คนเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนเล็กคนน้อย หรือผู้ที่มีชื่อเสียง ไม่เว้นแม้แต่นักบวชผู้สละเรือนออกแสวงหาโมกขธรรมจนไร้ตัวตนแล้วก็ตาม ย่อมมีที่มาของแรงบันดาลใจจากใครสักคนหรือหลายๆ คนเสมอ ตั้งแต่คุณพ่อ คุณแม่ บรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์ และอาจเป็นจากหนังสือ ในการเป็นเบ้าหลอมทางความคิดให้เขาเติบโตขึ้นมา และอาจเป็นใครอีกสักคนบนโลกที่จะเป็นพลังให้ใครต่อใครมากมายมหาศาล แม้ว่า เขาคนนั้น อาจไม่ได้โดดเด่น และอาจเลือนลับไปกับกาลเวลา ไม่มีใครกล่าวถึง แต่เขาย่อมมีคุณค่า และมีความหมายต่อใครอีกสักคนที่เขาอาจได้เขียนชีวิตฝากไว้ในหนังสือ รอวันที่ใครสักคนมาเปิดอ่าน และสร้างแรงบันดาลใจต่อไปไม่สิ้นสุด
มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จึงกลับมา เพื่อเป็นพลังให้กับคนเล็กๆ แม้เพียงหนึ่งคนที่กำลังแสวงหากำลังใจในการก้าวต่อไปด้วยใจที่ไม่ท้อ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคขวากหนามกับชีวิตเพียงใดก็ตาม …ก็จักนำมาเป็นพลังให้ก้าวไปข้างหน้าเสมอ
ตอนที่ ๑๐. ทิศทางทางความคิด
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
ดังเช่น ท่านเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในครั้งนั้น กว่าจะมาเป็นวันนี้ วันที่มีงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมีทิศทางและเป้าหมายที่ฝากไว้ในงานของพระสงฆ์เล็กๆ ที่กำลังทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูต พระวิทยากร อยู่ในพื้นที่ต่างๆ บนโลกใบนี้ … ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดในแต่ละวันราวกับเป็นวันสุดท้ายของชีวิต เพื่อสร้างพระวิทยากร พระธรรมทูตเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเป็นส่วนเสริมการทำงานของคณะสงฆ์ตามมติมหาเถรสมาคมมาโดยตลอด เพื่อให้พระหนุ่มเณรน้อยกลับไปพลิกฟื้นชุมชนบ้านเกิดให้ผู้คนมีหลักธรรมในการดำเนินชีวิตและก้าวไปด้วยกันทั้งสังคม
จากการทุ่มเททั้งเวลา ความคิด และความใส่ใจในการทำงานตามอุดมคติ จึงทำให้ท่านมีลูกศิษย์พระเณรมากมายที่มักถามท่านว่า อะไรที่ทำให้ท่านมีความคิดเช่นนี้
จึงได้กราบเรียนสัมภาษณ์ท่าน หลังจากที่ท่านเมตตาเขียนบทความเรื่อง” ความเป็นมาของพระอภิธรรม ” ถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อครั้งเสด็จสวรรคต เป็นตอนๆ ลงในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ประมาณ ๒๔ ตอนจบลง ในปีพ.ศ.๒๕๖๐
จึงได้กราบเรียนถามท่าน ถึงหลักการภาวนาและการทำสมาธิ ตลอดจนแรงบันดาลใจในชีวิตของการเป็นพระ จึงได้ทราบว่า ทิศทางทางความคิดของท่านนั้น นอกจากครูบาอาจารย์ทั้งพระบ้าน พระป่า และเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อปเสโณ) พระอุปัชฌาย์ของท่านแล้ว
“หนังสือ” นับเป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญที่ทำให้ท่านมีทิศทางของความคิดที่ชัดเจน และหล่อหลอมให้เป็นท่านในวันนี้
ย้อนกลับในวัยเยาว์ของสามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่มเมื่อครั้งเริ่มต้นบรรพชาใหม่ๆ ที่วัดปากน้ำ โดยมี พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) หลวงพ่อวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอาจารย์ ในวัดมีตู้พระไตรปิฎกอยู่และไม่ค่อยมีใครเปิดอ่าน เมื่อสามเณรเทอดมองเข้าไปในตู้ก็เห็นหนังสือแทรกอยู่เล่มหนึ่งคือ “ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น”
“อ่านไม่เข้าใจนะ เล่มนี้ เป็นหนังสือที่อ่านยาก แต่จำชื่อได้แม่นเลย เป็นหนังสือเล่มแรกที่ได้อ่าน ก็ไม่ทราบว่า ทำไมหนังสือเล่มนี้จึงมาอยู่ในตู้พระไตรปิฎกได้ ”
หนังสืออีกเล่ม ซึ่งเป็นเล่มที่สอง ที่ท่านได้อ่านก็คือ “สามก๊ก” ฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
“เล่มนี้ไม่มีปก อาตมาเห็นอยู่ในศาลา ตอนขณะที่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ในป่า ก็เลยหยิบมาอ่าน ตอนแรกก็จำตัวละครยาก ไม่รู้เรื่อง ตัวละครสับไปสับมา เลยต้องจดชื่อตัวละครออกมาท่องก่อน แล้วค่อยๆ อ่าน ยิ่งอ่านก็ยิ่งสนุก จึงอ่านทวนอยู่หลายรอบ เพราะในป่า ไม่มีหนังสืออย่างอื่น และในต่างจังหวัดสมัยก่อน เรื่องหนังสือที่จะหาอ่านไม่ต้องพูดถึง แทบไม่มีให้เห็น”
หนังสืออีกเล่มที่ท่านได้อ่านเป็นประจำตอนช่วงเป็นสามเณรในวัยสิบสี่สิบห้าปีก็คือ “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์”
“เล่มนี้ได้อ่านอยู่เรื่อยๆ เพราะทุกกึ่งเดือนพระอาจารย์มหามังกรท่านเข้าไปลงปาติโมกข์ที่วัดในเมือง แล้วก็จะมีหนังสือสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ติดมือกลับมาด้วยเสมอ เมื่ออ่านจบท่านก็นำมาวางซ้อนกันไว้ข้างต้นเสาในศาลา โดยไม่ได้บอกว่า ให้อ่าน หรือไม่ให้อ่าน หลังจากกวาดบริเวณศาลาในแต่ละวันแล้ว อาตมาก็หยิบมาอ่านทั้งเล่ม อ่านหมดตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ใครเป็นบรรณาธิการ พิมพ์ที่ไหน ใครทำอะไรของหนังสือเล่มนี้ เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาการทำหนังสือไปโดยไม่รู้ตัว
“คอลัมน์ที่ชอบอ่าน คือ ‘แนะนำหนังสือ’ ซึ่งผู้เขียนสรุปประเด็นที่น่าสนใจของหนังสือออกใหม่คราวละสี่ห้าเล่มในแต่ละฉบับ ทำให้รู้จักหนังสือ เพิ่มขึ้นทุกเดือน รู้จักผู้เขียน ผู้แปล บรรณาธิการ ตลอดจนสำนักพิมพ์ที่พิมพ์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการอ่านให้อาตมาจนถึงตอนมาอยู่ที่วัดสระเกศ ฯ ขณะไปเรียนมหาจุฬาฯ ในแต่ละวัน ต้องเดินผ่านสนามหลวงลัดมาตามคลองหลอด เมื่อประมาณเกือบ ๓๐ ปีก่อน ยังมีหนังสือแบกะดินขายมาจนถึงข้างศาลาว่าการ กทม. หลังเรียนเสร็จในแต่ละวัน ก็ไปยืนอ่านหนังสือที่แผง บางเล่มอ่านจนจบที่แผง ยืนอ่านจนขาแข็ง เพราะไม่มีเงินซื้อ บางเล่มก็เคยอ่านแนะนำในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์มาแล้ว ก็มาเห็นเข้าที่แผงแบกะดิน ซึ่งเป็นหนังสือมือสอง ราคาถูก พอมีเงินรวบรวมได้จากบิณฑบาตก็มาซื้อหนังสือ
โดยเฉพาะเรื่อง ‘นายแพทย์ชิวาโก’ ซื้อมาเป็นเล่มที่ไม่มีปก และมาทำปกแข็งเอง เป็นหนังสืออีกเล่มที่เป็นแรงบันดาลใจให้อาตมาเป็นอย่างมาก ”
ไม่มีใครตอบได้ว่า “หนังสือ” ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครบ้างบนโลกใบนี้ แต่สำหรับ ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในครั้งนั้น ท่านให้ความสำคัญกับการอ่านมากๆ ไม่แพ้การปฏิบัติทางด้านจิตภาวนา
ดังที่ท่านให้ข้อคิดว่า การอยู่กับปัจจุบันในจิต เป็นสิ่งจำเป็นของนักภาวนา แต่ก็อย่าลืมว่า เราต้องอยู่กับปัจจุบันขณะในโลกด้วย
(จากคอลัมน์ มโนปณิธาน โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐)