อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓

ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์

ความทรงจำ พระพุทธศาสนาโลก

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม

ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์

(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

๙ มีนาคม ๒๕๕๗

คำปรารภ

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม

ตอนที่ ๑๕

หาคอมมิวนิสต์ เห็นโรงละครโลก

“ลัทธิแมคคาร์ธีย์ ล่าผีคอมมิวนิสต์ ”

: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต),  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และ  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)  ภาพในอดีต เมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ภาพในอดีต เมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา

ในภาวะที่เล่ามา ซึ่งดูว่าสหรัฐอเมริกานี้แสนจะสุขสําราญนั้น เมื่อมองให้ทั่วให้รอบ ก็จะเห็นว่ามีทุกข์มีภัย มีอะไรๆ ที่น่าหวาดกลัว พ่วงซ้อนอยู่หลายอย่าง มิใช่เป็นความสุขสําราญที่โปร่งโล่งเบิกบาน แต่มีความหวาดกังวลแฝงระคนตลอดเวลา

ย้อนกลับไปพูดต่อในเรื่องที่พูดค้างไว้ดังได้บอกแล้วว่า เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบสิ้นไป มนุษย์จะได้อยู่ดีมีสุขในสันติภาก็หาไม่ แต่ทันใดนั้น ความขัดแย้งใหม่ก็เกิดขึ้น อเมริการุ่งโรจน์ขึ้นมา ก็มีสหภาพโซเวียตพร้อมด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์โผล่ขึ้น คุกคาม โลกแบ่งเป็น ๒ ค่าย มีม่านเหล็กกั้น แล้วสงครามเย็นก็ดําเนินมา ไม่ช้าค่ายคอมมิวนิสต์แผ่ขยาย จีนที่เป็นดินแดนแสนใหญ่โต ก็กลายเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย

พร้อมกันนั้น พวกคอมมิวนิสต์ก็มีกําลังกล้าแข็งขึ้น โดยโซเวียตเจริญก้าวหน้ามีพลังอํานาจมากขึ้นๆ ทําท่าจะเทียมทันอเมริกา ระเบิดปรมาณูที่ทําให้อเมริกามั่นใจ ในไม่ช้า โซเวียตก็ทําได้ พออเมริกาทําระเบิดไฮโดรเจนขึ้นมาไม่ทันนาน โซเวียตก็ทําขึ้นบ้าง

ระหว่างนี้ในอเมริกา ความหวาดภัยสงครามและกลัวการโจมตีจากโซเวียตได้เพิ่มขยายและแรงมากขึ้นๆ คู่ไปกับการแข่งขันและการที่ได้เห็นความก้าวหน้าทันติดๆ มา ของประเทศคอมมิวนิสต์นั้น

มีการเตรียมพร้อมเผื่อจะเกิดสงครามโลกครั้งที่๓ รัฐบาลคอยบอกคอยเตือนให้ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองในกรณีที่มีการทิ้งระเบิดปรมาณู คุณครูสอนและคอยซ้อมให้เด็กนักเรียน ตั้งแต่ตัวเล็กๆ น้อยๆ ฝึกวิธีหลบภัยจากฝุ่นกัมมันตรังสี(fallout) เช่น เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณหรือเสียงภัย ให้ก้มลง กุมหัวไว้ ซุกตัวเขาไปหลบซ่อนตัวใต้โต๊ะเรียน

บ้านที่สร้างกันอย่างดีตามชานเมือง รัฐบาลก็หนุนให้ออกแบบ ให้มีห้องหลบภัยใต้ดินในบ้าน (family fallout shelter) ๑ ต่อ ๒๐ หลัง และในเมืองใหญ่ก็จะมีการซ้อมหลบภัยการทิ้งระเบิด (air-raid drills) กันเรื่อยเป็นปกติ

ที่เล่าข้างต้นว่า ในปี 1956/๒๔๙๙ อเมริกาออกรัฐบัญญัติจัดทุน ๓๓ พันล้านดอลลาร์ ให้สร้างทางหลวงเพิ่ม ๖๗,๒๐๐ กม. นั้น ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ให้เหตุผลว่าเป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงของชาติเช่น ถ้ามีการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ คนเดินทางง่ายก็จะหนีออกจากเมืองได้ทัน ทั้งเป็นการสนับสนุนให้คออกไปอยู่ในชานเมือง เพื่อจะได้พ้นภัย เมื่อมีการทิ้งลูกระเบิดลงมาในเมืองใหญ่

ตําราบ้างก็กล่าวว่า การที่ดนตรีแบบ rock-and-roll (หรือ rock ‘n’ roll) เกิดขึ้น และเป็นที่นิยมในอเมริกา เริ่มแต่ปี 1955/๒๔๙๘ ก็เกิดจากสภาพการเตรียมพร้อมต่อสงครามโลกครั้งที่ ๓ ซึ่งทําให้เด็กรุ่นนั้นหาทางออกจากความกดดันทางจิตที่เกิดความเครียดจากความหวาดต่อสงครามเย็น (Cold War) นี้เอง

ซ้ำร้ายกว่านั้น ขณะที่บ้านเมืองมีบรรยากาศแห่งความระแวงหวาดกลัว ผู้คนมีความเครียดวิตกกังวลอยู่แล้วต่อภัยคอมมิวนิสต์ก็มีนักการเมืองใจไม่ซื่อ ปั้นเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นการเมือง และปั้นให้เป็นปัญหาใหญ่โต เอามาสร้างเสริมตัวให้เด่นดังมีกําลังอิทธิพลที่ผู้คนจะต้องคร้ามเกรง แล้วก็ทําทุกข์ภัยของประชาชนให้ขยายร้ายแรงยิ่งขึ้น

เรื่องมีว่า อเมริกาตั้งแต่เข้าสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนชนะสงคราม กระทั่งถึงปี 1953/๒๔๙๖ อยู่ในสมัยของรัฐบาลแห่งพรรคเดโมแครต (Democratic Party) หลังสงครามจบแล้ว โซเวียตมีกําลังเข้มแข็งน่ากลัวมากขึ้นๆ และคอมมิวนิสต์ไม่อยู่แค่โซเวียต แต่ได้ขยายไปในยุโรปตะวันออก แถมมาถึงเอเชีย และจีนก็ไปแล้ ยิ่งกวานั้นกําลังทําท่าจะขยายไปอีกอยางรวดเร็ว พอดีตอนนั้น ก็เกิดสงครามเกาหลี (Korean  War, 1950-1953) ซึ่งจีนแดงหนุนเกาหลีเหนือรบกับเกาหลีใต้ และกองทัพสหประชาชาตินำโดยอเมริกา เอาชนะไม่ได้ง่ายอย่างคิด จนสุดท้ายก็เอาชนะเด็ดขาดหรือให้ชัดจริงไม่ได้ต้องยุติด้วยการทําสัญญาสงบศึก เฉพาะทหารอเมริกันตายไปกว่า ๓๓,๐๐๐ คน

เหตุการณ์เหล่านี้ ทําให้คนอเมริกันจํานวนมากสรุปว่า อเมริกากําลังพ่ายแพ้ในสงครามเย็น แต่อย่างที่รู้กันอยู่ว่า เวลานั้น สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอํานาจยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทําไมจึงกําราบคอมมิวนิสต์ไม่ได้ แล้วก็มีเสียงกล่าวหาว่า เป็นเพราะรัฐบาลของประธานาธิบดีทรูแมน (Harry S. Truman) อ่อนข้อให้แก่คอมมิวนิสต์  นักการเมืองในพรรคตรงข้าม คือรีพับลิกัน (Republican   Party) แสดงความไม่พอใจนโยบายและการดําเนินงานของรัฐบาลแห่งพรรคเดโมแครตเกี่ยวกับเรื่องนี้

แถมเข้าจังหวะที่เกิดกรณีโรเซนเบอร์ก (Rosenberg Case) คือ นายจูเลียส โรเซนเบอร์ก (Julius Rosenberg) ซึ่งเป็นวิศวกรไฟฟ้า และเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ได้ทํางานกับกองทัพบกอเมริกัน ครั้นถึงปี 1950/๒๔๙๓ เขากับภรรยาถูกทางการจับกุม ในข้อหาว่าส่งความลับเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูให้แก่โซเวียต หลังจากสอบสวนแล้ว ๒ ปี ต่อมา ทั้งสองคนถูกประหารชีวิต พวกรีพับลิกันก็ได้กรณีนี้และเรื่องจําพวกนี้ไปใช้ประกอบในการโจมตีรัฐบาลเดโมแครต

คนอเมริกันตื่นกลัวคอมมิวนิสต์มาก  ประเทศชาติอยู่ในบรรยากาศที่ผู้คนมีอาการ ซึ่งเรียกว่า “Red Scare” (“ผวาแดง”) คือระแวงว่ามีคอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้ามาครองตําแหน่งสําคัญๆ ในรัฐบาล และบางคนมีฐานะโดดเด่นในสังคม มีพวกที่ไม่จงรักภักดีต่อประเทศชาติ มีผู้บ่อนทําลาย มีไส้ศึก อันนับว่าเป็นอาการ “ผวาแดง” ครั้งที่๒

(“ผวาแดง” ครั้งแรก คือ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งทําให้ในปี 1920/๒๔๖๓ อเมริกาจับคอมมิวนิสต์และพวกลัทธิไม่พึงประสงค์ราว ๒,๗๐๐ คน)

ทั้งที่ในความเป็นจริง ประธานาธิบดีทรูแมนมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแข็งกร้าว ถึงกับตั้งโครงการเกี่ยวกับความภักดีต่อชาติของคนงาน ซึ่งทําให้คนทํางานของรัฐบาลกลางถูกไล่ออกหลายร้อย ถูกบีบให้ลาออกหลายพัน แต่คะแนนเสียงของเขาก็ ตกต่ำลงจนถึงกับประกาศในปี 1952/๒๔๙๕ ว่าจะไม่เข้าแข่งในการเลือกตั้งครั้งใหม่

ในช่วงเวลานั้น มีสมาชิกวุฒิสภา (senator) ฝ่ายรีพับลิกันคนหนึ่ง ชื่อว่า นายโจเซฟ แมคคาร์ธีย์ (Joseph R. McCarthy) ออกมาแสดงบทบาทเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ เขาบอกว่ารัฐบาลของรูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) และทรูแมน ทรยศต่อชาติมา ๒๐ ปีแล้ว (“20 years of treason”) ในต้นปี 1950/๒๔๙๓ เขาโพนทะนาว่ามีคอมมิวนิสต์ ๒๐๕ คน แทรกซึมเข้ามาอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ (State Department) ทําให้ผู้คนตื่นตระหนกโกรธแค้น และตัวนายแมคคาร์ธีย์เองก็โด่งดังขึ้นมาลั่นประเทศทันที

ที่จริง คํากล่าวหาของนายแมคคาร์ธีย์ไม่มีหลักฐานเลย เอาเข้าจริงก็ไม่มีแก่น สาร แต่ชาวอเมริกันกําลังหวาดผวา พอนายแมคคาร์ธีย์ออกมาตะโกน คนไม่น้อยก็เชื่อ เอาง่ายๆ แถมชื่นชมว่าเขาเป็นคนรักชาติเขากล่าวหาคนโน้นคนนี้ตั้งแต่ข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ครูอาจารย์ สื่อมวลชน ไปจนถึงดาราฮอลลีวู้ดมากมาย ในช่วงเวลา ๖ ปี (1947-1952/๒๔๙๐-๒๔๙๕) คนอเมริกันถูก FBI สอบสวนเรื่องนี้ ๓ ล้านคน

แมคคาร์ธีย์ใหญ่ขึ้นมาจนได้ตําแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวน โดยมีลูกมือ และมีวิธีวาดภาพนําเสนอข้อกล่าวหา พร้อมทั้งใช้กโลบายสอบสวนอันฉลาด ทําให้คนจํานวนมากเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกประณาม ถูกชิงชัง ถูกไล่ออกจากงาน แม้กระทั่งเสียอนาคต ที่ฆ่าตัวตายก็มี และคนอเมริกันก็ระแวงกันเอง

แล้วเขาก็ได้ใจถึงกับกล่าวหาพวกแม่ทัพนายกอง และผู้ใหญ่ในรัฐบาล ตอนหลังนี้เขาอาละวาดกวาดเดโมแครตไม่พอ จะเอารีพับลิกันด้วย กระทบแม้กระทั่งถึงตัวประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์

สุดท้าย ในปี 1954/๒๔๙๗ มีการประชุมพิจารณาคดีครั้งใหญ่ในข้อที่กล่าวหา แม่ทัพนายกองสําคัญๆ กับทั้งข้าราชการพลเรือน ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ตลอด ๓๖ วัน มีการซักถามโต้ตอบกันยืดยาว คนได้เห็นละเอียดทางทีวีทําให้มองเห็น เข้าใจ และจับได้ ซึ่งกลวิธีที่ไมซื่อของเขา ว่ากันไปๆ ก็พิสูจนไม่ได้ว่ามีนายทหารที่เป็นคอมมิวนิสต์สักคน

จนในที่สุด ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบกถึงกับพูดแก่แมคคาร์ธีย์ว่า “ ฯพณฯ ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเหลืออยู่เลยเชียวหรือ ขอรับ?” (“Have you left no sense of decency?”) ถึงจุดนี้มติมหาชนก็พลิกกลับเป็นปฏิปักษ์ต่อแมคคาร์ธีย์

แล้วจุดจบก็มาถึง เมื่อวุฒิสภาลงมติประณามนายโจเซฟ แมคคาร์ธีย์ว่าเป็นผู้ใช้อํานาจในทางมิชอบ มีความประพฤติเป็นปฏิปักษ์ต่อขนบประเพณีของวุฒิสภา จากนั้น เขาจะพูดจาอะไร ก็ไม่มีใครใส่ใจให้ความสําคัญ

แมคคาร์ธีย์ดื่มสุรามากมาย ในที่สุดตับก็เสีย แล้วเขาก็ตายในปี 1957/๒๕๐๐ เมื่อมีอายุเพียง ๔๘ ปี

เรื่องแมคคาร์ธีย์ล่าผีคอมมิวนิสต์นี้เป็นเหตุการณ์ใหญ่สั่นสะเทือนสังคมอเมริกันยุคมีสุขแสนสําราญนั้นมาก เป็นส่วนสําคัญของอาการผวาแดง หรือ Red Scare ที่ว่าแล้ว

ชื่อของเขากลายเป็นคําสําคัญ เป็นคําศัพท์ที่มีความหมายพิเศษ (ในทางไม่ดี) กลายเป็นลัทธินิยมอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า McCarthyism แล้วก็จัดเป็นเวลาช่วงพิเศษยุคหนึ่ง

(McCarthyism หมายถึง การปั้นแต่งเรื่องกล่าวหาใส่ร้ายคนอื่นอย่างเลื่อนลอย โดยไม่มีหลักฐานเพียงพอ หรือการใช้กลวิธีกล่าวหาสอบสวนที่ไม่เป็นธรรมเพื่อกําจัดฝ่ายตรงข้าม เฉพาะอย่างยิ่ง การกวาดล้างผู้บริสุทธิ์ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ที่ได้เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน)

(โปรดติดตามตอนต่อไป …)

พระมองโลก มองความเป็นไป มองเหตุปัจจัย รวมทั้งมองการเมืองโดยมองแบบพระ ไม่ใช่มองแบบชาวบ้าน คือพระมองด้วยเจตนาเพื่อรู้เข้าใจสภาพของมนุษย์และภาวะการของโลกตามที่มันเป็น ให้ชัดเจนเพียงพอเพื่อสนองเจตนาที่จะแก้ปัญหาของโลกของมนุษย์ ให้ลุถึงประโยชน์สุข โดยไม่มีเจตนาที่เป็นเรื่องของตนเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือโยงอิงหมู่พวกใด ที่จะได้จะเอาอะไรๆ หรือเพื่อใคร เพื่อพวกใด จึงเรียกว่า รู้โลก เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ พหุชนหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนมาก พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของคนมาก โลกานุกัมปายะ เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก

ที่ว่านี้ ก็โยงมาถึงการที่จะเล่าเรื่องของมหาจุฬาฯ กลายเป็นว่าจะพูดถึงมหาจุฬาฯ แต่เลยไปพูดถึงทั้งโลก ที่จริง นี่แหละคือเรื่องที่ควรพูดเพราะว่ามหาจุฬาฯก็ดำเนินเดินหน้าไป ในบ้านเมือง ในโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ตระหนักว่าตัวเป็นอยู่เป็นไปในสภาพแวดล้อม ท่ามกลางบ้านเมือง และในโลก ที่กำลังเป็นไปอย่างไร ตอนนั้นเวลานั้นมหาจฬาฯ อยู่ในบรรยากาศในสภาพแวดล้อมที่เป็นอย่างไร ไม่ใช่เดินไปในความมืด มองอะไรมัวๆ เมื่อตัวไม่รู้ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิด แล้วก็เลยคิดเห็นไป กลายเป็นลุ่มหลงไม่ตรงตามจริง จะต้องรู้ให้พอที่จะมองเห็น ไม่ใช่มัวแต่หรืออยู่แค่คิดเห็น

ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด แม้มองถึงจุดหมายที่แท้ เมื่อมาเรียนที่มหาจุฬาฯก็เพื่อมีการศึกษา ที่จะให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย แล้วสามารถไปบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อคนทั้งมวล ทั้งโลก ด้วยรู้เข้าใจทั่วทันโลกดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com  และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604

https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here