“เวลาจุดเทียน เรามองเห็นต้นเทียน เปลวเทียน และแสงเทียนไหม…พระพุทธเจ้าเป็นดั่งต้นเทียน เราพระสงฆ์ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ต่อเปลวเทียน เพื่อที่จะนำแสงเทียนไปส่องสว่างให้กับญาติโยม พระอุปัชฌาย์จึงมีความสำคัญมากต่อการสร้างพระเณรอย่างไม่ขาดสายเพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ในวัฏสงสารตลอดกาลนาน ”
รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จึงกลับมา…เพื่อต่อแสงเทียนแห่งธรรมให้สว่างไสวในหัวใจของผู้คนที่กำลังทุกข์ทนให้พบทางออกแห่งทุกข์ในสังสารวัฏ…
รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์
ตอนที่ ๒๗. “พระอุปัชฌาย์” ผู้ต่อแสงแห่งปัญญาในต่างแดน
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
ผู้เขียนรำลึกถึงคำสอนของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในครั้งนั้นอยู่เสมอ ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งในสังคมไทยที่มีครูบาอาจารย์ทั้งพระบ้านและพระป่า ท่านจึงเข้าใจบริบทของพระสงฆ์ไทยอย่างลุ่มลึก และสร้างพระเณรเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้ง ๖ ด้านอย่างเสียสละชีวิตเพื่อธรรมมาโดยตลอด ไม่เคยนึกถึงตนเองแม้แต่น้อย
ท่านเมตตาเล่าว่า ชีวิตเมื่อเราได้พบกับทุกขสัจจ์ ก็นับว่าประเสริฐแล้ว เพราะทุกข์นี้มิใช่หรือ เจ้าชายสิทธัตถะจึงสละวังเพื่อหาทางดับทุกข์จนพบได้ในที่สุด จนเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราต่างเดินตามรอยพระองค์ท่านในหนทางแห่งการดับทุกข์ที่พระองค์ทรงค้นพบในกายใจนี้เอง พระธรรมจึงไม่ต้องไปหาที่ไหน หากแต่ว่าได้ปรากฏอยู่ในใจที่ทุกข์อย่างสาหัสดวงนี้เอง เมื่อเห็นทุกข์ ทางออกจากทุกข์ก็ปรากฏ เมื่อไม่ยึดกายใจนี้ว่าเป็นของเรา เป็นตัวเราแล้ว ความทุกข์ก็ดับลง ไม่มีความทุกข์ใดจะคงทนถาวรเช่นเดียวกับความสุข และสรรพสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ ทุกอย่างเมื่อเกิดขึ้น ย่อมตั้งอยู่ไม่นาน และจะดับลงในที่สุด ตัวเราเองก็เช่นกัน ไม่ได้นอกเหนือจากกฎไตรลักษณ์นี้เลย…
เพราะมีพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาจึงมีลมหายใจมาจนถึงทุกวันนี้เพื่อช่วยเหลือคนให้พ้นทุกข์ โดยมีพระอุปัชฌาย์ผู้สร้างพระเณรตามรอยพระพุทธเจ้าไม่ขาดสาย ผู้เขียนจึงขอนำบทความที่เคยเขียนถึง “ความหมายของพระอุปัชฌาย์ แสงสว่างแห่งปัญญาในต่างแดน” จากคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ มาแบ่งปัน
ในครั้งนั้น ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์เล่าว่า พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮนนิ่ง เกวลี ) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระชาวเยอรมัน สอบผ่านการเป็นพระอุปัชฌาย์ โดยใช้เวลาถึงสองปีในการเตรียมสอบจนกระทั่งเป็นพระชาวต่างชาติรูปแรกที่สอบผ่านตามระบบคณะสงฆ์ไทย ตามกฎมหาเถรสมาคม โดยเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๑
“ท่านขอบคุณคณะสงฆ์ไทยที่ให้โอกาสพระชาวต่างชาติได้ทำหน้าที่เสมอเหมือนกับพระไทย ท่านรู้สึกอบอุ่นใจ โดยเฉพาะพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าคณะภาค ๑๐ และเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ที่ให้คำปรึกษา ให้แนวทางกับพระป่าสายปฏิบัติศิษยานุศิษย์ พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) มาโดยตลอด ซึ่งเชื่อมมาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ที่ได้ให้โอกาสพระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ)ปัจจุบัน พระเทพญาณวิเทศ วิ. พระชาวอเมริกัน แห่งวัดป่ารัตนวัน จังหวัดนครราชสีมา เป็นพระอุปัชฌาย์ในกรณีพิเศษเพื่อสร้างศาสนทายาทในต่างแดนจนสำเร็จเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน
ดังในหนังสือ “ธรรมปรากฏ” ชีวประวัติพระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ตอนหนึ่งว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการคณะสงฆ์และแวดวงพระศาสนาทั้งในและนอกประเทศ ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้พระพุทธศาสนาได้ไปเผยแผ่ยังต่างประเทศ เมื่อประสบปัญหาข้อขัดข้องอันเกี่ยวกับระเบียบข้อบัญญัติของมหาเถรสมาคม ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะรีบดำเนินกรแก้ไขทันที เพื่อมิให้เกิดอุปสรรคต่อคณะสงฆ์ไทยในต่างแดน
“ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่หลวงพ่อชาจาริกอยู่ในประเทศอังกฤษ และได้มีโอกาสพบท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดพุทธปทีป ขณะนั้นท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพรหมคุณาภรณ์
ครั้งนั้น หลวงพ่อชาได้กล่าวฝากฝังศิษย์และเรียนท่านเรื่องการดำเนินงานสร้างวัดในประเทศอังกฤษ ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็กรุณารับเป็นธุระในการประสานงานกับทางมหาเถรสมาคม
“ท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศฯ ท่านสนับสนุนทุกอย่าง ท่านมีศรัทธากับหลวงปู่ชามาก ท่านช่วยเป็นภาระในการพูดคุยกับมหาเถรสมาคมเมืองไทย เพื่อให้การสนับสนุนเราที่อยู่เมืองนอกอย่างมาก อย่างที่เราไม่เคยคิดจะเป็นอย่างนี้ ท่านอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ท่านแต่งตั้งให้เราเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพระในต่างประเทศได้ และท่านก็เสนอชื่อให้เราเป็นเจ้าคุณ ถ้าไม่มีพระผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนอย่างนี้ เราคงทำไม่ได้ คงจะลำบากมาก”
ด้วยสายธารแห่งความกรุณาจากหลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศ มาจนถึงท่านเจ้าคุณพระพรหมสิทธิ เป็นส่วนสำคัญในการเป้นพระพี่เลี้ยงที่ทำให้พระครูอุบลภาวนาวิเทศ สามารถเป็นพระชาวต่างชาติรูปแรกที่เข้าสู่การอบรมการเป็นพระอุปัชฌาย์ตามระบบคณะสงฆ์จนสอบผ่าน
จึงเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งที่กงล้อธรรมจักรจักได้ขับเคลื่อนต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด โดยมีพระเถระรุ่นอาจารย์ที่ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อสมเด็จฯ ให้เป็นพระอุปัชฌาย์เป็นกรณีพิเศษมาแล้ว ดังเช่น หลวงพ่อสุเมโธ (พระเทพญาณวิเทศ วิ.) , ท่านพระอาจารย์อมโร (พระวิเทศพุทธิคุณ) ปัจจุบัน พระราชพุทธิวรคุณ วิ. และ พระอาจารย์ปสันโน (พระโพธิญาณวิเทศ) ปัจจุบัน พระราชโพธิวิเทศ วิ. เป็นต้น
ปัจจัยที่สำคัญต่อการเป็นพระอุปัชฌาย์ในต่างแดนนั้น ทำให้ชาวต่างชาติสามารถบวชเรียนได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น สามารถสร้างศาสนทายาทเป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มั่นคงยิ่งขึ้น จากการปฏิบัติอันเข้มข้นของครูบาอาจารย์ที่ส่งผ่านวัตรปฏิบัติตามรอยพระพุทธเจ้าชนิดก้าวต่อก้าว ทำให้พระชาวต่างชาติที่หลวงปู่ชาส่งไปอยู่ต่างประเทศ ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
ดังที่ พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮนนิ่ง เกวลี ) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวไว้ในการแสดงธรรมช่วงงานอาจาริยบูชา หลวงพ่อชา สุภัทโท เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ตอนหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนได้เดินทางไปร่วมงานอาจาริยบูชาหลวงปู่ชาในปีนั้น และนำมาเขียนเล่าลงใน นิตยสาร “กายใจ” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๓-๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เรื่อง “แก่นรักษาธรรม ” เมื่อครั้งยังเป็น พระอธิการเฮนนิ่ง เกวลี ตอนหนึ่งว่า …
…แม้ไม่ได้เจอหลวงพ่อชา เพราะอาตมาบวชไม่ทันที่ได้เจอท่าน แต่ครูบาอาจารย์ชาวต่างประเทศหลายรูปที่ได้บวชหลังจากหลวงพ่อสุเมโธได้บุกเบิกทางแล้ว ก็ยังได้มีโอกาสอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติโดยตรง ยังได้มีโอกาสอุปัฏฐากท่านประมาณ ๑๐ ปี
“อาตมามาทีหลัง ช่วงที่พระราชทานเพลิงศพเรียบร้อยแล้ว ยังถือว่ามีความโชคดีที่ได้เจอคำสั่งสอนของท่าน และได้เจอครูบาอาจารย์ลูกศิษย์ของท่าน ที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของอาตมาคือ พระราชภาวนาวิกรม (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน อาตมารู้สึกว่าตัวเองโชคดี ที่ได้บวชเรียนที่นี่ เพราะว่าเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ เรื่องรูปแบบ คำสั่งสอนของหลวงพ่อชา ยังมีทางเข้าถึงได้ เพราะมีหลายท่านมาช่วยรักษาไว้ อาตมาเกิดในประเทศเยอรมนี ในต่างประเทศอีกหลายแห่ง หารูปแบบที่พบเจอในประเทศไทยไม่ได้
“ประเทศของอาตมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม เป็นประเทศที่เขาว่าเจริญ และเน้นการศึกษาทางโลก แต่ละคนที่เป็นญาติพี่น้องทางโน้น มีความรู้สึกต่อชีวิตตนเองเหมือนคนอื่นๆ คือ เราพัฒนาความสงบเย็นเหมือนกัน แต่จะทำอย่างไร ถ้าเราไม่มีวิธี ไม่มีส่วนรวมที่จะร่วมมือ ร่วมกำลังได้ ก็อาจจะยาก ศาสนาเดิมของอาตมาคือ ศาสนาคริสต์ ก็สอนความดีให้คนบำเพ็ญเมตตาจิตพอสมควร ส่วนหนึ่งก็ให้เข้าถึงวัฒนธรรมของชาวตะวันตกได้ทุกที่ เสมือนคำสอนของพระพุทธองค์ที่เข้าถึงวัฒนธรรมชาวเอเชีย ชาวไทย แต่ถ้าชาติไหน สังคมไหน ไม่รักษาต้นฉบับ ทางที่จะเข้าถึงศาสนาสอนก็อาจหายาก “ช่วงที่อาตมาอยู่ในผ้าเหลืองมาสิบกว่าปีในประเทศไทย พบเจอรูปแบบที่ดีเป็นต้นฉบับให้เราทั้งหลายได้ ในขณะที่เรารักษาข้อวัตรปฏิบัติ รักษาพระธรรมวินัย และพระวินัยโดยความเคารพ อีกทั้งลงมือในการเสียสละเพื่อรักษาไว้ โดยใจเอื้อเฟื้อ ใจบุญ ด้วยใจเสียสละ
“ …อาตมามาจากสังคมที่ศาสนาหายไป แต่ยังเจอพระพุทธศาสนาที่เป็นต้นฉบับสมบูรณ์ ทำให้เห็นทางสำหรับตัวเอง ในประเทศไทยนี้ ซึ่งพระพุทธองค์สอนอย่างชัดเจน และเข้าถึงจิตใจชาวพุทธในประเทศไทยโดยไม่รู้สึกตัว
“ดังนั้น ถ้าคนไทยไม่รักษาไว้ก็หายได้เหมือนกัน เพราะเป็นการสอนที่มีการปฏิบัติที่ลึกมาก เพราะหลักพระพุทธศาสนาสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ การนั่งสมาธิมีผลกับสมอง อารมณ์ดีชั่วมีผลต่อร่างกายและจิตใจ การละความคิดอกุศล ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ อาตมาเองได้สัมผัสกับประเทศของอาตมา ชาวเยอรมันล้วนให้เกียรติพระพุทธศาสนา เพราะมีเหตุผล ไม่ชักชวนในทางที่งมงาย สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง”
กลับมาที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ในครั้งนั้น อธิบายให้เห็นอานิสงส์ของการเป็นพระอุปัชฌาย์อีกว่า การที่พระอาจารย์เฮนนิ่ง เกวลี เป็นพระอุปัชฌาย์ จึงเป็นอีกหนึ่งแสงสว่างแห่งปัญญาที่จะเจิดจรัสในใจของผู้คนในต่างประเทศให้พบทางดับทุกข์ที่พระพุทธองค์ค้นพบมากว่า ๒๖๐๐ ปีให้สืบเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุดตราบกาลนาน
รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) จึงกลับมาอีกครั้ง …
เพื่อการสร้างสรรค์พระพุทธศาสนาให้มีชีวิตและลมหายใจเพื่อรับใช้สังคมให้เกิดความเมตตา กรุณาต่อกัน เข้าใจกันและกัน เกื้อกูลกันไปบนเส้นทางแห่งธรรมจนกว่าจะสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ …
ตอนที่ ๒๗ “พระอุปัชฌาย์” ผู้ต่อแสงแห่งปัญญาในต่างแดน หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒ โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์