อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์
ความทรงจำ พระพุทธศาสนาโลก
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม
ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
๙ มีนาคม ๒๕๕๗
คำปรารภ
เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้
ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว
ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ
ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ
อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”
ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม (ตอนที่ ๑๒) “หาคอมมิวนิสต์ เห็นโรงละครโลก”
: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
“เจอสงครามร้อน ๗ ปีเพิ่งจบ
พบสงครามเย็นอีก ๔๗ ปี”
คําว่า “คอมมิวนิสต์” นี้มีเรื่องราวใหญ่โต ทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากมาย หลายยุคหลายคราว ได้ยินได้ฟังกันบ่อยมาก แต่ก็ยากจะหาคนที่บอกได้ว่ารู้จักคอมมิวนิสต์ดี มีแต่พูดกันไปในความมืดมัวสลัวคลุมเครือ
ในที่นี้ก็มิใช่จะบอกความหมายให้เข้าใจรู้จักตัวคอมมิวนิสต์ แต่ไหนๆ มีเรื่องมาใกล้ตัวแล้ว ก็จะเล่าเหตุการณ์ใหญ่ๆ ขยายเขตออกไป ให้เห็นเรื่องนี้กว้างมากขึ้น เป็นการเสริมความรู้เข้าใจด้านสถานการณ์ซึ่งจะช่วยให้มองอะไรๆ ออกหรือชัดมากขึ้น
ที่เล่าเรื่องมาข้างต้นนั้น บอกแล้วว่าเป็นเรื่องน่าแปลกที่รัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเอาจริงเอาจังที่จะปราบคอมมิวนิสต์ถึงกับออก พ.ร.บ. ป้องกันการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๙๕ แต่แล้วต่อมาไม่กี่ปี จอมพล ป. ก็เตรียมจะผูกไมตรีกับจีนแดง
พ.ร.บ. พ .ศ. ๒๔๙๕ ฉบับนี้ ผู้เล่าเองก็จําไม่ได้ แต่เมื่อพูดถึง ก็ทําให้นึกขึ้นมาถึงเรื่องคอมมิวนิสต์ที่เป็นบรรยากาศแวดล้อมในชีวิตของผู้เล่าเองในปีนั้น คือ พ.ศ. ๒๔๙๕
ในปี ๒๔๙๕ ผู้เล่ายังเป็นสามเณร อายุเต็ม ๑๓ ย่าง ๑๔ อยู่ที่วัดปราสาททอง ในเมืองสุพรรณบุรีเวลานั้น ข่าวสารแทบจะว่ามีแหล่งเดียว คือ วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ส่งเสียงจากกุฏิหลวงพ่อเจ้าอาวาส ออกข่าวเช้า-ค่ำ และมีรายการอื่นๆ ในเวลานอกจากนั้น เราได้ยินคําบอกเล่าและโฆษณาของรัฐบาล ให้รู้เข้าใจความเลวร้ายมากมายร้ายแรงของคอมมิวนิสต์ซึ่งเรามักจํากันว่า “คอมมูนิสต์” ฟังคําที่วิทยุว่า ก็วาดภาพคอมมูนิสต์นั้นเหมือนเป็นผีเป็นปีศาจแสนร้ายกาจ เป็นยักษ์ เป็นมารที่น่ากลัว
เหตุการณ์ความเป็นไปในประเทศไทยอันนี้ก็คือ เป็นไปตามนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเวลานั้น ดังได้กล่าวแล้ว
อย่างไรก็ดี การเมืองไทยที่เป็นอย่างนั้น มิใช่เป็นไปเองโดยลําพัง แต่อยู่ในกระแส การเมืองโลก หรือการเมืองระหว่างประเทศในวงกว้างที่เป็นไปอยู่ในเวลานั้น อันเริ่มต้นมาตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ทําให้โลกแบ่งแยกเป็น ๒ ค่าย คือ โลกเสรี(free world) มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นํา กับค่ายคอมมิวนิสต์ (communist bloc) มีสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันเหลือเป็นรัสเซีย) เป็นหัวหน้า
เมื่อสงครามโลกครั้งที่๒ ยุติลงในปี 1945 (พ.ศ. ๒๔๘๘) ประเทศในยุโรป แม้แต่ที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม อย่างอังกฤษ และฝรั่งเศส ก็อยู่ในสภาพที่ย่อยยับแหลกลาญ
แต่สหภาพโซเวียต (Soviet Union, เรียกเต็มว่า Union of Soviet Socialist Republics, เรียกย่อว่า U.S.S.R.) แม้จะเต็มไปด้วยความพินาศพังทลาย แต่เพราะเป็น ประเทศที่มีดินแดนแสนจะกว้างใหญ่ไพศาล (ก่อนแตกสลายในปี1991/๒๕๓๔ มีเนื้อที่ ๒๒.๔ ล้าน ตร.กม. คือใหญ่ ๗ เท่าของอินเดีย) ถึงจะสูญเสียมากมาย ก็ยังเหลือมหาศาล
ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น โซเวียตมีกองทัพใหญ่ที่สุดในโลก มีรถถังและ เครื่องบินมากกว่าเยอรมัน ๒-๓ เท่า เมื่อเยอรมันบุกเมืองหลวง คือ มอสโก/Moscow แม่ทัพเยอรมันจะเข้ามาถึงชานเมือง แต่ฤดูหนาวที่โหดร้ายยิ่งนักของรัสเซียก็ช่วยไว้ทําให้เยอรมันซูบโซแสนโทรมกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ ถึงแม้เมืองใหญ่ๆ จะพินาศ เช่น เลนินกราด/ Leningrad ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ถูกล้อมสู้กัน ๙๐๐ วัน คือเกือบ ๒ ปีครึ่ง รอด แต่คนในเมืองตายไปเกือบล้านคน อีกด้านหนึ่ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ การรบที่สตาลินกราด/ Stalingrad ท่ามกลางฤดูหนาวที่แสนโหดของรัสเซีย อุณหภูมิลดถึง -300 (ใต้ศูนย์) รบกันจนวอดวายหมดทั้งเมือง ได้ชื่อว่าเป็นการรบเลวร้ายที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหาร ๒ ฝ่าย ตายรวมกันได้ล้านคน แล้วโซเวียตกลับเป็นต่อ ในที่สุด สหภาพโซเวียตก็เป็นฝ่ายชนะ
ย้อนหลังไป เมื่อใกล้จะสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้มีการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917/๒๔๖๐ (ประกอบด้วยการปฏิวัติ ๒ ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ และตุลาคม) ทําให้พวกพรรคบอลเชวิกส์/Bolsheviks ขึ้นครองอํานาจ และรัสเซียกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ แล้วจากนั้นอีก ๕ ปีโดยมียูเครน/Ukraine เป็นต้น เข้ารวมด้วย ได้ตั้งเป็นสหภาพโซเวียต ในปี 1922/๒๔๖๕
พอสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะที่อังกฤษ และฝรั่งเศส ป้อแป้ทั้งภายใน พร้อมทั้งนอกออกไป บรรดาอาณานิคมก็พากันเรียกร้องจะเป็นเอกราช สหภาพโซเวียต ซึ่งยังมีกําลังดีอยู่ก็แผ่ขยายอิทธิพลพร้อมทั้งอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ออกไป เอาประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันออกเขามาอยู่ใต้ความครอบงํา กลายเป็นมหาอํานาจใหม่
อีกด้านหนึ่ง สหรัฐอเมริกาซึ่งมีดินแดนอยู่ต่างทวีปห่างไกล ได้ส่งทหารมาร่วมรบ และเป็นผู้ชนะสําคัญ โดยแรงกระทบจากสงครามไปไม่ถึงตัว แถมยิ่งมีกําลังเพิ่มพูนขึ้น ทั้งทรัพย์และอํานาจเป็นมหาอํานาจขึ้นมาอย่างโดดเด่น แต่เป็นประเทศประชาธิปไตยใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มีอุดมการณตรงข้ามกับสหภาพโซเวียต
สหรัฐอเมริกาเขามาโอบอุ้มจุนเจือเหล่าประเทศในยุโรป และในทวีปอื่น พร้อมกับ พยายามป้องกัน ปิดกั้น โอบล้อมสหภาพโซเวียต ที่ขยายอํานาจและแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ กลายเป็นว่า หลังจบสงครามโลกครั้งที่๒ ได้เกิดมีความขัดแย้งระหว่าง ๒ มหาอํานาจใหม่ ที่ทวีขึ้นๆ กลายเป็นสงครามอย่างใหม่ที่เรียกว่า “สงครามเย็น/cold war”
ประมาณครึ่งปี หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่๒ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์/Sir Winston Churchill นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไปเยือนสหรัฐอเมริกา ได้ไปเยี่ยมรัฐบ้านเกิดของ ประธานาธิบดีทรูแมน/Truman คือ มิสซูรี/Missouri
เชอร์ชิลล์กล่าวในคําปราศรัยที่ Westminster College เมือง Fulton เมื่อวันที่ื ๕ มีนาคม ๒๔๘๙/1946 ว่า “ม่านเหล็ก/iron curtain ได้ลงมาปิดขวางกั้นทวีป (ยุโรป) ทอดตั้งแต่เมืองสเตตติน (ในโปแลนด์) แถบทะเลบอลติก มาถึงเมืองทรีเอสเต (ในอิตาลี)แถบ ทะเลเอดรีแอติก” (“From Stettin in the Baltic to Trieste in the Adriatic, an iron curtain has descended across the Continent,…”)
แล้วคําว่า “ม่านเหล็ก” ก็ได้ถือกําเนิดขึ้น
นายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลล์บอกว่า ยังมีทรราชเหลืออยู่อีกคนหนึ่งในยุโรป คือ จอมเผด็จการโซเวียต โจเซฟ สตาลิน/Joseph Stalin เมื่อสตาลินได้ยินข่าวเรื่องนี้ เขาบอกว่า นี่เป็นปฏิบัติการสงคราม (an act of war) หรือการทําสงคราม
ความขัดแย้งและตึงเครียดเพิ่มทวีครั้นถึงปี1948/๒๔๙๑ นายเบอร์นาร์ด บารุค/ Bernard Baruch ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีทรูแมน ได้ริเริ่มใช้คําว่า “สงครามเย็น/cold war” ซึ่งได้รับความนิยมใช้กันเรื่อยมา สื่อความหมายว่าเป็นระยะเวลาที่สองค่าย อุดมการณ์แข่งกันสะสมกําลังทหาร รวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์ ชิงอํานาจทางเศรษฐกิจ และ มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นปฏิปักษ์กันอย่างตึงเครียด
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604
https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf