นอกจากหนังสือหลายๆ เล่มที่เป็นแรงบันดาลใจในชีวิตของพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) แล้ว อาทิ หนังสือ “นายแพทย์ชิวาโก” ที่ส่งทอดพลังความคิดมายังอุดมการณ์การบวชเรียนในชีวิตที่คิดช่วยเหลือผู้คนมาโดยตลอด นอกจากนี้ก็ยังมีหนังสือ “สิทธารถะ”,  “บทเรียน” , และ “เดเมียน” ของเฮอร์มานน์  เฮสเส นักเขียนชาวเยอรมัน-สวิส ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี ๒๕๘๘ ( ค.ศ. ๑๙๔๕) สำนวนแปลของ สดใส

โดยเฉพาะเรื่อง “สิทธารถะ” เป็นครั้งแรกที่ท่านได้เห็นความพยายามของคนในการตีความพระพุทธเจ้าให้เป็นบุคคลธรรมดา แม้จะดูเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับพระเณรที่เรียนพุทธประวัติตามจารีต ยึดตามแนวคัมภีร์มา ท่านเล่าว่า แต่ก็อ่านจนจบ

และที่สำคัญกว่าหนังสือทุกเล่มที่กล่าวมาคือ พระคัมภีร์ “พระไตรปิฎก” ทุกสำนวนที่ท่านอ่าน ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น และเขียนหนังสือธรรมะ ตลอดจนเรียบเรียงประวัติของพระพุทธเจ้าออกมาอีกหลายๆ เล่มในเวลาต่อมา ประกอบกับการภาวนากับครูบาอาจารย์หลายๆท่าน จนเกิดเป็นสภาวธรรมจากตัวท่านเอง แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสืออีกหลายเล่ม อาทิ “ทศชาติ” ,”พุทธานุภาพ”, “หลักการทำบุญ และปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” , “พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้” และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น

หนังสือ “ทศชาติ” โดย ญาณวชิระ

รำลึกวันวาน ….มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จึงกลับมาเพื่อสืบสานปณิธานพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งที่อุทิศตนเพื่อรักษาธรรมและเผยแผ่ธรรมมาตลอดชีวิตให้ดำรงอยู่ในจิตใจเพื่อการฝึกตนให้มีจิตที่กรปรไปด้วยความอดทน และการให้อภัย ต่อไปเพื่อดำเนินชีวิตให้เข้มแข็งไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคนานับปการที่ถาโถมในชีวิตให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ด้วย เมตตา ปัญญา และการอโหสิกรรม

ตอนที่ ๑๑. ครูบาอาจารย์ คือ รุ่งอรุณทางความคิด

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

     

นอกจากหนังสือที่กล่าวมาข้างต้น ท่านเล่าให้ฟังอีกว่า อีกเล่มหนึ่งที่ท่านได้อ่าน ก็คือ “โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล” เขียนโดย ริชาร์ด บาค นักเขียนชาวอเมริกันผู้ศรัทธาในการแสวงหาอิสรภาพ  ท่านเล่าว่า จำไม่ได้ว่าเล่มที่อ่านเป็นสำนวนแปลของใคร

      “สภาพการศึกษาของคณะสงฆ์เมื่อราว ๓๐ ปีที่แล้ว ยังเป็นการศึกษากึ่งโบราณ วัดตามชนบทจะหาหนังสืออ่านแต่ละเล่มนั้นแสนยาก นอกจากหนังสือนักชั้นธรรมตรี โท เอก เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน และกัณฑ์เทศน์แล้ว ก็ไม่มีหนังสืออย่างอื่นอ่านเลย ถ้าเป็นสำนักเรียนบาลีก็จะมีหนังสือแบบเรียนบาลีเป็นหลัก

“โดยทั่วไปหนังสือที่พระเณรตามชนบทในยุคนั้นมีโอกาสได้อ่านบ้าง ก็มี “นิทานธรรมบท” , “พระเจ้าสิบชาติ”, “มิลินทปัญหา”,  “มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานคร”, “ลุ่มน้ำนัมทนา”,  “อานนท์พุทธอนุชา” เป็นต้น ซึ่งเป็นเบ้าหลอมทางความคิดที่สำคัญ แต่ก็จะเป็นวัดที่มีครูบาอาจารย์หัวก้าวหน้าเท่านั้น จึงจะมีหนังสือเหล่านี้อยู่ตามวัดในชนบท

 พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้รับรางวัล
พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) หลวงพ่อวัดปากน้ำ
ได้รับรางวัล ยกย่องให้เป็นบุคคลผู้นำชุมชนของตนเอง
ไปสู่การพัฒนาอย่างก้าวหน้าและยั่งยืน

 “อาตมาโชคดี แม้หลวงพ่อที่วัดปากน้ำ พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ท่านจะเป็นพระบ้านๆ เป็นพระหลวงตา แต่ก็มีความคิดแบบก้าวหน้า  ไม่เหมือนพระหลวงตาโบราณ มักสอนแนวคิดแบบสมัยใหม่ให้พระเณรเข้าใจโลก เข้าใจสังคม ให้พระเณรขวนขวายในการศึกษาเล่าเรียน ในวัดจึงพอมีหนังสือต่างๆ หลากหลาย ให้อ่านบ้าง

“ตอนสงครามเวียดนาม ราว พ.ศ. ๒๕๑๕ เครื่องบินทหารอเมริกามาตกใกล้ๆ หมู่บ้าน หลังบินผ่านดงพระคเณศวร์ เขาเกรงว่าจะมีฝ่ายตรงข้ามซุ่มโจมตี จึงมาปูพรมโดดร่มเต็มไปหมด โยมแม่ใหญ่เล่าว่า ทหารโดยมากลงที่โล่งกลางทุ่งนา แต่บางคนก็ลอยติดกิ่งไม้ ชาวบ้านก็ไปเก็บร่มมาเย็บทำมุ้งบ้าง ทำที่ตีนุ่นบ้าง

-เด็กๆ ชาวบ้านหิ้วปินโตตามหลวงพ่อ ไปที่เครื่องบินตก
เด็กๆ ชาวบ้านหิ้วปินโตตามหลวงพ่อ ไปที่เครื่องบินตก

“ เมื่อทหารอเมริกาไปพบหลวงพ่อปักกลดอยู่ในป่าเพียงลำพัง ก็เกิดแปลกใจว่าพระองค์เดียวมาอยู่ในป่าได้อย่างไร ขนาดเขาเป็นทหารยังมาตั้งมากมาย พอได้พูดได้คุย ก็สนใจวิธีคิด ต่อมา ก็ได้มาช่วยท่านทำถนนหนทาง สร้างโรงเรียน ทำระบบน้ำประปาทั้งในวัดและโรงเรียน สร้างโบสถ์หลังใหม่ให้หลวงพ่อ และท่านก็ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นบุคคลผู้นำชุมชนของตนเองไปสู่การพัฒนาอย่างก้าวหน้าและยั่งยืน

หตุการณ์เครื่องบินของทหารอเมริกันตก ตอนสงครามเวียดนาม ราว พ.ศ. ๒๕๑๕
หตุการณ์เครื่องบินของทหารอเมริกันตก ตอนสงครามเวียดนาม ราว พ.ศ. ๒๕๑๕

           “ ยิ่งเมื่ออาตมาต้องไปอยู่ป่ากับพระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ยิ่งทำให้การเดินทางของความคิดกว้างไกลออกไปอีก สมัยนั้น การถวายการอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ถือเป็นหน้าที่สำคัญของสามเณร อย่างหนึ่ง ทุกวันอาตมาต้องตักน้ำใส่โอ่งสรงน้ำของอาจารย์ให้เต็ม โอ่งในห้องน้ำมีสองใบ คือ โอ่งสำหรับสรงน้ำ และโอ่งสำหรับราดฐาน จากนั้น ก็ขึ้นไปปัดกวาดถูห้องอาจารย์

ดูว่ามีผ้าจีวรที่ต้องเอาไปซักไหม ซักเสร็จก็พับมาวางไว้ในกุฏิท่าน ข้างที่นอนอาจารย์จะมีหนังสือวางซ้อนกันขึ้น หลักๆ จะเป็นชุดของพันเอกปิ่น มุทุกันต์ เช่น มงคลชีวิต คำบรรยายพุทธศาสตร์  วิธีพูดของข้าพเจ้า และชุดของหลวงวิจิตรวาทการ เช่น วิชชา ๘ ประการ ศาสนาสากล กำลังความคิด กำลังใจ กุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่ ซึ่งรวมความคิดของนักคิดทั่วโลก ก็นั่งอ่าน นอนอ่านเล่นๆ ที่ระเบียงหน้ากุฏิอาจารย์”

           ท่านเล่าต่อมาว่า พอตกเย็นหลังกวาดใบไม้รอบศาลาต้องต้มน้ำร้อนทำน้ำปานะถวายอาจารย์ น้ำปานะก็ไม่มีอะไรมาก แค่ต้มน้ำร้อนชงใบชาตราสามม้าใส่น้ำตาล ๓ ก้อนเพียงแค่นั้น  นานๆ ที จะทำปรมัตถ์ถวายท่าน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมีโยมนำมาถวาย

บางวันต้องเข้าป่าไปหาไม้มาทำฟืนสะสมไว้ ไปถึงตรงไหนก็จะเอาจีวรเก่าผูกต้นไม้ และเขียนป้ายข้อความว่า ‘เขตอภัยทาน’ ชาวบ้านที่ไปหาของป่า ไปล่าสัตว์เดินผ่านมาเห็นป้าย ก็พูดกันว่า”เณรเทอดมาทางนี้ๆ” ก็ต้องหลบหลีกไป  ในตอนนั้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมจึงคิดได้เช่นนั้น”

สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม
สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม

ในวัยเยาว์สมัยที่ท่านเป็นเณรน้อย ก็ยังมีความสนุกสนานแบบเด็กๆ อยู่บ้าง แต่ท่านก็ได้บ่มเพาะนิสัยสมณะและการดูแลอุปัฏฐากอาจารย์อย่างเข้มข้นโดยไม่รู้ตัว

กว่าจะมาเป็นท่านในวันนี้ เรื่องราวในวันวานอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคน เห็นความมุ่งมั่น และพอจะมองหาหนทางได้ว่า หากมีความตั้งใจที่จะบวชเรียนจะต้องทำอย่างไร ดังที่ท่านเล่าให้ฟังต่อมา

“สมัยก่อน การศึกษาของเด็กในชนบทเป็นเรื่องยาก การบวชเรียนจึงเป็นโอกาสทางการศึกษาไปด้วย และหยั่งรากลึกลงกลายเป็นวัฒนธรรมการศึกษาของชนชาติ ทำให้เยาวชนอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย ได้เรียนนักธรรม เรียนบาลี แล้วค่อยๆ พัฒนาเป็นเรียนวิชาอย่างอื่นเพิ่มเติม แต่การจะบูรณาการความคิดเข้ากับความรู้ด้านอื่นๆ ก็เป็นเรื่องยากมากเหมือนกันในยุคนั้น เพราะขาดหนังสือที่หลากหลาย

“ที่เล่ามา ก็เป็นโอกาสได้เชิดชูวิถีการปฏิบัติของครูบาอาจารย์  และอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นการให้กำลังใจพระเล็กๆ หลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ ที่ไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม ที่ได้อุ้มชู ช่วยเหลือเด็กน้อยอยู่ตามมุมใดมุมหนึ่งของสังคม ให้มีโอกาสได้บวชเรียน ซึ่งท่านเหล่านั้นมีอยู่มากมายตามชนบททั่วประเทศ เด็กบางคนขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียนหนังสือ เมื่อมาบวชเป็นสามเณร ครูบาอาจารย์ก็ส่งเสริมให้เรียนต่อ ทั้งนักธรรม  บาลี และวิชาการทางโลก ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย ก็เพื่อให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต

ซึ่งตัวท่านเองก็อาจไม่รู้ว่า วันหนึ่งวันใดข้างหน้า สามเณรน้อยที่ท่านได้ดูแลด้วยความเมตตา  คอยแนะนำพร่ำสอนให้มีวินัย ให้มีหลักธรรม พอประคับประครองตนเองให้พ้นปากเยี่ยวปากกา พอพึ่งตนเองได้เมื่อเติบโตขึ้นมา อาจกลายเป็นหลักของสังคม และเป็นที่พึ่งของคณะสงฆ์ ทำให้พระพุทธศาสนาสืบทอดต่อไปไม่สิ้นสุด

“ครูบาอาจารย์จึงเป็นกัลยาณมิตร เป็นแสงสว่างนำทางชีวิต เป็นนิมิต เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความรุ่งโรจน์ของชีวิต ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า กัลยาณมิตร คือ รุ่งอรุณแห่งความคิด เพราะก่อนที่แสงสว่างจะมาถึงยามเช้า ย่อมมีแสงแห่งรุ่งอรุณจับขอบฟ้าก่อน

“หลวงพ่อที่วัดปากน้ำ และอาจารย์มหามังกร จึงเป็นรุ่งอรุณทางความคิดให้กับอาตมา เพราะท่านเป็นปราชญ์ที่อุทิศชีวิตและกำลังความคิดเพื่อชุมชนที่ท่านอยู่ แม้ชีวิตของท่านจะซุกตัวเงียบๆ อยู่กับชาวบ้านในมุมใดมุมหนึ่งของสังฆมณฑล  ไม่แสดงตัว ไม่ปรากฏทั้งโดยนามและฉายา แต่ท่านก็มีมุมความคิด มีวิถีการปฏิบัติ มีวิธีการดำเนินชีวิตในรูปแบบและแนวทางของท่าน

พระอาจารย์มหามังกร ปัญญาวโร (หลวงตาน้อย ) พระผู้เมตตา จาริกไปเพื่อช่วยเหลือผู้คน
ยึดมั่นในด้านการปฎิบัติกัมมัฏฐาน ที่ บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี

“ชีวิตอาตมาได้พบเจอท่านทั้งสอง ได้เห็นวิถีพระบ้านของหลวงพ่อวัดปากน้ำ และวิถีพระป่าของอาจารย์มหามังกร จึงเป็นเหมือนขอบฟ้าได้เจอรุ่งอรุณทางความคิด โดยเฉพาะพระอาจารย์มหามังกร ที่มีวิถีแห่งพระป่าเป็นทางเดินของชีวิต แต่ขณะเดียวกัน ท่านก็ไม่ได้ทิ้งวิถีโลก ท่านเข้าใจโลก เรียนรู้โลก ท่านไม่ทิ้งข้อมูลข่าวสารของโลก อาตมาจึงได้ศึกษาซึมซับกับท่านมาช่วงหนึ่ง”

และนี่คือ ทิศทางทางความคิดของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในครั้งนั้น ที่มาจากหนังสือเป็นแรงบันดาลใจและการได้เรียนรู้อยู่กับครูบาอาจารย์ ที่อาจไม่มีชื่อเสียง แต่มีวัตรปฏิบัติที่งดงาม ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส เป็นการสอนแบบไม่สอน จึงเป็นที่แน่นอนว่า สำหรับศิษย์ ไม่ว่าครูจะเป็นใคร ย่อมยิ่งใหญ่ในใจเสมอ …

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here