เมื่อวันก่อน (วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖)
ณ สถานีกลาง บางซื่อ
หลังจากเลิกงาน ๕ โมงเย็นที่ปทุมธานี ผู้เขียนนั่งรถเมล์ แล้วมาต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีแดง ราคา ๒๐ บาท (ได้รับอานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาล) เพื่อกลับที่พักในกรุงเทพฯ เมื่อมาถึง สถานีกลางบางซื่อ เมื่อประมาณ ๑๙.๐๐ น. ก็ตั้งใจนั่งรถ Shuttle bus ไปลงหัวลำโพง
ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ (ตรวจบัตร) ไม่ให้ขึ้น เขาบอกว่า ต้องมีบัตรของรถไฟถึงจะขึ้นได้ ก็บอกเขาไปว่า ผมนั่งมา ๓ เดือนแล้ว ไม่เห็นมีการตรวจบัตร เขาบอกว่า เขาทำงานมาเป็นปีแล้วตรวจทุกวัน (ผู้เขียนก็สงสัยเหมือนกันว่า ตลอด ๓ เดือนมานี้ ไม่รู้ว่าใครล่ะ ไปแอบหลับอยู่ที่ไหนมา) แล้วก็ยันคำเดิมว่า “ผมนั่งมาตลอด ๓ เดือนแล้ว ไม่เห็นมีการตรวจบัตร”…เถียงกันอยู่นาน
คร่าวๆ ว่า Shuttle bus เป็นของการรถไฟฯ เขารับคนจากหัวลำโพง มาบางซื่อ (ฟรี ไม่ตรวจบัตร) แต่ส่งคนจากบางซื่อ ไปหัวลำโพง เขาตรวจบัตร (เพิ่งรู้วันนี้) แสดงว่า Shuttle bus เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ใช่ของรถไฟฟ้า MRT,BTS คนไม่มีบัตรรถไฟ ห้ามขึ้นรถ Shuttle bus
ผู้เขียนก็เลยหาข้อมูลจากการรถไฟแแห่งประเทศไทยมาแบ่งปัน เผื่อท่านใดยังไม่ทราบ ก็ตามนี้ครับ
แล้วเจ้าหน้าที่จากการรถไฟฯ ได้ชี้ให้ผู้เขียนไปขึ้นรถเมล์ สาย ๔๙ แทน… ตามนั้น
จากนั้น ก็ได้เดินมารอตรงที่ป้ายรถเมล์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก (ประมาณ ๒๐ เมตร)
ณ ขณะนั้น ก็ไม่ได้สังเกตว่ามีใคร หันไปทางขวามือ ซึ่งห่างจากป้ายรถเมล์ประมาณ ๖-๗ เมตร ก็เห็นพระหลวงตาแก่ๆ รูปหนึ่ง สะพายย่ามเก่าๆ กับสามเณรน้อยหนึ่งรูป ก็สะพายย่ามเก่าพอๆ กับหลวงตา เห็นท่านยืนอยู่ คงจะรอขึ้นรถเมล์ เข้าใจว่าคงรอนานพอสมควร จึงได้ไปนั่งรอรถเมล์ห่างป้ายรถคันนั้น อีกประมาณสัก ๑๐ นาที จะก็จะทุ่มครึ่ง รถเมล์ก็มา แต่รถเมล์ออกจะวิ่งเร็วไปหน่อย พอผู้โดยสารลงปั๊บ (คนเดียว) ล้อก็หมุนวิ่งต่อเลย
ผู้เขียนเห็นสามเณรน้อยสะพายย่ามเก่าวิ่งมาทำท่าจะโบกรถเมล์ แต่รถมันก็วิ่งไปเลยจนหมดช่วงตัวรถแล้ว แล้วเห็นหลวงตา เดินมาสมทบสามเณร ซึ่งผู้เขียนเองก็รอรถเมล์เหมือนกันแต่คนละคัน จึงเข้าไปถามท่านว่า หลวงตาจะไปไหน ท่านก็บอกว่า จะไปนครสวรรค์ จะไปขึ้นรถที่หมอชิต ก็เลยแนะนำท่านว่า ให้นั่งแท็กซี่ไปเลยครับ อย่ารอรถเมล์เลย นานๆ กว่าจะมาแต่ละคัน
หลวงตาท่านก็ว่า ค่าแท็กซี่มันแพง รอรถดีกว่า
ผู้เขียนก็เลยบอกท่านว่า งั้นไม่เป็นไร ค่ารถผมออกให้
หลวงตากับสามเณรก็มองหน้ากัน ผู้เขียนเองก็ไม่รู้ว่าท่านคิดอะไร แต่ก็ได้เดินไปโบกรถแท็กซี่ แล้วบอกคนขับว่า ช่วยไปส่งหลวงตากับสามเณรไปหมอชิตหน่อย พอท่านขึ้นรถออกไปแล้ว ผู้เขียนเองก็ไม่รอรถเมล์เหมือนกัน นั่งรถไฟฟ้า MRT อีกทอดหนึ่งก็ถึงที่พัก
ประเด็นที่ผู้เขียนเล่า ไม่ใช่ว่าอยากให้เห็นว่าตัวเป็นคนดี หรือให้ชาวบ้านสรรเสริญเยินยออะไรนะครับ แต่อยากชี้ให้เห็นพอเป็นแนวทางหนึ่ง ในการช่วยดูแลพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งบางครั้ง สถานที่ หรือสถานการณ์ ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติตนในที่สาธารณะ การที่จะให้ท่านตะโกนให้รถรอ ก็ดูกระไร บรรดาไทยมุง ทาง social ก็ว่าไม่เหมาะสมอีก เดี๋ยวจะลามไปถึงคณะสงฆ์ว่า อ่อนแอ ไม่กวดขัน ไม่ดูแล ปล่อยให้หลวงตา พระหนุ่ม เณรน้อยในปกครองมาตะโกนที่ป้ายรถเมล์ได้ยังไง มันไม่งาม ไม่เหมาะแก่สมณสารูป แล้วก็จะมีคำถามตามมาอีกว่า ทำไมไม่จัดรถมารับส่งท่าน แต่ละวัดก็ออกจะรวยๆ กันทั้งนั้น …ยาวแน่ ครับคราวนี้
ฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ อะไรที่พอจะอำนวยความสะดวกแก่ท่านได้ ช่วยกันทำเถอะครับ อย่างน้อยก็เดินไปถามท่านว่า หลวงตาจะไปใหน เณรน้อยไปอย่างไร ก็ให้คำแนะนำท่านไป
ขอยกอรรถกถา บางเรื่องบางตอนมาอ้างอิง เพื่อเป็นกำลังใจให้คนที่มีศรัทธาในการทำความดี
เรื่อง “อังกุรเปตวัตถุที่ ๙ เกี่ยวกับเทวดาที่มีมือทองคำ”
ในยุคอดีตกาลที่ว่างจากพระพุทธศาสนา เจ้าอังกุระและพราหมณ์พ่อค้ากำลังเดินทางไปค้าขาย โดยบรรทุกสินค้ารวมกัน ๑,๐๐๐ เล่มเกวียน เมื่อไปถึงที่ทุรกันดารก็พากันหลงทาง ขาดแคลนทั้งน้ำและอาหาร แต่ถิ่นกันดารนั้นยังมีรุกขเทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งมือทองคำของเขาได้ให้สิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจทุกอย่าง
เทวดาองค์นี้เมื่อยังเป็นมนุษย์เคยได้รับอุปการจากเจ้าอังกุระ จึงคิดช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น จึงมาปรากฏตัวแก่เจ้าอังกุระ พร้อมกับชี้ทางให้ไปพักยังต้นไทรร่มครึ้ม เจ้าอังกุระก็ยินดีนัก จึงให้ขบวนเกวียนตั้งค่ายใต้ต้นไทรนั้น ฝ่ายเทวดาก็เหยียดมือขวาออก ให้คนทั้งหมดอิ่มหนำด้วยน้ำก่อน จากนั้นจึงให้สิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาแก่พวกเขา
เจ้าอังกุระจึงถามเทวดานั้นว่า ฝ่ามือของท่านมีสีดั่งทองคำทั่วไป ทรงไว้ซึ่งวัตถุที่บุคคลอื่นปรารถนาด้วยนิ้วทั้ง ๕ เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย วัตถุมีรสต่าง ๆ ย่อมไหลออกจากฝ่ามือท่าน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านเป็นท้าวสักกะ
รุกขเทวดาตอบว่า เราไม่ใช่เทพเจ้า ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกะปุรินทะ ดูก่อนอังกุระ ท่านจงทราบว่าเราเป็นรุกขเทพ จุติจากโรรุวนครมาอยู่ที่ต้นไทรนี้
เจ้าอังกุระถามว่า เมื่อก่อนท่านอยู่ในโรรุวนคร ท่านมีปกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร ผลบุญสำเร็จที่ฝ่ามือของท่านเพราะพรหมจรรย์อะไร
รุกขเทวดาตอบว่า เมื่อก่อนเราเป็นช่างหูกอยู่ในโรรุวนคร เป็นคนกำพร้าเลี้ยงชีพโดยความลำบากนัก เราไม่มีอะไรจะให้ทาน แต่ว่าเรือนของเราอยู่ใกล้เรือนของอสัยหเศรษฐี ซึ่งเป็นคนมีศรัทธา เป็นทานาบดี มีบุญอันทำแล้ว เป็นผู้ละอายต่อบาป พวกยาจกวณิพกมีนามและโคตรต่างๆกัน เดินผ่านไปที่บ้านของเรานั้น พากันถามถึงเรือนของอสัยหเศรษฐีกะเราว่า
“ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย พวกเราจะไปทางไหน ทานเขาให้กันที่ไหน เราถูกพวกยาจกวณิพกถามแล้ว ได้ยกมือเบื้องขวาชี้บอกเรือนของอสัยหเศรษฐี แก่พวกยาจกวณิพกเหล่านั้นว่า
“ท่านทั้งหลายจงไปทางนี้ ความเจริญจักมีแก่ท่านทั้งหลาย ทานเขาให้อยู่ที่นั่น เพราะเหตุนั้นฝ่ามือของเราจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของเราเพราะพรหมจรรย์นั้น”
เจ้าอังกุระถามต่อว่า ได้ยินว่าท่านไม่ได้ให้ทานแก่ใครๆ ด้วยมือทั้งสองของตน เป็นแต่เพียงอนุโมทนาทานของคนอื่น ยกมือชี้บอกทางให้ เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของท่านจึงให้สิ่งที่น่าพอใจ น่ายินดี เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของท่านเพราะพรหมจรรย์นั้น
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อสัยหเศรษฐี ผู้เลื่อมใสได้ให้ทานด้วยมือทั้งสองของตน ละร่างกายมนุษย์แล้วไปทางทิศไหนหนอ”
รุกขเทวดาตอบว่า เราไม่รู้ทางไปหรือทางมาของอสัยหเศรษฐี ผู้เป็นเจ้าของแห่งทาน ผู้มีรัศมีซ่านออกจากตน แต่เราได้ฟังมาในสำนักของท้าวเวสสุวัณว่า อสัยหเศรษฐีถึงความเป็นสหายแห่งท้าวสักกะ
ประเด็นสำคัญ คือ บุญนั้นมีมากมายที่เราทำได้ และใจเป็นสุข นั่นคือ “แค่ชี้นิ้วบอกทางคนอื่นเท่านั้น แต่ก็ได้บุญถึงขนาดนี้”
ขอบคุณที่มา : อังกุรเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของอังกุรเปรต (บางช่วงบางตอนที่กล่าวถึงเทวดาที่มีมือทองคำ) สืบค้นจากเว็บไซต์ 84000.org เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา