ในบรรดามนุษย์โลกที่แบกรับความทุกข์ไว้ ไม่มีใครเกินมนุษย์แม่ พวกเธอเป็นชนเผ่าที่มักจะเอาความทุกข์ของคนอื่นมาใส่ตัวเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลูก ของพ่อแม่ ของสามี ล้วนแล้วแต่มีผลต่อพวกเธอทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความทุกข์เรื่องลูก คนเป็นแม่นั้นก่อนมีลูกก็มีความทุกข์เพราะเจ็บปวดจากการเป็นประจำเดือน อย่างที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “โรคผู้หญิง” เป็นความเจ็บปวดที่ยากจะมีคนเข้าใจ ซึ่งบางครั้งก็ส่งผลให้ภาวะอารมณ์แปรปรวน ปั่นป่วนทั้งตนเองและคนใกล้เคียง พอมีลูกไม่เป็นประจำเดือนก็ต้องรักษาครรภ์ซึ่งถือเป็นเรื่องหนักและต้องระมัดระวังมาก สภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปทำให้หลายๆ อย่างต้องปรับตาม การกิน การนอน เคลื่อนไหวตัวก็ลำบาก อีกทั้งยังมีอาการแพ้ท้อง เมื่อถึงกำหนดคลอดก็เป็นอีกความทุกข์ที่ผู้ชายไม่มีวันเข้าใจ
เหล่านี้เป็นความทุกข์ของผู้หญิงซึ่งมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เพื่อให้เราเข้าใจความแตกต่างทางเพศสภาพทางกาย และก็ยังมีมิติทางสังคมซึ่งในแต่ละวัฒนธรรมก็จะแตกต่างกันไป แต่ในทุกสังคมผู้หญิงก็จะทำหน้าที่เดียวกันนั่นก็คือ “เป็นแม่” และแม่ทุกคนก็มีความทุกข์เรื่องลูกคล้ายๆ กันเกือบจะทุกคน
“มีวันนี้ได้ เพราะพลังรักของแม่”
เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ไม่มีลูก ก็เป็นความทุกข์ของภรรยา แต่เมื่อมีลูกแล้วก็จะเป็นความทุกข์ของแม่ ซึ่งจะต้องทำหน้าที่เลี้ยงลูกให้เป็นที่ต้องการตามความคาดหวังของครอบครัวและสังคม ถ้าเลี้ยงแล้วลูกประพฤติไม่ดี สังคมก็จะตำหนิครอบครัว และครอบครัวก็จะตำหนิคนที่เป็นแม่มากที่สุด ซึ่งคนที่แสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องความประพฤติของลูกก็ดูจะมีเพียงแม่นี่แหละชัดเจนที่สุด และถ้าลูกเจ็บป่วย คนที่อยู่เคียงข้างลูกมากที่สุด ก็เห็นจะมีแต่แม่อีกเช่นกัน แม่บางคนจะต้องเลี้ยงลูกพิการเพียงลำพัง เพราะสามีไม่รับผิดชอบและทิ้งพวกเธอไปหาใหม่ ซึ่งสามีต้องการให้ทิ้งลูกพิการไปไม่ต้องเป็นภาระแต่เธอไม่ยอม ทำให้ทะเลาะกันบ่อยครั้งและสุดท้ายเขาก็ทิ้งไป
แม่บางคนมีลูกเป็นคนดีมาก บวชมาแล้วประพฤติตัวดี เป็นอยู่อย่างพอเพียง ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใครว่าอะไรให้ก็ไม่โกรธ ปรากฏว่า แม่เป็นทุกข์มาก กลัวว่าลูกจะอยู่กับสังคมไม่ได้ ไม่มีเพื่อน ธุรกิจจะไม่ก้าวหน้า และถ้าหากว่ากลับไปบวชอีกครั้งแล้วไม่ยอมสึกสิ่งที่แม่สร้างไว้จะทำยังไง อย่างนี้ก็สามารถทำให้แม่ทุกข์ได้ ไม่ต้องไปกล่าวถึง แม่ทีมีลูกไม่เอาการเอางาน ขี้คร้านตัวเป็นขน จะทุกข์ระทมกับลูกขนาดไหน
ความรักของแม่ดูจะระคนด้วยความทุกข์ แต่ว่าทุกข์ทางกายแม่รับได้และพร้อมจะทนเพื่อให้ลูกได้มีชีวิตรอดคลอดออกมา สัมผัสของแม่โอบกอดลูกไว้ทั้งในครรภ์และในอ้อมแขน เลือดกลั่นเป็นนมให้ลูกได้ดื่มกินมีชีวิตรอดก่อนจะกินข้าวได้
รักลูกอย่างไรไม่ให้เจ็บปวด?
แม้ว่าแม่บางคนจะยอมรับความเจ็บปวดอันเป็นธรรมดาของคนเป็นแม่ไว้ แต่ในความเป็นจริงแม่สามารถที่จะรักและเลี้ยงดูลูกโดยที่ไม่เจ็บปวดหรือมีความทุกข์ไปกับลูกได้ และสามารถที่จะมีความสุขไปกับการเลี้ยงลูกได้ด้วย เพราะความสุขของพ่อแม่คือสิ่งที่จะบ่มเพาะทุกสิ่งให้กับลูก
ธรรมะสำหรับพ่อแม่ขอให้มีหลักๆ แค่สัก ๔ ข้อก็น่าจะเพียงพอต่อการสร้างสรรค์ครอบครัวให้มีความสุขในการบ่มเพาะให้ลูกได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
๑.เมตตา
“คือ ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ใช้คำว่ารักของพ่อแม่เป็นเงื่อนไขให้ลูกต้องเป็นดั่งใจตนเองต้องการ ”
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
หรือเวลาทำอะไรก็อ้างว่ารักลูก แต่ทั้งหมดนั้นทำเพื่อสนองความต้องการของตนเอง เช่น ถ้าลูกรักแม่จริง ลูกต้องเรียนหมอให้แม่ เมื่อลูกเรียนให้อย่างที่ตนเองต้องการก็ทุ่มเทให้ไม่อั้นในวัตถุสิ่งของ แต่ถ้าลูกบอกว่าจะเรียนสิ่งที่ลูกต้องการแม่ก็เสียใจบางครั้งถึงขึ้นไม่พูดคุยกันนาน ความรักแบบนี้ก็พร้อมที่จะมีเหตุทำให้ทุกข์ได้ ความรักแบบเมตตานั้นจะเป็นความรักที่เข้าใจคนที่ตนเองรัก แม้หวังดีแต่จะไม่ใช้ความดีของตนเองเป็นเกณฑ์
๒.กรุณา
“คือ ความรักที่หวังดีอย่างไม่มีเงื่อนไข พร้อมที่จะช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน การเลี้ยงลูกไม่ใช่ทำธุรกิจ ผลประกอบการไม่ใช่ผลกำไร แต่มันคือความเติบใหญ่ของลูกอย่างเต็มศักยภาพ”
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
คำว่ากรุณา ไม่ใช่แค่ให้ความช่วยเหลือด้วยวัตถุเท่านั้น แต่บางครั้งแค่ให้โอกาส หรือให้ลูกได้มีประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิต แม่บางคนไม่เคยให้ลูกลำบาก จัดแจงทุกอย่างเสร็จ จนเด็กบางคนมีความเข้าใจว่าน้ำนั้นมาจากก๊อก การที่แม่ได้กรุณาลูกโดยให้เขาได้เรียนรู้จักความจริงของโลกและชีวิต ได้สัมผัสความลำบาก การรู้จักรอ และการได้เรียนรู้ความรู้สึกตนเองเมื่อไม่ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ จะเป็นการพัฒนาวุฒิภาวะของเขาให้เหมาะสม ไม่ใช่โตแล้วก็ยังควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ผลกระทบจะมีต่อเขาเมื่อโตขึ้นแต่วุฒิภาวะพัฒนาการไม่ทัน
๓. มุทิตา
“คำชม” มีอำนาจมากกว่าที่เราคิด มีผลเชิงบวกต่ออารมณ์ของเด็กได้ดี พ่อแม่ควรฝึกที่จะชมลูกบ้าง แม้ว่าจะเป็นการทำอะไรสำเร็จเล็กๆ แต่เป็นสิ่งที่เขาทำได้ด้วยตัวเอง
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
เช่น การใส่รองเท้าได้ด้วยตนเอง การวาดภาพมังกรแม้ว่าจะดูแล้วเหมือนไส้เดือนก็ตาม ลูกคนหนึ่งถือใบงานยับเยินแต่คะแนนเกือบเต็มไปให้แม่ดู สิ่งที่แม่คนนั้นทำคือพยักหน้าแล้วก็หันหน้าเข้าจอโทรศัพท์ สักพักหันกลับมาอีกแล้วบอกว่า “มันยับแล้วทิ้งไปก็ได้เอาไปก็รกบ้าน” คำว่า มุทิตา หรือ พลอยยินดี ไม่ใช่ว่าต้องรอวันที่ลูกจบปริญญาตรีแล้วค่อยมีช่อดอกไม้ แต่ว่าระหว่างวันที่ลูกนั้นทำอะไรดีดีแม่พ่อพอจะกล่าวชมได้ก็ขอให้พูด ให้เขารู้สึกว่า สิ่งที่เขาทำนั้นอยู่ในความใส่ใจของพ่อแม่และมันมีความสำคัญ เขาจะมีความสุขกับการทำให้พ่อแม่ภูมิใจ ลองคิดดูว่าจะดีขนาดไหนสำหรับเรา
๔. อุเบกขา
ข้อนี้สำคัญมาก หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า ให้วางเฉย คือ พอกล่าวสอนอะไรลูกไม่ได้แล้วก็ให้วางเฉย ปล่อยไปตามกรรม อันนี้ผู้เขียนได้ยินมากับตัวเองพ่อแม่มีลูกวัยรุ่นที่ดื้อไม่ฟังใคร สุดท้ายแม่บอกว่า แล้วแต่เวรแต่กรรม แต่ถึงจะพูดแบบนี้ หัวใจแม่ก็ทุกข์ทุกครั้งที่ลูกออกจากบ้าน ข้อนี้แปลว่า เข้าไปดูให้ชัด หรือ ให้มีความเข้าใจในตัวลูกอย่างแท้จริง เพศ วัย และกลุ่มเพื่อนหรืออุปนิสัยของลูกเราเป็นอย่างไร ความต้องการของเขาเป็นอย่างไร ขณะนี้เขาความสนใจเรื่องอะไรอยู่ พูดง่ายๆ คือเราทำความเข้าใจลูกอย่างตรงไปตรงมา จากนั้นค่อยพิจารณาว่า จะแนะนำหรือสอนอย่างไร
ถ้าเขาจะเป็นวัยรุ่นแล้วก็ต้องทำใจให้กว้างกับพฤติกรรมบางอย่าง ที่อาจจะขัดใจเราบ้าง แต่ก็จะต้องค่อยๆ ปรับไม่ใช่หักลำด้วยคำสั่ง มีแต่จะทำให้ไปไกลกว่าเดิม
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
อยากให้คนเป็นแม่พ่อมีหลักธรรมประจำใจ ไว้ยึดเหนี่ยวในยามที่ใจท้อ การเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว เป็นเรื่องที่เหนื่อยหนัก แต่ด้วยรักและหัวใจเปี่ยมสุขของพ่อแม่จะช่วยแก้ไขทุกอย่างให้เป็นไปในทิศทางที่ดีได้
การเดินทางของชีวิตคู่ไม่ใช่แค่สองเรา แต่มันคือเราหลายคนในครอบครัวเดียวกัน ระยะทางที่แสนไกลจะซ้อนอุปสรรคและอันตรายเอาไว้มากมาย
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
พลังรักของทุกคนในบ้านเท่านั้นที่จะช่วยให้ผ่าฟันวันร้ายๆ ไปได้ แล้วจะไม่มีใครต้องเจ็บปวดเพราะแบกภาระไว้เพียงลำพังอีกต่อไป
“มีวันนี้ได้ เพราะพลังรักของแม่” เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑