อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓

ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์

ความทรงจำ พระพุทธศาสนาโลก

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม

ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์

(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

๙ มีนาคม ๒๕๕๗

คำปรารภ

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม

ตอนที่ ๑๖

หาคอมมิวนิสต์ เห็นโรงละครโลก

“ มองหาสงครามเย็น มองเห็นสงครามร้อน”

: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต),สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต),สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

เมื่อนายแมคคาร์ธีย์หมดอํานาจ ก็เรียกว่าสิ้นยุคของลัทธิแมคคาร์ธีย์คือจบ era of McCarthyism แต่ปัญหากับคอมมิวนิสต์ยังไม่จบไปด้วย แม้จนบัดนี้

การล่าผีคอมมิวนิสต์ในเมืองไทยที่ได้เล่ามา ก็โยงกับเรื่องราวในอเมริกา ตามธรรมดาของกระแสการเมืองโลก โดยเฉพาะในเมื่ออเมริกามีอํานาจยิ่งใหญ่และอิทธิพลในเมืองไทยก็สูง คนไทยไม่เฉพาะรับข่าวสารเรื่องนี้จากรัฐบาล แต่ยูซิส คือ สํานักข่าวสารอเมริกัน (United States Information Service) ประจําประเทศไทย ก็เผยแพร่ข่าวสาร เช่นให้ขอรับนิตยสาร เสรีภาพ รายเดือน และหนังสือแปลชุด สันติภาพ ได้ส่งให้ฟรี

สงครามเย็นดําเนินต่อมา การพัฒนาจรวด (rocket) และขีปนาวุธ (missile) โยงต่อไปสู่เรื่องอวกาศ

พอถึงปี1957/๒๕๐๐ ณ วันที่๔ ต .ค. สหภาพโซเวียตก็ปล่อยดาวเทียมขึ้นไปได้สําเร็จเป็นดวงแรก ชื่อว่า Sputnik 1 หนัก ๘๓ กก. หมุนรอบโลกใน ๙๓ นาทีถือว่าเป็นการเริ่มยุคอวกาศ (space age) แล้วก็เข้าสู่ยุคการแข่งขันด้านอวกาศ (space race)

หลังจากนั้นเกือบ ๔ เดือน (๓๑ ม.ค. 1958/๒๕๐๑) สหรัฐอเมริกาจึงปล่อยดาวเทียมดวงแรกของตน คือ Explorer 1 ขึ้นไปได้

เหตุการณ์นี้ถือเป็นชัยชนะของโซเวียต ซึ่งทําให้ชาวอเมริกันโทมนัสมาก ได้เพ่งเล็งโทษการศึกษาแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลาง (child-centered education) แล้วหันกลับไปนิยมการศึกษาแบบมีครูและเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง (teacher- and subject-centered education) เกือบ ๓๐ ปีจึงกลับมาหาการศึกษาแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลางอีก

พอถึง ๑๒ เม.ย. 1961/๒๕๐๔ โซเวียตก็ส่ง Vostok 1 นํา Yury A. Gagarin ขึ้นไปเป็นมนุษย์เวหาคนแรกที่โคจรรอบโลก ๑ รอบ สองฝ่ายเร่งการแข่งขันกันต่อไปจนถึง ๒๐ ก.ค. 1969/๒๕๑๒ อเมริกาก็ส่ง Apollo 11 นํามนุษย์๓ คน ออกนอกโลกไปให้ Neil A. Armstrong และ Edwin E. Aldrin เป็นมนุษย์สองคนแรกที่ลงเหยียบดวงจันทร์

แต่ในเวลาที่ชาวอเมริกันสองคนลงเหยียบดวงจันทร์นั้น ทหารอเมริกันจํานวนมากได้ฟังข่าวดีนั้น ขณะที่รบหรือเป็นเชลยศึกถูกคุมขังอยู่ในเวียดนาม

พร้อมกันนั้น ในแผ่นดินอเมริกาเอง ปมปัญหาต่างๆ ก็ขยายตัวโผล่ออกมาเป็นปรากฏการณ์ที่ร้ายแรงมากหลาย เต็มไปด้วยความเดือดร้อนปั่นป่วนวุ่นวาย มีการชุมนุม เดินขบวนกันเรื่อย ที่โน่นที่นั่น มีการปราบปรามทําร้ายแตกแยกกันรุนแรงต่อเนื่องยืดเยื้อมายาวนาน เฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ ปะทะกับเจ้าหน้าที่ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นจลาจล บาดเจ็บล้มตายไม่น้อย

ทั้งนี้เนื่องจากความไม่พอใจและต่อต้านการทําสงครามในเวียดนาม กับทั้งเรื่องอื่นๆ ประดัง สืบจากปัญหาคนยากจนกลางความมั่งคั่ง ความอยุติธรรมในสังคม การเรียกร้องความเสมอภาค ทั้งการเรียกร้องสิทธิอันเนื่องจากการแบ่งแยกผิว โดยเฉพาะเรื่องสิทธิพลเมือง (civil rights) ของคนผิวดํา  ขณะที่พวก Ku Klux Klan ก็ทําท่าขยับ แล้วก็มีการเรียกรองสิทธิสตรี  สิทธิของเกย์ แม้กระทั่งการเรียกร้องสิทธิของนักโทษในเรือนจํา

หลังจากประธานาธิบดี John F. Kennedy ถูกลอบสังหารในปี1963/๒๕๐๖ ซึ่งทําให้ตื่นตระหนกและโศกเศร้ากันมาก แล้วในช่วงเวลาที่วุ่นวายนี้ก็มีการลอบสังหารบุคคลระดับผู้นําต่อมาอีก ทั้ง Martin Luther King, Jr. ผู้นําเรียกร้องสิทธิคนผิวดําในปี 1968/๒๕๑๑ ต่อด้วย Robert F. Kennedy ผู้แข่งรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีขณะหาเสียงใกล้จะเลือกตั้งในปีเดียวกันนั้น แล้วในปี1972/๒๕๑๕ นาย George C. Wallace ผู้ว่าการรัฐแอละแบมา/Alabama ซึ่งกําลังหาเสียงเสนอตัวเป็นผู้แข่งขันรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในนามพรรคเดโมแครต ก็ถูกยิง แม้จะรอดก็เป็นอัมพาต

(หลังช่วงวุ่นวายมากนี้แล้ว ในปี1981/๒๕๒๔ ก็มีการพยายามลอบสังหารประธานาธิบดี Ronald W. Reagan ซึ่งถูกยิง แต่แค่บาดเจ็บสาหัส ยังรอดมาได้)

อีกด้านหนึ่ง คนรุ่นหนุ่มสาวมากมายก็เบื่อหน่าย บ้างก็ถึงกับชิงชังวิถีชีวิตวิถีสังคมที่ตัวเกิดพบอยู่มา อยากจะมีชุมชนของพวกตัว พากันออกไปหาไปสร้างไปอยู่กัน เป็นชุมชนใหม่ที่มีวัฒนธรรมสวนกระแส (counterculture) พ่วงมากับเรื่องเพศ ที่มียาคุมกําเนิดเกิดขึ้นมาพอดีเขาหาสารเสพติดดนตรีใหม่และวิถีชีวิตขวางสังคม

ความเดือดร้อนวุ่นวายและเรื่องราวรุนแรงเหล่านี้ ทําให้การไปดวงจันทร์อันเป็นความสําเร็จยิ่งใหญ่ทางอวกาศ เป็นเรื่องที่คนอเมริกันลิงโลดดีใจได้เพียงผ่านๆ เหมือนลมเย็นพัดมาให้ได้สบายชื่นใจวูบวาบไปทีหนึ่ง

สงครามเวียดนาม ( Vietnam War; สงครามอินโดจีนครั้งที่๒ / Second Indochina War ก็เรียก) มีสาระอยู่ที่ว่า เวียดนามเหนือซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์แล้วต้องการรวมเวียดนามใต้เข้ามา ให้กลับเป็นประเทศเดียวกัน และก็คือจะให้เป็นคอมมิวนิสต์ด้วย

ฝ่ายอเมริกา โดยอิทธิพลของทฤษฎีโดมิโน (domino theory) ที่เชื่อว่า ถ้าชาติหนึ่งเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ชาติอื่นใกล้เคียงก็จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย ดังนั้น ถ้าปล่อยให้เวียดนามเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ประเทศทั้งหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) ก็จะเป็นคอมมิวนิสต์ตามๆ กันไปหมด จึงเข้าช่วยเวียดนามใต้และจีน กับโซเวียตก็มาช่วยเวียดนามเหนือ เป็นสงครามที่รุนแรงมากและยืดเยื้อยิ่ง

สงครามนี้เริ่มนานแล้ว ตั้งแต่ปี 1954/๒๔๙๗ (บางตํารานับว่าเริ่ม 1959/๒๕๐๒) ที่จริง เริ่มต้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลเวียดนามใต้ปราบคอมมิวนิสต์เวียดกง (Vietcong) ในประเทศของตัว ซึ่งเวียดนามเหนือสนับสนุน  อเมริกาพยายามช่วยรักษารัฐบาลที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ให้คงอยู่

สงครามดุเดือดขึ้นเมื่อกองทัพอเมริกันเข้าไปในปี1965/๒๕๐๘ รบกันไปๆ กลายเป็นอเมริกันรบกับคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ ที่มีจีนกับโซเวียตหนุน ถึงกับถูกเรียกว่าสงครามของอเมริกา (American War) และขยายขอบเขตออกไปเป็นส่วนหนึ่งของสงครามในอินโดจีน (ต่อมาลาว และกัมพูชาก็มีสงครามในลักษณะนี้) นับว่าเป็นอาการสําแดงของสงครามเย็น

อเมริกาบอกว่า สงครามเวียดนามเป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของตน เมื่อปี 1969/๒๕๑๒ มีกําลังพลอเมริกันประจําการในเวียดนามเกือบ ๕๕๐,๐๐๐ คน (นับที่ไปรบกลับมาตามวาระทั้งหมดว่า ๘,๗๔๔,๐๐๐ คน) สงครามไม่มีทีท่าว่าจะจบ

ในที่สุด ชาติมหาอํานาจต้องโอนอ่อนเข้าหากัน ประธานาธิบดีนิกสัน (Richard M. Nixon) ถึงกับไปเยือนเมืองจีน พบกับประธานเหมา เจ๋อตง ในปี 1972/๒๕๑๕ ( ๒๐ ก.พ.) และหลังจากนั้น ๓ เดือน ก็เป็นประธานาธิบดีอเมริกาคนแรกที่ไปเยือนมอสโก พบกับนายเบรสเนฟ (Leonid Brezhnev) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของโซเวียต (๒๖ พ.ค.) เป็นเชิงผ่อนคลายให้สงบสงครามง่ายขึ้น

หลังจากนั้นไม่นาน ได้มีการเซ็นสัญญาสงบศึกเวียตนามในปี 1973/๒๕๑๖ (Treaty of Paris, ๒๗ ม.ค.) แล้วถัดมา ๒ เดือน (๒๙ มี.ค.) ทหารอเมริกันรุ่นสุดท้ายก็ออกจากเวียดนาม  รวมทหารอเมริกันเสียชีวิตทั้งหมด (นับตามรายชื่อซึ่งจารึกที่อนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกเวียดนาม /Vietnam Veterans Memorial) เกินกว่า ๕๘,๒๐๐ คน

พอถึงปี 1975/๒๕๑๘ ทัพเวียดนามเหนือก็บุกครั้งใหญ่ลงมายึดไซ่ง่อนได้ เวียดนามใต้ประกาศยอมแพ้ในวันที่๓๐ เม.ย. กรุงไซ่ง่อนเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองโฮจิมินห์ เวียดนามรวมเป็นประเทศเดียว และเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยกัน เป็นอันจบสงครามเวียดนาม

ส่วนในกัมพูชา เขมรแดง (Khmer Rouge) โดยเวียดนามหนุน ได้รุกรบเต็มที่จนยึดอํานาจได้ในวันที่๑๗ เม.ย. 1975/๒๕๑๘ และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นกัมพูชาประชาธิปไตย โดยมีนายพอล พต (Pol Pot หรือซาลอท ซาร์/Saloth Sar) เป็นเลขาธิการพรรคคอมมูนิสต์กัมพูชา แล้วต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี

แล้วก็มาถึงลาว ซึ่งแตกเป็น ๓ ฝ่าย และสู้รบกันมาจนตั้งรัฐบาลผสมขึ้นได้ แต่อํานาจของฝ่ายคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้นโดยลําดับ ในที่สุด ขบวนการประเทดลาวก็เข้าปกครองประเทศ และประกาศเปลี่ยนพระราชอาณาจักรลาว เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อ ๒ ธ.ค.1975/๒๕๑๘ เป็นอันจบในปีเดียวกันหมดทั้ง ๓ ประเทศ

ที่ว่าเป็นสงครามเย็นนั้น ดูไปก็มีสงครามร้อน (hot war) แทรกเรื่อย ตั้งแต่สงครามเกาหลีมาแล้ว ผ่านสงครามอินโดจีนรอบ ๒ นี้ไป สนามรบไปอยู่ที่ตะวันออกกลางและใกล้ๆ

แถวใกล้ตะวันออกกลางนี้ กรณีเด่นจับจุดเริ่มที่อัฟกานิสถาน/Afghanistan ในปี 1978/๒๕๒๑ เมื่อพวกฝ่ายซ้ายโดยโซเวียตหนุน ได้ทํารัฐประหารล้มรัฐบาลเก่า แล้วรัฐบาลที่อยู่ข้างโซเวียตขึ้นปกครอง และเริ่มจัดการบ้านเมืองในแนวทางคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็มีพวกขบถเรียกว่า มูจาฮีดีน/mujahideen ตั้งกันขึ้นมาต่อสู้เพื่อขจัดอิทธิพลของ โซเวียต และอเมริกาก็เขาหนุนพวกขบถ

โซเวียตเกรงว่ารัฐบาลที่ตนหนุนจะล้ม จึงส่งกองทัพใหญ่มาปราบขบถตั้งแต่ปลายปี 1979 จนถึงปี 1980 ฝ่ายขบถก็มีอเมริกาช่วยหนุน โซเวียตส่งกําลังพลเพิ่มมาจนเป็นจํานวนแสน

พึงสังเกตว่า ในปี 1979/๒๕๒๒ นายโอซามา บิน ลาเดน/Osama Bin Laden ลูกมหาเศรษฐีในซาอุดีอาระเบีย/Saudi Arabia ก็ได้มาร่วมกับพวกขบถ mujahideen เพื่อขับไล่โซเวียต และในช่วงปลายทศวรรษ 1980’s เขาได้ตั้งองค์กรนักทําสงคราม อัล-คาอีดะ (al-Qaeda หรือ al-Qa`ida) ขึ้นมาต่อต้านโซเวียตไม่ให้ยึดครองอัฟกานิสถาน (โดยทั่วไป เขาต้องการให้ขจัดอิทธิพลของต่างชาติต่างพวกออกไปจากประเทศมุสลิม ต่อต้านรัฐบาลประเทศมุสลิมที่เข้ากับสหรัฐ และต้านการที่สหรัฐอุดหนุนอิสราเอล/Israel)

ทัพโซเวียตปราบขบถอยู่ ๑๐ ปี เห็นว่าไม่ไหว ในที่สุดถึงปี1 988/๒๕๓๑ ก็เริ่มถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานจนหมดในต้นปี 1989 แต่พวกขบถก็สู้กับรัฐบาลต่อไป จนในที่สุด ถึงปี 1992/๒๕๓๕ พวกขบถ mujahideen ก็โค่นรัฐบาลที่เป็นพวกโซเวียตลงได้

(โปรดติดตามตอนต่อไป …)

พระมองโลก มองความเป็นไป มองเหตุปัจจัย รวมทั้งมองการเมืองโดยมองแบบพระ ไม่ใช่มองแบบชาวบ้าน คือพระมองด้วยเจตนาเพื่อรู้เข้าใจสภาพของมนุษย์และภาวะการของโลกตามที่มันเป็น ให้ชัดเจนเพียงพอเพื่อสนองเจตนาที่จะแก้ปัญหาของโลกของมนุษย์ ให้ลุถึงประโยชน์สุข โดยไม่มีเจตนาที่เป็นเรื่องของตนเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือโยงอิงหมู่พวกใด ที่จะได้จะเอาอะไรๆ หรือเพื่อใคร เพื่อพวกใด จึงเรียกว่า รู้โลก เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ พหุชนหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนมาก พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของคนมาก โลกานุกัมปายะ เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก

ที่ว่านี้ ก็โยงมาถึงการที่จะเล่าเรื่องของมหาจุฬาฯ กลายเป็นว่าจะพูดถึงมหาจุฬาฯ แต่เลยไปพูดถึงทั้งโลก ที่จริง นี่แหละคือเรื่องที่ควรพูดเพราะว่ามหาจุฬาฯก็ดำเนินเดินหน้าไป ในบ้านเมือง ในโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ตระหนักว่าตัวเป็นอยู่เป็นไปในสภาพแวดล้อม ท่ามกลางบ้านเมือง และในโลก ที่กำลังเป็นไปอย่างไร ตอนนั้นเวลานั้นมหาจฬาฯ อยู่ในบรรยากาศในสภาพแวดล้อมที่เป็นอย่างไร ไม่ใช่เดินไปในความมืด มองอะไรมัวๆ เมื่อตัวไม่รู้ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิด แล้วก็เลยคิดเห็นไป กลายเป็นลุ่มหลงไม่ตรงตามจริง จะต้องรู้ให้พอที่จะมองเห็น ไม่ใช่มัวแต่หรืออยู่แค่คิดเห็น

ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด แม้มองถึงจุดหมายที่แท้ เมื่อมาเรียนที่มหาจุฬาฯก็เพื่อมีการศึกษา ที่จะให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย แล้วสามารถไปบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อคนทั้งมวล ทั้งโลก ด้วยรู้เข้าใจทั่วทันโลกดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com  และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604

https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here