หลายสัปดาห์ก่อนผู้เขียนได้ร่วมเดินทางกับพระอาจารย์จิระศักดิ์ เกตุเมโธ พระสงฆ์วัด พุทธารามเกาหลี ไปร่วมงานเปิดวัดเวียดนามอย่างเป็นทางการที่เมืองชอนัน จังหวัดชุงช็องใต้ ประเทศเกาหลีใต้การเปิดวัดในความหมายที่พูดกันก็คือ การทำบุญเฉลิมฉลองการเกิดขึ้นของวัดในพระพุทธศาสนาของชาวเวียดนามในต่างแดน ซึ่งไม่ใช่แผ่นดินเกิดแผ่นดินแม่
พระสงฆ์นานาชาติ กับพลังแห่งความศรัทธา ในมณฑลพิธีแห่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เปิดวัดเวียดนาม เมืองชอนัน ประเทศเกาหลีใต้
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้
การเกิดขึ้นของวัดเวียดนามในเกาหลีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน แม้รัฐบาลเกาหลีจะอนุญาตให้ชาวบ้านทั่วไปที่ครอบครองวัดร้างในเกาหลี หรือที่ดินต่างๆ สามารถจะขายให้ต่างชาติได้ คนที่จะชื้อก็ต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก
การที่จะซื้อแล้วพัฒนาเป็นวัดของชนชาติอื่นที่ไม่ใช่เกาหลี ก็ต้องศึกษาเรื่องวิถีชีวิตวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นว่าจะอยู่ร่วมกันได้ไหม รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ เพราะบางชุมชนที่มีต่างชาติไปซื้อที่ดินแล้วดำเนินการปรับปรุงอาคารจะสร้างเป็นวัด มีการร้องเรียนฟ้องร้องให้ยุติการสร้างอาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เพียงแค่ศึกษาความเหมาะสมในเรื่องของพื้นที่ การสัญจรไปมา การยอมรับของคนชุมชนก็เป็นส่วนสำคัญ คงจะไม่ได้กล่าวถึงปัญหาต่างๆ ในการที่จะซื้อวัด สร้างวัดในต่างแดน
การที่จะซื้อแล้วพัฒนาเป็นวัดของชนชาติอื่นที่ไม่ใช่เกาหลี ก็ต้องศึกษาเรื่องวิถีชีวิตวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นว่าจะอยู่ร่วมกันได้ไหม รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ เพราะบางชุมชนที่มีต่างชาติไปซื้อที่ดินแล้วดำเนินการปรับปรุงอาคารจะสร้างเป็นวัด มีการร้องเรียนฟ้องร้องให้ยุติการสร้างอาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เพียงแค่ศึกษาความเหมาะสมในเรื่องของพื้นที่ การสัญจรไปมา การยอมรับของคนชุมชนก็เป็นส่วนสำคัญ คงจะไม่ได้กล่าวถึงปัญหาต่างๆ ในการที่จะซื้อวัด สร้างวัดในต่างแดน
เพียงแต่อยากจะเล่าให้เห็นถึงความลำบากในการที่จะสร้างวัดของต่างชาติในพื้นที่ที่ไม่ใช่แผ่นดินแม่ ว่าต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมาย ความอดทน ความศรัทธา ความสามัคคี ความร่วมแรงรวมใจของคนในชาติที่ต้องการจะมีวัด รวมถึงความเข้าใจของเจ้าของพื้นที่หรือชุมชนที่ต่างชาติจะไปอยู่ด้วย เพราะถ้าไม่เข้าใจกันก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมา
เล่าให้ฟังถึงการเฉลิมฉลอง สองวันก่อนวันเปิดวัดอย่างเป็นทางการ มีศรัทธาชาวเวียดนามได้ร่วมใจกันบวชปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก รวมถึงศรัทธาที่ไม่ได้บวชมาร่วมปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก เห็นแล้วก็รู้สึกศรัทธาประทับใจในความมั่นคงต่อพระรัตนตรัย ไม่ใช่เพียงแค่การกล่าวนับถือ แต่เป็นการลงมือปฏิบัติให้เกิดคุณค่าความดีงามต่อชีวิต
วันที่ผู้เขียนไปร่วมงาน มีคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ของชาวเวียดนาม คณะสงฆ์เกาหลี คณะสงฆ์นานาชาติ ตัวแทนรัฐบาลเวียดนาม ท่านทูต มีชาวเวียดนามมาร่วมงานนับพันคน ทุกคนพร้อมใจกันมาปฏิบัติบูชา เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศของวันนั้น
ก่อนจะเริ่มพิธีได้มีขบวนแห่นำเจ้าอาวาสเข้าไปสู่มณฑลพิธี ทุกคนที่มาร่วมงานได้ยืนขึ้นถวายการต้อนรับ แล้วสวดมนต์สรรเสริญคุณของพระรัตนตรัยด้วยเสียงดัง ดูเป็นมนต์ขลังที่หาฟังได้ยาก แม้ผู้เขียนจะฟังไม่เข้าใจว่าเป็นบทสวดอะไร แต่สัมผัสได้ถึงความศรัทธา ความเคารพที่ทุกคนได้เปล่งเสียงสวด มองไปโดยรอบทุกคนสวดได้ เด็กตัวเล็กๆ ก็สวดได้ ยืนประนมมือสวดกันด้วยความนอบน้อม
หลังจากที่มีขบวนแห่นำเจ้าอาวาสเข้าสู่มณฑลพิธีแล้ว มีขบวนแห่ต้นพระศรีมหาโพธิ์เข้าสู่มณฑลพิธี ซึ่งคณะสงฆ์ศรีลังกาได้มอบถวายให้คณะสงฆ์เวียดนาม เพื่อปลูกในวัดทำให้เป็นสถานที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้เขียนเห็นภาพขบวนแห่แล้วก็ซาบซึ้งใจว่า
ต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นไม้แห่งการตรัสรู้ เป็นต้นไม้ที่เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่มีคุณค่าของชาวพุทธและมวลมนุษยชาติทั่วโลก เป็นสัญลักษณ์แทนหลักธรรมคำสอน ผ่านมาแล้วสองพันห้าร้อยหกสิบกว่าปี บัดนี้จะได้ปลูกฝังรากลึกลงสู่แผ่นดินเกาหลี นั่นหมายถึงหลักธรรมคำสอนจะถูกปลูกฝังลงสู่หัวใจของผู้คนอีกมากมาย จะทำให้เกิดความสงบร่มเย็นไปตราบนานเท่านาน
ในการประกอบพิธีทุกขั้นตอนจะมีการสวดมนต์ ไม่ว่าจะเป็นก่อนการกล่าวเปิดของท่านทูตตัวแทนรัฐบาลเวียดนาม การสวดมนต์เป็นสิ่งที่ทรงพลังที่สุด ดึงความตื่นรู้ให้เกิดขึ้นในใจของผู้คน ผู้เขียนมีความรู้สึกอย่างนั้น แม้จะฟังไม่ออก แต่สัมผัสได้ถึงความรู้สึกนั้น ทุกคนที่นั่งอยู่ในมณฑลพิธีเงียบสงบสำรวม ประคองอัญชลีรวมกันสวดมนต์ด้วยความศรัทธา
ในงานมีการถวายภัตตาหารเพลด้วย ซึ่งเป็นความตั้งใจของคณะสงฆ์เวียดนามที่อยากจะให้คณะสงฆ์นานาชาติที่มาร่วมงานได้เรียนรู้วิถีการฉันอาหารแบบเวียดนาม ซึ่งก็มีขั้นตอนพิธีกรรมยาวนานพอสมควร มีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำให้พระสงฆ์ต่างชาติได้ทำตาม เริ่มตั้งแต่การเปิดฝาบาตร ซึ่งเป็นบาตรเล็กๆ สำหรับใส่ข้าว เปิดฝาบาตรแล้ว วางตะเกียบในบาตรให้เรียงไปทางเดียวกันทุกรูป เริ่มสวดมนต์ หยุดสวดมนต์ สลับไปสลับมา มีการตักข้าวออกจากบาตร สวดมนต์ต่อ ถามพระอาจารย์ที่ท่านรู้ข้อมูล ท่านบอกว่าเป็นการตักไว้เพื่อถวายข้าวพระพุทธ แล้วก็ยกบาตรขึ้นไว้ในระหว่างหน้าฝาก แล้วก็สวดมนต์ต่อ วางลงแล้วก็ให้ตักข้าวฉันหนึ่งช้อน แล้วก็สวดมนต์ต่อ ใช้เวลาในการสวดมนต์พิจารณาอาหารประมาณ ๔๕ นาที แล้วค่อยอนุญาตให้ฉัน
ในระหว่างที่พระสงฆ์สวดมนต์พิจารณาอาหารทุกคนที่มาร่วมงานก็ยืนประนมมือรอบๆพระสงฆ์ทั้งหมดด้วยเคารพ ดูแล้วก็คงเหมือนการรับพรจากพระสงฆ์ในบ้านเรา เพียงแต่เป็นการยืนเท่านั้นเอง ซึ่งทุกคนมีความอดทนมาก ยืนโดยไม่คุยกัน ประนมมือประหนึ่งว่าส่งใจมาอยู่กับการพิจาณาอาหารของพระสงฆ์ สิ้นเสียงสวดมนต์ทุกคนโค้งคำนับแล้วก็เดินไปตั้งแถวรับอาหารจากโรงทาน แถวยาวมาก แต่เป็นระเบียบมาก ไม่มีเสียงคุย ทุกคนคงจะทำทุกอย่างเสมือนการปฏิบัติธรรม ดูใจตัวเราเองไปด้วย ทุกคนดูมีความสุข สีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
ที่เล่ามาเพียงอยากจะให้เห็นศรัทธา ความตั้งใจของชาวเวียดนาม ที่มีความสามัคคี มีความพร้อมเพรียงในการทำหน้าที่ของชาวพุทธ ทุกอย่างเรียบง่าย แต่มีความงดงามในตัว ผู้เขียนอาจจะไม่ได้เข้าใจในทุกอย่างที่คนเวียดนามปฏิบัติ แต่ได้เข้าไปสัมผัส เข้าไปนั่งใกล้ เข้าไปดูแล้วทุกสิ่งอย่างที่ทำเป็นไปเพื่อความตื่นรู้ พัฒนาตัวเองให้ถึงความพ้นทุกข์
เล่าให้ฟังถึงความศรัทธาของชาวเวียดนามแล้ว อยากเล่าให้ฟังถึงความศรัทธาของชาวศรีลังกาที่มาทำงานในเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน ในวันออกพรรษาได้มีโอกาสไปร่วมขบวนแห่วันออกพรรษาของคณะสงฆ์ศรีลังกา ในพื้นที่ของตลาดอันซัน จังหวัดคยองกี ประเทศเกาหลีใต้ สัมผัสได้ถึงความภูมิใจในพระพุทธศาสนาของชาวศรีลังกา รวมถึงการแสดงออกในศิลปวัฒนธรรม ความเป็นชาติของชาวศรีลังกา ชาวศรีลังกาจะมีเฉพาะผู้ชายที่มาร่วมงาน เพราะผู้หญิงจะทำงานบ้านไม่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
ในขบวนแห่วันออกพรรษาของชาวศรีลังกา มีส่วนสำคัญอยู่สองสามส่วนคือ หัวขบวนเริ่มด้วยการถือธงต่างๆ ตามมาด้วยการเต้นประกอบเครื่องดนตรีที่เป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งดูแล้วคนศรีลังกาจะชอบมาก แม้แต่ชาติอื่นๆ ก็ตามมาดู ด้วยความที่การแต่งกายก็แปลก ท่าเต้นก็แปลก ได้รับการปรบมือในทุกช่วงของการเต้น
ส่วนประกอบที่สำคัญของขบวนก็คือ พระบรมสารีริกธาตุให้คนได้กราบไหว้ ทุกคนที่ผ่านไปมาเห็น ก็จะเอามือไปแตะที่พระบรมสารีริกธาตุแล้วมาแตะที่ศีรษะ หลังจากพระบรมสารีริกธาตุแล้วตามมาด้วยพระสงฆ์และประชาชนผู้เข้าร่วมงาน
สัมผัสได้ถึงความศรัทธาของผู้มาร่วมงาน เมื่อขบวนแห่สิ้นสุดลง ทุกคนยืนประคองอัญชลีกล่าวสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัย ด้วยเสียงอันไพเราะ กล่าวสมาทานรับศีลห้า เสียงดัง ฟังชัด ด้วยความพร้อมเพรียงกัน แล้วยืนฟังอนุโมทนากถาด้วยความสำรวม นอบน้อม น่าอนุโมทนา
พูดถึงความศรัทธาของชาวศรีลังกา รวมถึงการปฏิบัติตัวต่อพระสงฆ์ หลายครั้งที่ผู้เขียนเจอคนศรีลังกา ไม่ว่าจะข้างถนน บนสะพานลอย คนเหล่านั้นก็จะคุกเข่า ก้มลงกราบแนบกับพื้น เอามือมาแตะที่เท้า แล้วก็เงยหน้าขึ้นเอามือมาแตะที่ศีรษะตนเอง ยืนประนมมือส่งพระสงฆ์ จนกว่าพระสงฆ์จะเดินจากไป
ที่เล่าอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า จะให้คนไทยทำอย่างชาวเวียดนาม ชาวศรีลังกา เพียงแต่อยากจะเล่าให้ฟัง ทุกครั้งที่เราเห็นความศรัทธาที่ใครก็ตามแสดงออกมาจากใจจริง จะมีกระแสที่สัมผัสได้และอดไม่ได้ที่จะรู้สึกดีด้วยทุกครั้ง
มีครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่จังหวัดกาฬสินธุ์แล้วมีลูกศิษย์มาส่งขึ้นรถกลับกรุงเทพฯ ลูกศิษย์ก็นั่งคุกเข่าลงกับพื้นจะกราบแต่ผู้เขียนก็ห้ามไว้ เพราะดูสถานที่ไม่เหมาะสม ครูบาอาจารย์เคยได้เล่าให้เรื่องลักษณะอย่างนี้ให้ฟังว่า ลูกศิษย์คนหนึ่งจะกราบท่าน ท่านดูสถานที่แล้วไม่เหมาะสมท่านก็ห้ามไว้ ลูกศิษย์ก็บอกท่านว่า พระอาจารย์ครับ ครูบาอาจารย์ของเราเอง ถ้าเราไม่กราบ ไม่ให้ความเคารพแล้ว ใครจะกราบ ใครจะให้ความเคารพ ท่านถึงยอมให้กราบ ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ไม่เคยห้ามศรัทธาใครที่จะแสดงออกถึงการแสดงความเคารพด้วยการกราบ ท่านบอกว่า ความเคารพ ความศรัทธาที่มีอย่าให้มีแต่เพียงในใจ มือที่กราบลงกับพื้นเปื้อนแวบเดียวก็ล้างออก
ติดตามเรื่องราวการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้ ผ่าน Facebook วัดพุทธาราม เกาหลี (วัดไทยอันซัน)
“พระสงฆ์นานาชาติ กับพลังแห่งความศรัทธา
ในมณฑลพิธีแห่ต้นพระศรีมหาโพธิ์
เปิดวัดเวียดนาม เมืองชอนัน ประเทศเกาหลีใต้ “
คอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม
(หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒)
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้