ปุจฉา-วิสัชนา อกาลิโก
:จากหนังสือพุทธประทีป จากรายการ ททบ.๗ (๒๕๐๗)
โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี
กราบขอบพระคุณ ภาพวาดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) : จิตกรรมฝาผนัง ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
พุทธประทีป จากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ คราวนี้ก็เป็นครั้งที่ ๔๖ ปัญหาในวันนี้ มีของหลายท่านด้วยกัน ของคุณชัยณรงค์ ชวนานนท์ ธนบุรี ของคุณสถิตย์พงศ์ อุดมสุข ของชาวคณะอุโบสถ อําเภอโพธาราม แล้วกของผู้ใช้นามว่า แฟนประจํารายการ ตามแต่ที่จะมีเวลานะครับ
องค์ตอบปัญหาได้อาราธนา ท่านเจ้าคุณพระราชวิสุทธิเมธี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขอให้ท่านได้ถวาย นมัสการท่านเจ้าคุณก่อนครับ
ขอเรียนเรื่องเกี่ยวกับปัญหาของแต่ละท่านที่ส่งมานี้ก่อน เวลานี้ ปัญหาที่ส่งมาเพื่อให้ร่วมในรายการนี้มีมากหลายท่าน โดยเฉพาะของคุณชัยณรงค์ ชวนานนท์ นี่ปรากฏว่า เมื่อก่อนนี้ ก็ได้ส่งปัญหามาหลายข้อ แล้วเวลานี้ก็ส่งมาอีก ปัญหาทุกปัญหา กระผมพยายามที่จะบรรจุเข้าในรายการให้เหมาะสม แก่องค์ที่จะตอบ เพราะฉะนั้น บางที่ปัญหาท่านที่ส่งมาแล้ว นาน ๆ ยังไม่ได้รับคําตอบ หรือบางที่ประกาศไว้ว่าจะตอบวันนี้ แต่แล้วก็เว้นไปตั้งหลายเสาร์
ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า ในเสาร์ต่อมานั้น องค์ที่มาตอบไม่พร้อมที่จะตอบ บางครั้งก็หมดเวลาไปก่อน ปัญหาที่เตรียมไว้ถวายนั้นก็ต้องเลื่อนไป กว่าจะได้องค์ตอบที่เหมาะสมก็ต้องหลายเสาร์เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะรับปัญหาและข้อคิดเห็น จากท่านทั้งหลาย และพยายามที่จะให้ตอบโดยทั่วถึง ทั้งนี้ โดยถือหลักว่า ปัญหาบางปัญหานั้น ถึงแม้ว่าบางท่านจะมีความแจ่มแจ้งในใจอยู่แล้ว แต่เจ้าของปัญหาและผู้อื่นอีกหลาย ท่านอาจจะมีความเคลือบแคลงอยู่ คือว่าบางท่านเห็นว่าง่าย แต่อาจจะยากสําหรับท่านที่เป็นเจ้าของปัญหา
กฎแห่งกรรมครอบคลุมศาสนิกอื่นหรือไม่
กระผมขอเริ่มปัญหาแรกเลย ของคุณชัยณรงค์ เขียน มาจากธนบุรีนี่เอง ถามว่า
ชาวพุทธไม่ว่าจะอยู่ในหนแห่งไหน หรือประเทศใดก็ตาม ก็ย่อมอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมเหมือนกันหมด ทีนี้ มีปัญหาว่า พวกที่มิใช่ชาวพุทธ ไม่ได้นับถือพุทธ แต่ไปนับถือศาสนาอื่น หรือไม่ถือศาสนาอะไรเลย เป็นพวกอยู่ว่างๆ ถามว่า จะอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ที่พระพุทธศาสนา กล่าวไว้นั้นหรือไม่ ขอเรียนถามพระคุณท่านครับ
พระราชวิสุทธิเมธี : เจริญพร ท่านสาธุชน ทั้งหลาย เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ ที่ว่านอกจากชาวพุทธแล้วจะ อยู่ใต้กฎแห่งกรรมหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า
“กฎแห่งกรรมนี้ ไม่ใช่เป็นของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น แต่ว่าเป็นเรื่องที่มีมาแล้วแต่เดิม”
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ทรงชี้ว่า อันนี้เป็นหลักกฎแห่งกรรมที่เป็นไปของ โลกเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นเรื่องกฎแห่งกรรมนั้น โดยความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้า แต่ว่ามีมาก่อนแล้ว ครั้นตรัสรู้ก็ทรงกําหนดและชี้แจงให้เข้าใจว่าอันนี้ เป็นกฎแห่งกรรม และก็กฎแห่งกรรมนี้เป็นหลักที่กล่าวขึ้น ตามธรรมดาธรรมชาติที่เป็นอยู่แล ไม่ได้จํากัดว่าเป็นชาติใด ภาษาใด หรือเป็นใครทั้งสิ้น จํากัดขอบเขตประเทศดินแดน บุคคล
” เพราะฉะนั้นจะเป็นใครก็ตาม
ก็ย่อมอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม
หรือจะพูดอีกที่หนึ่ง
กฎแห่งกรรมนี้ก็คือว่า
กฎแห่งสากลจักรวาลนั่นเอง
หรือจะพูดว่ากฎแห่งธรรมชาตินก็ได้”
เพราะฉะนั้น คนเราที่เกิดมาก็ไม่มีใครที่จะหลบพ้นไปได้จาก ธรรมชาติ จึงชื่อว่าต้องอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมโดยทั่วกัน
สุพจน์ : ขอบพระคุณครับ ก็หมายความว่า กฎแห่งกรรมที่ว่าทําดีได้ดี ทําชั่วได้ชั่วนี่ ไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาเท่านั้น ใครก็ตาม ศาสนาไหนก็ตาม ย่อมอยู่ภายใต้กฎของกรรมหมด
พระราชวิสุทธิเมธี : เจริญพร ถูกแล้ว ไม่เฉพาะแต่พุทธศาสนาเท่านั้น จะเป็นผู้ใดก็ตามเหมือนกันทั้งนั้น
สุพจน์ : ถ้าอย่างนั้นยังมีบางประเด็นที่ควรจะสงสัยอยู่ เมื่อสองเสาร์ที่แล้วมาก็ได้ยกประเด็นนั้นขึ้นมากล่าว นั้นก็คือเรื่องเกี่ยวกับการฆ่าสัตว์เป็นบาป แต่บางศาสนาเห็นว่า การฆ่าสัตว์นั้นบางชนิดนั้นไม่บาป แล้วอย่างนี้จะถือว่าทำดีได้ดี หรือว่าทำบาปได้บาป ครอบคลุมไปถึงศาสนาอื่นได้อย่างไรเล่าครับ
พระราชวิสุทธิเมธี : ออ เรื่องอย่างนี้พระพุทธศาสนาก็สอนโดยกว้าง ๆ และชี้แจงรายละเอียดลงไปชัดเจน จะเป็นศาสนาใดก็ตาม หรือเป็นที่ใดก็ตามที่เขาว่าไม่บาปนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่กําหนดขึ้น แต่ความจริงนั้นก็ควรจะพิจารณาไปถึงหลักเดิมจริง ๆ หลักที่ทั่วไปจริง ๆ นะ ควรจะบาปหรือไม่
สุพจน์ : ในทัศนะทางพุทธศาสนาก็ว่าบาป อย่างที่ว่ามาแล้วว่า ไม่เฉพาะทางพุทธศาสนา คือกฎแห่งความจริง ก็ว่าเป็นอย่างนั้น ทีนี้ในเมื่อบางศาสนาบอกว่าไม่บาปแล้ว จะไม่ค้านกับกฏแห่งความจริงที่อ้างขึ้นมานี่หรือ
พระราชวิสุทธิเมธี : พูดอย่างนี้ก็ค้านกับกฎแห่ง ความจริง ข้อนี้ก็ต้องพิจารณาว่า พระพุทธศาสนา พระพุทธ เจ้าท่านทรงชี้แจงไว้ละเอียดมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปัญหาว่าถ้า เขาถือว่าไม่บาปแล้วเขาจะบาปอย่างไร ถือว่าไม่เป็นกรรมชั่ว แล้วจะชั่วได้อย่างไร ข้อนี้ก็ใคร่จะกล่าวตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาว่า คนที่ทําความชั่วนั้น ถ้ารู้ว่าเป็นความชั่วแล้วเขาก็ไม่ทํา เขาก็มักจะพูดว่าที่เขาทํานั้นไม่ใช่เป็นความชั่ว หรือว่า ถ้าหากว่าความไม่ดีนั้นจะให้ผลในทันตา คนเราก็ไม่ทําอีกเหมือนกัน แต่เพราะว่า คนเรามีความสําคัญผิดดังนี้ จึงบัญญัติขึ้นหรือตั้งขึ้นแล้วก็ไปขัดกับความรู้สึกเดิม เช่นว่า ฆ่าสัตว์ไม่บาป ก็ต้องเล็งไปถึงว่า เวลาเราจะฆ่านี้ เป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็ตาม เขาดิ้นรนเพื่อต่อสู้ที่จะเอาชีวิตรอดหรือเปล่า…และที่เขาดิ้นรนอย่างนั้นแล้ว เราก็ไปทําลายความประสงค์ของเขาที่เขาดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการตายของเขา เป็นการทําลายความสุขสําราญของเขาเหมือนกัน ทําลายการรักษาชีวิตของเขาเหมือนกัน
“เพราะฉะนั้นก็ชื่อว่าทําให้คนอื่นเดือดร้อน
การทําให้คนอื่นเดือดร้อนนี่
อาจจะเป็นหลักสากลได้กระมังว่า ไม่ดี”
สุพจน์ : ถ้าเราจํากัดความ คําว่า “บาป” แปลว่า ความเดือดร้อนแห่งใจ หรือว่า ความต่ำลงของภูมิใจ แล้วนําเอาหลักนี้เข้าไปจับกับคําสอนบางศาสนาที่ทํานั้น ทัศนะทางพุทธศาสนาว่าเป็นบาป แต่เขาว่าเป็นบุญ อย่างไปเห็นสัตว์ที่กําลังตกลําบากก็ฆ่าให้พ้นไปจากความทุกข์ทรมานนั่นเสีย เพื่อจะส่งขึ้นสวรรค์ หรือไม่ก็อย่างตัดคอแพะ บูชาพระเจ้า เพื่อให้พระเจ้าโปรดปรานอย่างนี้ เมื่อเขาทําเสร็จ แทนที่พื้นแห่งจิตใจของเขาจะต่ำลงไป แต่กลับสูงขึ้นนะครับ เพราะว่าจงรักภักดีต่อพระเจ้า หรือไม่ก็ได้ช่วยทําบุญให้สัตว์พ้นจากทุกข์ และอย่างนี้จิตของเขาก็ฟูขึ้น ทางพุทธศาสนาก็ว่า ที่ใจฟูขึ้นหรือสูงขึ้นนั้นก็คือความดีแห่งใจ อย่างนี้กระผมสงสัยว่าจะขัดกันกับหลักที่กล่าวมาแล้ว
พระราชวิสุทธิเมธี : ความฟูขึ้นแห่งใจนี้ ไม่ใช่ หมายแต่เพียงฟูขึ้นเฉย ๆ คือฟูขึ้นในทางดี หรือฟูขึ้นในทางเสีย คือว่า จิตเจริญขึ้นในทางดีหรือทางเสีย เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราถือว่าฆ่าสัตว์รู้สึกว่าใจคอเราสบาย เราก็ต้องนึกถึงสัตว์บ้างสิว่า สัตว์เหล่านั้น เขารู้สึกสบายหรือเปล่า
สุพจน์ : ถ้านึกไปทุกทีก็ปรากฏว่า แหม พ้นเคราะห์ไปที ช่วยให้มันไม่ต้องทรมานทรกรรมต่อไปอีก นึกทีไรก็ดีใจทุกทีครับ
พระราชวิสุทธิเมธี : เรานึกฝ่ายเรานี้ ว่ามันดี แต่ฝ่ายตรงกันข้ามนั้นเขาไม่ดี เขาเห็นว่าเรานี้ไม่ดีเหมือนกัน เขาต้องได้รับความเดือดร้อน และก็อันนี้ที่เรารู้สึกว่าดีนี่ แต่ว่ามันดีไปในทางเสีย คือ ทําให้คนอื่นเขาเดือดร้อน แต่เราสําคัญว่าดี ข้อนี้มีมาก เช่นสมมติว่า เวลานี้คนสูบสิ่งเสพติด เช่น เฮโรอิน เราไปถามเขาว่า ดีไหม แกก็บอกว่าดี เพราะสูบแล้วใจสบาย แต่ว่าดีหรือไม่ เราก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่คนสูบเขา ว่าดี เพราะจิตของคนกับเฮโรอินมันได้ขนาดนั้นเอง มันได้ ขนาดที่ว่า ถ้าได้สูบแล้วทําให้ใจสบาย และคนนั้นจะว่าใจไม่สบายก็ไม่ได้ เพราะใจมันสบายเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ข้อนี้ใจสบายจริง แต่ว่ามันเป็นการที่เต็มไปด้วยความไม่ดี เล่นการพนันนะดีหรือไม่ ไม่ดี แต่ว่าเวลาเขาเล่นนั้นเขาสบายใจไหม เขาสบายใจ แต่ว่าแท้ที่จริงนั้นคือไม่ดี
สุพจน์ : อ๋อ ก็แปลว่า ความฟูใจหรือความสบายใจนี้จะเอาเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ เพราะว่าคนที่ใฝ่ในทางไม่ดี เมื่อไปประกอบในสิ่งที่ไม่ดีก็ได้รับความสบายอกสบายใจ จะถือว่าเป็นบุญก็ฟังยังไม่ขึ้น
พระราชวิสุทธิเมธี : ถ้าอย่างนั้นแล้วก็ อย่างสมมติว่าอาตมานี้จะสมมติขึ้นอย่างหนึ่ง ว่าอาตมาทําอย่างนี้แล้ว อาตมาสบายใจ และพยายามที่จะทําใจให้สบาย นาน ๆ ก็ชิน ชินว่า ถ้าทําอย่างนี้แล้วก็สบายใจ หรือว่าอย่างพวกโจรผู้ร้าย ถ้าได้ฆ่าคนแล้วก็ถือว่าความเป็นเสือนั้นมันมากขึ้น ดีขึ้น ใช่ไหม แต่โดยความเป็นจริงแล้วก็เป็นที่ทราบกันอยู่ เพราะฉะนั้น ความสบายใจหรือความสบายในทางใจก็ต้องยึดหลัก ดังที่กล่าวมาแล้ว
สุพจน์ : ถ้าอย่างนั้นในการเปรียบเทียบอย่างที่ได้ ยกขึ้นมาระหว่างบางศาสนาก็คงจะเป็นว่าน: ศาสนาพุทธนั้น สอนไว้อย่างละเอียดมาก แต่ว่าบางศาสนาอาจจะสอนไว้ไม่ละเอียดพอ
พระราชวิสุทธิเมธี : เจริญพร ถูกแล้ว ก็เหมือน อย่างที่นักปราชญ์ท่านเคยพูดไว้ว่า พระพุทธศาสนานี้ เหมือนกันกับตะเกียงดวงใหญ่ หรือไฟหลายพันแรงเทียน
บางทีข้อบังคับหรือกฏหมายของบางศาสนา อาจจะเป็นตะเกียงเล็กไปหน่อย แสงสว่างก็น้อย เพราะฉะนั้น ก็ยากที่จะเห็นรายละเอียดสิ่งย่อย ๆ ออกไป
เหตุใดคนถือศาสนาอื่น
จึงรวยมากกว่าชาวพุทธ
สุพจน์ : ถ้าอย่างนั้นกระผมก็ขอผ่านไปประเด็นที่สองในปัญหาเดียวกัน คือคุณชัยณรงค์ ชวนานนท์ ถามต่อไปอีกว่า ถ้าหากว่าอยู่ภายใต้กฎอันเดียวกันแล้ว สําหรับชาวต่างประเทศที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา ส่วนมากเช่น ทางยุโรปหรืออเมริกา หรือแม้แต่พวกที่อยู่ในเอเชียนด้วยกัน ที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา แต่ว่ามีความเป็นอยู่ มีทรัพย์สมบัติ มีสติปัญญา มีความสะดวกสบาย และทุกสิ่งทุกอย่างดีกว่าเหนือกว่าผู้ที่ถือพุทธศาสนาก็มีอยู่เป็นจํานวนมาก ดังที่เห็น อยู่นี้ เรื่องอย่างนี้ทางพุทธศาสนาเห็นว่าเพราะอะไร ?
เพราะเนื้อนาบุญเขาดีกว่า หรือว่า เพราะเขาทํากรรมดีตามทัศนะของพุทธศาสนานี้ไว้มาก หรือว่าเขาทํากรรมดีไว้พอประมาณ แต่ว่าเนื้อนาบุญ หมายถึงศาสนาของเขานั้นดีกว่า ถ้าดังนั้น การที่คนไทยที่ภูมิใจนักหนาว่า เป็นโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งประเสริฐยิ่งแล้วนั้นก็ไม่จริง เพราะว่ายังมีผู้ประเสริฐกว่าผู้ที่นับถือพุทธศาสนาอยู่อีกอันนี้
พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
พระราชวิสุทธิเมธี : เฉพาะปัญหาข้อนี้ อาตมาขอแยกออกเป็นสองประเด็น ในประเด็นแรกที่ว่า ชาวต่างประเทศจะเป็นที่ไหนก็ตาม พูดที่เฉพาะที่เขามั่งคั่งสมบูรณ์ อย่างนี้จะชื่อว่าเพราะเขาได้ทําบุญมามาก หรือว่า บุญเขตของเขาดี อย่างนี้ใช่ไหม ?
อันนี้ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ท่านไม่จํากัดว่าจะเป็น ใคร ซึ่งเป็นผู้ทําความดี ไม่ได้บอกว่าเฉพาะคนที่อยู่ในเขตของพระพุทธศาสนาจึงชื่อว่าทําดี ไม่ใช่อย่างนั้น ความดี นั้นจะเป็นใครก็ตาม ทําที่ไหนก็ตามเป็นความดี และที่เขา รวยมั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นในประเทศที่เขามีการอุตสาหกรรมเจริญ ถ้าว่าตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว เขาก็ทําถูกตามหลักแห่งคําสอนทางพุทธศาสนา
“พระพุทธศาสนา
ได้สอนถึงหลักการที่คนเราจะตั้งตัว
หรือจะทําให้ตัวเราเจริญขึ้น
ในทางวัตถุนี่ก็สอนเหมือนกัน
ไม่ใช่ว่าพระพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องจิตใจ
แล้วก็เรื่องการตั้งตัวให้มีฐานะมั่นคง
พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนก็หามิได้”
เพราะฉะนั้นที่ชาวต่างประเทศ หรือประเทศใดก็ตามที่เขา ทําตามหลักพุทธศาสนา เช่น พระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า :กาลานุรูปํ วธุรํ นิยุณฺเช แปลว่าควรทําการงานให้ถูกต้อง ตามกาละเทศะ นี่ก็สอน และสอนไว้ในทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ หรืออย่างพุทธภาษิตที่ว่า อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ คนไหน ขยันคนนั้นก็หาทรัพย์ได้ ก็ย่อมบอกตรงกันข้ามแล้วว่า คนไหน ขี้เกียจก็ไม่รวย
สุพจน์ : ไม่ได้หมายความว่า พุทธศาสนิกเท่านั้นขยัน แล้วจึงจะหาทรัพย์ได้ ส่วนศาสนิกอื่นแม้ขยันก็ไม่รวย ?
พระราชวิสุทธิเมธี : ใช่ เจริญพร จะเป็นใครก็ตาม ถ้าขยันแล้วก็หาทรัพย์ได้ ซึ่งเป็นหลักธรรมดาอยู่อย่างนั้น ดังได้กล่าวมาแล้วในปัญหาข้อแรก และในประเด็นต่อไปที่ว่า ถ้ามิฉะนั้นแล้ว อย่างที่เราถือว่า มาดีอกดีใจนักหนาว่า เราเกิดมาพบพุทธศาสนานี่ เราดีกว่าเขา แต่โดยความจริงเท่าที่ปรากฏแล้วนี้ เราก็ไม่ดีกว่าเขา
สุพจน์ : อันนี้เป็นความเข้าใจของบางท่าน…..
พระราชวิสุทธิเมธี : ซึ่งเข้าใจอย่างนั้น ข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องชี้แจงอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะว่าถ้าพูดถึงความลึกของศาสนา คําว่าพบพระพุทธศาสนานี้ ต้องหมายถึงศาสนาสอนอะไรด้วย แล้วต้องหมายถึงผู้พบนั้นด้วย เพราะว่าคนที่พบพระพุทธศาสนาก็มาก คนที่พบพระนี่พบทุกคน อย่างในเมืองไทยนี่ก็พบเสมอ ถ้าพบพระสงฆ์ก็เหมือนกับพบพระธรรม พบพระพุทธเจ้า และคนในอินเดียนั้นที่พบพระพุทธเจ้าในสมัยนั้นก็มาก เมื่อพบพระพุทธเจ้าก็ชื่อว่าพบพระธรรม พระสงฆ์ ที่มีอยู่มากด้วยกัน
เพราะฉะนั้น ที่ว่าต้องพิจารณาเป็นสองอย่างคือ พิจารณาถึงพระพุทธศาสนาสอนอะไรอย่างหนึ่ง แล้วก็คนที่พบนั้นทําอย่างไรอย่างหนึ่ง
“พระพุทธศาสนาสอนเป็นขั้นๆ อย่างในขั้นต้น สอนให้ตั้งตัว นี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง แล้วขั้นสูงสุดของพระพุทธศาสนาที่ว่าพบพระพุทธศาสนาแล้ว ดีกว่าพบอะไรทั้งหมดนั้น คือการสอน ให้พ้นจากความทุกข์ใจ นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่เดียว”
เพราะคนเราจะร่ำรวยมั่งคั่งสมบูรณ์ก็ตาม แต่ว่าความทุกข์ใจนี่ บางทีก็ไม่แน่ว่าจะมีหรือไม่มี เพราะว่าคนที่ร่ำรวยฆ่าตัวตายก็มาก คนที่มั่งคั่งสมบูรณ์ไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แต่ยังมีความเดือดร้อนในทางใจก็ไม่ใช่น้อย ที่มีความเดือดร้อนในทางที่ใจนะ ทางพระพุทธศาสนาสอนให้แก้ หรือว่าสอนให้ลดลงมาตามลําดับ จนกระทั่งถึงไม่มีการที่จะมีศาสนาสอน อย่างนี้ถึงเรียกว่า พบพระพุทธศาสนาแล้วเป็นลาภที่สูงที่สุด เพราะโดยทั่ว ๆ ไป เขาสอนแต่เพียงว่า เราจะทําอย่างไร เราจะมั่งคั่งสมบูรณ์ทําอย่างไร เราถึงจะสบายใจ เป็นการปลอบโยนตัวเอง แต่ว่าโดยหลักแห่งความจริงแล้วเราก็ไม่หาย
“เพราะฉะนั้นว่า พบพระพุทธศาสนาดีนั้น คือพบตรงที่ว่า เป็นพระพุทธเจ้านี่สอนให้คนดับความทุกข์ได้ ซึ่งแต่ไหน แต่ไรมาก็ยังไม่เคยมีในข้อนี้ เรียกว่าสอนความจริงนั่นเอง”
สุพจน์ : อ้อ ก็แปลว่า ประเด็นแรกที่เห็นว่าคนไทย หรือคนที่นับถือพุทธศาสนารวยน้อยกว่าคนชาวต่างประเทศ นี่ก็เพราะว่า การกระทําของผู้ที่ถือพุทธศาสนายังไม่ถึงขั้นของ ชาวต่างประเทศ ?
พระราชวิสุทธิเมธี : ถูกแล้ว เจริญพร
สุพจน์ : แต่ว่าการร่ำรวยของชาวต่างประเทศนั้นก็ไม่ได้นอกเหนือไปจากกฎแห่งกรรมทางพระพุทธศาสนา อยู่ในหลักที่ว่า คนขยันทําให้เหมาะสมถูกกาละเทศะก็ย่อมหา ทรัพย์ได้ ถ้าหากว่าคนไทยหรือคนที่นับถือพระพุทธศาสนามาก ๆ ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ พยายามให้เท่าเทียม หรือยิ่งกว่าชาวต่างประเทศก็ต้องรวยมากกว่าชาวต่างประเทศเหมือนกัน คงอยู่ในกฎนั้นใช่ไหมครับ
พระราชวิสุทธิเมธี : เจริญพร อยู่ในกฎอันนั้น อย่างที่รัฐบาลพยายามที่จะให้มีการอุตสาหกรรมมาก ก็เพื่อต้องการจะให้ประเทศชาติมั่งคั่งสมบูรณ์ ความประสงค์ก็อยู่ตรงนั้น
สุพจน์ : อย่างนั้นก็ที่ภูมิใจว่า เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ก็ไม่ใช่คํากล่าวเกินความจริง ?
พระราชวิสุทธิเมธี : ไม่เกิน ที่จริงดีกว่าเสียด้วยอีก บางทีถ้าเราไม่พบพุทธศาสนาเราก็ไม่รู้จักขยัน เรามีความขี้เกียจ แต่เราไม่รู้ว่า ไอ้ความขี้เกียจมันจะให้โทษอย่างไร แต่พระพุทธศาสนาสอนไว้เสร็จว่า คนขี้เกียจนั้นไม่ดี ท่านยังบอกว่า คนขี้เกียจเหมือนกับถั่วเขียวชุ่มน้ำ มีแต่มันจะจมลงไปสู่กันภาชนะที่ใส่ไว้ แต่ถ้าคนขยันนั้นเป็นคนลอยตัวขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาว่า พระพุทธศาสนาสอนอะไร แล้วก็ต้องพิจารณาถึงบุคคลผู้ที่พบพระพุทธศาสนาว่า ในเมื่อพบแล้วเขาได้ทําตามหลักพระพุทธศาสนาหรือไม่ ไม่ใช่ว่ามานั่งยิ้มดีใจว่าพบพระพุทธศาสนาแล้ว ถ้าหากว่ามานั่งนิ่งอยู่เฉย ๆ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่โดยความเป็นจริงแล้ว พบพระพุทธศาสนานะเป็นดีที่สุด
สุพจน์ : แล้วก็ที่เหนือกว่าชาวต่างประเทศที่ว่ามา ในปัญหาที่พระคุณท่านอธิบายมาก็คือ ความดับทุกข์ในทางใจ ?
พระราชวิสุทธิเมธี : ใช่ เจริญพร นี่แหละเป็นหลักที่ใหญ่ที่สุด เพราะว่าโดยทั่ว ๆ ไป บางทีเราก็มั่งคั่งสมบูรณ์ แต่ว่าความทุกข์ใจนี้ยังมีอยู่ การทะเลาะเบาะแว้งยังมีอยู่ ซึ่ง เป็นคลื่นรบกวนในทางใจอยู่ตลอดเวลา
“แต่ทางพระพุทธ ศาสนาท่านสอนให้ลด ให้รู้จักธรรม เพื่อจะทําให้เกิดความ สุขในทางใจให้สมดุลย์กับความสุขในทางวัตถุ จึงนับว่าเป็น ทางที่เราพบแล้วน่าชื่นใจที่สุด ที่ว่าพบพระพุทธศาสนาแล้ว”
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
ผ้ากาสาวพัสตร์คือผ้าอย่างไร สีอะไร ?
สุพจน์ : กระผมขอผ่านไปครับ ของคุณสถิตย์พงศ์ อุดมสุข ตรอกบางกระบือ และของคณะอุโบสถอําเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ข้องใจในปัญหาเดียวกัน
ปัญหาแรกถามว่า คําว่าผ้ากาสาวพัสตร์นั้นคือผ้าอย่างไร
พระราชวิสุทธิเมธี : อ้อ คําว่าผ้ากาสาวพัสตร์ คําว่า พัสตร์ ตัวนั้น แปลว่าผ้า กาสาวะ แปลว่า น้ำฝาด เพราะฉะนั้น ผ้ากาสาวพัสตร์ ก็คือ ผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด นี่ศัพท์เดิม จริงๆเป็นอย่างนี้
สุพจน์ : มีสีอย่างไรครับ ?
พระราชวิสุทธิเมธี : ถ้าจะกําหนดถึงสีแล้วก็ยังไม่มีหลักฐานที่ท่านบอกไว้เลยว่าเป็นสีอะไร แต่ว่าถ้าค้นดูตาม รากฐานเดิมแล้วก็จะมองเห็นว่า คําว่าผ้าย้อมน้ําฝาดนี้ ท่าน หมายถึงผ้าที่ย้อมด้วยพวกพืช ไม้ หรือพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่มีรสฝาด และก็ทําให้จีวรนี่เป็นสีของเปลือกไม้ หรือสีที่เกิดจากการย้อมจากเปลือกไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง และสีที่ว่าท่านต้องการที่จะให้คล้ายมาก ก็ต้องสาวไปถึงเรื่องเดิมก็ คือ สีที่นักบวชในสมัยก่อนพุทธกาลที่นิยมใช้กันอยู่ ก็เป็นสีไม่ใช่เหลือง แล้วก็ไม่ใช่แดง เป็นสี อ่า…จะเรียกว่าสีน้ำตาลไหม้หรืออะไร ทํานองนี้ก็อย่างนั้น
สุพจน์ : ในหลักฐานทางบาลี ใช้คําว่าอย่างไรครับ ?
พระราชวิสุทธิเมธี : ในทางบาลีนั้น ท่านไม่ได้ใช้คําว่าอย่างไรเลย เกี่ยวกับเรื่องสีไม่มี
สุพจน์ : นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนายุติเอาว่าเป็นสีอย่างไรครับ ?
พระราชวิสุทธิเมธี : ยุติกันว่าเป็นสีที่ไม่ใช่เหลือง และก็ไม่ใช่แดง เป็นสีหม่น ๆ
สุพจน์ : ถ้าหากจะว่าเป็นสีคล้ายๆ กับสีย้อมกรักสมัยนี้จะได้ไหม ?
พระราชวิสุทธิเมธี : ย้อมกรักนั่นบางทีก็เกินไปบ้างนะ
สุพจน์ : หรือจะเป็นสีเหลืองหม่นๆ แบบเหลืองอ่อน ๆ อะไรอย่างนั้นหรือเปล่า ?
พระราชวิสุทธิเมธี : ไม่ใช่เหลืองอ่อน บางทีมันก็อ่อนมากไป อยู่ในลักษณะที่ เรื่องสีนี้อาตมาก็พูดยาก แต่ว่า เพราะไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องชื่อของสี แต่ว่าต้องสีเหลืองละ แต่ว่าต้องผสม และโบราณที่ท่านทํากันนะ อย่างใช้ขมิ้นย้อมนี้ เขาต้องเลือกนะฮะ เขาต้องมีมะกรูด แล้วก็ต้องมีสีแดงปนลงไป นี่ที่โบราณทํากันมา นักปราชญของเราในทางศาสนา ก็ทํากันมาอย่างนั้น
สุพจน์ : คณะรักษาอุโบสถวัดโพธารามเล่ามาให้ฟังอย่างนี้ว่า ทําไมเวลานี้ สีเหลืองซึ่งมองดูเย็นตาและเป็นสีที่สุภาพเหมาะสําหรับผู้ทรงศีลอย่างครั้งก่อนหมดความหมาย เสียแล้วหรือ เดี๋ยวนี้พระสงฆ์ใช้สีอะไรกระผมก็เรียกไม่ถูกเหมือนกัน นี่ว่าโดยทั่ว ๆ ไป เพราะเกือบจะเป็นสีแดงอยู่แล้ว ยิ่งพระตามบ้านนอกด้วยแล้วก็รู้สึกเข้มข้นมาก มองดู ไกล ๆ คล้าย ๆ กับเพชฌฆาต เขียนมาว่าอย่างนั้น ที่นักถามว่า ทําไมไม่ใช้สีเหลืองแบบโบราณ เขาเสนอมาด้วยครับว่า ขณะนี้ขมิ้นในเขตอําเภอโพธารามนะถังละสามบาทเท่านั้น ใครต้องการก็พอจะซื้อถวายพระได้
พระราชวิสุทธิเมธี : อันนี้ก็น่าอนุโมทนาต่อท่านคณะอุบาสกอุบาสิกาของโพธาราม แสดงว่าเป็นคนเอาใจใส่ หวังดีต่อพระศาสนา แต่ว่าเรื่องนี้ก็ควรพิจารณาว่า โดยความ เป็นจริงนั้น สีจีวรก็ไม่ใช่สีเหลืองทีเดียว แต่ว่าแต่เดิมมานะ พระที่นิยมใช่สีเหลืองแล้วเราก็ติดตาเรื่องสีเหลืองมา และก็สีเหลืองที่พระห่มนั้นบางทีเราก็นึกถึงสีทอง บางทีเราก็นึกถึงสีขมิ้นแล้วแต่จะชินตา เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่สําคัญอะไรนัก เป็นเรื่องนอกมากกว่า
เรื่องจีวรนี่พูดอีกทีก็เป็นเครื่องแต่งกายของพระ แต่ว่าไม่ให้ผิดวินัยพระก็เป็นอันว่าใช้ได้ แล้ว ในพระวินัยก็ไม่ได้ระบุลงไปว่าเป็นอย่างไรแน่ แต่ว่าก็พอที่จะกําหนดลงไปได้ว่าสีที่ย้อมด้วยน้ำฝาด เพราะก็ทราบอยู่แล้วว่า ในทางพระศาสนาต้องการที่จะให้พระเป็นอยู่ง่าย ไม่ต้องการที่จะให้ไปต้องเอาสีนั้น สีนี้
อีกอย่างหนึ่งขมิ้นตรงทีเดียวนั้น ท่านห้ามย้อมด้วยขมิ้นล้วน ๆ ห้ามไม่ให้ย้อม ต้องผสม ต้องอย่างที่พูดมาแล้วในเบื้องต้น ที่ว่าจะต้องมีมะกรูด และ ต้องมีสีแดงไปเจือ เพื่อต้องการไม่ให้เหลืองเกินไปนั่นเอง ขมิ้นน่ะท่านห้าม ห้ามไม่ให้ย้อมด้วยขมิ้น เพราะ ฉะนั้นในเรื่องนี้ก็ควรที่จะพิจารณาถึงความพอดี ที่ว่าแดงจนเป็นเพชฌฆาตนั้นเกินไป
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นธงชัยของพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร ?
สุพจน์ : เรื่องของสีก็ขอยุติครับ มีปัญหาต่อไปว่า ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นธงชัยของพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร ?
พระราชวิสุทธิเมธี : อ๋อ ที่ว่าเป็นธงชัยของพระอรหันต์นั้นก็คือว่า ผ้ากาสาวพัสตร์นี่เป็นผ้าที่พระพุทธเจ้า และพระพุทธสาวกในครั้งกระนั้นท่านใช้ พระเหล่านั้นน่ะ ท่านเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ผ้าที่ท่านครองนี่ก็ถือว่าเป็นผ้ามงคล จึงเรียกว่าเป็นธงชัย เป็นเครื่องหมายของศาสนาเช่นกับว่า ชาติของเรา ถ้ายังมีธงชาติอยู่ เราก็เรียกว่าชาติของเรา ก็ปรากฏในพุทธศาสนานี่ก็เหมือนกัน ถ้าผ้ากาสาวพัสตร์ยังมีอยู่ก็หมายความว่า ยังมีธงชัยของพระอรหันต์ที่ท่านใช้ในสมัยโน้นอยู่
สุพจน์ : คือเจ้าของปัญหา คุณสถิตย์พงศ์ นี่ไปอ่านหนังสือเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับทางศาสนาก็ไปพบว่า มีพรานคนหนึ่งไปตัดเอางาช้าง โดยวิธีเอาผ้ากาสาวพัสตรนี้ไปคลุมตัว โดยให้ช้างเห็นเป็นพระ ช้างก็เห็นผ้าเหลืองเป็นธงชัย ซึ่งเป็นยังชัยของพระอรหันต์นี่ก็ไม่กล้าทําลาย พรานจึงตัดเอางาไปได้สบาย* อย่างนี้ก็เลยสงสัยว่าผ้ากาสาวพัสตร์น่ะเป็นผ้าอะไร และที่ว่า เป็นธงชัยของพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร ทีนี้ก็ยังมีต่อไปอีกนิดว่าคนเช่นไร ชื่อว่าอาศัยอานุภาพของผ้ากาสาวพัสตร์เลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง นี่ก็มีเป็นปัญหาอยู่ครับ
พระราชวิสุทธิเมธี : อ๋อ ที่ว่าอาศัยผ้ากาสาวพัสตร์เลี้ยงปากเลี้ยงท้องนี้ ก็เหมือนตัวอย่างที่ยกขึ้นมานั้นก็ชัดเจนแล้วในเรื่องนี้ ที่ว่านายพรานเอาผ้าเหลืองไปคลุมเพื่อต้องการที่จะให้ช้างเข้าใจผิด อันนี้ชัดอยู่แล้ว คือหมายความว่า ประเภทนี้ไม่ใช่พระ แต่เป็นคนที่ต้องการที่จะหากินด้วยผ้าของพระพุทธเจ้า หรือด้วยธงชัยของพระอรหันต์ ก็เลยเอาผ้านี่มาครองก็มีแยะ ตอนหลัง ๆ มาก็ยังปรากฏว่าบางคนก็ไปเอาผ้าพระมาห่มเที่ยวเรี่ยไรบ้าง บางทีถึงกับว่า ห่มจีวรไปเรียกแท็กซี่ เขาเข้าใจว่าเป็นพระ เสร็จแล้วก็เอาจีวรออก นี่ก็มากเหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่า พวกที่อาศัยผ้ากาสาวพัสตร์ เลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง นี่โดยตรงทีเดียว
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
พรหมจรรย์ นั้นเป็นอย่างไร
สุพจน์ : ผมขอขอบพระคุณมาก ต่อไปก็เป็นของผู้ที่ใช้นามว่า แฟนประจํารายการ ท่านผู้นี้ถามเข้าที บอกว่าฟังรายการมาเป็นประจํา จนใช้ชื่อว่า แฟนประจํารายการ ถามว่า พรหมจรรย์นั้นคืออะไร พรหมจรรย์ของผู้ถือศีล ๘ ศีลอุโบสถ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ นั้นเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือพรหมจรรย์มีหลายชั้น ถ้าเป็นอันเดียวกัน ทําไมผู้ถือศีล ๘ ที่เป็นผู้หญิงจึงอุ้มเด็กผู้ชายได้ หรืออุ้มไม่ได้ ถ้าต่างกัน ทําไมสามเณรซึ่งมีศีล ๑๐ จึงถูกต้องกายหญิงไม่ได้ หรือถูกต้องได้ มีห้ามไว้ในพระวินัยที่ไหนหรือไม่ว่าสามเณรถูกต้องกายหญิงแล้วต้องอาบัติ หรือขาดจากความเป็นสามเณร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
พระราชวิสุทธิเมธี : คําว่าพรหมจรรย์ในทางศาสนานี้ เป็นคำสองคำ คือคำว่า “พรหม” คำหนึ่ง และ “จรรย์” อีกคำหนึ่ง
“พรหม” แปลว่า “ประเสริฐ”
“จรรย์” แปลว่า “ประพฤติ”
เอาคําสองคํานี้มาต่อกันแปลว่า “ความประพฤติอันประเสริฐ” หรือ “ประพฤติซึ่งกรรมอันประเสริฐ”
คํานี้มีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แต่คําว่า “พรหมจรรย์” ในสมัยนั้น หมายออกไปหลาย ๆ แง่ เช่นว่า อย่างพระเวสสันดรก็ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยการเว้นต่าง ๆ ที่ท่านไปอยู่ที่เขาวงกตนั้นก็ก่อนพุทธกาล หรือว่าไม่ถึงกับชาติก่อนโน้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้าอุบัติแล้ว แต่ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า นี่ก็มีนักบวชมากที่ถือกันว่าประพฤติพรหมจรรย์ เช่นว่า การไม่ทานอาหารเย็นก็ถือว่าเป็นพรหมจรรย์
ฉะนั้น คําว่า “พรหมจรรย์” นั้น โดยความเป็นจริงแล้วก็คือประพฤติให้เข้มงวดกวดขัน เพื่อต้องการที่จะถึงความหลุดพ้นนั่นเอง แต่ว่าจะพบกันหรือไม่ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความหมายของพรหมจรรย์หมายถึงการประพฤติอย่างนั้น ไม่ต้องไปเกี่ยวกับวิถีแห่งโลก หรือความเป็นอยู่อย่างโลก ให้ปลีกออกไป เป็นความประพฤติอย่างประเสริฐทีเดียว อย่างในมงคลสูตรท่านก็ว่า มีพรหมจรรย์อยู่ ว่าพรหมจรรย์นี่เป็นอุดมมงคล และในมงคลที่ได้ยินกันอยู่เสมอนั้น ก็ปรากฏว่าท่านแยกออกไป แม้แต่ทาน บางทีก็เป็นพรหมจรรย์ เบญจศีล บางทีก็เป็นพรหมจรรย์ ท่านถือมาแต่เก่าก่อน
แต่ว่าอย่างไรก็ดี พระพุทธเจ้าท่านได้บัญญัติพรหมจรรย์ไว้ในข้อที่ว่าเป็นความประพฤติอันประเสริฐ เลิศกว่าความประพฤติธรรมดา แล้วที่สําคัญของพรมจรรย์นั้นก็คือการงดเว้นเมถุนวิรัติ แล้วก็การไม่ทานอาหารเป็น วิกาลโภชน์ ไม่ทานอาหารเย็น นี่เป็นหลักของพรหมจรรย์
เพราะฉะนั้นคําว่า “พรหมจรรย์” นั้นก็คือ ความประพฤติอัน ประเสริฐของคนที่ต้องการที่จะไปสู่ความหลุดพ้น มีความหมายของคําว่าพรหมจรรย์
สุพจน์ : ต่อไปว่าพรหมจรรย์นั้นมีหลายชั้นไหม อย่างของผู้ถือศีล ๘ ศีลอุโบสถ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นพรหมจรรย์ขั้นเดียวกันหรือต้องแยกขั้นกัน
พระราชวิสุทธิเมธี : ถ้าพูดตามองค์ศีลแล้วก็เป็นขั้นได้ แต่ความมุ่งหมายนั้นเหมือนกัน แต่ว่าเข้มงวดกวดขัน ต่างกันหน่อย อย่างพรหมจรรย์ของคฤหัสถ์ เป็นพรหมจรรย์จริง แต่มีศีลเพียง ๘ ข้อ ของสามเณรเป็นพรหมจรรย์จริง แต่ว่าอยู่ในศีล ๑๐ ข้อ ของพระเป็นพรหมจรรย์เหมือนกัน แต่ว่าของพระนั้น จะต้องประคับประคองข้อปฏิบัติอื่น ๆ อีกถึง ๒๒๗ ข้อ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า คําว่า “พรหมจรรย์” ไปใส่ไว้ ในที่ต่าง ๆ นี่ก็จะเห็นความแตกต่างกัน มีส่วนประกอบมากกว่ากัน แต่ว่าความมุ่งหมายเป็นอันเดียวกัน
สุพจน์ : ก็หมายความว่าไม่ใช่อันเดียวกัน ?
พระราชวิสุทธิเมธี : เจริญพร ความมุ่งหมายของพรหมจรรย์และการประพฤติพรหมจรรย์นั้น เป็นอย่างเดียวกัน คือหวังจะไปสู่ความหลุดพ้น แต่ว่าขั้นของการปฏิบัติ เช่น องค์ประกอบนี่ต่างกัน
ถืออุโบสถแล้วอุ้มลูกจูงหลานได้หรือไม่
สุพจน์ : เอาละครับ ทราบแล้วว่าความมุ่งหมายคืออันเดียวกัน ทีนี้ปัญหาต่อไป ทําไมผู้ที่ถือศีล ๘ ถือศีลอุโบสถ ที่เป็นผู้หญิงถึงอุ้มเด็กผู้ชายได้ หรือเป็นผู้ชายทําไม่อุ้มเด็กผู้หญิงได้ หรือไม่ได้
พระราชวิสุทธิเมธี : อ๋อ ที่จริงข้อนี้นะ ท่านกล่าวไว้ชัดเหมือนกัน อย่างในมงคลว่าอุ้มไม่ได้
สุพจน์ : อุ้มไม่ได้หรือครับ ก็เวลานี้ก็ปรากฎเห็นอุ้มกันอยู่ทั่วไป ไม่ใช่ลูกหลานก็อุ้มกันได้ บางที่เห็นแม่ชีในรถยนต์ รถเมล์ถูกต้องกายของผู้ชายได้อย่างนี้
พระราชวิสุทธิเมธี : เจริญพร ก็มี แต่ว่าความเป็นจริงแล้วก็ห้ามไม่ให้ถูกต้อง โดยที่ท่านสอนไว้ว่า ก่อนจะรักษาศีลอุโบสถที่มีข้อพรหมจรรย์อยู่ด้วยนี้ ก็ต้องมีการตระเตรียม สั่งการสั่งงานให้เรียบร้อย เพื่อจะนําตัวไปสู่ความพ้นทุกข์จริง ๆ แล้วหลังจากนั้นแล้วก็ให้เอาใจใส่แต่เรื่องพระศาสนา ในการที่จะทํางานในทางใจโดยเฉพาะ ไม่ให้เกี่ยวข้องในทางวัตถุ
เพราะฉะนั้น โดยความเป็นจริงแล้วห้าม แต่ว่า พอไปอุ้มเด็กเข้าแล้วศีลจะขาดนั้น เพียงแต่อุ้มเด็กนี่ อย่างนี้ยังไม่ขาด แต่ว่าความสมบูรณ์ของศีลนั้นไม่เต็มที่ เพราะว่าก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พรหมจรรย์นี่คือการที่ประพฤติที่สูงขึ้นไปกว่าธรรมดา ถ้าหากว่าเรายังไปคลุกคลีอยู่กับสังคมที่เขาเป็นอยู่ธรรมดา ก็ไม่เป็นการประเสริฐ
สุพจน์ : เอ ! ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เฉพาะแต่เด็กผู้ชายหรือ เด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นเพศตรงกันข้าม อย่างผู้หญิงรักษาศีลอุโบสถจะอุ้มหลานผู้ชายนี้ก็คงจะไม่ได้ ?
พระราชวิสุทธิเมธี : ไม่ควร
สุพจน์ : ต้องเว้นหมดเลยอย่างนั้นหรือครับ
พระราชวิสุทธิเมธี : ใช่ คือว่าถ้าเป็นเพศตรงกันข้ามแล้วก็ควรเว้นทั้งนั้น ไม่เฉพาะว่าเป็นผู้ใด
สุพจน์ : ประทานโทษ ขอแยกตรงนี้สักหน่อยครับ ระหว่างพรหมจรรย์ของศีล ๕ กับพรหมจรรย์ของศีลอุโบสถนี้ยัง สงสัย คือรับศีลมาเหมือนกัน เป็นแต่ว่าต่างกันในตอนที่แยก ออกมาเป็น อุโบสถ กับ อัฏฐสิกขาปทาน ธรรมดา ถามว่า พรหมจรรย์ทั้งสองอย่างนี้ต่างกันตรงไหนหรือไม่ ?
พระราชวิสุทธิเมธี : ต่างกันที่การงดเว้น เจริญพร ถ้าหากว่าเป็นองค์อุโบสถแล้วก็ท่านให้เว้นเพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ท่านใช้ศัพท์ว่า “กาลยุตพรหมจรรย์” คือ การประพฤติพรหมจรรย์ที่มีการจํากัดขอบเขตเวลา แต่ถ้าเป็นศีล ๘ แล้ว ก็รักษาตลอดกาลเหมือนกับศีล ๕
สุพจน์ : แต่ว่าของดเว้นเหมือนกัน ?
พระราชวิสุทธิเมธี : เหมือนกัน แต่ว่าจํากัดเวลาลงไป ข้อนี้ก็เพราะว่าบางคนต้องการที่จะประพฤติพรมจรรย์ แต่ว่า ไม่มีเวลาพอที่จะประพฤติพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าก็บัญญัติวันที่จะให้รักษาศีลอุโบสถขึ้น และก็ได้กําหนดวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเข้าไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการที่ให้คนมีกิจการมาก แต่อยากประพฤติพรหมจรรย์ เรียกว่าอยากพ้นทุกข์ ได้มีโอกาสที่จะ รักษาเพียงแต่ในวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง
สุพจน์ : ถ้าอย่างนั้นแล้วก็ ความเข้าใจที่ว่าศีลอุโบสถ มีอานิสงส์มากกว่าศีล ๘ นี่ก็คงจะเป็นการเข้าใจไม่ถูกต้อง หรืออย่างไรครับ?
พระราชวิสุทธิเมธี : คือว่าศีล ๘ กับศีลอุโบสถนี้ โดยความเป็นจริงนั้น ถ้าพิจารณาดูดีแล้ว เราก็จะเห็นว่ามันมีข้อเข้มงวดกวดขันต่างกันอยู่บ้าง เพราะว่าการทําในขอบเขต จํากัดกาลเวลา มันก็เป็นการทํายากเหมือนกัน ทําให้ต้องเคร่งครัดขึ้น แต่ว่าถ้าเราทําเป็นปรกติก็รู้สึกเฉย ๆ แต่ว่าที่จะต่างกันมากอย่างนั้นก็ไม่ถูก
สุพจน์ : ครับ ถ้าอย่างนั้นก็ยังอีกประเด็นต่อไปที่ว่า สามเณรรักษาศีล ๑๐ ถูกต้องกายหญิงไม่ได้ อยากจะเรียนถามว่า สามเณรที่ถือศีล ๑๐ ถูกต้องกายหญิงไม่ได้ มีวินัยห้ามไว้ในที่ไหนหรือไม่
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
พระราชวิสุทธิเมธี : เกี่ยวกับศีลของสามเณร ข้อห้ามที่ห้ามตรงลงไปเลยนั้น เราก็จะพิจารณาโดยรอบคอบ เพราะบางอย่างก็ไม่ได้บอกตรงลงไป อย่างในศีลเณรข้อนี้ไม่ ได้บอก แต่ว่าพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่พูดถึงศีลข้อนี้ ก็ห้ามเลยทีเดียวว่า เณรจับต้องไม่ได้ เช่น ท่านพูดว่า ศีลของเณร ๕ ข้อเบื้องต้น เป็นโทษที่หนักมาก ถ้าหากว่าล่วงเกิน ๕ ข้อเบื้องต้นแล้วเหมือนกับพระที่ผิดศีล ขาดจากความเป็นพระ เณรก็ขาดจากความเป็นสามเณรเหมือนกัน แล้วก็เณรนี่ไม่ใช่เพียงแต่รักษาศีล ๑๐ เท่านั้น ยังมีข้ออื่น ๆ ปลีกย่อยที่จะต้องรักษาอีก รวมกันแล้วถึง ๙๕ ข้อด้วยกัน
เพราะฉะนั้น ที่ว่ามีที่มาชัดหรือไม่ว่า ห้ามไม่ให้เณรจับต้องกายหญิงนี้ อย่างนี้ไม่ได้บอกไว้ชัด แต่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พิจารณาโดยคําสอนเกี่ยวกับเรื่องของวินัยของเณรแล้ว ก็บอกว่าเณรจับต้องกายหญิงไม่ได้ เพราะว่าท่านวางหลักไว้ เช่นว่า เป็นข้อ ๕ เบื้องต้นนี้ เป็นเหตุที่จะให้ขาดจากความเป็นสามเณร ก็เรียกว่าหนัก และ ความมุ่งหมายก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า เมถุนวิรัตินั่นเป็นเรื่องใหญ่ การไม่บริโภคอาหารในเวลาวิกาล เป็นชั้นที่ ๒
พูดถึงเรื่องสามเณรแล้ว ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันมากเหมือนกันว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว เณรจะต่างจากพระอย่างไร เพราะเณรก็ห้ามอย่างนี้แล้วก็มีศีลตั้ง ๙๕ ข้อแล้ว ก็ คล้ายจะเป็นพระอยู่เต็มที่แล้ว และพระเบื้องต้นก็รับศีล ๑๐ เหมือนกับเณร โดยความเป็นจริงแล้วพระต้องรับเหมือนกัน ทีนี้เณรจะต่างจากพระได้อย่างไร อันนี้ก็อยู่ที่ข้อที่ว่า เณรนี้เหมือนกับเด็ก เพราะที่แรกพระราหุลบวชนั้น เราก็ทราบแล้วว่าท่านอายุเท่าไร ทีนี้ถ้าหากว่าจะกวดขันเหมือนพระก็ยาก เพราะฉะนั้นจึงมีข้อที่จะปฏิบัติน้อยลงมา
อย่างในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน จะเห็นได้ว่า เขามีศาลเด็ก ทําความผิดเขาขึ้นศาล เด็ก ไม่ใช่ไปขึ้นศาลผู้ใหญ่ แต่ว่าเด็กทําความผิดนี้เป็นความผิด หรือไม่ ก็เป็นความผิดเหมือนกัน แต่ว่ามีการพิจารณาลดหย่อนลงมา เด็กฆ่าคนตาย จะไปตัดสินเหมือนผู้ใหญ่ไม่ได้ เขาก็ให้ขึ้นศาลเด็ก เกี่ยวกับเรื่องเณรนี่ ท่านต้องการที่จะเอาคนให้เป็น พระเหมือนกัน แต่ว่ายังไม่ถึงจะเป็นพระนี้จะทําอย่างไร อย่างพระราหุลอยากจะบวช จะบวชอย่างไร อายุไม่ครบ ๒๐ ก็ต้องให้บวชเป็นเณรไว้ก่อน อันนี้เป็นเรื่องที่มาแต่เดิม
เพราะฉะนั้น เรื่องของเณรนี้ต้องให้ทําเหมือนกับพระ แต่ว่าหย่อนลงมาบ้าง เช่นว่าศีล ก็ไม่เหมือนกัน เพราะความมุ่งหมายก็ต้องการที่จะรับคนที่อยากจะเป็นพระไว้ในศาสนา แต่รับไว้ในฐานะอีกอย่างหนึ่ง
สุพจน์ : ถ้าดูตามรูปศัพท์ของชื่อ อย่างสามเณร ซึ่งแปลว่า หน่อหรือเหล่ากอของสมณะ ก็คงจะเป็นว่าสามเณร นี่เพิ่งเป็นหน่อขึ้นมาเท่านั้น ยังไม่เป็นพระ ทีนี้การที่เราเข้าใจว่าศีลสามเณรมีเพียง ๑๐ นั้น ก็เข้าใจตามบัญญัติที่มี แต่ว่าอันที่จริงสามเณรก็รักษาสิกขาบทมากกว่า ๑๐ อาจมากกว่า ๙๕ ที่ไม่ได้เป็นบัญญัติก็มี ผมก็ขอขอบพระคุณ ยังมีอีกนิดหนึ่งว่า ผู้ที่ไม่อยู่ในเพศชาย เป็นเพศหญิงจะถือศีล ๑๐ อย่างสามเณรได้ไหม หรือเป็นเพศชายถือศีล ๑๐ ข้อเว้นเหมือนกับสามเณร แต่ไม่บวชได้หรือไม่
พระราชวิสุทธิเมธี : ได้เจริญพร ท่านบอกไว้ว่า ผู้ที่มีความอุตสาหะที่จะรักษาศีลถึง ๑๐ ข้อก็ได้ ไมถือเป็นผิดแล้วก็ดีด้วย
สุพจน์ : ถ้าอย่างนั้นอยากจะกระเถิบขึ้นไปอีกเป็น ๒๒๗ ได้ไหมครับ
พระราชวิสุทธิเมธี : อ้อ ไม่ได้ ๒๒๗ ก็ต้องบวช
สุพจน์ : เอาละครับ ขอบพระคุณมาก เวลาวันนี้ก็มีเพียงเท่านี้ ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของปัญหาทุก ๆ ท่าน รายการนี้ ขอเรียนว่ามีเป็นประจําอยู่ทุกวันเสาร์ ท่านที่รับฟังทางโทรทัศน์ไม่ได้ เพราะอยู่ห่างไกลออกไปก็รับฟังได้จากสถานีวิทยุ วปถ. ซึ่งถ่ายทอดเสียงอยู่ทุกครั้ง และนอกเหนือไปกว่านั้น รายการที่ออกมาแล้วในตอนหลัง ๆ ก็ได้รับการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม เวลานี้ก็จวนจะเสร็จอยู่เต็มทีแล้วครับ ประมาณวันที่ ๑๐ เดือนนี้ หนังสือนี้ก็จะเรียบร้อยเป็นเล่ม ท่านผู้ใดต้องการก็โปรดหาเอาไว้เป็นสมบัติเป็นการประดับความรู้ และก็เป็นหลักฐานในรายการนี้ที่ได้ออกไปแล้ว ผมขอขอบพระคุณท่านเจ้าคุณ พระราชวิสุทธิเมธี วัดสระเกศฯ กับท่านผู้ชมผู้ฟังทั่วทุกท่าน.
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ภาพในอดีต