น้อมเศียรเกล้า อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓

ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์

ความทรงจำ พระพุทธศาสนาโลก

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม

ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์

(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

๙ มีนาคม ๒๕๕๗

คำปรารภ

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม

(ตอนที่ ๑๙) มหาจุฬาฯ กับเรื่องเก่าๆ ที่ควรเข้าใจ

๑. เลขาธิการมหาจุฬาฯ ๒๕๐๗-๒๕๒๑

: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ภาพในอดีต
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ภาพในอดีต

เลขาธิการมหาจุฬาฯ ๒๕๐๗-๒๕๒๑

ได้เล่าแล้วว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ดํารงตําแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ ครั้งยังมีสมณศักดิ์เป็นที่ พระราชวิสุทธิเมธีแล้ว มีสมณศักดิ์สูงขึ้นมาโดยลําดับ (เป็นที่พระเทพคุณาภรณ์ในปี ๒๕๐๗ เป็นที่ พระธรรมคุณาภรณ์ในปี ๒๕๑๔) จนกระทั่งเป็นที่ พระพรหมคุณาภรณ์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๖

ขอทบทวนลําดับตําแหน่งหน้าที่ของท่าน ที่มหาจุฬาฯ เล็กน้อย

ย้อนหลังไป ครั้งยังเป็นพระมหาเกี่ยว อุปเสโณ หลังสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ในปี ๒๔๙๗ แล้วไม่นาน ได้เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีที่มหาจุฬาฯ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านได้เป็นอาจารย์สอนวิชาพระสูตร เป็นหัวหน้าแผนกวิชาบาลี-ธรรม และ เป็นประธานหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์ (คือของอุดมศึกษา ซึ่งขณะนั้นมีคณะเดียว)

ในปีต่อมา (๒๕๐๒) ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายธุรการ และเป็นหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย แล้วถึงวันที่ ๑๕ ก.ย. ๒๕๐๖ ก็ไดรับการแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดี

จากนั้น ดังได้เล่าข้างต้นแล้วว่า ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ ตอนกลางเดือนมกราคม มีการตกลงกันเปลี่ยนแปลงปรับปรุงคณะผู้บริหาร โดย

ก) รองอธิการบดีทั้ง ๒ รูป คือ ท่านเอง และพระกวีวรญาณ ได้ลาออกจากตําแหน่งรองอธิการบดี และพระเมธีวรคณาจารย์ลาออกจากตําแหน่งเลขาธิการ

ข) พระมหาโพธิวงศาจารย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ และพระกวีวรญาณ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

แต่พระมหาโพธิวงศาจารย์ ซึ่งเป็นพระมหาเถระผู้เฒ่าชราแล้ว อ้างว่ามีภารกิจทางพระศาสนามาก ได้ขอลาออกในเวลามิช้าหลังได้รับการแต่งตั้ง

ในลําดับนั้น องค์ท่าน ครั้งเป็นที่ พระราชวิสุทธิเมธี(เกี่ยว อุปเสโณ) จึงได้เข้ารับหน้าที่เป็นเลขาธิการ ในปี ๒๕๐๗ นั่นเอง และเป็นความลงตัวที่มั่นคงตั้งแต่นั้นสืบมา ประมาณ ๑๕ ปี จนท่านขอยุติภารกิจในตําแหน่งเลขาธิการ ใน พ.ศ. ๒๕๒๑

ในช่วงต้นที่ท่านเป็นเลขาธิการมหาจุฬาฯ นั้น พระมหาประยุทธ ปยุตฺโต ได้รับการแตงตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ รูปที่๒ ในวันที่๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ คือ ๑๐ วัน ก่อนที่พระกวีวรญาณ จะสละตําแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ ในวันที่๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗

จากนั้น พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต หลังจากเป็นรองเลขาธิการในปี๒๕๑๓ (ใน สมณศักดิ์ที่พระศรีวิสุทธิโมลี) ก็ได้ขอลาออกจากตําแหน่งนั้นในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ (ขณะดํารงสมณศักดิ์ที่พระราชวรมุนี)

แล้วในปี ๒๕๑๗ นั้นเอง พบในบันทึกของผู้เล่า ณ วันที่๑๑ ม.ค. ว่าได้ทําร่างประกาศตั้งพระมหาบุญมา มหาวีโร เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ แต่ยังไม่พบหลักฐานว่า ต่อจากนั้นได้มีประกาศตั้งออกมา จนกระทั่งพบในบันทึกของผู้เล่าต่อมาว่า ในวันเปิดปีการศึกษา ๔ มิ.ย. ๒๕๑๘ ในพระอุโบสถวัดมหาธาตุท่านเจ้าคุณเลขาธิการ [พระพรหมคุณาภรณ์(เกี่ยว อุปเสโณ)] อ่านประกาศตั้งพระมหาบุญมา มหาวีโร เป็นรองเลขาธิการ

หลังจากผู้เล่าขอลาออกแล้ว ได้ว่างเว้นการบันทึกประจําวันไป ๑๐ เดือน แต่จําติดมาว่า พระมหาสมบูรณ์ สมปุณฺโณ ได้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการสืบงานมา (จากนั้น ๕ ธ.ค. ๒๕๑๘ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นที่พระวิสุทธิสมโพธิ) แล้วพระวิสุทธิสมโพธิ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการ ในปีที่มีเลขาธิการองค์ใหม่คือ พ.ศ. ๒๕๒๑

อีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้ ก็ควรทบทวนโดยลําดับความเป็นมาไว้ด้วย คือบุคคลผู้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาฯ

๑. พระวิเชียรโมลี(วิเชียร วิธุโร, วัดมหาธาตุ, ต่อมาลาสิกขา ได้แก่อาจารย์ วิเชียร บํารุงผล) เป็นพระเถระท่านแรกที่ดํารงตําแหน่งนี้ใน พ.ศ. ๒๔๙๐

๒. พระวีรธรรมมุนี(ไสว ฐิตวีโร, วัดไตรมิตรวิทยาราม, ต่อมาคือ พระวิสุทธาธิบดี) ได้เป็นเลขาธิการสืบแทน เมื่อพระวิเชียรโมลีลาออกในปีต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๑

๓. พระศรีสุธรรมมุนี(บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ, วัดมหาธาตุ, ต่อมาคือ พระสุเมธาธิบดี) ได้เป็นผู้รักษาการในตําแหน่งเลขาธิการ (และพระมหาพวน ฐานจาโร ป .ธ. ๙ วัดมหาธาตุ เป็นผู้รักษาการในตําแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ) เมื่อพระวีรธรรมมุนีลาออก ใน พ.ศ. ๒๔๙๖

๔. พระมหาแสง ธมฺมรํสี ป. ธ. ๗, พธ .บ. (ต่อมาคือ พ.อ. แสง สมบุญ) และพระ มหาจํานงค์ ชุตินฺธโร ป.ธ.๙, พธ.บ. (ต่อมาคือ ศาสตราจารย์พิเศษ จํานงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต) หลังจบการศึกษาเป็นพุทธศาสตรบัณฑิตในปี ๒๔๙๗ ไม่นาน ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสั่งการเลขาธิการ เมื่อพระศรีสุธรรมมุนีลาออกใน พ.ศ. ๒๔๙๘

แล้วต่อมา พระมหาจํานงค์ ชุตินฺธโร ได้เป็นผู้รักษาการในตําแหน่งเลขาธิการ (ในเอกสารทั่วไป ใช้คําว่า “สั่งการเลขาธิการ ”) เพียงรูปเดียว ในปี ๒๔๙๙ ก่อนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ พระกวีวรญาณ ในวันที่ ๕ ธ.ค. ๒๕๐๐

๕. พระมหามนัส จิตฺตทโม ป.ธ. ๖, M.A. วัดมหาธาตุได้เป็นสั่งการเลขาธิการ ตั้งแต่เดือน ม.ค. ๒๕๐๒ เมื่อพระกวีวรญาณไปดูการพระศาสนาในศรีลังกาและอินโดนีเซีย (เว้นช่วงเดือน มิ.ย. – ก.ค. ที่พระกวีวรญาณกลับจากศาสนกิจนั้น และทําหน้าที่ต่อมา จนกระทั่งไปศึกษาที่มหาวิทยาลัย Yale ในสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. ๒๕๐๒ นั้นเอง)

๖. พระมหาสนั่น กมโล ป.ธ. ๖, พ .ม., พธ.บ., M.A. วัดวิเศษการ (ต่อมาคือ นาย สนั่น ไชยานุกูล) ได้เป็นสั่งการเลขาธิการ เมื่อพระมหามนัส จิตฺตทโม ถูกกล่าวหาในคดีคอมมิวนิสต์และถูกนําไปคุมขัง ณ กองบัญชาการตํารวจสันติบาล ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ก่อนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระเมธีวรคณาจารย์ในปี ๒๕๐๕ แล้วได้รับการแต่งตั้ง เป็นเลขาธิการมหาจุฬาฯ ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ก่อนลาออกจากตําแหน่งในกลางเดือน ม.ค. ๒๕๐๗ (พร้อมกับที่พระราชวิสุทธิเมธีและพระกวีวรญาณ ลาออกจากตําแหน่งรองอธิการบดี)

๗. พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สําลี อินฺทโชโต) วัดอนงคาราม ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการมหาจุฬาฯ ในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๐๗ นั้นเอง และพระกวีวรญาณ ซึ่งลาออกจากตําแหน่งรองอธิการบดีได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ในวันที่๒๘ มกราคม ๒๕๐๗

แต่ในปี ๒๕๐๗ นั้นเอง พระมหาโพธิวงศาจารย์คงจะในฐานะที่เป็นพระมหาเถระ ซึ่งดํารงสมณศักดิ์สูงถึงชั้นเจ้าคณะรอง (ที่นิยมเรียกกันว่ารองสมเด็จ) อีกทั้งอยู่ในวัยชรามากแล้ว จึงได้ขอสละตําแหน่งเลขาธิการ และในปีเดียวกันนั้น ในวันที่๔ มิถุนายน พระกวีวรญาณก็ได้สละตําแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ

๘. พระราชวิสุทธิเมธี(เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.๙) ได้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการมหา จุฬาฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา เท่าที่ทราบว่าจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๑ (ขณะดํารงสมณศักดิ์ที่พระพรหมคุณาภรณ์) รวมเกือบ ๑๕ ปี ถึงจุดนี้ก็เป็นอันมาบรรจบกับเรื่องที่เล่าไปแล้วข้างต้น

ที่พูดว่าเท่าที่ทราบ เพราะผู้เล่าได้ลาออกจากตําแหน่งที่มหาจุฬาฯ ไปก่อนนานแล้ว กล่าวคือ พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ แล้วเป็นรองเลขาธิการ ใน พ.ศ. ๒๕๑๓ และลาออกจากงานที่มหาจุฬาฯ ใน พ.ศ. ๒๕๑๗

ระหว่างนี้ ในปี ๒๕๑๕ ได้ตั้งพระปิฎกโกศล (สิงห์ทน นราสโภ ป.ธ.๗, พธบ., Ph.D.) เป็นรองเลขาธิการอีกรูปหนึ่ง ซึ่งต่อมา ณ ๕ ธ.ค. ๒๕๑๕ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่พระทักษิณคณาธิกร พระปลัดขวาของสมเด็จพระสังฆราช ปุณณสิริมหาเถระ แล้วจากนั้น ท่านมีภารกิจสําคัญทางวัดพระเชตุพน จึงค่อนข้างจะเงียบไปจากทางมหาจุฬาฯ จนหลังจากสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์แล้วระยะหนึ่ง ก็ได้ลาสิกขาในวันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๕๑๘

(สําหรับตัวผู้เล่า แม้หลังลาออกแล้ว ก็มีงานของมหาจุฬาฯ ที่ผูกพันกับภายนอก โดยเฉพาะที่สืบจากสภาการศึกษาของคณะสงฆ์ งานของคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ รวมทั้งการดําเนินการที่จะให้มีพ.ร.บ. รองรับมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งยังต้องทําต่อมาจนซาหมดไปหลังปี ๒๕๓๐ แต่เป็นงานของมหาจุฬาฯ ซึ่งทําโดยแทบไม่ต้องมาที่มหาจุฬาฯ)

ในปี ๒๕๑๗ ที่ พระราชวรมุนี(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ลาตําแหน่งรองเลขาธิการนั้น มีเค้าความว่า พระมหาบุญมา มหาวีโร และพระมหาสมบูรณ์ สมฺปุณฺโณ ได้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ แล้วพระมหาบุญมา มหาวีโร ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการ ในปี ๒๕๑๘ (ถึงมรณภาพ มิ.ย. ๒๕๒๔) และพระวิสุทธิสมโพธิ(สมบูรณ์)เป็นรองเลขาธิการ ในปี ๒๕๒๑

นั่นคือปีที่มหาจุฬาฯ มีเลขาธิการองค์ใหม่ ได้แก่ พระมหานคร เขมปาลีอันเป็นเวลาที่พระพรหมคุณาภรณ์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.๙) ได้พ้นแล้วจากตําแหน่งเลขาธิการ

(ที่จริง เรื่องราวที่ว่าพระพรหมคุณาภรณ์ ยุติภาระของเลขาธิการ และพระมหานคร เขมปาลีมาดํารงตําแหน่งเลขาธิการในปี ๒๕๒๑ นี้ ผู้เล่านึกไม่ออกเลย เพราะได้ลาออกห่างไปนานแล้ว เมื่อจะเขียนเรื่องคราวนี้จึงต้องค้นหาข้อมูลจากบรรดาเอกสาร)

เป็นอันว่า ในสมัยที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ ป. ธ.๙) เป็นเลขาธิการมหาจุฬาฯ ประมาณ ๑๕ ปี(พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๒๑) มีผู้ช่วยเลขาธิการ และ รองเลขาธิการ ที่ประจําทํางานอยู่ด้วยกันตลอดมาอย่างต่อเนื่อง ๒ รูป คือ

๑) พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ และรองเลขาธิการ ประจําเต็มเวลาใน พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๑๗ (๑๐ ปี) แล้วเพลางานจนยุติในปี ๒๕๒๑

๒) พระมหาสมบูรณ์ สมฺปุณฺโณ ตามที่ถือว่าเป็น ผช.ลธ. ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ จนเป็นรองเลขาธิการ ในปี ๒๕๒๑ (ต่อจากนี้เข้าสู่ยุคของเลขาธิการองค์ใหม่)

[ในห้องสํานักงานเลขาธิการ มี๒ รูปนี้ยืนโรงทํางานอยู่ด้วยกันเต็มเวลาตลอด ๑๐ ปี ตั้งแต่พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต เข้าไปทํางาน โดยมีพระมหาสมบูรณ์ สมฺปุณฺโณ ซึ่งเป็น พธ.บ. รุ่นพี่ประจําหน้าที่อยู่ที่นั่นมาก่อนแล้วในงานของกองกลาง แห่งสํานักงานเลขาธิการ, มีท่านผู้อื่นเข้าไปนั่งทํางานร่วมอยู่ในบางช่วง สั้นบ้าง ยาวบ้าง ตามระยะกาลของท่าน คือ พระครูปลัดกิตติวัฒน์ เลขานุการคณบดีคณะครุศาสตร์๒๕๐๗-๐๙, รักษาการคณบดี ๓ ท่าน กลางปี ๒๕๐๙ ถึงต้นปี ๒๕๑๓, และพระปิฎกโกศล/พระทักษิณคณาธิกร เป็นรองเลขาธิการ รูปที่ ๒ ตั้งแต่ ๒๗ ก.พ. ๒๕๑๕, ส่วนพระมหาบุญมา มหาวีโร ได้เป็นรองเลขาธิการในปี ๒๕๑๘ คือ หลังระยะประจํางานเต็มเวลาที่นั่นแล้ว]

ตรงนี้ควรเล่าแทรกไว้พอให้ทราบว่า “อาจารย์สมบูรณ์” (คือ พระมหาสมบูรณ สมฺปุณฺโณ) นั้นเป็นกําลังสําคัญมากของมหาจุฬาฯ เป็นเวลายาวนาน เมื่อผู้เล่าเข้าทํางานในปี ๒๕๐๗ นั้น อาจารย์สมบูรณ์ได้ทํางานอยู่แล้ว โดยเป็นเจ้าหน้าที่กองกลาง สํานักงานเลขาธิการ ในตําแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน

เมื่อทํางานกันไปไม่นาน อาจารย์สมบูรณ์ก็รับเป็น “ผู้ช่วยนายทะเบียน” ทั้งนี้ เพราะเวลานั้นงานของนายทะเบียนแน่นหนักขึ้นมาก เฉพาะอย่างยิ่ง การออกหลักฐาน ใบรับรองผลการเรียนให้แก่พระ พธ.บ. ที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งเพิ่มจํานวนขึ้น อย่างมากมายและรวดเร็ว ผู้แบกภาระนี้ต้องทํางานอย่างหามรุ่งหามค่ำ และถึงกันกับตัว

ผู้เล่าได้แทบจะทันทีทุกเวลา ซึ่งพูดได้เลยว่ามีท่านเดียวที่ทําได้ คืออาจารย์สมบูรณ์นี่แหละ

เพราะท่านทํางานชนิดโต้รุ่งเป็นธรรมดา และอยูใกล้ชิดกันในห้องทํางานเดียวกับผู้เล่า

ส่วนนายทะเบียนเอง คือ อาจารย์ภาณุ(พระมหาภาณุ ปทุโม) เป็นพระเถระสูงอายุ ก็ทํางานทะเบียนทั่วไปที่สืบจากที่ท่านทําเรื่อยมาตามเวลาปกติต่อไป

อาจารย์สมบูรณ์เป็นผู้ช่วยนายทะเบียนอยู่นานทีเดียว ก่อนจะเป็นหัวหน้ากองกลาง แล้ว (เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ และ) ในที่สุด เป็นรองเลขาธิการ ในปี ๒๕๒๑

๙. พระมหานคร เขมปาลี(ป.ธ.๖, น.ธ.เอก, Ph.D., ต่อมาคือ พระอมรเมธาจารย์ แล้วเป็นพระราชรัตนโมลี) ได้เป็นเลขาธิการมหาจุฬาฯ หลังจากพระพรหมคุณาภรณ์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.๙) สละตําแหน่งนั้นใน พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นต้นมา จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีใน พ.ศ. ๒๕๒๙ โดยไม่มีการแต่งตั้งเลขาธิการมหาจุฬาฯ รูปใหม่อีก (พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยทั่วไป เลิกตําแหน่งเลขาธิการในปี ๒๕๑๖ ดังที่“พ.ร.บ. กําหนดวิทยฐานะผู้สําเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗” ก็ไม่กล่าวถึงตําแหน่งนี้)

ดร. พระมหานคร เขมปาลีจึงเป็นเลขาธิการมหาจุฬาฯ รูปสุดท้าย

  [เมื่อพระเดชพระคุณพระธรรมวรนายก ถึงมรณภาพ ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ เลขาธิการ คือ พระอมรเมธาจารย์ (นคร เขมปาลี,ต่อมาคือ พระราชรัตนโมลี)ได้เป็นอธิการบดีสืบมา จนสิ้นสุดลงเมื่อรัฐตรา พ.ร.บ . มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ อันทําให้มีการแต่งตั้งอธิการบดีที่มีสถานะเต็มตามกฎหมาย ได้แก่ พระราชวรมุนี(ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ซึ่งปัจจุบันดํารงสมณศักดิ์ที่พระพรหมบัณฑิต; อนึ่ง เมื่อเลขาธิการรูปนี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีใน พ.ศ. ๒๕๒๙ แล้ว ตําแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาฯ ก็วางเลิกไป]

โปรดติดตามตอนต่อไป

พระมองโลก มองความเป็นไป มองเหตุปัจจัย รวมทั้งมองการเมือง โดยมองแบบพระ ไมใช่มองแบบชาวบ้าน คือพระมองด้วยเจตนาเพื่อรู้เข้าใจสภาพของมนุษย์ และ ภาวการณ์ของโลกตามที่มันเป็น ให้ชัดเพียงพอ เพื่อสนองเจตนาที่จะแก้ปัญหาของโลก ของมนุษย์ให้ลุถึงประโยชน์สุข โดยไม่มีเจตนาที่เป็นเรื่องของตนเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือโยงอิงหมู่พวกใด ที่จะได้จะเอาอะไรๆ หรือเพื่อใคร เพื่อพวกใด

จึงเรียกว่า รู้โลก เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ พหุชนหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนมาก พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของคนมาก โลกานุกัมปายะ เพื่อเกื้อการุณยแก่โลก

ที่ว่านี้ ก็โยงมาถึงการที่จะเล่าเรื่องของมหาจุฬาฯ กลายเป็นว่า จะพูดถึงมหาจุฬาฯ แต่เลยไปพูดถึงทั้งโลก ที่จริง นี่แหละคือเรื่องที่ควรพูด เพราะว่ามหาจุฬาฯ ก็ดําเนิน เดินหน้าไป ในบ้านเมือง ในโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ตระหนักว่าตัวเป็นอยู่เป็นไปในสภาพแวดล้อม ท่ามกลางบ้านเมือง และในโลก ที่กําลังเป็นไปอย่างไร ตอนนั้น เวลานั้น มหาจุฬาฯ อยู่ในบรรยากาศ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอย่างไร ไม่ใช่เดินไปในความมืด มองอะไรมัวๆ เมื่อตัวไม่รู้ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิด แล้วก็เลยคิดเห็นไป กลายเป็นลุ่มหลงไม่ตรงตามจริง จะต้องรู้ให้พอที่จะมองเห็น ไม่ใช่มัวแต่หรืออยู่แค่คิดเห็น

ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด แม้มองถึงจุดหมายที่แท้ เมื่อมาเรียนที่มหาจุฬาฯ ก็เพื่อมี การศึกษา ที่จะให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย แล้วสามารถไปบําเพ็ญกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อคนทั้งมวล ทั้งโลก ด้วยรู้เข้าใจทั่วทันโลก ดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com  และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here