“พระบรมสารีริกธาตุ กับ พระพุทธเจ้าหลวง”

รำลึก ๑๗๐ ปี ๒๐ กันยายน ๒๕๖๖

วันคล้ายวันพระราชสมภพ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์วงศ์จักรี

“พระปิยมหาราช”

พระราชายิ่งใหญ่ผู้ทรงเป็นที่รักของประชาชนทั้งแผ่นดิน

สืบเนื่องจาก ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ มิสเตอร์วิลเลียม เปปเป ชาวอังกฤษ  ได้ขุดพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  จารึกอักษรโบราณ  ความว่า  เป็นพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในส่วนของศักยราชสกุล  ได้รับการแบ่งไปในคราวโทณพราหมณ์ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ  ภายหลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระหลังพุทธกาลนั้น

          รัฐบาลอังกฤษ  ซึ่งปกครองประเทศอินเดียในขณะนั้น เห็นสมควรถวายพระบรมสารีริกธาตุ  แด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ออกเดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ  จากรัฐบาลประเทศอินเดีย  กลับสู่สยามประเทศ  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ไว้ ณ พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๒

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ  ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย แก่ เจ้าพระยายมราช ในคราวนั้นด้วย

 นับแต่วันบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นเวลา ๑๑๒ ปีพอดี ในกาลนั้น ผู้สืบสกุลเจ้าพระยายมราช  ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนนั้น มาถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา  แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ในโอกาสเฉลิมฉลอง ๒๖ พุทธศตวรรษ  พระพุทธศาสนามีอายุ ๒๖๐๐  ปี  นับแต่การตรัสรู้แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  อันจะเป็นการตอบสนองพระเดชพระคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระบรมสารีริกธาตุเป็นมรดกของพระพุทธศาสนา ประเทศชาติ บ้านเมือง และเป็นสิริมงคล  แก่ประชาชนในชาติตลอดไป 

ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งในชีวิตที่ชาวไทยได้ใกล้ชิดพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประเทศอินเดียถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ โดยวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร จัดขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บนยอดภูเขาทอง หรือบรมบรรพต วัดสระเกศฯ ดังที่เคยจัดขึ้นเมื่อปี ๒๔๔๒ ในวันวิสาขบูชา

วัดสระเกศ ตั้งอยู่ปากคลองมหานาค เป็นวัดโบราณเดิมชื่อวัดสระแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่าวัดสระเกศ

ส่วนพระบรมบรรพตนั้น รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระปรางค์ที่รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแต่ไม่สำเร็จ รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แปลงเป็นภูเขา ก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด มีระเบียงรอบเรียกว่าบรมบรรพต แต่พระเจดีย์ซึ่งเป็นทรงกลม สร้างเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ ๕

ขนาดของภูเขาทองวัดโดยรอบ ๕๐๐ เมตร (๘ เส้น ๕ วา) สูง ๑๐๐ เมตร (๑ เส้น ๑๙ วา ๒ ศอก) มีบันได ๓๔๔ ขั้น เวียนขึ้น ด้านทิศเหนือและทิศใต้

การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงจัด ๒ ครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๔๒๐ โดยอัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง และครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ เมื่ออุปราชแห่งประเทศอินเดียได้ส่งพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบที่เมืองกบิลพัสดุ์มาทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สมโภชและอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในเจดีย์บนยอดภูเขาทองนี้

โดยในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนให้แก่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เพื่อนำไปสักการบูชา ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ ทางทายาทเจ้าพระยายมราชได้อัญเชิญมาถวายแด่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เนื่องจากเห็นว่าพระบรมสารีริกธาตุควรจะได้บรรจุรวมไว้ในที่เดียวกัน

ยังมีพระบรมสารีริกธาตุอีกส่วนหนึ่งที่ทายาทของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ต้นราชสกุล ชุมสาย ที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยามกับอุปราชอินเดีย ในการทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุครั้งนั้น รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระราชทานให้ไว้บูชาส่วนหนึ่ง และเป็นทายาทของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้นำมาถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงได้อัญเชิญประดิษฐานพร้อมกัน

พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นไปประดิษฐานบนยอดภูเขาทอง วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ ทำพิธีเหมือนเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ ๕ ทรงอัญเชิญมาบรรจุไว้เมื่อ ๑๑๒ ปีที่แล้ว แต่จะมีลักษณะพิเศษ คือ ทางวัดจะบรรจุแบบใส ให้ประชาชนได้มองเห็นและสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่มีอายุ ๒๕๕๔ ปี ได้อย่างใกล้ชิด

จากหนังสือเรื่อง “๑๑๒ ปี แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุงกบิลพัสดุ์ สู่สยามประเทศ ” จัดพิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทาน โดย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ ได้อ้างอิงหนังสือ “พระบรมสารีริกธาตุ” ของกรมศิลปากร ตอนหนึ่งว่า ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ รัฐบาลอินเดียได้ขุดพบผอบพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมกับเครื่องบูชาบรรจุรวมอยู่ในหีบศิลาฝังอยู่ในพระสถูปที่หมู่บ้านปิปราห์วะ เมืองบาสติ มีจารึกอักษรพราหมี อายุอยู่ในราวศตวรรษที่ ๒-๔ ระบุว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

สิ่งของที่พบรวมอยู่ในหีบศิลาที่บรรจุผอบ เช่น แผ่นทองคำ รูปบุคคล แผ่นทองคำดุนเป็นรูปช้าง แผ่นทอง แผ่นเงินทำเป็นเครื่องหมายมงคล เป็นต้น

หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันเพ็ญวิสาขปุรณมีบูชา นับเป็นจุดเริ่มต้นของพุทธศักราช ๑ ครั้นล่วงมา ๗ วัน ภิกษุ ภิกษุณี พุทธสาวก สาวิกา และมัลลกษัตริย์ แห่งกรุงกุสินารา ประชาชน ตลอดถึงเทพเทวาอารักษ์ ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์

หลังจากถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว มัลลกษัตริย์ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้ายังพระนครประดิษฐานเหนือบัลลังก์ภายใต้เศวตฉัตร ต่อมากษัตริย์และพวกพราหมณ์ในแว่นแคว้นต่างๆ ได้แก่ พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ กษัตริย์ลิจฉวี แห่งกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี

กษัตริย์ศากยะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ กษัตริย์ถูลิยะแห่งแคว้นอัลลกัปปะ กษัตริย์โกลิยะ แห่งแคว้นรามคาม พราหมณ์แห่งแคว้นเวฏฐทีปกะ และกษัตริย์มัลละแห่งนครปาวา มีความศรัทธาในพระพุทธเจ้าอย่างแน่นแฟ้น ต่างก็ประสงค์ที่จะได้พระบรมสารีริกธาตุไว้สักการบูชา จึงส่งพระราชสาส์นมายังมัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปสร้างพระสถูปบรรจุไว้ในบ้านเมืองของตน

ฝ่ายมัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินาราก็อ้างสิทธิว่าพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานและถวายพระเพลิงในเมืองกุสินารา พระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดจึงควรจะเป็นของพระนครกุสินาราเท่านั้น กษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง 7 นครจึงยกกองทัพมาประชิดหมายจะชิงเอาพระบรมสารีริกธาตุไปเป็นส่วนของตนบ้าง

ในขณะนั้น ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า โทณะ เป็นอาจารย์ของบรรดาผู้ที่เกิดในวรรณะกษัตริย์แคว้นต่างๆ ทั่วชมพูทวีป ดำริว่า “กษัตริย์ทั้งหลายนี้มากระทำซึ่งยุทธ์แก่กันและกันในที่ปรินิพพานแห่งพระศาสดาจารย์ฉะนี้บ่มิได้สมควร ต้องหาทางระงับ ” จึงได้ห้ามปรามกษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง ๘ นคร มิให้วิวาทกัน สำหรับพราหมณ์รับอาสาที่จะเป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน เพื่อแจกจ่ายให้แก่ทุกนคร

เมื่อกษัตริย์และพราหมณ์จากพระนครทั้งหลายได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแล้วก็นำไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ในที่ต่างๆ ๘ แห่ง ได้แก่ พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงนำไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

กษัตริย์ลิจฉวี ทรงนำไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่กรุงเวสาลี แคว้นวัชชี , กษัตริย์ศากยะ ทรงก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่กรุงกบิลพัสดุ์ ,กษัตริย์ถูลิยะ ทรงนำไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่แคว้นอัลลกัปปะ

กษัตริย์โกลิยะ ทรงนำไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่แคว้นรามคาม ,พราหมณ์เวฏฐทีปกะ ก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่แคว้นเวฏฐทีปกะ , กษัตริย์มัลละ แห่งนครปาวา ทรงก่อพระสถูปบรรจุไว้ในนครปาวา และกษัตริย์มัลละ แห่งนครกุสินารา ทรงก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่นครกุสินารา

นอกจากพระสถูปทั้ง ๘ แห่ง ยังมีพระสถูปที่สร้างขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุอีก ๒ แห่ง คือ กษัตริย์โมริยะ ทรงก่อพระสถูปบรรจุพุทธสรีรางคารไว้ที่โมรีนคร และ โทณพราหมณ์ ก่อพระสถูปบรรจุทะนานทองที่นครกุสินารา

ต่อมาพระมหากัสสปเถระพิจารณาเห็นว่า พระบรมสารีริกธาตุจะเป็นอันตรายสูญหายไป ไปจึงทูลเกล้าฯ ขอให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทำ “ธาตุนิธาน” เพื่อเก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุไว้ในสถานอันควรที่กรุงราชคฤห์ โดยพระมหากัสสปเถระได้รวมเอาพระบรมสารีริกธาตุจาก ๖ นคร เว้นไว้แต่รามคามแห่งเดียว ไปให้พระเจ้าอชาตศัตรูสร้างพระสถูปบรรจุเป็นการลับ มิให้มีผู้ใดล่วงรู้ ยังมีหลักฐานให้เห็นปัจจุบันที่กรุงราชคฤห์ ในประเทศอินเดีย

การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ประเทศอินเดียให้มาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบัน ประดิษฐานที่เดียวกันทั้งหมด ในพระเจดีย์บรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร นับเป็นมงคลยิ่ง ที่พระพุทธศาสนาเดินทางสู่ศตวรรษที่ ๒๖ เพื่อช่วยให้ชาวไทยและชาวโลกสงบร่มเย็นใจจากพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบอริยสัจ ๔ ประการ ความลับของธรรมชาติที่ถ่ายทอดไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งมีพระสงฆ์ช่วยถ่ายทอดหนทางการปฏิบัติอย่างมีเป้าหมาย คือ สามารถพากายและจิตออกจากความทุกข์ในสังสารวัฏได้อย่างสิ้นเชิง โดยได้รับพระเมตตา จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระปิยมหาราช ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐอันหาที่สุดมิได้

“พระบรมสารีริกธาตุ กับ พระพุทธเจ้าหลวง” รำลึก ๑๗๐ ปี วันพระราชสมภพ พระปิยมหาราช ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ : โดย พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here