พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม
โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
“พระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของปัจเจก (individual)
แต่หมายถึงการอยู่ร่วมกันกับสังคมส่วนรวม (Society as Collective)
พร้อมทั้งสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งจะเห็นได้ว่า…
พระพุทธเจ้ามุ่งให้พระสงฆ์อนุเคราะห์สร้างสิ่งอันสมควรแก่มนุษย์ทั้งหลาย “
พุทธศาสนาเพื่อสังคม
คนไทยยังไม่คุ้นกับคำว่า พุทธศาสนาเพื่อสังคม (Socially Engaged Buddhism) มากนัก เพราะส่วนใหญ่พูดกันในแวดวงวิชาการ หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะวิถีสงฆ์ไทยได้ปฏิบัติจนเป็นความคุ้นชินกับคนทั่วไป เป็นการรับรู้ร่วมกันโดยที่ไม่ต้องบัญญัติศัพท์ใหม่เพื่อทำความเข้าใจ เพราะวิถีพุทธนั้น เป้าหมายสำคัญก็เพื่อประโยชน์สุขของสังคม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํฯ เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์”
พระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องของปัจเจก (individual) แต่หมายถึงการอยู่ร่วมกันกับสังคมส่วนรวม (Society as Collective) พร้อมทั้งสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้ามุ่งให้พระสงฆ์อนุเคราะห์สร้างสิ่งอันสมควรแก่มนุษย์ทั้งหลาย
นับแต่อดีตจนปัจจุบัน เราจึงเห็นว่า พระสงฆ์นั้นมีส่วนร่วมในทุกงานพัฒนา ไม่ว่ากระทรวงทบวงไหน ถ้าจะขับเคลื่อนนโยบายก็มักจะเล็งมาที่วัดก่อนเลย ด้วยหวังว่าจะใช้พระและวัดเป็นฐานในการส่งเสริมคุณลักษณะต่างๆ ที่ตนเองประสงค์ และด้วยจิตอาสา พระสงฆ์ไทยก็มักไม่นิ่งดูดายเมื่อประชาชนประสบภัยพิบัติต่างๆ ขณะเดียวกัน มีการนำหลักพุทธธรรมบูรณาการร่วมกับศาสตร์หรือองค์ความรู้สมัยใหม่ เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์งานเพื่อสังคม โดยงานหลักของพระสงฆ์ก็คือการโปรดญาติโยม ชี้แจงแถลงธรรมะ ให้คนทั้งหลายได้ศึกษา แต่ไม่ใช่ว่าจะไปยืนเทศน์นั่งเถรเหมือนเมื่อก่อน แต่เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจ และเห็นใจ ตลอดจนถึงการผ่อนสั้นยาวแล้วแต่โอกาส
ยกตัวอย่าง วัดคลองเปล นำโดยหลวงพ่อพระครูโสภณคุณาทร ที่นี่เป็นวัดเพื่อสังคม เพราะแต่ละโครงการที่ริเริ่มขึ้นมา เป้าหมายหลักก็คือ เพื่อพัฒนาเยาวชนและชาวบ้านในชุมชนของวัด ซึ่งมีความโดดเด่นมากสำหรับการพัฒนาคน ชุมชนและสังคม ก็คือ
๑.การปฏิบัติธรรม ท่านสนับสนุนให้มีการปฏิบัติธรรมกรรมฐานให้แก่คนทั่วไป มีโครงการเข้าวัดวันอาทิตย์ โครงการเปิดวัดอ่านพระไตรปิฎก
๒. งานด้านสงเคราะห์เด็กและเยาวชน สร้างกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
๓. โครงการพัฒนาศักยภาพสงเคราะห์ งานด้านสืบสานศิลปวัฒนธรรม มีการฝึกซ้อมรำมโนราห์มีท่าหลัก ๑๒ ท่า ซึ่งจะต้องอาศัยใจที่ประกอบได้ด้วยรัก สมาธิ และความอดทน เป็นการอธิบายสอดแทรกหลักธรรมให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น
พระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่อยู่ ก็จะต้องตั้งสติ ใช้กระบวนการเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการฝึกฝนตนเอง และความพยายามที่จะตอบสนองให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังที่ ท่านติช นัท ฮันห์ ได้แสดงความเห็นไว้ว่า
“ความจริงแล้ว Engaged Buddhism ก็คือการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ชีวิตของเรามีการฝึกปฏิบัติ อย่างเต็มเปี่ยม ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันของเราในทุกชั่วขณะ ไม่ว่าอยู่ในทางใจ หรือกาย ของเราก็ดี เพราะฉะนั้น Engaged Buddhism หรือ พระพุทธศาสนาในวิถีชีวิตประจำวันนั้น ก็คือการตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ที่เกิดขึ้นในกาย และใจของเรา มันเป็นสิ่งที่เรียบง่ายมาก Engaged Buddhism คือ การตอบสนองต่อการปรุงแต่งทางกาย (กายสังขาร) และ ทางจิต (จิตปรุงแต่ง-จิตสังขาร) ของเรา มันก็คือเท่านั้นเอง นี่คือความหมายอันแท้จริง ของ Engaged Buddhism อันเป็นพระพุทธศาสนาในวิถีชีวิตประจำวัน”
การนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่เราพึงรณรงค์หรือเชิญชวนให้คนในสังคม ได้รับรู้และเกิดแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนครอบครัว และสังคม ให้ก้าวไปสู่ความเป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องวัตถุก่อสร้างเท่านั้น แต่มุ่งให้เกิดใจที่พัฒนาดีแล้ว เพราะจิตใจของเราเองคือคำตอบสำหรับทุกอย่าง ดังที่พระพุทธเจ้าบอกว่า “จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้” แม้จะยังไม่ดีมากจนสิ้นอาสวะ แต่เอาแค่ถูไถไปกับกิเลสและเหตุปัจจัยที่ไม่พร้อมนี่อย่างรู้เท่าทัน เพียงเท่านี้ก็ได้ชื่อว่า “อานิสงส์แห่งใจบังเกิดแล้ว”
การก้าวไปสู่ความเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย บางครั้งก็กังวลใจไปกับผู้คนทั้งหลาย ที่ดูคล้ายๆ กับใบไม้แห้งหล่นใส่ลำธาร แล้วลอยล่องไปไร้จุดยืนอันแท้จริงของตนเอง สุดแท้แต่กระแสสังคมจะพาไป เพราะถ้าเป็นแบบนี้ตลอดไป ก็ยากที่จะยับยั้งความย่ำแย่ลงได้ คงจะย่อยยับยุบแยกแตกสลายไป
โดยเนื้อแห่งธรรมของพุทธองค์ เป็นไปเพื่อมวลชนอยู่แล้ว เพียงคนในสังคมนำคมคิดมาลองปรับใช้แล้วลงมือทำหรือสร้างเอาไว้ ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีที่เรียกว่า พุทธศาสนาเพื่อสังคม คือ เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ทุกคนในสังคม แต่การที่จะนำมาสร้างให้เห็นเป็นรูปธรรม ก็ถือว่ายากอยู่พอสมควร แต่ว่าไม่น่าจะยากเกินกว่าที่เราจะฝึกตน หากยังมีลมหายใจอยู่ เพียงแค่เรากลับมารู้สึกตัวกับลมหายใจก็นับว่า เราเข้าถึงพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมแล้ว เพราะเมื่อไรที่เรารู้จักตัวเอง กลับมาดูแลตัวเอง กลับมาหาตัวเอง และเท่าทันกิเลสในใจตนไม่ตามมันไป ก็เท่ากับเป็นการรับใช้สังคมประการหนึ่ง อย่างดีทีเดียวก็ว่าได้ …
.
พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม
โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป