารวัฏ  

จาก คอลัมน์ รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชักลึก วันอังคารที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒

ตอนที่ ๓๒ เมตตาบารมี วิถีพระโพธิสัตว์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here