ย้อนอดีตรำลึกความทรงจำ จุดกำเนิดแห่งการเผยแผ่ธรรมของพระสงฆ์ยุคใหม่ ให้ทันโรคทางใจแก้ไขทุกข์ของผู้คนให้ทันท่วงที…
พุทธพลิกใจ ไทยพลิกโลก
พระสงฆ์สื่อธรรมอย่างไรในยุคออนไลน์
โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ดร.ป.ธ.๙
การก้าวไปข้างหน้าของงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคดิจิตอล มีความจำเป็นมากที่พระสงฆ์จะต้องมีความสามารถในการเผยแผ่ธรรมผ่านการสื่อสารในช่องทางต่างๆ ของสื่อออนไลน์เพื่อเป็นน้ำดีแทรกไว้ในสื่อร้อนๆ ที่กำลังพาคนหลงไปกระแสของอารมณ์จนทำให้ขาดสติ
การสื่อสารอย่างมีสติ จะช่วยลดการเบียดเบียนกันอันจะเกิดจากอารมณ์เป็นส่วนใหญ่
จึงขอเล่าย้อนกลับไปในโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล รุ่น ๖ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๗ ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย โครงการนี้มีสโลแกนน่าฟังว่า
“ย้อนยุค ปลูกอุดมการณ์ ดูงานพระอริยสงฆ์ สานตรงต่อพระพุทธปณิธาน”
เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เริ่มต้นโดยเจ้าคุณอาจารย์พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา และอีกหลายวัดในแดนพุทธภูมิ โดยได้รับการสนับสนุนจากดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๖ โดยแต่ละรุ่นนั้นจะมีการคัดเลือกพระสังฆาธิการจากทั่วประเทศไทยจำนวน ๒๓ รูป, กัมพูชา ๒ รูป, ลาว ๒ รูป และเวียดนาม ๑ รูป รวม ๒๘ รูป เพื่ออบรมวิชาการด้านต่างๆ เช่น การสื่อสารมวลชน เป็นต้น ในดินแดนพุทธภูมิ เพื่อให้ท่านได้นำความรู้เหล่านั้นไปดำเนินการเผยแผ่และพัฒนาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย อีกทั้งประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในเขตสุวรรณภูมิต่อไป
หนึ่งในวิชาการที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้ก็คือ “การเขียนบทความทางพระพุทธศาสนา” โดยได้นิมนต์พระวิทยาการจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ วัดสระเกศ นำโดยพระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี, พระมหาวีระพันธุ์ ชุติปัญโญ และ พระมหาประสิทธิ์ ญาณัปปทีโป
โดยในครั้งนั้น พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เจ้าคุณเทอด ญาณวชิโร) ได้กล่าวว่า “พระธรรมทูตแต่ละท่านที่เข้าอบรมในครั้งนี้ล้วนแต่มีความรู้ ความสามารถ เป็นเจ้าคณะปกครอง เพียงแต่ยังไม่รู้วิธีการนำความรู้เหล่านี้ออกมา การเขียนจะช่วยเหลือท่านได้ เพราะแค่ท่านเดินทางในอินเดียแล้วได้เรียนรู้วิธีการจดบันทึก นั่นก็เท่ากับเป็นการเริ่มต้นงานเขียนแล้ว”
พระอาจารย์เฉลิมชาติ ชาติวโร ผู้ดูแลฝ่ายวิชาการได้เล่าถึงความเป็นมาเป็นไปว่า “การเขียนหนังสือ “พุทธพลิกโลก” มาจากประสบการณ์ตลอด ๓ เดือนในดินแดนพุทธภูมิของพระสังฆาธิการผู้เข้าร่วมอบรมเขียนขึ้น หลังจากเดินทางเพื่อเปิดเผยประสบการณ์ตรง และความรู้สึกจากการได้ใช้ชีวิตสัมผัสกับละอองบารมีในดินแดนต้นกำเนิดที่เต็มไปด้วยรอยพระพุทธบาท และรอยเท้าของเหล่าพระอริยสงฆ์ ว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้อย่างไร โดยได้รับการอุปถัมภ์จากดร.สุภชัย วีระภุชงค์และคณะชมรมโพธิคยา ๙๘๐”
สำหรับ พระครูสังฆรักษ์ไพบูลย์ ปัญญานันโท หนึ่งในพระบัณฑิตเผยแผ่จากวัดพระธาตุผาเงา จังหวัดเชียงรายถามด้วยความสนใจ “ทำอย่างไรจะเกิดอารมณ์อยากเขียนธรรมะเผยแผ่ธรรม ”
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี เจ้าของนามปากกา “กิตติเมธี” ตอบประเด็นนี้ว่า “การเขียนบางทีไม่ต้องสร้างอารมณ์ก่อนแล้วจึงค่อยลงมือเขียน เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้เขียน แต่เรามาลองฝึกเขียนจนกว่าจะเกิดอารมณ์ดีกว่า เพราะตอนนี้เรามาอยู่ที่แดนพุทธภูมิแล้ว เชื่อว่าเราจะเขียนด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในพุทธคุณได้ไม่ยาก”
ส่วนพระอาจารย์ใส สุรปัญโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิพฤกษาราม จ.สุรินทร์ ถามต่อ “เคยทดลองเขียนแล้วแต่โดนหาว่าภาษาลูกทุ่ง ไม่มีความเป็นวิชาการ เลยไม่กล้าเขียน”
ในประเด็นนี้พระมหาวีระพันธุ์ ชุติปัญโญ เจ้าของนามปากกา “ชุติปัญโญ” ได้กล่าวว่า “การใช้ภาษาเราอาจไม่ได้ดีมาแต่เดิม แต่เมื่อเราฝึกฝนอย่างจริงจังผ่านการเรียนรู้จากนักเขียนอื่น เช่น หลวงพ่อพุทธทาส, พระพรหมคุณาภรณ์ (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ,พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นต้น แล้วสร้างงานเขียนที่เป็นของเราเองในแบบของเราได้ในที่สุด”
และสรุปท้ายด้วยพระมหาประสิทธิ์ ญาณัปปทีโป เจ้าของนามปากกา “ธรรมรตา” ได้สรุปต่อว่า “การถูกต่อว่าถือว่าเป็นเครื่องพัฒนางานของเรา ต้องถามตัวเองว่าเรามีจุดมุ่งหมายอย่างไรในการเขียน แล้วไม่ว่าจะโดนตำหนิกี่ครั้งเราจะไม่ล้มเลิกง่าย เพราะเรามีจุดหมายที่การเขียนให้สำเร็จ”
จากความสนใจ ใส่ใจและเข้าใจความสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ถือเป็นเหตุผลหลักในการจัดการอบรมครั้งนี้ จนทำให้เกิดงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านงานเขียนที่ตรงใจผู้อ่านในการแก้ปัญหาความทุกข์ได้ทันท่วงทีในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ และตามเพจเฟซบุ๊กของพระอาจารย์แต่ละท่านผู้ได้เรียนรู้เทคนิกการเขียนเพื่อการสื่อสารให้เข้าใจง่าย เพื่อนำไปใช้ในการเผยแผ่ธรรมให้นำสมัย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พระสงฆ์ที่ได้อบรมการเขียนในโครงการพระนักเขียน กับ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ วัดสระเกศ ผ่านไปหลายรุ่นหลายร้อยหลายพันรูป
ซึ่งแต่ละท่านก็ได้ทำหน้าที่สื่อธรรมะจากพระพุทธเจ้ามายังคนทุกข์ให้ย่อยง่าย ใช้ได้จริงมาโดยตลอด ผ่านการอบรมคนทำงาน ครูบาอาจารย์ นักการศึกษา ประชาชนทั่วไป ตลอดจนเด็กและเยาวชน
ซึ่งในปัจจุบัน ก็ประจักษ์ชัดแล้วว่า โครงการพระนักเขียนได้เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่ธรรมในยุคออนไลน์ที่สร้างผลงานคุณภาพที่ผสมทั้งงานเขียนทางวิชาการด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายเกิดขึ้นในสังคมไทย
ซึ่งทางผู้จัดและทีมงานทุกท่านเชื่อว่าในอนาคตจะมีพระนักเขียนที่สร้างผลงานอันสามารถถ่ายทอดความรู้จากแดนพุทธภูมิที่จะช่วยพัฒนาจิตใจคนไทยให้ก้าวหน้าไกลในโลกได้อย่างแน่นอน
- “งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านงานเขียนในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ และตามเพจเฟซบุ๊กของพระอาจารย์แต่ละท่านก็เพื่อเป็นการสื่อธรรมให้เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้อ่านนำไปใช้แก้ทุกข์ได้ทันท่วงที ขณะที่พระสงฆ์ก็ได้ใช้สื่อในทางสร้างสรรค์เพื่อการเผยแผ่ธรรมให้นำสมัย “
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ดร.ป.ธ.๙ ผู้เขียน
“พุทธพลิกใจ ไทยพลิกโลก
พระสงฆ์สื่อธรรมอย่างไรในยุคออนไลน์ “