ผลของการสวดมนต์
โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
ตอนที่ทำหลักสูตรปฏิบัติธรรมระยะสั้น
ให้กับองค์กรเอกชน
ก็มีคำถามเกิดขึ้นเหมือนๆ กันหลายครั้งก็คือ
การสวดมนต์ดีอย่างไร?

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
ซึ่งจริงๆ เราก็รู้กันเองว่า การสวดมนต์นั้นดี ในแง่ของศาสนาก็ใช้การสวดมนต์เป็นเครื่องมือในการทำจิตใจให้สงบและเป็นพุทธานุสสติระลึกถึงพระรัตนตรัย คนที่สวดมนต์เป็นประจำก็จะประจักษ์อยู่ในประสบการณ์ส่วนตัวอยู่แล้ว แต่เมื่อกลับมามองโดยส่วนตัวคิดว่า คำตอบที่ให้ไปน่าจะยังไม่เพียงพอต่อบางคนที่อยากจะเห็นผลที่แจ้งชัดมากกว่านั้น
จึงลองค้นหางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสวดมนต์ พบว่า มีการค้นคว้าเยอะมากหลากหลายสาขา ไม่เพียงแต่ด้านมหาวิทยาลัยสงฆ์เท่านั้น แต่ทางด้านการแพทย์ก็มีคนสนใจทำงานวิจัยเอาไว้เหมือนกัน เช่น อุไรวรรณ พลจร ได้ศึกษาด้านพยาบาลศาสตร์พบว่า การสวดมนต์แบบพุทธช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่มารับเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็งโลหิตวิทยา
งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า
การสวดมนต์ช่วยลดความทุกข์ของผู้ป่วยได้
เพราะการรับเคมีบำบัด หลายคนคงทราบดีว่ามีความเจ็บปวดทั้งทางด้านร่างกายและเกิดความทุกข์ในจิตใจ ความกังวลอมทุกข์ถูกบรรเทาได้ด้วยการสวดมนต์ เป็นไปได้ว่าเราไม่ใช้แค่เคมีบำบัด รักษาร่างกายเท่านั้น แต่ต้องประกอบด้วยการสวดมนต์บำบัด เยียวยาจิตใจไปด้วย
การสวดมนต์ยังมีผลกับความเครียด โดย กิจจ์ศรัณย์ จันทร์โป๊ วิจัยพบว่า ผลของการสวดมนต์ตามแนวพุทธศาสนา และการทำสมาธิแบบอานาปานสติที่มีต่อความเครียดของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการวิจัยสรุปได้ว่าการสวดมนต์ และการทำสมาธิแบบอานาปานสติมีผลทำให้ลดระดับความเครียดลงได้ โดยการสวดมนต์สามารถผ่อนคลายความเครียด(คลื่นอัลฟ่า)ได้ตั้งแต่นาทีที่ ๕ เป็นต้นไป ส่วนการทำสมาธิแบบอานาปานสติสามารถผ่อนคลายความเครียด(คลื่นอัลฟ่า)ได้ตั้งแต่นาทีแรกจนถึงนาทีที่ ๕ เป็นต้นไป
งานชิ้นนี้ให้คำตอบกับเราว่า การสวดมนต์หรือนั่งสมาธิให้ได้ผลนั้นควรจะประมาณ ๕ นาทีขึ้นไป
นอกจากนั้นยังมีคณะแพทย์ เช่น จันทร์จิรา วสุนธราวัฒน์ และคณะศึกษาผลของการสวดมนต์และแผ่เมตตาต่อการสร้างเสริมสุขภาวะในผู้สูงอายุ โดยทำการทดลองให้กลุ่มทดลองทำการสวดมนต์แผ่เมตตาระยะเวลา ๑.๓๐ ชั่วโมงทุกวันเป็นเวลา ๑๒ สัปดาห์พบว่า กลุ่มสวดมนต์มีความจำและการรู้คิดดีขึ้น ตอบสนองต่อสิ่งเร้าเสียงและแสงน้อยลง ค่าความดันเลือด และค่าความดันเลือดแดงปกติและมีการเพิ่มระดับ serotonin เพิ่มขึ้น ๗ เท่า พร้อมทั้งมีผลสัมพันธ์กับการหลับสบาย จิตใจเบิกบาน เพิ่มพลังใจ ลดความเครียด มีสติปัญญาดี ครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ชุมชนให้การนับถือ
สะท้อนให้เห็นว่า การสวมมนต์และแผ่เมตตาเป็นประจำและเป็นเวลานาน มีผลดีต่อร่างกาย จิตใจ และสังคม สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของผู้สูงอายุได้
งานวิจัยที่อ้างมานั้นเป็นคำตอบที่ทำให้เรากระจ่างชัดว่า การสวดมนต์มีผลดีอย่างไร?
เพราะฉะนั้นแล้ว คนที่ชอบสวดมนต์อยู่ก็ขอให้มั่นใจในการสวดมนต์ของตนเองต่อไป ส่วนใครที่เริ่มจะสนใจก็สามารถที่จะทดลองเริ่มต้นได้วันละ ๕ นาที คำตอบก็จะปรากฏแก่ตัวเองได้ และเมื่อสรุปจากงานวิจัยที่กล่าวมาก็จะพบว่า การสวดมนต์นั้นมีผลดีดังนี้
๑. ดีต่อร่างกาย
การสวดมนต์มีผลต่อกลไกทางสมอง ซึ่งจะปรับระดับคลื่นสมอง และต่อมต่างๆ หลั่งฮอร์โมนที่ดีออกมา ก็จะช่วยสมองและการทำงานด้านอื่นๆ มีผลดีตามมาด้วย
๒. ดีต่อใจ
การสวดมนต์ ลดความเครียด ความวิตกกังวล และส่งเสริมให้เกิดความผาสุกทางใจเพิ่มขึ้น จิตใจที่มีสมาธิและถูกบ่มเพาะในทางดีอยู่เสมอๆ จะเกาะป้องกันหรือเข้มแข็งมากพอที่จะเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ของชีวิตได้ดี ความทุกข์หรือความเศร้าไม่สามารถที่จะครอบงำจิตใจที่แกร่งกล้าได้ เพราะการสวดมนต์ก็เป็นการฝึกใจอย่างหนึ่งเหมือนกัน
๓. ดีต่อครอบครัว
การสวดมนต์ทำให้ครอบครัวมีกิจกรรมที่ดีร่วมกัน หรือการสวดมนต์ทำให้สมาชิกในครอบครัว มีจิตใจอารมณ์ที่ดี มีความคิดที่ดี เห็นคุณค่าของชีวิตและปฏิบัติต่อกันด้วยความดีงาม เพราะจิตใจโน้มไปในทางที่ดีตามหลักพุทธศาสนา
๔. ดีต่อสังคม
การสวดมนต์มีผลต่อบุคคลแล้วก็ยังส่งผลต่อสังคมด้วย หากการสวดมนต์เป็นกิจกรรมที่สังคมให้การสนับสนุน และถือเป็นแนวปฏิบัติที่ให้การยอมรับ สร้างโอกาสให้เกิดการสวดมนต์ร่วมกันอย่างต่อเนื่องสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้คนได้สวดมนต์อย่างสบายใจ ก็จะเป็นการส่งเสริมความสงบสุขของสังคมด้วยเช่นเดียวกัน

การสวดมนต์ เป็นสิ่งดีที่ทำได้ ทำง่าย ให้ผลที่ดีต่อเรา จึงควรที่จะหาโอกาสให้ตนเองนั้น ฝึกสวดมนต์จนเป็นนิสัย อย่ารอให้ทุกข์หรือเกิดปัญหาแล้วค่อยจะมาสวดมนต์ เพราะอาจจะไม่ทันการณ์
แต่ถ้าทำอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ จะช่วยให้ชีวิตเราเหมือนมีที่ค้ำยามที่มันจะถลำล้ม จิตใจที่มีที่ยึดเหนี่ยวจะรั้งเราไว้ไม่ให้ตกไปในที่ไม่ดี และชี้นำไปในทางที่ดีงามต่อไป
ผลของการสวดมนต์ โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒)