สถานการณ์ไข้หวัดโควิด-๑๙ มาแรงจนทำให้อิตาลีปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังประเทศอื่น ไม่เพียงเท่านั้น ในทุกระบบทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะหยุดนิ่งอย่างอึดอัด เพราะเมื่อไม่มีสภาพคล่อง ทุกอย่างก็ถูกกดดันไปโดยปริยาย การศึกษาก็เช่นกัน …
มหาวิทยาลัยปรับตัวก่อนล่มสลาย
กิตติเมธี
กล่าวเป็นข่าวและกระแสอย่างต่อเนื่องเรื่อง เรื่องมหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวไปแล้วกว่า ๕๐๐ แห่งจากทั้งหมด ๔,๕๐๐ แห่ง ทำให้เกิดการคาดเดาไปว่าในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า อาจจะมีมหาวิทยาลัยทยอยปิดตัวอีกกว่า ๒,๐๐๐ แห่ง
ย้อนกลับมาดูประเทศไทยก็เกิดปัญหานี้ทยอยให้เห็นเรื่องการสอบเข้าระดับ ม. ๖ และระดับอุดมศึกษาที่ลดลง โดยมีการอ้างเหตุผลถึงอัตราการเกิดที่ลดน้อยลง มีทางเลือกในการเรียนที่หลากหลาย สามารถเรียนออนไลน์ได้ทั่วโลก นักศึกษาที่จบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการจึงไม่เกิดการจ้างงาน ทำให้มหาวิทยาลัยบางแห่งมีการเพิ่มงบการตลาดอย่างหนักเพื่อหวังจะสร้างจุดเด่นและเพิ่มจำนวนผู้เรียน

ที่จริงถ้ามองจากในมุมคนที่ทำงานในมหาวิทยาลัยจะพบว่านอกจากปัญหาในด้านการบริหารจัดการแล้วอีกปัญหาที่ทำให้มหาวิทยาลัยไปต่อได้ยากคือ “หลักสูตรและระบบการเรียนการสอน” เพราะต่อให้มีระบบการบริหารดีแค่ไหนก็ไปไม่รอด
มองเรื่อง “หลักสูตร” นั้นต้องมองในระดับ universal คือมีความเป็นสากลมากแค่ไหน ว่าตามจริง การเรียนที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รวมถึงทั่วโลก ในหลักสูตรเดียวกันอาจมีความชัดเจนและไปในทางเดียวกัน ทุกหลักสูตรสามารถเชื่อมโยงและต่อยอดองค์ความรู้กันได้
ไม่ใช่พูดเรื่องแต่ที่ตนเองรู้ แต่ไม่สนใจชาวบ้านชาวช่องว่าเขาคุยอะไรกัน อย่างนี้ก็ไปยาก
จึงควรมีหลักสูตรที่ทุกคนมีส่วนร่วม จับมือกันได้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยกับชุมชนกับโลกกับศาสนา หรือผู้ที่มีส่วนร่วมแล้ววางเนื้อหาให้สอดคล้อง คุยกันให้สะเด็ดน้ำก่อนแล้วค่อยเดินหน้าต่อ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมจะอยู่ร่วมกันได้ล้วนมาจากพื้นฐานเดียวกันคือคนคุยกันได้ทุกเรื่องบนความเข้าใจกัน ไม่อย่างนั้นก็คงเป็นว่า “ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องก็อยู่ร่วมโลกเดียวกันไม่ได้”

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “วิธีการถ่ายทอดหรือการเรียนการสอน” ต้องสร้างรูปแบบที่เป็น individual ต้องสร้างอัตลักษณ์ให้กับนักศึกษาที่เข้ามาเรียน คือเมื่อจบออกไปต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องรู้จักตนเองมากขึ้น เพราะปัญหาของการเรียนการสอนสมัยนี้คือ มีข้อมูล (information) จำนวนมาก แต่จะพัฒนาเป็นความรู้ (knowledge) ได้ต้องมีความเป็นสากลหรือ universal อันนี้เป็นขั้นตอนแรกที่กล่าวมา ต่อแต่นั้นต้องเอาไปป้อนแก่นิสิต ซึ่งต้องทำให้เขาเกิดปัญญาหรือความเข้าใจ (understanding) นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้
การพัฒนาจากความรู้ไปสู่ความเข้าใจนี้ต้องอาศัยการถ่ายทอดหรือการสื่อสารที่ทันสมัย ทำอย่างไรเราจะปลุกความอยากเรียนรู้ หรือ sense of wonder ความตื่นตาตื่นใจต่อโลกแบบเด็กๆ ให้กับนิสิตได้ สิ่งหนึ่งคือต้องมีมุมมองใหม่ๆ ในการเข้าใจโลก และหาเครื่องมือในการสื่อสาร โดยอาจารย์ต้องหาเครื่องมือหรือปรับเปลี่ยนเครื่องมือในการสื่อสารให้สอดคล้องกับนิสิตตลอดเวลา ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือที่พัฒนาไปไกลอย่างระบบ e-learning, MOOC เป็นต้น ใช้อุปกรณ์รอบตัวในการสื่อสาร เช่น มือถือ เป็นต้น
แต่สิ่งที่เหนืออื่นใด การจะปลุกความอยากเรียนรู้ หรือ sense of wonder ให้กับใครอื่น อาจารย์ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องตื่นตัวและทันกับรูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา อันไหนเขาชอบดูชอบสนใจก็เอาสิ่งนั้นหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาช่วยในการสื่อสารมากขึ้น

และสุดท้ายการเรียนการสอนนั้น ต้องสอนให้คนได้หันมาตระหนักรู้ในตนเอง ปลุกความตื่นรู้ Sense of awareness คือเข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจความชอบ ความไม่ชอบ ความถนัด เข้าใจในแบบที่ตนเองเป็น เข้าใจวิถีชีวิตที่ตนเองควรเดินก้าวไปในแบบที่เป็นตัวเอง อาจไม่เหมือนใคร แต่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น
คือเมื่อเรียนจบจะไม่ถามว่า “เรียนแล้วจะเอาไปทำอะไร, เรียนแล้วฉันจะไปทำเหมือนกับใคร” แต่จะเปลี่ยนเป็นว่า “เรียนแล้วฉันจะเป็นตัวของฉันเองมากขึ้นหรือไม่”
เพราะตอนนี้กำลังเกิดคำถามว่า เครื่องจักรจะมาทำงานแทนคน เครื่องจักรคือสิ่งทำอะไรแบบเดียวกันคล้ายๆ กันเดิมๆ ทุกวันตามที่ถูกออกแบบไว้ แต่สิ่งที่เครื่องจักรทำไม่ได้และไม่มีทางทำได้คือ “การเป็นตัวของตัวเอง” กล้าทำอะไรที่ต่างออกไป
และเชื่อว่า วิธีการสอนแบบนี้ตรงกับการสอนให้คนเป็นมนุษย์มากขึ้น และทำให้เรายังเหนือกว่าเครื่องจักรก็ตรงนี้ คือ “อัตลักษณ์เฉพาะตน”

มหาวิทยาลัยปรับตัวก่อนล่มสลาย โดย กิตติเมธี