รักอย่างไรจึงไม่กลายเป็น “ความรก”

โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย เรื่อง และ ภาพ

เคยสงสัยไหมว่า …

ทำไม ความรักจึงกลายเป็นความเกลียดชัง จนถึงขั้นอาฆาตพยาบาทไปได้

อาตมาชวนมาธรรมวิจัยกันว่า  ความรักแบบใดเป็นความรักที่เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงได้ และเราจะออกจากความรุนแรง หรือป้องกันความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

๑.ความรักแบบมิตรภาพ เป็นความรักที่มาจากการคบหากันนาน ไม่ได้มีความรู้สึกตื่นเต้น เร่าร้อน หรือใจเต้น แต่เป็นการกระทำที่ทั้งคู่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน หรือกิจกรรมที่มีร่วมกันเป็นเวลานาน ความรักแบบนี้เป็นรักที่มั่นคง ยืนยาว ที่ผนวกเข้าไปกับการใช้ชีวิตประจำวันของคุณด้วยนั่นเอง

๒.ความรักแบบลุ่มหลง สำหรับคนที่มีความรักแบบนี้มักจะเป็นรักที่ต้องการความใกล้ชิดและการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ และต้องการให้คู่รักของตนแสดงความรักมากกว่าปกติ เมื่อใดที่คู่รักไม่ใส่ใจ หรือไม่แสดงความรักตามที่ใจปรารถนา คนเหล่านี้จะเลือกทำร้ายตนเอง เพื่อเอาชนะความรัก

๓. ความรักแบบเสน่หา เป็นความรักที่คล้ายกับรักแรกพบ มีความดึงดูดใจซึ่งกันและกัน รู้สึกถูกใจอีกฝ่ายตั้งแต่แรกเห็น คู่รักประเภทนี้เป็นความรักที่พยายามพัฒนาความสัมพันธ์อย่างรวดเร็ว โดยการเปิดเผยจริงใจ ซื่อสัตย์ และใส่ใจคู่รักมากเป็นพิเศษ แต่ไม่แสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของหรือกลัวว่าจะมีคู่แข่ง

๔. ความรักแบบเสียสละ เป็นความรักที่เหมือนจะทำให้เจ็บปวด ไม่สมหวัง เป็นรักที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ต้องการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ มีความห่วงใย และคำนึงถึงความสุขของคู่รักเป็นสำคัญ โดยไม่ใส่ใจกับความต้องการของตัวเอง

๕. ความรักแบบมีเหตุผล เป็นความรักที่ยึดถือความจริงเป็นที่ตั้ง ผู้ที่มีความรักแบบนี้จะแสวงหาคู่ที่เหมาะสมกับตนให้มากที่สุด แล้วยังเชื่อว่าความสัมพันธ์จะราบรื่นก็ต่อเมื่อคู่รักสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของกันและกันได้ โดยจะแสวงหาคนที่มีลักษณะคล้ายกับตัวเองหรือหากจะแตกต่าง คนๆ นั้นจะต้องช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในชีวิตของเขาได้ มีลักษณะคล้ายรักเผื่อเลือก คาดหวังความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

๖. ความรักแบบไม่ผูกมัด เป็นการมองความรักเป็นเกมสนุกสนาน เพื่อความบันเทิงสำหรับทั้งสองฝ่าย ไม่ผูกมัด ตามติด และสามารถผลัดเปลี่ยนคู่ไปได้เรื่อยๆ เป็นความรักที่พยายามจะไม่สร้างความผูกพันทางอารมณ์หรือมีความรู้สึกอย่างลึกซึ้งกับใคร เพื่อรักษาความเป็นอิสระของตน จะไม่มีการหึงหวง ครอบครอง หรือแสดงความเป็นเจ้าของ และแน่นอนว่ามีความพอใจที่จะให้คู่ของตนมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ด้วย

จะเห็นได้ไม่ยากว่า ความรักแบบลุ่มหลง และความรักแบบเสน่หานี่เอง คือตัวปัญหาของการทำร้ายกันและกันไม่สิ้นสุด คือไม่ได้รักด้วยปัญญา แต่มัวเมา เป็นเหตุให้เกิดความหึงหวง พยาบาท ตามมาด้วยการทำร้ายร่างกาย และจิตใจ จนกว่าจะมีสติ ก็จะเกิดปัญญามองเห็นว่า นี่ไม่ใช่ความรักที่แท้จริง ไม่ใช่ความรักที่ควรไปให้ค่าและทำตาม เพราะจะทำให้เกิดทุกข์ตามมาอย่างช่วยไม่ได้เลย

“สติ” จะทำให้เห็นทุกข์จากความหลง และนี่เองจะช่วยให้ถอนจิตออกมาจากความยึดติดนี้ แล้วปล่อยไป ความอิสระทางใจก็จะเกิดขึ้นในที่สุด

“สติ” จึงสำคัญที่สุดในการทำให้เกิดมีก่อนที่จะมีสิ่งใด แม้แต่ความรัก เมื่อรักด้วยสติ ปัญญาย่อมช่วยให้ไม่ทุกข์ เมื่อทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากความรักล้วนไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งก็ไม่มีอะไรได้ดั่งใจจริงๆ สักอย่างเดียว บางทีเราอาจเห็นคู่รักที่หวานชื่นกันตลอดชีวิต ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร หากเขาไม่ได้เอ่นปากเล่าให้ใครฟัง ก็คงไม่มีใครรู้ว่า กว่าจะผ่านแต่ละช่วงมาได้ ต้องใช้ความอดทนกันมากขนาดไหน จนถึงที่สุดแล้ว อาจจะเรียกว่า ความอดทนนั้น คือ รักแท้ ก็ไม่ผิดนัก แต่ทั้งหมดก็ต้องประกอบไปด้วยปัญญาด้วยเช่นกัน ไม่งั้น ชีวิตจะสะบักสะบอมมาก แล้วทำอย่างไร ชีวิตและความรักจึงจะดำเนินต่อไปอย่างรู้ทันความสะบักสะบอม ?

รักอย่างไรจึงไม่กลายเป็นความรก  พระครูสมุห์สุพัฒน์  อนาลโย เรื่อง และ ภาพ
ธรรมลิขิต : รักอย่างไรจึงไม่กลายเป็นความรก : พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย เรื่อง และ ภาพ

 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here