บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๘)

วิธีถอนจิตออกจากสมาธิ

เขียนโดย ญาณวชิระ
: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เดิน เดิน เดิน ในวิถีแห่งสติ ภาพประกอบสีฝุ่น โดย หมอนไม้

วิธีถอนจิตออกจากสมาธิ

การจะออกจากสมาธิในแต่ละบัลลังก์ ต้องอดทนจนถึงที่สุดก่อน เมื่อจิตร้องขออยากหยุด ก็บอกจิตว่า อีกสักครู่ ขอดูลมหายใจอีกสักครู่ ขอดูความว่างอีกสักครู่ ขอดูความไม่เที่ยงอีกสักครู่ ขอพิจารณาธรรมอีกสักครู่

พอกำหนดไปอีกสักหน่อย จิตก็จะร้องขออีกแล้ว ขอหยุด ก็บอกจิตว่า  อีกสักครู่ ก็ต่อรองกันไปเรื่อยอย่างนี้ เหมือนลูกร้องขอแม่อยากออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านกับเพื่อน แม่ก็จะตอบลูกว่า เดี๋ยวก่อนอยู่เรื่อย แม้ลูกจะร้องขออย่างไร แม่ก็จะหาอุบายมาต่อรองกับลูกอยู่เสมอ 

ในขั้นของการฝึกหัดก็ต้องอดทนต้องข่มใจ

            แต่พอเผลอ บางทีจิตก็แอบออกไปคิดเรื่อยเปื่อย ก็นำจิตกลับมา  คือ เปลี่ยนความคิดกลับมา จะเรียกว่าพลิกขณะจิตกลับมาก็ได้  แล้วสอบสวนทวนความดูว่า ไปไหน คิดเรื่องอะไร คิดทำไม แล้วก็อบรมสั่งสอนจิตไม่ให้คิดไปอย่างนั้น

“ไม่ว่าจิตจะคิดเรื่องอะไร

พอได้สติมีความรู้สึกตัวขึ้นมา

ก็เปลี่ยนความคิดนำจิตกลับมา

สอบสวนดูก่อนว่าทำไมไปคิดแบบนั้น

ชอบใช่ไหม ชังใช่ไหม โกรธเคืองใช่ไหม”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทำไมรู้สึกเหงา ซึมเศร้า เดียวดาย เดี๋ยวก็ละห้อยหาอดีต เดี๋ยวก็หวาดหวั่นอนาคต กลัวใช่ไหมยอมรับความจริงไม่ได้ใช่ไหม แล้วก็สอนจิตให้รู้ว่า สิ่งที่เกิดในอดีตก็ดับไปแล้วในอดีต สิ่งที่เกิดในปัจจุบันก็จะดับลงในปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดในอนาคตก็จะดับไปในอนาคต

ความคิดที่ยึดโยงอยู่กับความชอบชัง โกรธเกลียด ขัดเคือง ไม่พอใจ ก็เช่นกัน  ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตก็ดับไปแล้วในอดีต ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็กำลังจะดับไป และที่จะเกิดในอนาคตก็จะดับไปในอนาคต ก็สอนจิตอยู่อย่างนี้ บัลลังก์แล้วบัลลังก์เล่า จะกี่ครั้งที่ความคิดเกิด จะกี่วัน กี่ปี ก็ต้องสอนจิตอยู่อย่างนั้น ไม่เหนื่อยที่จะตามสอน ไม่เหนื่อยที่จะพร่ำสอน เหมือนพ่อแม่ไม่เหนื่อยที่จะบอกที่จะสอนลูกด้วยความกรุณา ด้วยหวังที่จะให้ลูกจดจำคำสอน

พระพุทธเจ้าเองก็ไม่เหนื่อยที่จะสอนเราแบบนี้ จนวาระสุดท้ายของพระชนมชีพก็ยังทรงตามสอน ยังทรงพร่ำสอนเรื่องเดิมเนืองๆ

เมื่อจิตร้องขอว่าหยุดเถอะปวดขามากแล้ว ก็ถามจิตกลับไปว่า   ปวดขาแล้วตายไหม ตอบว่า ไม่ตาย ก็บอกจิตว่า ปวดขาไม่ตาย  งั้นก็รอสักเดี๋ยว ดูลมหายใจไปอีกสักหน่อย พอไม่ตามใจ  จิตก็จะนิ่งๆ แต่พอดูลมหายใจไปได้สักครู่ พอเผลอ จิตก็จะร้องขอ อีกแล้วว่า พอแล้วหยุดได้แล้ว เมื่อยมากแล้ว เจ็บมากแล้ว คันมากแล้ว เหน็บชามากแล้ว ทุรนทุรายมากแล้ว ไม่ไหวแล้ว ก็จะแสดงอาการหงุดหงิด ขัดเคือง เดือดดาน รุ่มร้อน เราก็บอกจิต ปลอบโยนจิตไปว่า เดี๋ยวก่อนอยู่เรื่อย แม้จิตจะร้องขออย่างไร ก็ต่อรองกันไปเรื่อย   ไม่ว่าจิตจะร้องขอเรื่องใดๆ ก็ต่อรองกันไป สอนกันไป สอบสวนกันไป  หาอุบายกันไป และทั้งขู่ทั้งปลอบกันไป เอาจนจิตยอมศิโรราบ ให้จิตเห็นทุกข์จริงๆ  จนจิตขอร้องว่า ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวจริงๆ จึงหยุดได้

            ก่อนหยุดก็ดูว่า สภาวะอารมณ์ขณะนั้นเป็นอย่างไร ดูจิตว่าเป็นอย่างไร ดูกายว่าเป็นอย่างไร เมื่อดูกายดูจิตจนเห็นความเจ็บ ความปวด ความเมื่อยของกายชัดแล้ว ก็ดูความทุกข์ความทุรนทุรายดิ้นรนร้องขออยากเปลี่ยนท่านั่งของจิต จึงเปลี่ยนอิริยาบถขยับปรับท่านั่ง เมื่อขยับปรับท่านั่งใหม่แล้ว ก็ดูกายอีกว่า ความเจ็บความปวดเมื่อยเหน็บชาคลี่คลายไปอย่างไร เห็นความเจ็บปวดเปลี่ยนเป็นความสบายทางกาย แล้วก็ดูจิตที่เปลี่ยนจากการดิ้นรนทุรนทุราย เกลียดชังความเจ็บปวดทุกขเวทนา กลับกลายเป็นชอบความสุขสบายทางกายที่เกิดขึ้น 

ในที่สุดก็จะเห็นความชอบความชังที่เกิดขึ้นเพราะร่างกายสลับกันไปอยู่อย่างนี้

            ที่จริง  การดิ้นทุรนทุราย ร้องขอที่อยากจะออกสมาธิของจิต ในช่วงแรกๆ ของการฝึกปฏิบัติสมาธิ จะเป็นอยู่ช่วงระยะหนึ่ง ถ้าอดทนฝืนฝึกจนถึงที่สุดของแต่ละบัลลังก์อยู่บ่อยๆ ในที่สุดก็จะไม่ใช่ออกจากสมาธิเพราะการดิ้นรนทุรนทุรายร้องขอของจิต แต่จะเป็นการออกจากสมาธิตามเหตุตามปัจจัย

เมื่อดำเนินจิตในสมาธิไปจนเพียงพอแก่เวลาแล้วก็จะรู้ว่าขณะนี้ได้เวลาตามที่กำหนดแล้ว ขณะนี้มีกิจอย่างอื่นที่จะต้องไปทำต่อแล้ว จะรู้กาลเวลาสถานที่ที่เหมาะควรแก่การทำสมาธิ ไม่ใช่มีกิจบางอย่างเกิดขึ้นที่ต้องการความสามัคคีของหมู่คณะ เราก็ยังนั่งหลับหูหลับตาจะทำสมาธิอยู่ต่อไป เช่นนี้เรียกว่า ไม่รู้กาลรู้เวลา สถานที่ที่เหมาะควรแก่สมาธิ

สมาธิ ภาพวาดประกอบสีฝุ่น โดย หมอนไม้
สมาธิ ภาพวาดประกอบสีฝุ่น โดย หมอนไม้

ความสำคัญของการนั่งสมาธิอยู่ที่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เมื่อยก็เปลี่ยนท่านั่งเจ็บปวดเหน็บชาก็ขยับ คันก็เกา แต่ให้รู้สึกตัวตามอาการนั้นๆ ก่อน อย่าสร้างความรู้สึกแบบใหม่เป็นเคร่งเครียด แข็งขืนเกร็งฝืดฝืนซ้อนทับขึ้นมา ให้รู้ไปตามธรรมชาติและธรรมดาของร่างกาย ปล่อยให้อาการนั้นเติบโตจนเต็มที่เพื่อให้จิตได้เรียนรู้ความเป็นจริงของร่างกาย 

(โปรดติดตามตอนต่อไป )

ญาณวชิระ :พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่าน โดย หมอนไม้
ญาณวชิระ :พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่าน โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๘) วิธีถอนจิตออกจากสมาธิ เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here