บ่อยไหม ที่ความทุกข์กลุ้มรุมจิต
เคยเป็นไหมที่การฝึกปฏิบัติ บางครั้งก็มีคำถาม อย่างคาดไม่ถึง…
ส่งคำถาม ปัญหาค้างคาใจมาได้ที่่นี่
ทุกปัญหามีคำอธิบาย…
Q&A Quickly Dhrama Healing by พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี
Question :
ผู้ถือศีล ๘ ยืนรับประทาน หรือ เดินไปกินไปได้ไหมคะ ผิดศีล ผิดพระวินัยไหมคะ
Answer : พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี
การปฏิบัติศีล ๘ นั้นอย่างที่เคยบอกแล้วว่าเป็นการฝึกตนเองตามแบบพระอรหันต์หรือพระอริยะที่มีกิริยามารยาทสำรวมระวัง ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น อีกทั้งยังเรียนรู้ที่จะเข้าใจความพอดีในชีวิต นำตัวเองไปสู่ความพอดี ไม่เกินเลยจากความจำเป็น ฉะนั้น การที่ผู้ถือศีล ๘ จะยืนรับประทานอาหารหรือเดินไปกินไปได้หรือไม่นั้นจะไม่กล่าวถึงศีล ๘ โดยตรงแต่จะกล่าวโดยรวมถึงข้อปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้สำหรับพระภิกษุผู้ฝึกปฏิบัติตนและมีกิริยาสำรวมระวัง
ในส่วนแรกนั้น ไม่มีข้อห้ามเรื่องที่ผู้ถือศีล ๘ หรือแม้แต่พระภิกษุในการยืนฉันหรือเดินฉันก็ตาม แต่มีข้อพิจารณาในบริบทในเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้
๑. เรื่องธุดงค์ เป็นการกล่าวถึงหลักปฏิบัติผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา จะมีข้อหนึ่งที่เราเรียกว่า ธุดงค์ โดยในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้อธิบายถึงรายละเอียดธุดงค์ที่ชื่อว่า “เอกานิกังคธุดงค์” หรือธุดงค์สำหรับภิกษุผู้ฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกติ โดยคำว่า ธุดงค์ คือองค์ของบุคคลผู้มีธรรมเครื่องกำจัดกิเลส ส่วนคำว่าเอกานิกังคะ คือองค์แห่งภิกษุผู้ฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกติ และมีข้อปฏิบัติข้อหนึ่งที่ว่า “ภิกษุฉันได้ตลอดเวลาที่ยังไม่ลุกขึ้นจากที่นั่ง” ฉะนั้น การฉันหรือการรับประทานจึงเกี่ยวกับการนั่งไม่ใช่การเดิน หรือยืน ส่วนการยืนนั้นถือว่าเป็นกิริยาบอกถึงการเลือกฉันหรือรับประทานแล้วในวิธีของผู้ปฏิบัติธรรม
๒. เรื่องวินัย เป็นการพิจารณาถึงการฉันว่าต้องนั่งฉัน เช่นเหตุการณ์ในพระวินัยปิฎก จุลวรรคว่าด้วยเรื่องภิกษุผู้นั่งอาสนะถูกบังคับให้ลุกขึ้นทั้งที่ยังฉันอยู่ เรื่องมีอยู่ว่า มหาอมาตย์ผู้เป็นสาวกของอาชีวกจัดถวายสังฆภัตร แต่มีพระอุปนันศากยบุตรมาช้า จึงบังคับให้ภิกษุผู้นั่งฉันอยู่ลุกขึ้น เป็นที่มาของการตำหนิว่า “ภิกษุผู้นั่งที่อื่นควรจะได้ฉันจนอิ่มมิใช่หรือ” ในอรรถกถาก็อธิบายถึงเนื้อความว่า “ภิกษุทั้งหลายที่ฉันยาคูแล้วเริ่มเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัตในพระพุทธศาสนาเช่นนี้ มีมากจนนับไม่ถ้วน ในโรงฉันตามหมู่บ้านนั้นๆ ไม่มีอาสนะที่ไม่มีภิกษุฉันยาคูแล้วบรรลุพระอรหัตนั่ง” ฉะนั้น การนั่งฉันเป็นข้อปฏิบัติประเพณีของผู้รับอาหารบิณฑบาต และแสดงให้เห็นถึงความสำรวมระวังในข้อปฏิบัติของผู้เข้ามาบวช
อีกประการหนึ่ง ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ กล่าวถึงข้อปฏิบัติที่เรียกว่า เสขิยวัตร คือข้อปฏิบัติที่พึงศึกษา จะมีการแยกแยะอย่างชัดเจนถึงการทำกิริยาอาการใดก็ตาม กล่าวคือ ๑) การเดิน เช่น พึงศึกษาว่าเราจะไม่หัวเราะเสียงดัง ไปในละแวกบ้าน หรือ เราจะไม่เดินแกว่นแขน หรือ เราจะไม่เดินโคลงศีรษะในละแวกบ้าน เป็นต้น ๒) การฉัน เช่น พึงศึกษาว่า เราจะให้ความสำคัญในบาตรขณะฉันบิณฑบาต เพราะภิกษุขณะฉันบิณฑบาตแล้วมองไปดูที่นั้น เป็นต้น ฉะนั้น การมีมารยาทจึงเป็นการทำอะไรทีละอย่าง คือเดินก็สำรวมระวังด้วยการสนใจการเดินอย่างเดียว ไม่พูด ไม่คุย ขณะที่การฉันหรือรับประทานก็สนใจแต่การฉันหรือการรับประทานอย่างเดียวโดยขณะที่ฉันอาจพิจารณาไปด้วย จึงไม่ทำอาการ ๒ อย่างพร้อมกัน เพราะแสดงถึงความไม่สำรวมหรือไม่มีสติพิจารณาว่าขณะนั้นทำอะไรอยู่
เมื่อพิจารณาจากสมมติฐานเหล่านี้จึงเป็นข้อยืนยันได้ว่า การเดินรับประทานหรือยืนรับประทานนั้นจึงไม่สมควรในแง่ของบุคคลผู้มีศีล ด้วยเหตุผลดังที่ว่ามา แต่อาจมีการยกเว้นบ้าง กรณีมีความจำเป็นอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยไข้ จำเป็นต้องยืนรับประทานก็สามารถทำได้เนื่องจากศีลนั้นไม่ปรับสำหรับผู้ป่วยไข้ เป็นต้น
เจริญพร
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี