พ.ศ.๒๕๕๕ อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ได้วาดภาพถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ในนิทรรศการสุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ ในโอกาสครบ ๘๕ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์
พ.ศ.๒๕๕๕ อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ได้วาดภาพถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ในนิทรรศการสุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ ในโอกาสครบ ๘๕ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์

คำนำผู้เขียน

“ศิลปะ” เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แม้ว่าข้อเท็จจริง ศิลปะจะมีหน้าที่รับใช้สุนทรียะทางจิตใจของปัจเจกชน ซึ่งก็คือศิลปินต้องการสร้างความงาม จึงได้สร้างศิลปะในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมา แต่คุณค่าที่ตามมา คือ ประชาชนที่เสพศิลปะได้เข้าถึงคุณค่าทางศาสนา และดำเนินชีวิตตามหลักแห่งความดีที่ศิลปินเสนอผ่านศิลปะ

“ศิลปะ” จึงได้ชื่อว่า “เป็นมงคลสูงสุด” อย่างหนึ่ง

ในโอกาสครบรอบ ๕ ปี สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ และโอกาสอันสำคัญยิ่งที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีอายุวัฒนมงคลครบ ๘๕ ปี สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ จึงได้จัดงานแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม ตลอดระยะเวลา ๕ ปี ที่ผ่านมา

ในงานดังกล่าว ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินมีชื่อเสียงของเมืองไทย ได้ร่วมส่งผลงานภาพเขียน เพื่อจัดแสดงนิทรรศการ ในชื่อ “สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์” (ระหว่างวันที่ ๑๔ มีนาคม-๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๖ ที่ศาลาสุวรรณบรรพต วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร)

โดยมาก เราคุ้นเคยกับการแสดงศิลปะตามหอศิลป์ หรือนิทรรศการภาพเขียนตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งแต่เดิมจิตรกรรมฝาผนังในวัดก็คือ นิทรรศการถาวรนั่นเอง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป สังคมก็หมุนตามโลก การนำเสนอจิตรกรรมฝาผนังก็อนุวัตรตามวิธีการของโลก จึงมีการนำศิลปะออกจากวัดไปอยู่ตามหอศิลป์ ทำให้จิตรกรรมในวัดดูซบเซาลงไป



การจัดนิทรรศการภาพเขียนในวัด ตามวิธีการแสดงศิลปะยุคปัจจุบัน เป็นการนำศิลปะกลับคืนสู่วัด กลับคืนสุ่จุดกำเนิด ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาศิลปะที่เกิดขึ้นในวัด ซึ่งก็เป็นที่มาของการจัดนิทรรศการ เป็นการย้อนกลับไปสู่อดีต ด้วยการใช้วิธีปัจจุบัน

พระราชกิจจาภรณ์

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

สุวรรณบรรพต : สยามพุทธศิลป์ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
สุวรรณบรรพต : สยามพุทธศิลป์ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“พันธกิจแห่งคุณธรรมจริยธรรม”

กับความหมายของคำว่า “พระสงฆ์รุ่นใหม่”

(ตอนที่ ๑)

จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ มีสมมติฐานการจัดตั้งมาจากพื้นฐานของสังคมไทย ที่มีความเจริญมั่นคงวัฒนาสถาพร มีวัฒนธรรมแห่งความเป็นชนชาติไทย จนถึงปัจจุบัน สืบเนื่องมาจากคุณธรรม จริยธรรม แห่งพระพุทธศาสนา นั่นเอง

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ปรารภถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสิ่งสำคัญคือ ภัยคุกคาม ที่เกิดมีขึ้นต่อสังคมไทย โดยพุ่งเป้าไปที่สถาบันหลักของชาติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชนชาติไทย คือ สถาบันชาติ สถาบันพระศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ อันมีความผูกพัน ประสานเป็น ๓ สถาบันหลักของชาติ มาทุกยุค ทุกสมัย เป็นฐานรองรับให้คงความเป็นชาติไทย ตลอดมา

ในปัจจุบัน ได้ปรากฏวิกฤตการณ์ สังคมไทยมีความอ่อนแอ ผู้คนในชาติมีแนวความคิดที่หลากหลาย มีข้อโต้แย้งกันมากขึ้น กรปรกับสถานการณ์ของสังคม ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทุกวิถีทาง จึงปรากฏประหนึ่งว่า ผัู้คนในสังคมไม่มีคุณธรรม จริยธรรม หรือไม่เห็นความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรมว่า เป็นรากฐานเดิมของสังคมไทย

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เล็งเห็นภัยอันจะเกิดมีแก่สถาบันหลักของชาติดังกล่าว จึงได้เสนอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการอบรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม แก่ประชาชนในชาติ

เบื้องต้น เพื่อให้ทันกับสภาวการณ์ของการเปลี่ยนแปลง จึงได้จัดตั้งโครงการ ชื่อว่า “โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็นโครงการของคณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคม ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการอบรม มีลักษณะเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ อย่างมีประสิทธิภาพ

จากปณิธานดังกล่าว ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ซึ่งมีสำนักงานกลางตั้งอยู่ ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ บริเวณบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร มีศูนย์ฯ ประจำภูมิภาคต่างๆ อีก ๔ แห่ง และศูนย์ประจำจังหวัด ๑๓ แห่ง เปิดดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ โดยถือเอาฤกษ์เดือนมหามงคลของชาวไทยประกอบพิธีเปิดป้ายสำนักงาน

ด้วยเล็งเห็นผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย พระสงฆ์ซึ่งมีหน้าที่หลักในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะได้นำหลักการเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมือง โดยการปลูกจิตสำนึก ให้เยาวชนและประชาชนในชาติ สามารถนำหลักคุณธรรม จริยธรรม มาเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ที่เข้าร่วมกิจกรรมก่อนที่จะขยายสู่องค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป

มีผู้เข้าร่วมโครงการและผ่านการอบรม ตามหลักสูตรแล้วกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนทั่วประเทศ

การอบรมเน้นทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยแบ่งพระวิทยากรเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่ม “เพื่อชีวิตดีงาม” ทำหน้าที่ในการอบรมเชิงคุณภาพ ใช้รูปแบบวิทยากรกระบวนการ ตามหลักพุทธจิตวิทยานันทนาการ เพื่อไม่ให้เกิดความน่าเบื่อในการเข้ารับการอบรม แล้วใช้กระบวนการจิตวิทยากลุ่มปรับทัศนคติและพฤติกรรม โดยได้นำหลักคำสอนตามหลักไตรสิกขามาประยุกต์ใช้กับหลักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างเต็มที่ ใช้เวลาในการเข้าค่าย ๒ คืน ๓ วัน หรือมากกว่านั้น

และกลุ่ม “ใต้ร่มพุทธธรรม” ทำหน้าที่ในการอบรมเชิงปริมาณ เน้นการเคลื่อนที่เข้าหากลุ่มเป้าหมาย ไปบรรยายในสถานศึกษา หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่จำกัดเวลา จำนวน บุคคล กลุ่มบุคคล และสถานที่ โดยกิจกรรมปรับไปตามความเหมาะสมของผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งมีเป้าหมายจะขยายศูนย์ฯ และฝึกอบรมพระวิทยากรตามแนวทางดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ อย่างน้อยในเบื้องต้น จังหวัดละ ๓๐ รูป

(โปรดติดตามตอนต่อไป …”พระสงฆ์ สายน้ำ และความทรงจำ” ในมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ )

"สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
“สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“พันธกิจแห่งคุณธรรมจริยธรรม” กับความหมายของคำว่า “พระสงฆ์รุ่นใหม่” จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here