เว้นวรรคไปนาน กลับมาพร้อมกับน้ำท่วมในหลายจังหวัดที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง กับน้ำใจที่ท่วมท้นของคนทุกภาคที่รวมใจเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือกันและกันจนรอดพ้นภาวะวิกฤติไปได้ นี้คือรากฐานที่ชาวไทยเราได้รับจากพระพุทธศาสนาเต็มๆ อยู่ในสายเลือดและจิตวิญญาณจากรุ่นต่อรุ่น จากพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบันที่ทำให้ความเมตตา กรุณาเต็มเปี่ยมในหัวใจคนไทย
“มอบแรงใจ เราไม่ใช่ใคร ล้วนญาติกัน”
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
วันนี้จึงขอเล่าเรื่องการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในมุมสังคมสงเคราะห์กันต่อจากการถอดบทเรียนโครงการ “เยี่ยมพระพบปะโยม” เมื่อวันที่ ๑๕-๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เป็นการลงพื้นที่ให้กำลังใจกับพระสงฆ์และให้ธรรมะกับอุบาสกอุบาสิกาชาวพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ณ ชุมชนวัดป่าศรี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
ราวบ่ายสามโมงที่คณะพระธรรมทูตอาสาเดินทางลงพื้นที่บ้านป่าศรี โดยมีข้อมูลเบื้องต้นนั้นคือเป็นการเดินทางไปเยี่ยมผู้สูงวัย ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินทางไปวัดได้
ท่านรินทร์ รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าศรีเล่าว่าในชุมชนพหุวัฒนธรรม ” ที่บ้านป่าศรี เป็นหมู่บ้านชาวไทยพุทธที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอยะหริ่ง มีราว ๓๐๐ หลังคาเรืองและมีชาวไทยพุทธ กว่า ๒๐๐ หลังคาเรือน ซึ่งยังเกาะกุมกันอย่างหนาแน่น”
บ้านแต่ละหลังดูเงียบ ร่มรื่นตามแบบชนบททั่วไป ถ้าไม่มีทหารเดินตามมา เราอาจหลงลืมไปได้ว่าตอนนี้เดินอยู่ที่ไหน พอเดินเข้าไปบริเวณบ้านแต่ละหลัง โยมออกมานิมนต์ให้พระเข้าไปในบ้าน นั่งบนเสื่อบ้าง เก้าอี้บ้าง บรรยากาศสบายๆ และเป็นกันเอง
โยมหลายคนจะเล่าบอกถึงความเป็นอยู่ที่ยากลำบากตามอายุ ยายเสี้ยง อายุ ๘๕ ปีเพิ่งหกล้มกระดูกแตก เลยเดินลำบาก นั่งอยู่บนเก้าอี้ตอนเราไปถึง
ยายเล่าว่า “ล้มเมื่อหลายเดือนก่อน แต่ดีว่าตอนล้มมีตาครื้น อายุ ๘๔ ปีโทรไปบอกลูกที่อยู่บาละ จังหวัดยะลาให้พายายไปโรงพยาบาล ตอนนั้นลูกเลยชวนให้ไปอยู่ด้วย” แต่ตากับยายตอบไปว่า “ไม่ชอบ อยู่บ้าน สบายใจ”
แต่เราพากันแปลกใจว่าทำไมโต๊ะเก้าอี้จึงเยอะมาก “ตั้งแต่ยายป่วย ลูกๆ ก็พากันซื้อที่นั่งที่นอน ให้เต็มไปหมด” ยายเล่ายิ้มๆ
ส่วนยายคำอายุ ๘๔ ปี ก็เพิ่งเดินก้าวขาพลาดจนล้ม ดีว่าศีรษะไม่ได้ฟาดอะไร แต่แขนหัก ตอนนั้นลูกอยู่พอดีจึงพาไปหาหมอได้เร็ว ต้องรักษาอยู่หลายเดือน ยายบอกช่วงนี้ลำบากยกแขนยาก แต่เราก็เห็นยายพนมมือตลอด
พอดีเราหันไปเจอโต๊ะหมู่ตั้งอยู่มุมบ้าน บนโต๊ะเต็มไปด้วยพระพุทธรูป ยายเล่าว่า “ตอนแรกมีพระพุทธรูปไม่กี่องค์ แต่พอเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ ลูกๆ ที่กลับมาบ้านนำพระมาเพิ่ม โต๊ะเลยต้องใหญ่ขึ้น แต่ก่อนยายสวดมนต์คนเดียว เดี๋ยวนี้ชวนทุกคนสวดมนต์ทุกคืน จนตอนนี้ไม่ต้องใช้หนังสือสวดมนต์แล้ว”
ครอบครัวดูมีความห่วงใยกันมากขึ้น มีกิจกรรมทางใจทำร่วมกันมากขึ้น ขาดอย่างเดียวคือพระที่จะเข้าไปพูด ไปคุย ไปถามตามแบบอย่างที่พระพุทธองค์เคยถามเหล่าภิกษุว่า ยังทนไหวไหม (ขมนียํ) ใช้หลักอะไรประคองชีวิต (ยาปนียํ) เพราะเขามาวัดยากขึ้นด้วยวัยชราและสภาพร่างกายไม่อำนวย
แต่ตอนนี้พระภิกษุที่ญาติโยมเคยดูแลเมื่อครั้งญาติโยมยังหนุ่มสาว ตอนนี้ไม่ต่างจากญาติที่กำลังจะย้อนกลับมาดูแลญาติโยมเมื่อโยมชราและเจ็บป่วย
และนี่คือบทสรุปของ “โครงการเยี่ยมพระพบปะโยม” เพื่อเป็นรูปแบบดูแลกันของพุทธบริษัททั่วทุกภูมิภาคต่อไปในสังคมไทยที่เราต่างเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ใครได้รับความเดือดร้อน เมื่อเราพบเจอ สิ่งแรกอะไรที่เราสามารถช่วยกันได้ เราทำเลย ไม่ต้องรอใคร … เพราะเรารู้ว่า การช่วยเหลือกัน คือการมอบความสุขให้กันและกัน ในขณะนั้นเลย เพราะเราไม่ใช่ใคร ล้วนญาติกัน
“มอบแรงใจ เราไม่ใช่ใคร ล้วนญาติกัน”
โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
คอลัมน์ บันทึกธรรมวิจัย
หน้า ธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒
“พระภิกษุที่ญาติโยมเคยดูแลเมื่อครั้งญาติโยมยังหนุ่มสาว ตอนนี้ไม่ต่างจากญาติที่กำลังจะย้อนกลับมาดูแลญาติโยมเมื่อโยมชราและเจ็บป่วย”
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ ผู้เขียน